07 ก.พ. 2568 | 18:00 น.
“เมื่อเรามุ่งหมายที่จะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม
โลกทั้งใบจะพลันงดงามยิ่งขึ้นตามไป”
นักเขียนชาวบราซิลนามว่า ‘เปาโล คูเอลญู’ (Paulo Coelho) เขียนนวนิยายชื่อก้องโลกในปี 1988 ที่ถูกแปลไปนานาภาษาทั่วทั้งโลกนามว่า ‘The Alchemist’ หรือในชื่อไทยว่า ‘ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน’ หนังสือที่มียอดขายทั่วทั้งโลกกว่า 150 ล้านเล่ม และได้ชื่อว่าเป็นหนังสือที่จะเปลี่ยนชีวิตและการมองโลกของผู้ที่ได้อ่านไปตลอดกาล
ใครจะคิดว่าหนังสือเล่มที่สองที่เขียนในชีวิตจะกลายเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มที่ขายและแปลมากที่สุดตลอดกาล คูเอลญูลงมือเขียนหนังสือเล่มแรกราวอายุ 35 ปี แต่ในตอนที่อายุ 40 ปี เขาได้ตัดสินใจที่จะทุบหม้อข้าวและทุ่มชีวิตให้กับการเขียนจนกลายเป็น ‘The Pilgrimage’ ที่พูดถึงประสบการณ์ของตัวเขาเองในการเดินทางบนเส้นทาง ‘ซานเตียโกเดกอมโปสเตลา’ (Santiago de Compostela) ในประเทศสเปน
ไม่ใช่ว่าความรู้สึกนึกคิดที่อยากจะ ‘เขียน’ ของเปาโล คูเอลญู อยู่ ๆ ก็บันดาลขึ้นในตอนที่เขาก้าวเข้าสู่ครึ่งทางของชีวิต แท้จริงแล้วความอยากเป็น ‘นักเขียน’ มันฝังลึกอยู่ในตัวของเขาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ทว่าจิตวิญญาณที่ว่านั้นถูกบดบังจากความกลัวในตัวของเขาเอง กลัวที่จะกล้าหยิบปากกาและลองเขียนดู อันเป็นเหตุให้เขาผัดวันประกันพรุ่งในการเริ่มลงมือทำเรื่อยมา
เรียกได้ว่าการเดินทางของเขาบนถนนซานเตียโกเดกอมโปสเตลาถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่หลายครั้งถูกนิยามว่าเป็น ‘การตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ’ (Spiritual Awakening) ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในหนังสือ The Pilgrimage และเป็นพลังที่ขับเคลื่อนให้ตัวของเขากล้ากระโดดลงสู่เส้นทางการไล่ล่าคว้าฝันอย่างจริงจังในฐานะนักเขียนที่ใฝ่ฝันมาโดยตลอด
เปาโล คูเอลญู ใช้เวลาเขียน The Alchemist ด้วยเวลาเพียง 14 วันเท่านั้น แม้ลักษณะทางวรรณศิลป์ของเขาจะโรยเรียงอักษรและก่อร่างประโยคด้วยถ้อยคำที่ง่ายต่อผู้อ่านที่จะเข้าใจ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแก่นเรื่องราวของ The Alchemist เป็นอะไรที่ธรรมดาและสามารถงอกเงยขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น
ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามถึงประเด็นดังกล่าว เปาโล คูเอลญู เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “The Alchemist คือการมองย้อนเข้าไปในเรื่องราวของตัวผมเอง และหาเรื่องราวที่ดีจากตรงนั้น หาวิธีเปรียบเปรยเพื่อให้ผมเข้าใจชีวิตตัวเองมากขึ้น” แม้ The Alchemist จะถูกจรดลงบนหน้ากระดาษภายในระยะเวลาสองสัปดาห์ แต่หารู้ไม้ว่าโครงสร้างของขุมทรัพย์ที่ปลายฝันถูกร่างโครงเอาไว้มาตั้งนานแล้ว ซึ่งก็คือชีวิตของตัวเขาเอง
นวนิยายเรื่อง The Alchemist เปรียบเสมือนภาพสะท้อน เหมือนกับการอุปมาอุปไมยเส้นทางชีวิตและการเดินทางของเปาโล คูเอลญู—และผู้คนอีกมากมายที่ได้อ่านมัน—ไม่ว่าจะเป็นขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน ลางบอกเหตุ ผู้คนระหว่างทาง การเดินทาง หรือแม้แต่อุปสรรคตลอดทางที่หล่อหลอมตัวเอก ‘ซานติอาโก’ (Santiago) ก็ล้วนเป็นกระจกสะท้อนหรือหลักฐานบันทึกประสบการณ์และมุมมองของเขาที่มีต่อ ‘ชีวิต’
เรื่องราวใน The Alchemist เป็นทั้งตัวอย่าง กรณีศึกษา และแนวทางในการมองโลกให้เรากล้าใช้ชีวิตและกล้าคว้าฝันมากกว่าเดิม ถ้อยคำมากมายจากผู้คนที่เด็กหนุ่มพานพบตลอดทางล้วนมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตในแทบจะทุกมิติ “ทุกการค้นหาจะเริ่มด้วยโชคของผู้เริ่มต้นและการค้นหาทุกครั้งจะจบลงด้วยการที่ผู้ชนะเผชิญกับบททดสอบอย่างหนัก” หรือ “อาจเป็นเพราะความเป็นไปได้ที่จะเห็นฝันนั้นบรรลุกลายเป็นจริงที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย”
แต่หนึ่งในถ้อยคำที่ไม่เพียงสะท้อนความเจิดจรัญของแรงปณิธานส่วนตน แต่ยังชี้ให้เห็นถึงความหวังและการกระทำของใครสักคนที่มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนโลกให้เป็นที่ ๆ ดีกว่าเดิม ซึ่งมันได้ผลิดอกออกผลที่บานสะพรั่งไปสู่ผู้คนโดยรอบของมันอย่างชัดเจน
“เมื่อเรามุ่งหมายที่จะเป็นคนที่ดีกว่าเดิม
โลกทั้งใบจะพลันงดงามยิ่งขึ้นตามไป”
คงไม่มีใครคิดว่าการกล้าลงมือเขียนเพื่อไล่คว้าฝันและสะท้อนเส้นทางชีวิตส่วนตัว จะกลายเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนมากมายเพียงนี้ เพียงแค่กล้าในวัย 40 ปีที่จะเผชิญบททดสอบในการคว้าฝัน ขาข้างหนึ่งของ เปาโล คูเอลญู ก็ก้าวเข้าไปอยู่ในอาณาบริเวณอันเป็นที่ตั้งอยู่ของขุมทรัพย์ที่ปลายฝันเขาแล้ว
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :
"Interview: Paulo Coelho." High Profiles
"The Alchemist: Context." SparkNotes
The Alchemist : การเดินทางที่ชวนให้ผู้อ่านกล้าฝันและคว้ามันมาครอง | The People