เคล็ดลับสู่ความสำเร็จขององค์กร อยู่ที่คุณภาพการนอนของพนักงาน

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จขององค์กร อยู่ที่คุณภาพการนอนของพนักงาน

การนอนหลับไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร เมื่อคุณภาพการนอนของพนักงานส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ และผลประกอบการทางธุรกิจ

KEY

POINTS

  • การขาดการนอนที่มีคุณภาพส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยสหรัฐฯ สูญเสียรายได้กว่า 411 พันล้านดอลลาร์ต่อปี จากปัญหาความเหนื่อยล้าและการนอนไม่เพียงพอของพนักงาน
  • บริษัทชั้นนำระดับโลกเริ่มให้ความสำคัญกับคุณภาพการนอนของพนักงาน โดยจัดพื้นที่สำหรับงีบหลับ ปรับเวลาทำงานให้ยืดหยุ่น และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • พนักงานที่ทำงานเป็นกะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยองค์กรควรออกแบบตารางงานที่สอดคล้องกับจังหวะชีวภาพของร่างกาย และมีมาตรการป้องกันผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ

เมื่อแสงแรกของเช้าวันจันทร์สาดส่องผ่านหน้าต่างออฟฟิศที่เต็มไปด้วยเสียงคีย์บอร์ดและกาแฟที่ยังร้อนอยู่ในแก้ว คนทำงานจำนวนมากต่างเดินเข้าสู่ห้วงของวันใหม่ด้วยดวงตาที่คล้ายจะสดใส แต่ภายใต้แววตานั้นกลับซ่อนเร้นไปด้วยร่องรอยของความเหนื่อยล้า บางคนอาจคิดว่านี่คือสัญลักษณ์ของการทำงานหนัก แต่ในความเป็นจริง มันคือเสียงเงียบของ ‘การนอนหลับไม่เพียงพอ’ ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบที่เรามองข้ามไป

ในโลกที่การแข่งขันไม่เคยหยุดนิ่ง ความเชื่อที่ฝังรากลึกว่า ‘การอดนอน’ คือเครื่องหมายของ ‘ความทุ่มเท’ ยังคงครอบงำจิตใจของใครหลายคน แต่แท้จริงแล้ว การนอนหลับไม่ใช่แค่การหยุดพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเท่านั้น มันคือกระบวนการฟื้นฟูที่ลึกซึ้งกว่านั้น เป็นกลไกที่ช่วยรีเซ็ตทั้งสมองและร่างกาย เพื่อให้พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ อย่างเต็มที่

ในหนังสือ ‘Why We Sleep’ นักวิทยาศาสตร์ด้านการนอน อย่าง ‘แมทธิว วอล์คเกอร์’ (Matthew Walker) อธิบายถึงความสำคัญของการนอนหลับว่า เป็นกระบวนการฟื้นฟูที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมันช่วยเพิ่มพลังงาน เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากเรามองย้อนกลับไปในชีวิตประจำวัน จะพบว่าช่วงเวลาที่เรารู้สึกคิดช้า ขาดสมาธิ หรือแม้แต่การตัดสินใจผิดพลาด มักมีต้นตอมาจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ
 

เมื่อพูดถึงการนอนหลับ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ในความเป็นจริง คุณภาพการนอนของพนักงานกลับมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กร การศึกษาจาก ‘Harvard Medical School’ ระบุว่าการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานเนื่องจากปัญหาการนอนหลับ ทำให้องค์กรในสหรัฐอเมริกาสูญเสียรายได้กว่า 63,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ค่าเสียโอกาสในการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่สูงขึ้นด้วย

ปัญหาความเหนื่อยล้าจากการนอนหลับไม่เพียงพอ (Fatigue) ยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากกว่าที่คาดคิด ‘National Safety Council’ ได้พัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า ‘Fatigue Cost Calculator’ เพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความเหนื่อยล้าและความง่วงซึมในการทำงาน 

สำหรับองค์กรขนาดกลางที่มีพนักงานประมาณ 1,000 คน คาดว่าจะสูญเสียรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยแบ่งเป็น 272,000 ดอลลาร์จากการขาดงาน (Absenteeism) และ 776,000 ดอลลาร์จากการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ (Presenteeism)

‘RAND Corporation’ ยังประเมินว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาสูญเสียรายได้สูงถึง 411 พันล้านดอลลาร์ต่อปี เนื่องจากปัญหาความเหนื่อยล้าและการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสูญเสียที่ไม่ใช่แค่ระดับบุคคลหรือองค์กร แต่กระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างแท้จริง
 

การนอนหลับอย่างมีคุณภาพไม่เพียงแค่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย แต่ยังเสริมสร้างสมาธิ ความจำ และการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุด ผลการวิจัยในเมืองเจนไน ประเทศอินเดีย ชี้ให้เห็นว่าการงีบหลับในช่วงสั้น ๆ ที่มีคุณภาพดีสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่าการนอนเต็มอิ่มที่ขาดคุณภาพ นี่คือข้อพิสูจน์ว่าการนอนหลับไม่ใช่แค่กิจกรรมที่เราทำตามสัญชาตญาณ แต่เป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน

ด้วยเหตุนี้ บริษัทชั้นนำหลายแห่ง อาทิ Google ที่เล็งเห็นความสำคัญของการนอนหลับ พวกเขาได้จัดพื้นที่สำหรับการงีบหลับในสำนักงาน (Nap Pods) เพื่อให้พนักงานสามารถพักผ่อนระหว่างวันได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่การเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ยังเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่ม productivity และความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือวัฒนธรรมองค์กรที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมและการคิดเชิงสร้างสรรค์

นอกจาก Google แล้ว ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่สนับสนุนการงีบหลับระหว่างวันของพนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อาทิ Nextbeat Co. บริษัทสตาร์ทอัพในญี่ปุ่นได้สร้างห้องสำหรับนอน ที่เรียกว่า ‘Strategic Sleeping Room’ สำหรับพนักงาน โดยห้องนี้มีการติดตั้งเครื่องกันเสียงรบกวน โซฟา กลิ่นอโรมา โดยมีกฎห้ามใช้มือถือและคอมพิวเตอร์ภายในห้อง เพื่อให้พนักงานสามารถงีบหลับและฟื้นฟูพลังงานได้อย่างเต็มที่

หรือจะเป็น Koyoju Plywood Corporation บริษัทจากฮอกไกโด ที่ได้พัฒนา ‘Giraffenap’ ตู้งีบหลับที่ออกแบบมาให้พนักงานสามารถยืนงีบได้ โดยมีเบาะรองรับร่างกาย 4 จุด ได้แก่ ศีรษะ บั้นท้าย เข่า และฝ่าเท้า เพื่อให้การงีบหลับในท่ายืนรู้สึกผ่อนคลายและไม่ตึงกล้ามเนื้อ

การสนับสนุนให้พนักงานงีบหลับระหว่างวันกำลังเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในหลายองค์กรทั่วโลก เนื่องจากมีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการงีบหลับสั้น ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ และสุขภาพโดยรวมของพนักงาน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาจากหลายองค์กรที่ปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานเพื่อสนับสนุนการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ โดยอนุญาตให้พนักงานเลือกเวลาทำงานที่เหมาะสมกับจังหวะชีวภาพของตนเอง (Circadian Rhythm) ทำให้พนักงานรู้สึกสดชื่นและพร้อมสำหรับการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ผลลัพธ์คือการเพิ่มระดับความพึงพอใจในการทำงาน และลดอัตราการลาออกของพนักงานได้อย่างชัดเจน

บางแห่งสนับสนุนการทำงานแบบยืดหยุ่น และการทำงานจากระยะไกล โดยมีโปรแกรม ‘Connected Workplace’ ที่ช่วยให้พนักงานสามารถเลือกเวลาทำงานและสถานที่ทำงานที่เหมาะสมกับตนเอง ขณะที่ Unilever บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก ได้เปิดตัวนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อให้พนักงานสามารถจัดการเวลาทำงานของตนเองได้อย่างเหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ภายใต้ชื่อโครงการ U-Work

การนำแนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่นมาใช้ ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังส่งเสริมความพึงพอใจและความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวของพนักงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งที่เผชิญกับความท้าทายในการจัดการเวลานอนอย่างยิ่ง นั่นคือ ‘กลุ่มพนักงานที่ทำงานเป็นกะ’ (Shift Workers) จากรายงานของ U.S. Bureau of Labor Statistics พบว่า 15% ของพนักงานเต็มเวลาในสหรัฐฯ ทำงานเป็นกะ กำลังประสบปัญหาการนอนเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า Shift Work Disorder ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับตารางการทำงานที่ตรงกับช่วงเวลาการนอนตามธรรมชาติได้ ซึ่งพนักงานกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ นักบิน พยาบาล แพทย์ ทหาร คนขับรถบรรทุก พนักงานขับรถไฟ และเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน

เพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนของพนักงานกลุ่มนี้ องค์กรสามารถนำกลยุทธ์ต่าง ๆ มาใช้ เช่น หลีกเลี่ยงตารางงานกะกลางคืนแบบถาวร เพื่อลดผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ, จัดตารางงานที่สม่ำเสมอและคาดเดาได้ง่าย เพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้ดีขึ้น, หลีกเลี่ยงการทำงานกะยาวเกินไป เพื่อลดความเหนื่อยล้า, เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดตารางงานของตนเอง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความพึงพอใจในการทำงาน, หมุนเวียนกะไปข้างหน้า (Forward Rotation) ซึ่งสอดคล้องกับจังหวะชีวภาพของร่างกายมากกว่า และจัดเวลาพักเป็นระยะ ๆ ในระหว่างการทำงาน เพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและจิตใจ

องค์กรที่ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแต่ลงทุนในเทคโนโลยีหรือการฝึกอบรม แต่ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงาน การจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพที่เน้นการปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ เช่น การอบรมเรื่องสุขอนามัยการนอน การปรับตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น และการสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร

ไม่เพียงเท่านั้น การสร้างพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายในที่ทำงาน เช่น ห้องสงบสำหรับการทำสมาธิหรือพื้นที่สีเขียว ยังช่วยส่งเสริมการพักผ่อนเชิงคุณภาพที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจและลดความเครียด ซึ่งความสงบในจิตใจนี้เองที่เป็นรากฐานสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่องค์กรต้องการ

ท้ายที่สุด การนอนหลับไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน แต่คือหัวใจสำคัญของสุขภาพองค์กรและสังคมโดยรวม เพราะในโลกที่ทุกคนต่างแข่งขันกันเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย คนที่รู้จักการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพต่างหากที่จะวิ่งได้ไกลกว่า และไปถึงจุดหมายอย่างยั่งยืน

ในโลกที่ทุกคนแข่งกันตื่นแต่เช้า คนที่นอนหลับอย่างมีคุณภาพต่างหากที่ไปได้ไกลกว่า

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์

ที่มา:
Walker, Matthew. Why We Sleep. Scribner. 2017.
Poor Sleep Hurts Work Productivity, Survey Shows (www.usnews.com)
Sleep Works for You (www.sleepeducation.org)
It’s the Quality of Sleep that Counts for Boosting Productivity (www.nber.org)