14 ม.ค. 2562 | 18:05 น.
"ข้าพเจ้าได้รู้แล้วว่า ไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่ขี้ขลาด และอดีตของข้าพเจ้าก็เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ข้าพเจ้าคือคนที่พร้อมขย้ำผู้อ่อนแอ แต่ขลาดกลัวต่อผู้ที่เข้มแข็ง ข้าพเจ้าเป็นคนรักตัวกลัวตาย "อย่างไรก็ดี เมื่อก่อนข้าพเจ้ามักมีเหตุผลให้อธิบายถึงพฤติกรรมอันบกพร่องเช่นนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าในฐานะจักรพรรดิองค์สุดท้ายของแมนจู ชีวิตของข้าพเจ้าย่อมมีความหมายมากกว่าคนอื่น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังได้ทำหน้าที่เป็นคนงานซักรีดและประกอบกล่องกระดาษ กับทั้งเมื่อได้รู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในภาคอีสาน (แมนจูเรีย) และทัศนคติของครอบครัวที่มีต่อข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่า ภายใต้แสงนำทางใหม่ ชีวิตของข้าพเจ้ามีคุณค่าอื่นอยู่ จากที่กล่าวมาทั้งหมด ข้าพเจ้าขอยอมรับในความชั่วบัดซบ ข้าพเจ้าไม่มีเหตุผลใดที่จะแก้ตัวถึงการกระทำในอดีตอีก จึงขอลงนามในสำเนาเอกสารฉบับสุดท้ายที่ทางศูนย์มอบให้กับข้าพเจ้า" อดีตนักโทษหมายเลข 981 “เฮนรี ปูยี” หรืออดีตจักรพรรดิปูยี (ผู่อี๋) (1906-1967) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงกล่าวในอัตชีวประวัติของตน (The Last Manchu, The Autobiography of Henry Puyi) ถึงเหตุการณ์ขณะอยู่ในค่ายปรับทัศนคติของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในแมนจูเรีย ช่วงปลายปี 1953 ถึง 1954 ซึ่งเขาได้ถูกปรับทัศนคติมาแล้วเป็นเวลาราว 3 ปี (หน้า 238) ความผกผันในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่าของปูยีทำให้เรื่องราวชีวิตของเขาน่าสนใจ จนทำให้แบร์นาโด แบร์โตลุชชี ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอิตาลีนำเรื่องราวชีวิตของปูยีมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Last Emperor” (1987) ภาพยนตร์ที่สร้างโดยอิงจากอัตชีวประวัติของปูยี ซึ่งได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ให้เข้ามาถ่ายทำถึงในพระราชวังต้องห้าม และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคำชื่มชมเป็นอย่างมาก กวาดรางวัลออสการ์ไปได้ 9 รางวัล รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม The Last Emperor เปิดฉากที่การเคลื่อนย้ายนักโทษการเมืองไปยังเรือนจำปรับทัศนคติของพรรคคอมมิวนิสต์ในแมนจูเรียซึ่งเดิมเป็นเรือนจำที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้น โดยหนึ่งในนักโทษที่ถูกส่งตัวมาที่นี่ก็มี “ปูยี” รวมอยู่ด้วย ก่อนหน้าที่จะตกเป็นนักโทษ หลังถูกขับออกจากพระราชวังต้องห้ามแล้ว ปูยีได้ย้ายไปตั้งหลักอยู่ที่เทียนสิน ก่อนร่อนเร่ไปพึ่งใบบุญญี่ปุ่นในแมนจูกัว จนได้เป็นจักรพรรดิหุ่นเชิด ปูยีพบกับความผันแปรครั้งใหญ่อีกรอบเมื่อญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เขาถูกโซเวียตจับกุมตัวไว้ได้ ก่อนถูกส่งตัวให้กับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในปี 1950 คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จีนแดงกำลังจะขับไล่จีนคณะชาติพ้นแผ่นดินใหญ่ได้สำเร็จ ทำให้ปูยีคิดว่าเขาคงถึงคราว "ชะตาขาด" เหมือนเมื่อครั้งการปฏิวัติรัสเซีย ที่ราชวงศ์โรมานอฟถูกคอมมิวนิสต์ฆ่าจนสูญพันธุ์ แต่ผิดคาดเขาได้รับการไว้ชีวิต และถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันนักโทษการเมืองร่วมกับญาติๆ อดีตสมาชิกราชวงศ์บางส่วนเพื่อทำการ "ปรับทัศนคติ" ให้ละทิ้งจารีต ความเชื่อ และอุดมการณ์เดิมและยอมรับในลัทธิคอมมิวนิสต์ จากที่เห็นในภาพยนตร์ การปรับทัศนคติหลักๆ คือการให้นักโทษ “สารภาพ” ในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปด้วยตัวเอง ในส่วนของปูยีเขาถูกกดดันให้สารภาพโดยผู้ไต่สวนที่เกลียดชังระบอบเก่า ถูกจับแยกจากครอบครัวและผู้ที่คอยปรนนิบัติเขามาตลอดเพื่อให้เขาต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และต้องทำงานต่ำๆ อย่างที่คนเป็นจักรพรรดิไม่เคยทำ เมื่อถูกคนใกล้ชิดเผยความจริงที่เขาพยายามปกปิด และถูกจับให้มาสารภาพในเรื่องเดิมซ้ำๆ ก็ทำให้เขาค่อยๆ ยอมรับว่าตัวตนเดิมของเขานั้นชั่วร้าย เขาประณามตัวเอง ถึงขนาดยอมรับสารภาพผิดในทุกข้อกล่าวหา แม้ว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่เขาจะต้องรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งจริงๆ ฉากเหตุการณ์ในเรือนจำปรับทัศนคติของปูยีที่ปรากฏในภาพยนตร์ยังถือว่า “เบา” กว่าที่ถูกบรรยายในอัตชีวประวัติของเขาที่ถูกญาติสนิทมิตรสหายปลดปล่อยความ “เกลียดชัง” ที่มีต่อตัวเขาและระบอบเก่าออกมาด้วยความอัดอั้นอย่างแทบไม่เหลือเยื่อใยในอดีต อีกจุดหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงน้อยในภาพยนตร์ก็คือความชื่นชมในระบอบคอมมิวนิสต์ของปูยี (แบร์โตลุชชีคงไม่ต้องการให้หนังของเขากลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อมากจนเกินไป) ปูยีบอกว่า ระบอบคอมมิวนิสต์ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดีกว่าสมัยจักรวรรดิ ดีกว่าสมัยสาธารณรัฐ ชนกลุ่มน้อยอย่างชาวแมนจูเช่นตัวเขาก็ได้รับการยอมรับอย่างพลเมืองจีนสามัญทำให้เขาเกิดความศรัทธาในระบอบใหม่ และได้รับการปล่อยตัวจากสถานกักกันหลังผ่านการปรับทัศนคติมาแล้วเป็นเวลา 10 ปี “ตามคำสั่งว่าด้วยการอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษของประธานสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 17 กันยายน 1959 ศาลจึงได้ดำเนินการพิจารณาสอบสวนกรณีคดี ‘อาชญากรสงครามแห่งแมนจูกัว’ อ้ายซินเจว๋หลัว ปูยี (Aisin-Gioro Puyi) “อาชญากรสงครามอ้ายซินเจว๋หลัว ปูยี เพศชาย วัย 54 ปี สัญชาติแมนจู จากปักกิ่ง ได้ถูกกักขังมาเป็นเวลา 10 ปี แล้ว ด้วยผลจากกระบวนการปลูกฝังทัศนคติใหม่ผ่านการทำงานและการศึกษาด้านอุดมการณ์ระหว่างถูกควบคุมตัว แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างเด่นชัด จึงได้รับการปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไขตามวรรคหนึ่งแห่งคำสั่งว่าด้วยการอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษ “ศาลฎีกาประชาชน แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” หลังออกจากเรือนจำ ปูยีได้รับหน้าดีดูแลสวนในสวนพฤกษศาสตร์กรุงปักกิ่งเป็นเวลาครึ่งวัน อีกครึ่งวันต้องเข้าอบรมโดยยังถูกเจ้าหน้าติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเพื่อพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงตนเองของเขาในเรือนจำเป็นของจริง หลังผ่านการทดสอบในเดือนมีนาคม 1961 เขาจึงได้รับหน้าที่ดูแลแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในช่วงปลายราชวงศ์ชิงประจำสถาบันวิจัยด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของจีน ปูยีถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของค่ายปรับทัศนคติของจีน และถูกใช้เป็น “แบบอย่าง” แสดงให้เห็นว่ามันสามารถเปลี่ยนบุคคลที่เคยเป็นถึงสัญลักษณ์ของระบอบเก่าให้กลายมาเป็นผู้ศรัทธาในระบอบใหม่ได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีการฆ่าล้างครัวแบบรัสเซีย แต่สถานการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นกับนักโทษการเมืองในค่ายแรงงานของจีนอาจจะโหดร้ายมากกว่าสื่อที่ผ่านการกลั่นกรองจากรัฐบาลจีนนำเสนอ ลูเซียน โบดาร์ด (Lucien Bodard) นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเกิดในจีนและเคยทำงานเป็นนักนักข่าวสมัยยังอยู่ที่แผ่นดินใหญ่ได้เล่าถึงคราวที่เขามีโอกาสสัมภาษณ์ปูยีขณะถูกคุมขังเมื่อปี 1956 ว่า ตอนนั้นปูยีได้ถูกล้างสมองโดยสิ้นเชิงไปแล้ว เขาพบอดีตจักรพรรดิในสภาพใบหน้าซีดเซียว หยาดเหงื่อไหลย้อย และไม่เหลือความคิดที่เป็นของตัวเองอีก กลายเป็นคนหมดสภาพที่ยอมรับอุดมการณ์ใหม่หลังผ่านกระบวนการปรับทัศนคติซึ่งหนึ่งในนั้นคือการบังคับให้บรรยายถึงความชั่วของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยปูยีได้กล่าวกับโบดาร์ดว่า มีแต่การพิพากษาของประชาชนเท่านั้นที่จะปลดปล่อยเขาจากบาปกรรมที่เขาก่อเอาไว้ ซึ่งเขายินดีหากประชาชนจะให้อภัย ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะรับโทษตายหากประชาชนต้องการ (The New York Times) อดีตนักโทษอีกราย ฌอง ปาสกวาลินี (Jean Pasqualini) ผู้เขึยนหนังสือ “Prisoner of Mao” ลูกครึ่งคอร์ซิกัน-จีน ผู้ถือหนังสือเดินทางฝรั่งเศสที่โดนจับข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติด้วยการเป็นสายลับให้กับสหรัฐฯ หลังสงครามโลกจบลง และถูกส่งเข้าค่ายล้างสมองด้วยเช่นกันอ้างว่า ค่ายแรงงานนักโทษของจีนจริงๆ แล้วคือส่วนหนึ่งของระบบแรงงานถาวรของจีน มีแต่ชาวต่างชาติเท่านั้นที่มีโอกาสจะได้เป็นอิสระ คนจีนทั่วๆ ไปที่ถูกจับมาต้องทำงานหนักในค่ายไปตลอดชีวิตจึงแทบไม่เคยมีนักโทษจีนคนไหนหลุดมาเล่าประสบการณ์ในค่ายได้ ตลอด 7 ปี ที่เขาตกเป็นนักโทษในค่ายแรงงานก็ต้องใช้ชีวิตแบบอดๆ อยากๆ ถูกความหิวโหยกัดกินอยู่ตลอดเวลา และก่อนถูกส่งไปค่ายแรงงาน ปาสกวาลิโนบอกว่าเขาถูกไต่สวนความผิดเป็นระยะเวลา 15 เดือน ผลก็คือ เขาได้เขียนคำสารภาพผิดออกมาเป็นจำนวนกว่า 700 หน้า และเป็นผู้ขอให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวเขาไปชดใช้ความผิดในค่ายแรงงานด้วยตัวเอง “ยิ่งเวลาผ่าน ตำรวจของเหมาก็ยิ่งพัฒนาการไต่สวนให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นแบบละเอียดยิบ ถึงขนาดที่ว่าผม [ในตอนที่ผ่านกระบวนการล้างสมองมาแล้ว] จะต้องลุกขึ้นตอบโต้ทุกครั้งที่ได้ยินใครพูดไม่ดีเกี่ยวกับระบอบไม่ว่าเขาจะเป็นคนจีนหรือไม่ก็ตาม” ปาสกวาลิโนกล่าว “วัตถุประสงค์ของพวกเขาไม่ใช่การให้คุณสร้างเรื่องสารภาพในอาชญากรรมที่คุณไม่ได้ก่อ แต่เป็นการทำให้คุณยอมรับว่า วิถีชีวิตแบบปกติที่ผ่านมาของคุณมันโสมมและชั่วร้ายสมควรแล้วที่จะถูกลงโทษ” อย่างไรก็ดี ลี เหวินตา (Li Wenda) มิตรสหายของปูเจี๋ย (ผู่เจี๋ย) น้องชายปูยี และนักเขียนเงาในงานอัตชีวประวัติของปูยียืนยันว่า การปรับทัศนคติของจีนต่างจากการล้างสมอง ทั้งปูยี และปูเจี๋ยรวมไปถึงอาชญากรสงครามชาวญี่ปุ่นต่างได้รับความช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อระบอบใหม่ซึ่งหลังการอบรมหลายปีพวกเขาล้วนได้เป็นอิสระเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยความสำนึกในบุญคุณของผู้ที่กักขังพวกเขา ปูเจี๋ยเองเคยให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ในปี 1984 ว่า การเปลี่ยนอุดมการณ์ของเขาเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจจริงๆ โดยกล่าวว่า “ผมบอกคนอื่นเสมอว่า ‘ถ้าม้ามันจะไม่กินน้ำ คุณจะผลักหัวมันลงน้ำยังไงก็ไม่มีประโยชน์’” ในบั้นปลายชีวิตของปูยี เขามีโอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างคนสามัญ ก่อนล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตรงกับช่วงเวลาแห่ง “การปฏิวัติวัฒนธรรม” พอดี เขาซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบอบเก่า (แม้จะกลายมาเป็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการปรับทัศนคติของระบอบใหม่) จึงถูกกลุ่มยุวชนเรดการ์ดปองร้าย แต่เคราะห์ดีได้คนไข้รายอื่นๆ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลช่วยเขาจากการถูกรุมข่มเหงไปได้ ก่อนที่จะเสียชีวิตลงไม่นานหลังจากนั้น