สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ

สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ

สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ

คนไทยกว่าครึ่งประกอบอาชีพเกษตรกร พื้นที่ประเทศไทยกว่าครึ่งใช้สำหรับเพาะปลูกหรือทำการเกษตร 

แม้บ้านเราจะมีความอุดมสมบูรณ์จนเพาะปลูกอะไรก็งอกงาม ได้ผลผลิตดี แต่โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญวิกฤตจากสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนไม่มา ฟ้าไม่เป็นใจ หรือน้ำแล้งอยู่บ่อย ๆ ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตลดลง ไม่สมบูรณ์งอกงามเหมือนเดิม 

เมื่อความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพเกษตรกรไทย กรมชลประทานที่มีภารกิจในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอและทั่วถึง จึงริเริ่มแสวงหาแนวทางเพื่อลดผลกระทบจากปรากฏการณ์น้ำแล้ง เกิดเป็นโมเดลใหม่ที่ใช้ในการเพาะปลูกข้าว สร้างความยั่งยืนสู่ชีวิตเกษตรกรไทย 

วัชรินทร์ ชาติมนตรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท ถ่ายทอดถึงวิถีการเพาะปลูกของชาวนาในพื้นที่ที่เขาดูแล ที่พลิกจากความไม่แน่นอน มาสู่การทำนาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากได้ปรับเปลี่ยนมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง 

 

สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ

วัชรินทร์ ชาติมนตรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน

สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท 

การทำนาที่ใช้น้ำน้อยลง แต่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 

การทำนาแบบเปียกสลับแห้งคือการควบคุมแปลงนาให้มีช่วงน้ำขังสลับกับช่วงน้ำแห้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้รากหรือลำต้นของข้าวแข็งแรงขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของข้าว 

วัชรินทร์เล่าว่า โดยปกติแล้วการทำนาข้าวแบบดั้งเดิมใช้น้ำประมาณ 1,200 ลบ.ม./ไร่ แต่เมื่อเกษตรกรเปลี่ยนมาทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะใช้น้ำลดลงเหลือเพียง 860 ลบ.ม./ไร่ เท่านั้น 

“เมื่อเปลี่ยนมาใช้วิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง นอกจากจะช่วยประหยัดการใช้น้ำมากกว่าการทำนาแบบดั้งเดิมแล้ว ยังช่วยเกษตรกรประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีอื่น ๆ พร้อมกับได้ข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้น และหากคิดคำนวณเป็นต้นทุนด้านการเงินแล้วจะพบว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้งลดต้นทุนในการผลิตข้าวลงจากเดิมไร่ละ 5,600 บาท เหลือเพียง 3,400 บาทต่อไร่”

 

สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ
 

ผลักดัน ‘การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง’ สู่วิถีหลักเกษตรกรไทย

ปัจจุบันเกษตรกรไทยในพื้นที่ต่าง ๆ เริ่มคุ้นเคยกับการทำนาแบบเปียกสลับแห้งกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ภายใต้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ ที่ดูแลครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท รวมถึงบางส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรีและสิงห์บุรี 

นับตั้งแต่ปี 2558 กรมชลประทานได้ริเริ่มส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง โดยได้จัดทำคู่มือการทำนาเพื่อขยายผลสู่วิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2569 การทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะเป็นวิธีการหลักที่เกษตรกรไทยเลือกปฏิบัติ นำมาสู่การมีความมั่นคงทางด้านน้ำมากยิ่งขึ้น 

เพราะอะไรการทำนาแบบเปียกสลับแห้งถึงช่วยประหยัดน้ำ แต่กลับให้ผลผลิตที่ดีกว่าการทำนาแบบเดิม? วัชรินทร์ขยายความผ่านกระบวนการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หรือที่มักเรียกว่าเป็นวิธี ‘การแกล้งดิน’

 

สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ

วิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง 

  1. ปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน เตรียมแปลงสำหรับการทำนา สามารถทำได้ทั้งนาดำและนาหว่าน ทั้งนี้ การทำนาดำจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะลำต้นจะมีการแตกกอที่ดีกว่าการทำนาหว่าน 
  2. เตรียมท่อพีวีซีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เจาะรูโดยรอบ ฝังลงในแปลงนาให้ปากพ้นท่อดินราว 5 เซนติเมตร เพื่อให้เรารู้ระดับน้ำในแปลงนา และรู้ว่าควรจะให้น้ำในช่วงไหน
  3. ในส่วนของการแกล้งดิน คือในเดือนแรกควรให้น้ำตามปกติ เมื่อต้นข้าวมีอายุราว 30 - 45 วัน งดการให้น้ำ 14 วัน ซึ่งหลังจากขั้นตอนนี้พื้นดินจะเริ่มแห้งจนแตกระแหง 
  4. ใส่ปุ๋ยให้แทรกตัวลงไปอยู่ตามหน้าดินที่แตกระแหงแล้วเริ่มรดน้ำอีกรอบหนึ่ง ปุ๋ยจะซึมลึกลงไปทำให้ต้นข้าวดูดซึมสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น 
  5. ก่อนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องหยุดให้น้ำราว 10 - 15 วัน เพื่อให้ข้าวมีความสุกอย่างสม่ำเสมอ 

 

สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ

 

ขยายผลความยั่งยืนสู่มิติอื่น ๆ  

ความท้าทายที่สุดของเกษตรกรคือในระยะแรกของการเปลี่ยนวิธีการทำนาจากรูปแบบดั้งเดิมมาสู่การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง วัชรินทร์เล่าถึงเสียงจากเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทที่เขาได้ลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยด้วย 

“ช่วงแรก ๆ ของการเปลี่ยนแปลง เกษตรกรอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับวิธีการใหม่ แต่เมื่อมีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการเข้าไปให้คำปรึกษาจนเกษตรกรเริ่มมีความเข้าใจในแนวทางการทำนาแบบใหม่มากขึ้น เริ่มเห็นผลลัพธ์ด้านการใช้น้ำที่น้อยลง ลดต้นทุนการเพาะปลูก แต่กลับให้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

การพัฒนาชีวิตเกษตรกรไทยยังขยายไปในมิติอื่น ๆ นอกจากการสร้างความมั่นคงทางน้ำ 

โดยปัจจุบัน เริ่มมีบริษัทต่าง ๆ เข้ามาจัดทำ MOU กับเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. วัดป่าแก้ว ตำบลแพรกศรีราชา จังหวัดชัยนาท เพื่อร่วมมือกันในเรื่องของการทำคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 200 - 300 บาทต่อไร่ 

วัชรินทร์ทิ้งท้ายถึงความภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย 

“ชีวิตเกษตรกรไทยที่ทำการเพาะปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงชีพคนไทยทั้งประเทศ เป็นอาชีพที่มีเกียรติและทำประโยชน์ให้ประเทศอย่างมหาศาล การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรไทยมีความสุขอย่างยั่งยืนถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับผม” 

 

สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ สร้างความมั่นคงทางน้ำ พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ไม่ต้องกลัวเมื่อฟ้าฝนไม่เป็นใจ