12 ม.ค. 2562 | 07:55 น.
"ถ้าคุณวางเฉยกับเหตุอันไม่เป็นธรรม คุณก็เลือกที่จะอยู่ข้างผู้กดขี่ ถ้าช้างเหยียบหางหนูแล้วคุณบอกว่า คุณขอเป็นกลาง หนูคงไม่ชื่นชมในความเป็นกลางของคุณสักเท่าไหร่" เดสมอนด์ ตูตู (Desmond Tutu) บาทหลวงและนักสิทธิมนุษยชนชาวแอฟริกาใต้ เจ้าของรางวัลโบเบลสันติภาพประจำปี 1984 ในรัฐเผด็จการ ผู้นำย่อมมีอำนาจออกคำสั่งได้ตามใจชอบโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เหมือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2500 (และ 2501) ที่ได้ประกาศอำนาจของตน ลงในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ว่า "ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์หรือการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอํานาจสั่งการ หรือกระทําการใดๆ ได้และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทําเช่นว่านั้นเป็นคําสั่งหรือการกระทําที่ชอบด้วยกฎหมาย" สมัยนั้นรัฐบาลเผด็จการอ้างเหตุจำเป็นข้อหลักของอำนาจตามมาตรานี้ว่าเพื่อกำจัด “ภัยคอมมิวนิสต์” แต่ด้วย “ความมั่นคง” มีความหมายที่กว้างขวางมันจึงถูกขยายความนำไปใช้ประหารผู้ต้องหาคดีวางเพลิงด้วย และเมื่อจอมพลสฤษดิ์พ้นจากอำนาจไป กฎหมายฉบับนี้ก็ยังได้ย้อนกลับมาเป็น "โทษ" กับ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ภรรยาตามกฎหมายคนสุดท้ายของจอมพลสฤษดิ์เสียเอง ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2464 เป็นธิดาของ นางประเทียบ ชลทรัพย์ กับ พระศรการวิจิตร (ช้อย ชลทรัพย์) พ่อแม่ของท่านผู้หญิงแยกทางกันตั้งแต่ท่านยังเด็ก โดยนางประเทียบซึ่งมีอายุมากกว่าจอมพลสฤษดิ์เพียงสองปีนั้น ทั้งสองถือว่าเป็นญาติใกล้ชิดมีสถานะเป็นลูกพี่ลูกน้อง เนื่องจากนางคำฟองมารดาของนางประเทียบเป็นพี่สาวของนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ มารดาของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อนับทำเนียบญาติกันแล้ว สฤษดิ์-วิจิตรา จึงมีสถานะเป็น "น้า-หลาน" กัน วิจิตราเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา แต่ออกจากโรงเรียนกลางคันแล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนหัตถากรยุพดี ที่แถวศรีย่านเป็นโรงเรียนที่สอนด้านวิชาช่างทั้งการเย็บปักถักร้อยและการทำอาหาร เรียนได้สองปีเธอก็ออกมาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า (จักรวาล ชาญนุวงศ์, สามม่าย สตรีหมายเลข 1, พระนคร, บันดาลสาส์น, 2507) และในวันที่ 1 ตุลาคม 2491 วิจิตราก็ได้แต่งงานกับ พ.อ. สฤษดิ์ แม้ว่าประเทียบผู้เป็นมารดาจะไม่ค่อยเห็นด้วยมากนักด้วยทั้งคู่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด (ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ 17 เมษายน พ.ศ. 2546) หลังการแต่งงานหน้าที่การงานของสฤษดิ์ก็ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สร้างผลงานสำคัญในฐานะผู้ปราบ "กบฏวังหลวง" (2492) เขาได้รับความไว้วางใจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ให้รับกิจการหน้าที่สำคัญๆ ก่อนที่เขาจะเป็นผู้นำคณะรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของจอมพล ป. ในปี 2500 แล้วให้ พลโทถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) นายทหารคนใกล้ชิดขึ้นเป็นนายกฯ ระหว่างที่ตนเองไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ ก่อนกลับมาทำรัฐประหารซ้อนขึ้นเป็นนายกฯ ด้วยตนเอง จอมพลสฤษดิ์ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในหมู่ประชาชน (สมัยนั้น) จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 2506 นำมาซึ่งการเกิดข้อพิพาทแย่งชิง "มรดก" ของเขาระหว่าง ท่านผู้หญิงวิจิตรา กับผู้อ้างสิทธิคนอื่นๆ นำโดย พันตรีเศรษฐา และ ร้อยโทสมชาย ธนะรัชต์ ทายาทของสฤษดิ์ที่เกิดกับ "ฉวี" อดีตภรรยาตามกฎหมายคนก่อน พร้อมด้วยลูกที่เกิดจากหญิงอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 7 คน ร่วมเข้ากันเป็นโจทก์อ้างว่าบิดาของพวกเขาได้ทิ้งมรดกไว้เป็นมูลค่ากว่า 2,874 ล้านบาท ฝ่ายท่านผู้หญิงวิจิตราอ้างว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ทิ้งพินัยกรรมไว้ให้ฉบับหนึ่งระบุว่าให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของเธอแต่ผู้เดียว โดยให้แบ่งเงินสดคนละหนึ่งล้านและกับที่ดินอีกเล็กน้อยให้กับ เศรษฐาและสมชาย แต่เศรษฐาและสมชายไม่เชื่อใน "ความสมบูรณ์" ด้วยกฎหมายของพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ข้อพิพาทดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลแพ่ง กลายเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนเป็นอย่างมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ ของจอมพลสฤษดิ์ทั้งส่วนของทรัพย์สินผลประโยชน์ไม่ว่าจะได้จากเอกชน หรือการยักย้ายถ่ายเทจากหน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวอย่างการมี "เมียน้อย" เป็นจำนวนมากซึ่งบางคนก็เป็นนางงามและนักแสดงด้วย ในระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดีอยู่นั่นเอง จอมพลถนอมก็ได้ใช้อำนาจตาม "มาตรา 17" ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำการสอบสวนและ "ยึดทรัพย์" จอมพลสฤษดิ์ที่ได้มาด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ จอมพลถนอมให้เหตุผลของการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ว่า เขาไม่ได้มีความขัดแย้งเป็นการส่วนตัวและไม่ได้ต้องการทำลายชื่อเสียงของนายเก่า แต่ที่ต้องทำก็เพื่อประโยชน์ของชาติ หลังพบว่ามีการยักยอกและใช้งบประมาณของรัฐโดยผิดวัตถุประสงค์ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์ของจอมพลสฤษดิ์กลับมาเป็นของแผ่นดิน ซึ่งการใช้อำนาจตามมาตรานี้ก็ทำให้มันมีผลที่ชอบด้วยกฎหมายโดยที่ผู้เสียหายไม่อาจฟ้องร้องโต้ตอบอะไรได้ "ฉันแค่ต้องการความเป็นธรรม" ท่านผู้หญิงวิจิตรากล่าวหลังทราบข่าวการใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของจอมพลถนอม พร้อมยืนยันว่า หากเธอได้เป็นผู้จัดการมรดก เธอก็ยินดีที่จะคืนทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์หากมี "หลักฐาน" ยืนยันได้ว่าทรัพย์สินส่วนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินจริง (The Bangkok Post, 4 Aug 1965) ซึ่งดูจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในสายตาของรัฐบาล ในส่วนของคดีความระหว่างท่านผู้หญิงกับทายาทจอมพลหลังดำเนินไปได้ราวสี่ปี มันก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายทายาท เมื่อศาลชี้ว่า พินัยกรรมฉบับ 19 กุมภาพันธ์ 2502 ที่ฝ่ายจำเลย (ท่านผู้หญิง) ยกอ้างนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ทั้งยังไม่เห็นประโยชน์ของการให้โจทก์มีสิทธิเข้าถึงทรัพย์สินในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์อีกในเมื่อรัฐบาลโดยคำแนะนำของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 17 ได้ใช้อำนาจยึดทรัพย์สินทั้งหมดในกองมรดกไปเสียแล้ว (The Bangkok Post, 5 Apr 1969) โดยในเดือนเดียวกันนี้ทางรัฐบาลได้ประกาศว่าสามารถติดตามเงินหลวงกลับคืนมาได้แล้วราว 510 ล้านบาท (The New York Times, 6 Apr 1969) ก่อนที่ข่าวคราวอื้อฉาวที่เกี่ยวพันกับจอมพลสฤษดิ์จะค่อยๆ พ้นจากความสนใจของสื่อไป