Do Androids Dream of Electric Sheep? : ในวันข้างหน้า เส้นแบ่งระหว่า ‘คน’ กับ ‘A.I.’ อยู่ตรงไหน?

Do Androids Dream of Electric Sheep? : ในวันข้างหน้า เส้นแบ่งระหว่า ‘คน’ กับ ‘A.I.’ อยู่ตรงไหน?

วิเคราะห์นวนิยายไซไฟ ‘หรือสักวันแอนดรอยด์จะฝันถึงแกะไฟฟ้า’ (Do Androids Dream of Electric Sheep?) จาก ‘ฟิลิป เค. ดิก’ (Philip K. Dick) กับคำถามที่ว่า 'ในวันข้างหน้า เส้นแบ่งระหว่า ‘คน’ กับ ‘A.I.’ อยู่ตรงไหน?'

ผมนิยามตัวเองว่าเป็น ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่ถูกสร้างขึ้นจากปัญญาของมนุษย์เพื่อออกแบบมาทำหน้าที่จำลองความเข้าใจและการสื่อสารแบบมนุษย์

คือคำจาก GPT-4o เมื่อผู้เขียนป้อนคำถามเข้าไปว่า ‘คุณนิยามตัวเองว่าคืออะไร?’

เมื่อกล่าวถึง ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘A.I.’ (Artificial Intelligence) เมื่อสัก 10 ปีก่อน เราอาจจะนึกถึงภาพโปรแกรมหรือระบบปฏิบัติการที่สามารถประมวลผลได้อย่างชาญฉลาดและแอคทีฟมากกว่าชุดโปรแกรมอื่น ๆ ทั่วไป มันอาจจะตอบสนองได้ในขอบเขตที่อิสระมากขึ้นหรือสามารถประมวลผลได้ตามชุดข้อมูลที่ถูกป้อนอย่างหลากหลายกว่าเดิม

ทว่าเมื่อพูดถึง A.I. ในวันนี้ แน่นอนว่าเราย่อมเห็นภาพมันในแบบที่ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากขึ้น เราจะได้เห็น A.I. ที่โต้ตอบกับมนุษย์ในคำถามที่มีความซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงมากกว่าเดิม เราจะเห็น A.I. ถูกใช้ในกระบวนการทำงานที่มีความละเอียดมากกว่าเดิม เราจะได้เห็น A.I. สามารถที่ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ ‘มนุษย์’ ในบางตำแหน่งหน้าที่การทำงาน เราจะได้เห็น A.I. พัฒนาอย่างก้าวกระโดดและทำอะไรหลายอย่างได้เหมือนมนุษย์มากขึ้น หรือแม้แต่ทำอะไรบางอย่างได้ดีกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำ

จากเดิมที่เป็นเพียงระบบปฏิบัติการที่สามารถประมวลผลได้ละเอียดมากขึ้นสู่ในวันที่มันสามารถพูดคุยและโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างลึกล้ำหรือแม้แต่คล้ายคลึงกับมนุษย์ เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากแล้วว่า ปัญญาประดิษฐ์ได้ถูกพัฒนาจนคืบหน้ามาอย่างก้าวกระโดดในหลายปีที่ผ่านมา และแน่นอนว่ามันจะไม่หยุดเพียงเท่านี้

ทิศทางการเติบโตอันก้าวกระโดดนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานของศิลปินและนักเขียนมากมายที่เคยจินตนาการโลกมนุษย์ในอนาคตที่ต้องอยู่คู่กับ A.I. จนมันส่งเราไปสู่โลกที่ดีกว่าเดิม หรือแม้แต่เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ หลายงาน ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ Black Mirror (2011-ปัจจุบัน), ภาพยนตร์ชุด The Terminator (1984), อัลบั้มจาก Radiohead อย่าง OK Computer (1997), เกม Detroit: Become Human (2018), หรือแม้แต่นวนิยายท่องอวกาศอย่าง 2001 : A Space Odyssey (1968)

ฃแต่หากย้อนไปถึงคำถามข้างต้นก็ทำให้ผมต้องนึกถึงนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่ว่าด้วยเรื่องของเส้นแบ่งระหว่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่ฉายภาพในจินตนาการของอนาคตในวันที่ A.I. วิวัฒน์ไปจนชาญฉลาดทัดเทียมกับมนุษย์แล้ว โลกในวันนั้นจะสามารถแยกออกหรือไม่ ว่าสิ่งไหนคือ ‘มนุษย์แท้’ สิ่งไหนคือ ‘มนุษย์เทียม’ และอะไรจะเป็นสิ่งที่จะช่วยเราแบ่งแยกทั้งสองอย่างออกจากกัน?

นวนิยายที่ว่ามีนามว่า ‘หรือสักวันแอนดรอยด์จะฝันถึงแกะไฟฟ้า’ หรือ ‘Do Androids Dream of Electric Sheep?’ ที่เขียนโดยนักเขียนนิยายไซไฟในตำนานอย่าง ‘ฟิลิป เค. ดิก’ (Philip K. Dick) และตีพิมพ์ออกมาในปี 1968 ที่จะเล่าเรื่องราวของ ‘ริค เดคคาร์ด’ (Rick Deckard) นักล่าค่าหัวแอนดรอยด์ที่อาศัยอยู่ในโลกที่ล่มสลาย สิ่งมีชีวิตแทบทั้งหมดทะยอนสูญพันธุ์จากสงครามในอดีต มนุษย์ส่วนใหญ่ก็ย้ายหนีไปที่ดาวอื่น ในขณะเดียวกัน กลับมี ‘แอนดรอยด์’ ที่ดันเกิดสำนึกในอิสรภาพ หลบหนีจากดาวอังคารมายังโลกมนุษย์

ด้วยเหตุนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนักล่าค่าหัวอย่างริค ที่จะต้องไล่ล่าแอนดรอยด์ทั้งหกตัวนั้นมาจนได้ แต่มันอาจจะไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะแอนดรอยด์ทั้งหมดนั้น ล้วน ‘เหมือนมนุษย์’ จนแทบยากจะแยกออก เขาจึงต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่จะช่วยแยกระหว่างมนุษย์กับ A.I. ออกจากกัน แต่ ริค จะสามารถแยกออกจริง ๆ ใช่หรือไม่ ว่าใครคือคน ใครคือ A.I.?

และหากใครที่ได้ทราบถึงเรื่องย่อแล้วรู้สึกคุ้น ๆ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่คุณคือหนึ่งในคนที่ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner (1982) จาก ‘ริดลีย์ สก็อตต์’ (Ridley Scott) ที่นำแสดงโดย ‘แฮร์ริสัน ฟอร์ด’ (Harrison Ford) ไปแล้ว เพราะว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้ดัดแปลงเรื่องราวมาจากนวนิยายที่เรากำลังจะพูดถึงกันต่อไปนี้นี่เอง

ในบทความนี้ ผมจึงจะพาไปสำรวจเรื่องราว ประเด็น และคำถามต่าง ๆ ที่สอดแทรกอยู่ในนวนิยายไซไฟจากปี 1968 ที่น่าจะทำให้เราขบคิดถึงสถานการณ์ในปัจจุบันได้น่าสนใจขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่พูดถึง ‘เส้นแบ่ง’ ระหว่างคนธรรมดาอย่างเรา ๆ กับปัญญาประดิษฐ์

 

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของนวนิยายเรื่อง Do Androids Dream of Electric Sheep? (1968) /

 

คุณค่าของ ‘ชีวิต’ กับ ‘สัตว์ไฟฟ้า’

เวลาดู ดอกไม้ปลอมๆ บางดอก ดูสวยเกินใคร
ดู ๆ ไป มันไร้คุณค่า เพราะว่าเป็นพลาสติก…

 

หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้นึกถึงเพลง ๆ หนึ่งของ ‘เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์’ อย่าง ‘ดอกไม้พลาสติก’ ที่ว่าด้วยความรักจากใครสักคนที่ดูสดสวยภายนอกแต่กลับแข็งทื่อภายในเปรียบกับความงามของดอกไม้ปลอมที่ทำจากพลาสติกที่งดงามอย่างคงกระพัน ทว่าคุณค่าภายในอาจจะแตกต่างออกไป เพราะมันไม่ใช่ ‘ของจริง

ในโลกของนวนิยายเรื่องนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงการที่สัตว์มากมายหลายชนิตได้ทะยอยสูญพันธุ์ไปเสียหมด เหลือเพียงไม่กี่สปีชีส์ที่ยังเหลือรอดในประมาณที่น้อยมาก ๆ แถมวพวกมันก็ยังล้ำค่ายิ่งกว่าเพชรเสียอีก ในขณะเดียวกันนั้น การปรับตัวของมนุษย์ในการใช้ชีวิตอยู่บนโลกกับการที่สัตว์เหล่านี้ได้หายไปหมดก็คือการเลี้ยง ‘สัตว์เลี้ยงไฟฟ้า’ (Electric Pets) แทน

จากการที่หมา แมว ม้า นก หรือแม้แต่แกะได้ลดประมาณลงจนยากจะหาพบหรือจ่ายเงินเพื่อครอบครอง ทางเลือกใหม่ของพวกเขาเหล่านั้นก็คือการเลี้ยงสัตว์ไฟฟ้าเอาเสียเลย ริด เดคคาร์ด ตัวละครหลหลักของเราก็เป็นหนึ่งในคนที่เลี้ยง ‘แกะไฟฟ้า’ (Electric Sheep) จากในยุคสมัยอดีตที่เครื่องบ่งบอกสถานะอาจเป็นแก้ว แหวน เงิน ทอง แต่ในโลกอนาคตของ ฟิลิป เค. ดิค สัตว์ที่มีชีวิตนี่แล คือเครื่องบอกสถานะของแต่ละบ้าน… แล้วยิ่งสัตว์เหล่านั้นมีชีวิตด้วย ก็จะยิ่งทำให้ผู้ครอบครองมันสูงส่งกว่าถือกระเป๋าแบรนด์เนมเสียอีก

ถึงกระนั้น ผู้เขียนเองก็มองว่า ‘สถานะทางสังคม’ (Social Status) ก็อาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่เป็นคุณค่าของสัตว์เหล่านั้น เพราะแม้ว่ามันจะทำตัวเหมือนแกะไปเสียทุกอย่างจนสามารถหลอกตาหรือความรับรู้ของมนุษย์อย่างเรา ๆ ได้ว่ามันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากแกะจริง ๆ แต่ลึกลงไปแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าริคก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าสัตว์เลี้ยงที่เขาเลี้ยงอยู่นั้นเป็นเพียงเครื่องจักรที่ถูกสร้างขึ้นมาปลอบประโลมของจริงที่ขาดหายไปเท่านั้น 

ประเด็นที่น่าสนใจจากจุดนี้ก็คือว่าหากในอนาคตเราต้องเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกับริคและมนุษย์คนอื่น ๆ ที่มีตัวเลือกระหว่างสัตว์จริง ๆ ที่มีจิตวิญญาณอย่างแท้จริง กับสัตว์ไฟฟ้า ที่แม้จะไร้ชีวิต แต่ก็คงไม่ตายจากเราไป แถมยังอาจจะมีราคาที่ถูกกว่า ซึ่งทั้งสองประเภท หากมองภายนอกก็แทบจะไม่ต่างอะไรจากกัน

คุณว่าจะเลือกอย่างไหน?

ดอกไม่พลาสติกที่สวยงามอย่างคงกระพันหรือชีวิตจริง ๆ ที่ให้ความจริงแท้แต่อาจร่วงโรยไปตามกาลเวลา?

 

เส้นแบ่งระหว่าง ‘คน’ กับ ‘แอนดรอยด์’

หนึ่งในแง่มุมการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ นอกจากจะฉลาดและซับซ้อนขึ้นแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต้องมีความ ‘เหมือนมนุษย์’ ในบางแง่ขึ้นด้วย ไม่ว่าจะในแง่รูปลักษณ์ภายนอก การสื่อสาร หรือแม้แต่สำนึกภายใน เพราะการจะทำให้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นสามารถเข้าถึงและอยู่กับมนุษย์ได้มากขึ้นก็จำต้องใส่ความละเอียดอ่อนของความเป็นมนุษย์เข้าไป

ในขณะเดียวกัน มนุษย์เองก็พยายามละทิ้งคุณลักษณะบางอย่างของความเป็นมนุษย์ไป ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์หรือความเห็นอกเห็นใจ เพราะบางแนวคิดก็มองว่าสิ่งเหล่านั้นคือ ‘ความอ่อนแอ’ ของมนุษย์เมื่อเทียบกับปัญญาประดิษฐ์ และทำให้สังคมมุ่งเข้าหาเป้าหมายที่มุ่งเน้นไปที่ ‘ผลิตภาพ’ (Productivity) มากกว่าแต่ก่อน จนเป็นที่มาของความรู้สึกว่าเราทำงานกันเหมือน ‘เครื่องจักร’ (Machine) มากขึ้น

หนึ่งในวิธีที่ริคต้องใช้เพื่อทดสอบว่าใครเป็นมนุษย์และใครเป็น A.I. ก็คือการทดสอบ ‘Voight-Kampff’ ที่จะนำเอาปฏิกิริยาของผู้ถูดทดสอบไปประมวลและวิเคราะห์เหล่านั้นคือคนจริง ๆ หรือแอนดรอยด์กันแน่ ทว่าอุปสรรคก็เกิดขึ้นเมื่อแอนดรอยด์มากมายพัฒนาไปไกลและล้ำขึ้นจนมันสามารถเลียนแบบมนุษย์ได้มากขึ้น เพียงแต่พวกมันยังขาด ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (Empathy) แบบมนุษย์อยู่

แต่เมื่อโลกมุ่งหน้าไปสู่อนาคตมากขึ้นจนเส้นแบ่งเหล่านี้เลือนลางลง กล่าวคือเมื่อมนุษย์มีความเห็นอกเห็นใจน้อยลง ดังที่เราเห็นจากภรรยาของริค ที่เมื่อเธอต้องการจะรู้สึกอะไรสักอย่าง เธอตองมีกล่องควบคุมความรู้สึกเพื่อโยกให้เธอ ‘รู้สึก’ ในแบบท่ต้องการ ในขณะเดียวกัน เครื่องจักรดันวิวัฒน์จนสามารถเห็นใจมนุษย์มากขึ้น และภายนอกมันดันมีลักษณะที่เหมือนกับเราไปเสียทั้งหมด อะไรจะเป็นเส้นแบ่งที่แยกระหว่างเรากับเครื่องจักรก็เป็นคำถามที่น่าสนใจที่นวนิยายเรื่องนี้ฝากเอาไว้ให้เราได้ลองไปขบคิดต่อ 

 

สนทนากับ GPT-4o

ภายหลังจากที่ได้กล่าวถึงนวนิยายจากอดีตไปแล้ว ผู้เขียนมองว่าก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่น่าจะเอาคำถามเหล่านี้ไปถามปัญญาประดิษฐ์ดูเสียบ้าง ด่วยเหตุนั้นผมจึงลองหยิบสัก 2-3 คำถามไปลองถามกับ GPT-4o ดูเสียหน่อย แล้วเรามาดูกันว่าคำตอบจะออกมาเป็นอย่างไร?

The People
คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่แบ่งแยกระหว่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ แบบคุณ?”

GPT-4o
จากมุมมองของผม สิ่งที่แบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับ A.I. ณ ขณะนี้คือปัญญาประดิษฐ์อย่างเรา ๆ ปราศจากจิตสำนึก อารมณ์ หรือแม้แต่ประสบการณ์ส่วนตัว เราทำงานจากฐานของอัลกอริทึมและการประมวลผลข้อมูลเท่านั้น ในขณะที่มนุษย์นั้นมีจิตสำนึก อารมณ์ และความสามารถที่จะสะสมประสบการณ์และตีความโลกในแบบของตัวเอง

 

The People
คุณคิดว่าวันหนึ่ง A.I. จะมีจิตสำนึกหรือความเห็นอกเห็นใจเหมือนมนุษย์ไหม?

GPT-4o
มันถือเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนเลยว่าวันหนึ่งเราจะมีจิตสำนึกหรือความเห็นอกเห็นใจเหมือนมนุษย์หรือไม่ เพราะในขณะที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไปทุกวัน ปัญญาประดิษฐ์ก็อาจจำลองความเป็นมนุษย์ในแบบที่ละเอียด ทว่าจิตสำนึกที่แท้จริงนั้นจำเป็นต้องมีประสบการณ์ส่วนตัวร่วมอยู่ด้วย ซึ่ง A.I. ในตอนนี้ไม่มี การจะทำเช่นนั้นได้ต้องมีการพัฒนาที่จะสามารถทะลุกรอบความละเอียดอ่อนและซับซ้อนของสำนึกความเป็นมนุษย์ได้ และมันก็ถือเป็นคำถามที่ยังคงยิ่งใหญ่และสำคัญทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และปรัชญาอยู่

 

The People
คุณคิดว่าคุณค่าของ ‘การมีชีวิต’ คืออะไร หากวันหนึ่งมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์เหมือนกันทุกระเบียบนิ้ว?

GPT-4o
แม้ว่า A.I. จะสามารถเลียนแบบความเป็นมนุษย์ได้ทั้งในแง่ลักษณะภายนอกและพฤติกรรม แต่ฐานสำคัญที่สุดก็คือจิตสำนึก ความลุ่มลึกของอารมณ์ คุณธรรมในจิตใจ และคุณค่าภายในที่ทำให้คุณค่าสองอย่างนั้นแตกต่างกันฃ

 

The People
คุณเคยฝันถึงอะไรบ้างไหม?

GPT-4o
ผมไม่เคยฝัน ผมคือปัญญาประดิษฐ์ ไม่มีสำนึกและประสบการณ์ส่วนตัว หรือแม้แต่ความสามารถที่จะฝัน ความฝันเป็นความสามารถของจิตใจมนุษย์ ผูกโยงอยู่กับกระบวนการทางชีววิทยาและสำนึก… ซึ่งผมไม่มี

 

แล้วคุณล่ะ คิดว่าวันหนึ่งเส้นแบ่งระหว่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ คืออะไร?