18 มี.ค. 2563 | 14:10 น.
ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยตอนนี้นับว่ามีอยู่หลายกลุ่ม แต่จะทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ท่ามกลางสถานการณ์ผลผลิตอ้อยในรอบปีการผลิต 2562/63 ลดลง จากสภาพปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรม ทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลลดลงในทิศทางเดียวกันกับปริมาณอ้อย ที่มีผลต่อซัพพลายการส่งออกน้ำตาลไปสู่ตลาดโลกลดลงเช่นกัน การลดความเสี่ยงด้านผลผลิตอ้อยและน้ำตาล คือการต่อยอดแตกหน่อไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้แก่ระบบซัพพลายเชนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เราจึงเห็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่หลายรายต่างนำผลผลิตพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เป็นต้น บริษัทที่คลุกคลีอยู่กับอ้อยมายาวนานกว่า 55 ปี ผลิตน้ำตาลได้หลากหลายชนิด ที่เรากำลังพูดถึง คือ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ “KBS” ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างครบวงจร โดยปัจจุบันมี ‘อิสสระ ถวิลเติมทรัพย์’ เป็นกรรมการ บมจ.น้ำตาลครบุรี และมีธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ดำเนินการโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด หรือ “KPP” เป็นบริษัทในเครือ ที่ KBS ถือหุ้นอยู่ 99.99% ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามอง ส่งมอบน้ำตาลคุณภาพและบริการที่ดีสู่มือผู้บริโภค “เป็นองค์กรชั้นนำในธุรกิจอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน โดยบูรณาการบุคลากร เทคโนโลยี และการจัดการเข้าด้วยกัน” ประโยคอาจฟังดูสวยหรู แต่มีอยู่จริงและทำไปแล้ว เพราะด้วยวิสัยทัศน์ของ อิสสระ ที่เผยให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน บริการที่ดีส่งถึงมือคู่ค้าและผู้บริโภคมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ จากความเชี่ยวชาญ ผนวกรวมกับเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพ ที่เรียกว่า การผลิตน้ำตาลด้วยคอนดิชันนิ่งไซโลน้ำตาล ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยลดการจับตัวเป็นก้อนของน้ำตาล ที่เป็นกุญแจสู่การต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์น้ำตาลที่มีความหลากหลาย “KBS พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตรายย่อยและผู้บริโภคทั่วไป ทั้งตลาดภายในประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศในทวีปเอเชีย เพื่อตอกย้ำผู้นำธุรกิจน้ำตาลอย่างครบวงจร” อิสสระเล่าต่อว่า กระบวนการผลิตน้ำตาลเริ่มตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง และส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ได้มีการบริหารจัดการ Supply Chain เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลผลิต โดยส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่ชาวไร่ในการเพาะปลูก การจัดเก็บผลผลิตให้แก่ชาวไร่คู่สัญญาเพื่อนำส่งอ้อยมีคุณภาพให้แก่โรงงาน “ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิต 35,000 ตันต่อวัน โดยปีที่ผ่านมามีอ้อยเข้าหีบ 3,298,841.44 ตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทุกประเภทรวม 3,726,503.85 กระสอบ คิดเป็นน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 112.96 กิโลกรัม” อิสสระกล่าว ต่อยอดธุรกิจสู่โรงไฟฟ้าครบุรี ป้อนพลังงานไฟฟ้าจากการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ‘อิสสระ’ ไม่เพียงแต่มุ่งมั่นเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำตาลเท่านั้น หากแต่ยังขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงด้วยการผลิตพลังงานชีวมวล ก่อตั้ง “บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด” ซึ่งนำผลผลิตพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล หมุนเวียนเปลี่ยนเป็นผลิตกระแสไฟฟ้า เกิดพลังงานทดแทน ส่งผลให้การนำวัตถุดิบที่บางคนอาจมองว่าเหลือใช้ ไร้ประโยชน์ สามารถนำไปต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม หล่อเลี้ยงบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน “บริษัทฯ ขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มเติม คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งดำเนินการโดย KPP หรือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยผลักดันเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้พัฒนาต่อไปได้ การประกอบธุรกิจของเรา จึงไม่ได้มุ่งหวังจะสร้างกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าไปด้วย” อิสสระกล่าวถึงแนวทางธุรกิจ อุ้มชาวไร่อ้อยให้อยู่ได้ ธุรกิจจึงเติบโตไปด้วยกัน นอกจาก ‘อิสสระ’ จะให้ความสำคัญต่อกระบวนการผลิตน้ำตาลและต่อยอดธุรกิจโรงไฟฟ้าแล้ว การมีความสัมพันธ์อันดีต่อชาวไร่อ้อยที่เป็นเสมือนต้นน้ำของธุรกิจ ยังเป็นภารกิจที่ควรรักษาไว้และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่า การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับชาวไร่อ้อย และพันธมิตรทางธุรกิจเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน “บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจร่วมกับชาวไร่อ้อยและพันธมิตรทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของชาวไร่อ้อย KBS มีการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยโดยให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษาชาวไร่อ้อยในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต และประสิทธิภาพในการปลูกอ้อย เพื่อให้สามารถอยู่รอดด้วยอาชีพนี้ และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม” อิสสระแจกแจง เดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง ‘อิสสระ’ มีเป้าหมายชัดเจนในการเดินหน้าลงทุน โดยวางแผนจัดตั้ง “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาล ครบุรี” หรือ KBSPIF จำนวนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสิทธิในผลประโยชน์จากการประกอบกิจการ คิดเป็นอัตราร้อยละ 62.00 ของรายได้ค่าไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และ KBS โดยปัจจุบันกองทุนดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะเป็นโอกาสสำคัญในการนำเงินครั้งนี้ไปพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ สอดรับกับวิสัยทัศน์ที่ ‘อิสสระ’ ยึดมั่นตลอดมา “เราจะเป็นองค์กรชั้นนำในธุรกิจอ้อย น้ำตาล และชีวพลังงาน โดยบูรณาการบุคลากร เทคโนโลยี และการจัดการเข้าด้วยกัน” นี่คือสิ่งที่อิสสระจะทำควบคู่กันไป มุ่งสู่การบริหารธุรกิจครบวงจร และส่งมอบผลผลิตที่มีคุณค่าสู่สังคม… ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.kbs.co.th/index ข้อมูลอ้างอิง: https://www.wealthythai.com/web/contents/WT200200095