Lapvona : เมืองแห่งความวิปลาสที่ใช้ศาสนาสนองกิเลสและอำนาจ

Lapvona : เมืองแห่งความวิปลาสที่ใช้ศาสนาสนองกิเลสและอำนาจ

‘Lapvona’ หรือ ‘เมืองคนบาป’ นวนิยายจาก ‘ออตเทสซา มอชเฟก’ (Ottessa Moshfegh) ที่พูดถึงหมู่บ้านในยุคกลางในชื่อเดียวกันที่อุดมไปด้วยความวิปลาสของมนุษย์

ไม่มีมังกร ไม่มีเวทย์มนต์ ไม่มีเอล์ฟ คนแคระ หรือออร์ก มีเพียงอัศวิน มีดดาบ การรบราฆ่าฟัน ความดิบเถื่อน ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ รายล้อมไปด้วยความแร้นแค้นและความตาย แทบเสียทุกชีวิตถูกกำหนดชะตาผ่านธรรมชาติ โรคภัย และท่านลอร์ด—นี่น่าจะเป็นความแตกต่างของ ‘ยุคกลาง’ (Medieval Age) ที่เราต่างก็คุ้นชินกัน ว่ามันไม่ได้สวยหรูเฉกเช่นนวนิยาย ภาพยนตร์ หรือวิดีโอเกมได้วาดฝันไว้

หลายครั้งเรื่องราวของยุคกลางถูกหยิบยกมาพูดถึงในฐานะความผิดพลาดของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ และแทบทุกครั้งถูกหยิบขึ้นมาในฐานะบริบทอันเป็นพื้นที่แห่งจินตนาการและโลกแฟนตาซีที่พาให้ผู้เสพโบยบินไปในโลกแห่งความฝัน แต่บางทีก็เป็นเรื่องน่าแปลก ว่าหลาย ๆ มิติของโลกยุคกลางนั้นกลับเป็นภาพสะท้อนบางแง่มุมของความเป็นมนุษย์ของเราได้ไม่เปลี่ยนไป

Lapvona’ คือนวนิยายลำดับที่ห้าของนักเขียนหญิงชาวอเมริกัน ‘ออตเทสซา มอชเฟก’ (Ottessa Moshfegh) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2022 ว่าด้วยเรื่องราวของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งนามว่า ‘แลปโวนา’ (Lapvona) อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวแลปโวเนียน และสถานที่แห่งนี้เองที่เป็นเวทีที่มอชเฟกได้ใช้จินตนาการของเธอวาดความวิปริต น่าขยะแขยง โง่เขลา และความน่าขันของความเป็นมนุษย์ จนกลายเป็นชื่อฉบับแปลภาษาไทยเมื่อปลายปี 2024 ว่า ‘เมืองคนบาป’ 

ใครต่างก็พากันกล่าวถึง ‘ความวิปลาส’ (Grotesque) ของหนังสือเล่มนี้ ถึงขั้นที่ว่าก่อนเรื่องจะเริ่มต้องมีคำเตือนถึงนานาประเด็นอ่อนไหวที่จะถูกพูดถึงในเนื้อเรื่องตั้งแต่ ความรุนแรง การทารุณกรรมเด็ก การฆาตกรรม การกินเนื้อเผ่าพันธุ์เดียวกัน สิ่งปฏิกูล ไปจนถึงการบรรยายถึงเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง 

Lapvona : เมืองแห่งความวิปลาสที่ใช้ศาสนาสนองกิเลสและอำนาจ
 

เรื่องราวทั้งหมดถูกนำเสนอออกมาเสมือนกับผู้อ่านกำลังแอบดูความเป็นไป พฤติกรรม และความคิด ไปจนถึงความวิปลาสทั้งหมด ผสมผสานกับความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ที่เกิดขึ้นในเมืองแห่งนี้ สลับไปมาระหว่างตัวละครหลักสี่ห้าตัว อาทิเช่น มาเร็ก (Marek) : เด็กชายผู้อาภัพที่เกิดมาพร้อมกับร่างไม่สมประกอบและพ่อที่นิยมความรุนแรง ; จู๊ด (Jude) : ชายเลี้ยงแกะผู้ซึ่งเป็นพ่อของมาเร็ก และ วิลเลียม (Villiam) ท่านลอร์ดแห่งตระกูลผู้ปกครองแลปโวนาบนคฤหาสน์เยี่ยงกษัตรย์ ไปจนถึงตัวละครอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับช่วงของเนื้อเรื่อง

แต่หากแหวกความวิปลาสของบรรดาสิ่งที่อยู่ในเรื่องแล้วพินิจพิเคราะห์ดูให้ดีแล้ว เรื่องราวในเมืองคนบาปแลปโวนาได้สะท้อนอะไรหลายอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ในดินแดนวิปลาสของมอชเฟกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ศาสนาในฐานะเครื่องมือปกครองสังคม ทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำที่เร้นกายมาในคราบของศรัทธาและเรื่องเล่า ความหน้าซื่อใจคดของมวลมนุษย์ ไปจนถึงความไม่สมเหตุสมผลที่ถูกเรียงร้อยในความคิดจนกลายเป็นเหตุเป็นผลกันเสียอย่างนั้น ในบางคราว Lapvona ก็เหมือนกับการหยิบมนุษย์อย่างเรา ๆ ไปอยู่ในเมือง ๆ หนึ่ง เพื่อทดลองหา ‘สัญชาติญาน’ — หรือถ้าพูดให้ตรงหน่อยก็ ‘สันดาน’ — ที่แท้จริงของคนเรา

 

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของนวนิยาย Lapvona /
 

ศาสนาสนองกิเลส

แลปโวนาก็คงเหมือนหลาย ๆ หมู่บ้านหรืออาณาจักรอื่น ๆ ในแดนยุโรปที่ศาสนาคริสต์ (Christianity) เป็นแกนกลางที่สำคัญของสังคมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักคำสอนหรือการเคารพบูชาก็ล้วนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่เหล่าประชาชนที่ไม่อยากถูกตีตราว่า ‘นอกรีต’ (Heretic) หรือ ‘แม่มด’ (Witch) ต้องเชื่อฟัง เคารพ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

และด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คำสอนทางศาสนาเบ่งบานในใจของผู้คนนั้น ในคราแรกก็สามารถตีความได้ว่าสังคมย่อมขยับไปสู่โลกที่มีศีลธรรมมากขึ้น เพราะกรอบของบุญและบาปเป็นสิ่งที่พาพวกเขาเหล่านั้นห่างจากความป่าเถื่อน แต่เมื่อลองมองลึกลงไปแล้ว อาจไม่เป็นเช่นนั้น

ศาสนา แทนที่จะถูกใช้เป็นกรอบกำกับพฤติกรรมและกิเลสของมนุษย์ กลับกลายเป็น ‘ข้ออ้าง’ ที่เป็นเหตุผลให้ใครสักคนกระทำผิดได้อย่างสบายใจ และบิดเบือนว่านั่นเป็นประสงค์ของพระเจ้า หรือแม้แต่ในบางคราวความเชื่อก็ผันแปรไปตามสถานะของตัวเอง โดยเฉพาะในกรณีของเด็กหนุ่มผู้เคร่งศาสนาอย่างมาเร็ก

ครั้นอาศัยอยู่อย่างยากลำบากกับจู๊ด มาเร็กมเชื่อเสมอว่าความทุกข์ทรมานเป็นบททดสอบหรือแม้แต่ประสงค์ จึงทำให้มาเร็กยินดีปรีดากับความเจ็บปวดยิ่ง ทว่าเมื่อได้ไปอยู่ในคฤหาสน์ของวิลเลียม ความหรูหราที่เดิมทีจะดูเป็นกิเลส กลับกลายเป็นเป็นรางวัลจากสวรรค์ที่พระเจ้าประทานให้ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นภาพแทนที่ชี้ให้เราเห็นถึงความไหลลื่นของหลักศาสนาบนศรัทธาของปัจเจก ที่พร้อมจะอะลุ่มอล่วยกับสถานะที่ใครคนนั้นยืนอยู่เสมอ แทนที่จะเป็นหลักเดิมที่ยึดแน่นไม่เปลี่ยนแปลง

จู๊ดเองก็ใช้ศาสนาในฐานะ ‘เครื่องชำระบาปรายสัปดาห์’ กับการเฆี่ยนตีตนเองทุกวันศุกร์ เพราะการทำให้ตัวเองเจ็บปวด จู๊ดรู้สึกเหมือน “หัตถ์ของพระเจ้าประทับลงบนตัวเขา” กระนั้นตัวเขาเองก็ยังใช้ความรุนแรงกับมาเร็กเฉกเช่นเดิมไม่ต่างไป ในทีนี้ จึงเสมือนว่าศาสนาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางความเชื่อที่ทำให้คนบาปสบายใจเสียมากกว่าการชี้นำผู้คนสู่ทางสว่าง

ผู้คนส่วนใหญ่เองก็สะท้อนพฤติกรรมทำนองเดียวกันนี้ออกมาอย่างพร้อมเพรียง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่แลปโวนาคละคลุ้งไปด้วยไอร้อน ความแห้งแล้ง จนทำให้ผู้คนต้องประทังความอดอยากด้วยโคลน หรือแม้แต่ศพเพื่อนมนุษย์สักคนที่เพิ่งหมดลมไป แม้ว่าจะมีโบสถ์ให้ผู้คนสามารถไปสารภาพบาปหรือไปเข้าร่วมพิธีทางศาสนาอย่างเคร่งครัด ทว่าเมื่อถึงคราวจวนตัว บาปหนาที่สุด—เช่นการประทังชีวิตด้วยเพื่อนมนุษย์—ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้

มาจนถึงตรงนี้เราก็น่าจะยังสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าศาสนาเป็น ‘เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ’ เพียงแต่ต้องพูดต่อท้ายไปอีกว่า สำหรับทั้งคนดีและตรงกันข้ามด้วย

อีกทั้งยังฉายภาพให้เราเห็นว่าในบางคราว ศาสนาที่ดูแข็งแกร่งและเหนียวแน่น ก็ไหลลื่นและเปราะบางเสียเหลือเกิน

 

เมื่อความเชื่อคือพลัง อำนาจ และโซ่ตรวน

 

นี่ไม่ใช่ความมั่งคั่งของพระเจ้า

แต่เป็นเงินรางวัลของหัวขโมย

 

นอกจากสองพ่อลูกแล้ว ‘ท่านลอร์ดวิลเลียม’ กับ ‘บาทหลวงบาร์นาบัส’ (Father Barnabas) ก็ใช้ศาสนา ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของตัวเอง แต่ยังใช้มันในฐานะ ‘เครื่องมือ’ ที่ใช้ปกครองบ้านเมืองได้อย่างแยบยล อีกทั้งยังบิดเบือนศาสนาเพื่อสอดรับกับความเป็นไปของตนเอง—ไม่ต่างอะไรจากที่ปัจเจกบิดเบือนศรัทธาของตนเองเพื่อสอดรับกับการกระทำของตน

เป็นเรื่องที่คงไม่ต้องเดาอยู่แล้วว่าในสังคมที่ปกครองแบบศักดินาจะมีประเด็นอย่าง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ (Inequality) หรือเปล่า เพราะการที่จู๊ดกับมาเร็กอาศัยอยู่ในกระท่อมกลางทุ่ง ในขณะที่วิลเลียมเสพสุขบนคฤหาสน์ยักษ์ใหญ่ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว วิลเลียมไม่เพียงครอบครองทรัพย์สินเหนือผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม แต่เขายังปล้นเอาผลผลิตไปขายหรือใช้หนี้ส่วนตนอีกด้วย นี่ยังไม่รวมการที่เขากักน้ำไว้ส่วนตัว ในขณะที่ชาวบ้านต้องเสวยโคลนและแขนขาของเพื่อนมนุษย์

ตัวละครทำนองนี้ปรากฎขึ้นอยู่ในนวนิยายหลายเรื่อง — หรือแม้แต่ชีวิตจริง — จนเราเห็นจนชินตาไปแล้ว จึงอาจไม่ต้องเจาะลึกพวกเขามากนัก แต่ที่น่าสนใจในกรณีคือวิธีที่พวกเขาใช้กับผู้คนให้อยู่ในร่องในรอยมากกว่า ดังที่เรากล่าวไปข้างต้นว่าในที่นี้เรากำลังพูดถึง ‘ศาสนา

ถ้าจะเปรียบท่านลอร์ดวิลเลียมเป็นจอมเผด็จการหนวดจิ๋ม บาทหลวงบาร์นาบัสก็ไม่ต่างอะไรไปจาก โจเซฟ เกิบเบิลส์ ที่ทำหน้าที่เป็นมันสมองในการคิดหาและสร้างสรรค์โฆษณาชวนเชื่อนานาอย่างมาประโคมกับผู้คน เพื่อไม่ให้เขาเหล่านั้นตั้งคำถาม ไม่พอใจ หรือแม้แต่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านโครงสร้างสังคมหรือความอยุติธรรมที่เป็นอยู่

 

ขยันทำงานให้มากขึ้นแล้วปีศาจจะกริ่งเกรง

 

แม้แต่ในช่วงฤดูร้อนที่แหล่งน้ำต่างเหือดแห้ง พืชผักล้มตาย จนชาวแลปโวนาต่างไร้ซึ่งอาหารประทังชีวิต สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงเช่นนั้นก็เป็นเพราะวิลเลียมกักน้ำไว้เองในปริมาณมาก —มากพอที่จะลงไปว่ายกับบาร์นาบัสได้—แต่พอถึงคราวที่ต้องบอกกล่าวกับผู้คน บาร์นาบัสก็ได้ใช้ศาสนามาบอกว่าประตูแห่งนรกได้เปิดขึ้น และปีศาจก็ได้มาเดินว่อน ไม่ใช่เพราะใครสักคนได้กักทรัพยากรเอาไว้เพราะความโลภส่วนตน

ถึงแม้ว่าบาร์นาบัสจะไม่อธิบายประชาชนแลปโวนาด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่ท้ายที่สุดแล้ว รากความเชื่อของสังคมมที่ฝังรากลึกก็เป็นกลไกที่ป้องกันคฤหาสน์ของวิลเลียมให้ยืนยงอยู่ตรงนั้นอย่างมั่นคงอยู่ดี เพราะชาวแลปโวนาก็เชื่อฝังลึกอยู่แล้วว่าความทรมานเป็นประสงค์ของพระเจ้าที่จะพาพวกเขาเข้าใกล้สวรรค์มากกว่าเดิม 

ในกรณีนี้ ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสงวนอำนาจและความมั่นคงของผู้ถือครองอำนาจไว้ได้อย่างรัดกุม แม้ว่าทหารภายนอกคฤหาสน์ของวิลเลียมจะถูกกล่าวถึง แต่เราจะเห็นได้ว่าพวกเขาแทบไม่ได้มีบทบาทในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย ก็แน่นอนว่าอำนาจเชิงกายภาพจำไปจำเป็นได้อย่างไรกัน ในเมื่อเหล่าชาวแลปโนวาได้สยมยอมวิลเลียม—ไม่สิ ศาสนาและพระเจ้า—ไปตั้งแต่ในหัวของพวกเขาแล้ว

ศาสนาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ เพราะมีอีกหลายอย่างที่ถ้าใครสักคนรู้จักวิธีเล่นแร่แปรธาตุมันมากพอก็อาจใช้มันเป็นพลังได้อย่างแยบยล

 

พลังของเรื่องเล่าและคำโกหก

 

ทุกสิ่งถูกตะล่อมให้เป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาได้

ถ้าเขาครุ่นคิดถึงมันมากพอ

 

เรื่องราวอันวิปลาสของชาวเมืองแลปโวนาชี้ให้เราเห็นความน่ากลัวหนึ่งในพลังของเรื่องเล่าและทักษะในการเชื่อมโยงปะติดปะต่อของมนุษย์ ถ้าสังเกตดูดี ๆ เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นความโชคดี ความโกลาหล ความบ้าคลั่ง ความอยุติธรรม และความน่ารังเกียจที่ทะยานขึ้นและดิ่งลงเหวเฉกเช่นรถไฟเหาะของเมืองคนบาปนี้ ล้วนเกี่ยวโยงกับคำโกหกและความเข้าใจผิดทั้งสิ้น

ตั้งแต่แนวคิดประหลาด ๆ ที่เป็นบ่อเกิดความวิปลาสที่ทำให้มาเร็กดูดนมแม่แกะได้อย่างชอบธรรม หรือแม้แต่การคิดเป็นตุเป็นตะว่าเด็กในท้องของ ‘อกาทา’ (Agata) เป็นการมาเยือนครั้งที่สองของพระคริสต์เพราะมาจากการตั้งครรภ์โดยบริสุทธิ์ ทั้ง ๆ ที่มาจากฝีมือของจู๊ด จนนำไปสู่ความมั่วซั่ว อะไรที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็เกิดขึ้น 

Lapvona ชี้ให้ผู้อ่านเห็นว่าบางทีความเข้าใจ ความเชื่อ หรือแม้แต่เรื่องเล่าของมนุษย์เรานั้น บางทีก็เปราะบางเสียเหลือเกิน และควาเปราะบางทางความเข้าใจนั้นก็อาจนำไปสู่ความโกลาหลอันไร้ความสมเหตุสมผลจนน่าขัน แต่ในขณะเดียวกัน หลังหัวเราะกับความบ้าบอและน่าขยะแขยงของชาวแลปโวนาเสร็จ ก็อดไม่ได้ที่จะกลืนน้ำลายแล้วย้อนนึกไปถึงอีกโลกหนึ่งที่ไม่ได้ต่างกันมากนัก

ออตเทสซา มอชเฟก ได้จูงมือเราไปนั่งมองความบ้าบิ่น น่าขยะแขยง และวิปลาสของหมู่บ้านที่ว่าแลปโวนาและคาดหวังว่าจะให้มันเป็นประสบการณ์การเชยชมความหลุดโลกเสมือนอยู่ในสวนสัตว์สักแห่งของเมืองคนบาป ทว่ามันกลับกลายเป็นละครเวทีที่ดันสะท้อนเข้ามาสู่ความเป็นจริงของเราได้อย่างจัง


ภาพ : หนังสือ Lapvona