‘เคน ซาโร-วิวะ’ ผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างสันติ สู้กับบ.น้ำมัน-เผด็จการทหาร ก่อนถูกแขวนคอ

‘เคน ซาโร-วิวะ’ ผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างสันติ สู้กับบ.น้ำมัน-เผด็จการทหาร ก่อนถูกแขวนคอ

‘เคน ซาโร-วิวะ’ นักสู้ และผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างสันติเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชนพื้นเมืองไนจีเรีย ต่อสู้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันและรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งแลกมาด้วยความตาย

  • ‘เคน ซาโร-วิวะ’ ผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างสันติเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิของชนพื้นเมืองในประเทศไนจีเรีย เขาต่อกรกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่ และรัฐบาลเผด็จการทหาร
  • การต่อสู้ของเขานำมาซึ่งความตาย เมื่อ ‘เคน ซาโร-วิวะ’ ถูกแขวนคอ แต่เรื่องราวของเขาทำให้ผู้คนหันมาตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงของผลประโยชน์ทางธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวทั่วโลกต่างหันมามองรูปแบบปัญหานี้ในแต่ละท้องที่

“แม้พระผู้เป็นเจ้าจะรับเอาดวงจิตของข้าพเจ้าไปแล้ว แต่การสู้ยังคงดำเนินต่อ”

สิ้นประโยคนี้ ร่างกายของ ‘เคน ซาโร-วิวะ’ (Ken Saro-Wiwa) ก็ลอยคว้างอยู่กลางอากาศ ก่อนขาดอากาศหายใจจากการถูกแขวนคอ แต่ความตายของเขาคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงผลกระทบจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาสิทธิมนุษยชน และเป็นแรงบันดาลใจให้นักเคลื่อนไหวทั่วโลก

นี่คือเรื่องราวของเขา…‘เคน ซาโร-วิวะ’ ผู้นำการเคลื่อนไหวอย่างสันติเพื่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิของชนพื้นเมืองในประเทศไนจีเรีย ที่กล้าต่อกรกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่ และรัฐบาลเผด็จการทหาร

น้ำมันสีเลือด

การค้นพบแหล่งน้ำมันใต้ดินในประเทศอาจเหมือนได้ลาภลอยหากพบคู่ค้าที่มาพร้อมจรรยาบรรณ แต่บนผืนดินโอโกนิแลนด์ ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไนจีเรีย ซึ่งเป็นที่ทำกินสืบต่อมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษของชาวโอโกนิ ชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยในประเทศ น้ำมันมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์นี้เป็นเหมือนฝันร้าย

ตั้งแต่ปี 1958 บริษัทขุดเจาะน้ำมันจากเนเธอร์แลนด์ได้ค้นพบแหล่งน้ำมันถึง 6 แหล่งบนที่ดินแห่งนี้ และแปลงพื้นที่ทางการเกษตรที่เคยอุดมสมบูรณ์และหล่อเลี้ยงผู้คนครึ่งล้านให้ปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมัน ฝนตกลงมาเป็นกรด น้ำมันรั่วไหลกระจายไปทั่วผืนดิน สัตว์น้ำและสัตว์บกล้มตายและสูญหายไปจากพื้นที่ แก๊สธรรมชาติที่ออกมาพร้อมกับน้ำมันนั้นก็รั่ว ระเบิด และติดไฟ บางจุดติดไฟทั้งวันทั้งคืน ปัญหาเหล่านี้สิ่งที่ชาวพื้นเมืองต้องเผชิญมายาวนานต่อเนื่องกว่า 35 ปี

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้จ้างงานชาวไนจีเรียถึง 5,000 คน แต่มีไม่ถึง 100 คนที่เป็นชาวโอโกนิเจ้าบ้าน และยังทำให้อาชีพดั้งเดิมอย่างทำไร่ไถนา หาปลาล่าสัตว์ต้องหายไปเพราะธรรมชาติถูกทำลาย

ปัญหาคาราคาซังนี้ ชาวพื้นเมืองแทบไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย ทั้งจากรัฐบาลและหน่วยงานเอกชนต้นเหตุ หนำซ้ำเงินจากอุตสาหกรรมน้ำมันยังไปเข้ากระเป๋ารัฐบาลทหาร โดยทอดทิ้งชาวบ้านให้อยู่กับความยากจน น้ำประปาไม่เพียงพอ ไม่มีไฟฟ้า โรงพยาบาลและโรงเรียนก็ปิดตัวลง

สงครามกลางเมืองไนจีเรีย

หลังจากประเทศได้รับเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษในปี 1960 ปัญหาภายในประเทศไนจีเรียได้เริ่มก่อตัวขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนา หลังการทำรัฐประหารซ้ำซ้อนจาก 2 กลุ่มอำนาจหลัก กลุ่มชาติพันธุ์อิกโบที่อาศัยทางตะวันออกของประเทศและนับถือศาสนาคริสต์ ได้ประกาศแยกตัวเป็นสาธารณรัฐบิอาฟราในเดือนพฤษภาคม 1967

แต่เพียงสองเดือนหลังจากนั้น ฝ่ายรัฐบาลกลางซึ่งเป็นชนเชื้อสายเฮาซาที่นับถือศาสนาอิสลามจากทางตอนเหนือ ได้ยกกำลังทหารโจมตีดินแดนบิอาฟราทั้งทางบกและทางอากาศ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองไนจีเรียที่ยาวนานถึงปี 1969 โดยสิ้นสุดลงเมื่อเขตแดนของสาธารณรัฐบิอาฟราถูกกองกำลังรัฐบาลบุกยึดคืนจนเหลือเพียงหนึ่งในหก และผู้นำหลบหนีไปต่างประเทศ ผลจากสงครามครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตราว 500,000 ถึง 3,000,000 คน ทั้งจากสู้รบ ความอดอยาก และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

จากนักสร้างผลงานเสียดสีการเมือง

เคน ซาโร-วิวะ คือลูกหลานชาวโอโกนิ ที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือจนถึงระดับมหาวิทยาลัย งานแรกของเขาอยู่ในคณะละคร และต่อมาเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมในมหาวิทยาลัย และเขาเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองจากการแสดงออกว่าสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลในช่วงสงครามกลางเมือง เขาได้เป็นผู้บริหารพลเรือนของรัฐบาลในเมืองบอนนี่ เกาะทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกรัฐบาลยึดจากดินแดนบิอาฟราหลังสงครามกลางเมืองปะทุได้ไม่นาน เขายังเป็นผู้นำชาวเผ่าโอโกนิเพื่อสนับสนุนรัฐบาลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เคน ก็สะสมความมั่งคั่งจากตำแหน่งทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจส่วนตัวของเขาทั้งระหว่างและหลังสงคราม จนปี 1973 เขาถูกเพิกถอนจากตำแหน่งทางการเมืองเพราะนำเงินหลวงไปใช้เพื่อเดินทางในกิจธุระส่วนตัว ปัญหากับคู่แข่งทางการเมือง และข้อกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐานว่าสนับสนุนการปกครองตนเองของชนเผ่าโอโกนิ ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือผู้บัญชาการภูมิภาคด้านการศึกษาในคณะรัฐมนตรีของรัฐริเวอร์ส

หลังจากออกจากการเมือง เคน ซาโร-วิวะ ได้เข้าสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ ช่วงปี 1986-1990 เขาผลิตรายการซิตคอม Basi & Company ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไนจีเรีย โดยนำเสนอเรื่องราวที่คนทุกชนเผ่าทุกศาสนาทั่วประเทศรู้สึกมีส่วนร่วม เช่น ความพยายามที่จะร่ำรวยจากการคอร์รัปชัน วิธีที่คนธรรมดาหาทางจัดการกับระบบรัฐ แนวคิดว่าการทำงานหนักไม่ได้ทำให้ชีวิตดี

เขานำประสบการณ์ระหว่างช่วงสงครามกลางเมืองไปเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนวรรณกรรม โดยนำเสนอเรื่องราวการทุจริตทางการเมือง ระบบอุปถัมภ์ทางการทหาร รวมถึงบันทึกความทรงจำระหว่างช่วงสงคราม ผลงานของเขามักใช้ภาษาท้องถิ่นไนจีเรียควบคู่กับภาษาอังกฤษที่มีรูปแบบเฉพาะของชาวพื้นเมือง มีวิธีการเสียดสีจิกกัดที่โดนใจ ทำให้งานเขียนของเขาโดนใจชาวพื้นเมืองจากทุกเผ่า เขาจึงเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนผู้ได้รับการขนานนามเป็น มาร์ค ทเวน ของไนจีเรีย งานเขียนบางส่วนของเขามีชื่อเสียงระดับโลก และช่วยปกป้องเขาจากการเคลื่อนไหวเพื่อชนกลุ่มน้อยในเวลาต่อมา

ผลงานสร้างสรรค์ของเขานำเสนอมุมมองทางการเมืองแบบไนจีเรียเดียวที่ก้าวข้ามเรื่องชาติพันธุ์ แสดงถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เอื้อประโยชน์ให้เส้นสายทางชนเผ่า และสร้างประเทศที่ทุกคนเท่าเทียม

 

สู่นักเคลื่อนไหวเพื่อคนที่ถูกลืม

ตั้งแต่ปี 1990 เคน ซาโร-วิวะ หันมาจริงจังกับปัญหาบนพื้นที่ทรัพยากรน้ำมันอย่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ โดยมุ่งเน้นที่โอโกนิแลนด์ พื้นที่ของชนเผ่าของเขา เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นก่อตั้งขบวนการเพื่อความอยู่รอดของชาวโอโกนิ หรือ MOSOP สนับสนุนสิทธิของชาวโอโกนิ เรียกร้องเพื่อส่วนแบ่งที่ยุติธรรมจากรายได้ของการสกัดน้ำมัน และฟื้นฟูความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจากบริษัทน้ำมัน การกระทำของเขาทำให้รัฐบาลทหารคุมขังเขาเป็นเวลาหลายเดือน

ในปี 1993 MOSOP จัดการเดินขบวนเคลื่อนไหวอย่างสันติผ่านใจกลางสี่เมืองของชาวโอโกนิ มีชาวโอโกนิเข้าร่วมกว่า 3 แสนคน ซึ่งเกินครึ่งของประชากรทั้งหมด แต่ในปีเดียวกันรัฐบาลก็เข้าควบคุมพื้นที่ทางการทหารในเมืองดังกล่าว

เรื่องราวการต่อสู้กับความอยุติธรรมเหนือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์นี้โด่งดังไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากชื่อเสียงระดับนานาชาติในฐานะนักเขียนของ เคน ซาโร-วิวะ และความฉลาดในการสร้างพันธมิตรกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนขนาดเล็กทั่วโลก จนทำให้องค์กรขนาดใหญ่มองเห็นและร่วมออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนเขา

 

ความตายที่ไม่สิ้นสูญ

หนึ่งในการพิจารณาคดีที่สกปรกที่สุดเกิดขึ้นเมื่อผู้นำชาวโอโกนิฝั่งอนุรักษนิยม 4 คน ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในปี 1994 และ เคน ซาโร-วิวะ พร้อมกลุ่มผู้นำ MOSOP อีก 8 คน ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานยุยงผู้อื่นให้กระทำการสังหาร หลังจากการจับกุม กองทัพไนจีเรียได้เข้าควบคุมดินแดนโอโกนิแลนด์ จับกุม ข่มขืน ฆ่า เผาและปล้นสะดมคนในหมู่บ้าน

การพิจารณาคดีมีการเบิกพยานเท็จที่ยอมรับในภายหลังว่า รับสินบนจากรัฐและข้อเสนองานจากบริษัทน้ำมัน ในปีต่อมา กลุ่มของเคน ซาโร-วิวะ ถูกตัดสินว่ามีความผิดและต้องโทษประหาร

การประหารชีวิตดังกล่าวสร้างความเดือดดาลให้กับประชาชน ในวันประหาร ผู้คนหลายร้อยออกมายืนเรียงรายบนท้องถนนตามเส้นทางไปสู่เรือนจำที่ใช้เป็นลานประหาร ต้องมีตำรวจทหารนับหมื่นพร้อมรถถังเข้าประจำยังเรือนจำ สุสานที่จะใช้ฝังร่าง โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ทั่วประเทศ และสองเมืองทางใต้ 

ในระดับนานาชาติ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป ประเทศในกลุ่มแอฟริกานำโดยเนลสัน แมนเดลา ได้ประณามการประหารชีวิตครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเรียกผู้แทนทางการทูตกลับ การเป็นสมาชิกในเครือจักรภพของไนจีเรียถูกระงับ

เป็นที่น่าเสียดายว่าในประเทศไนจีเรีย ความตายของเคน ซาโร-วิวะ ถูกจดจำอยู่ในฐานะผู้เรียกร้องเพื่อกลุ่มโอโกนิ อันเกี่ยวพันกับการเมืองแบบชาติพันธุ์ที่เขาพยายามอย่างหนักที่จะก้าวข้าม ขณะที่นอกประเทศ มรดกจากความตายของเขาสร้างความตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงของผลประโยชน์ทางธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ทำให้นักเคลื่อนไหวทั่วโลกหันมามองรูปแบบปัญหาเดียวกันนี้ในบ้านของตัวเอง และผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ รับผิดชอบกับการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ท้องถิ่น 

“ความยุ่งยากที่ทำให้ข้าพเจ้าและชาวโอโกนิต้องทนทุกข์ การคุกคาม การจับกุม การจองจำ หรือแม้กระทั่งความตาย คือราคาที่คู่ควรจะจ่ายเพื่อยุติฝันร้ายของผู้คนนับล้าน”

 

เรื่อง: นิธิตา เขมรังสฤษฏ์

ภาพ: แฟ้มภาพ เคน ซาโร-วิวะ ประกอบกับฉากหลังเป็น พื้นที่ส่วนหนึ่งบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ จาก Getty Images

อ้างอิง:

Goldmanprize

Washington Post

Right livelihood

Britannica