15 ม.ค. 2562 | 17:54 น.
ปัจจุบัน (2562) คนกรุงเทพฯ และผู้อาศัยอยู่ในย่านปริมณฑล วิตกกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 หลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเตือนภัยเกี่ยวกับ ‘ผลกระทบด้านสุขภาพ’ ที่อาจได้รับจากเจ้าฝุ่นพิษเหล่านี้ ทำเอาหลายคนกลัวว่าบทสรุปของมันจะเหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในลอนดอนเมื่อปี 1952 หรือไม่?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 1952 ได้เกิดหมอกควันจำนวนมากปกคลุมทั่วนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ในตอนนั้นผู้คนต่างคิดว่ามันคือ ‘หมอกหรือควัน’ ทั่วไป ๆ ที่เกิดอยู่บ่อยครั้ง แต่มารู้ตัวอีกทีเจ้าหมอกควันเหล่านี้ก็ได้คร่าชีวิตคนไปกว่า 12,000 คนแล้ว ซึ่งทั้งหมดก็มีผลมาจากฝีมือของมนุษย์ล้วน ๆ
นี่คือเหตุการณ์ทางมลพิษที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร เหตุการณ์นี้ถูกเรียกชื่อว่า ‘The Great Smog of London’ หรือ ‘หมอกซุปถั่ว’ (Pea-Soupers) สาเหตุที่เรียกอย่างนั้นเพราะในหมอกเหล่านี้มีลักษณะเป็นสีดำอมเหลืองจากกำมะถันคล้ายกับสีของซุปถั่วนั่นเอง
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิด ‘หมอกมรณะ’ ในครั้งนี้เกิดจากน้ำมือมนุษย์ล้วน ๆ ในช่วงเดือนธันวาคมของประเทศอังกฤษจะมีอากาศหนาวเย็นจนผู้คนตามบ้านเรือนและโรงงานถ่านหินต้องมีการเผาถ่านหินมากกว่าปกติเพื่อเพิ่มความอบอุ่น เรียกได้ว่า ‘ยิ่งหนาวยิ่งเผา’ และบวกกับมลพิษที่มาจากควันของบุหรี่และรถยนต์ดีเซล เหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ปี 1952 เกิดปรากฏการณ์ ‘แอนติไซโคลน’ (Anticyclone) ใจกลางลอนดอน และท่ามกลางสภาพอากาศที่ไร้ลมรวมเข้ากับควันที่มาจากปล่องไฟต่าง ๆ จึงทำให้ควันจำนวนมากเริ่มก่อตัวกันกลายเป็นหมอกพิษปกคลุมไปทั่วลอนดอน รัฐบาลอังกฤษพยายามจะแก้ไขสถานการณ์ แต่ทำยังไงเจ้า ‘หมอกมรณะ’ เหล่านี้ก็ไม่สามารถลอยขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศได้สักที
หมอกเริ่มปกคลุมไปทั่วทุกที่และอยู่เหนือพื้นดินแค่หลักเมตร การใช้ชีวิตของผู้คนเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนเริ่มมองไม่เห็นเท้าตัวเองหรือแม้กระทั่งไฟหน้ารถคันอื่น การเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะเริ่มทำได้ยากขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ อย่างฟุตบอลหรือคอนเสิร์ตต้องถูกระงับ เและไม่นานทัศนวิสัยในการมองของทุกคนก็กลายเป็นศูนย์พร้อมกับสภาพร่างกายที่ทรุดลง
เมื่อช่วงปี 1950s โรงงานถ่านหินในลอนดอนและบริเวณใกล้ ๆ อย่างที่ ฟูแล่ม, แบตเทอร์ซี, กรีนิช และแบงค์ไซด์ มีการปล่อยมลพิษทางอากาศมากกว่า 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งมาพร้อมกับก๊าซอันตรายต่อร่างกายอย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์และกรดไฮโดรคลอริก
ในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 1952 สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ท่ามกลางสภาพอากาศเป็นพิษจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้ผู้คนเริ่มมีอาการหายใจสั้นและมีปัญหาด้านทางเดินหายใจ และไม่นานก็มีประชาชนเริ่มเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้กว่า 4,000 คนจากโรคหนองในปอด และอีก 100,000 คนป่วยหนักจากโรคระบบทางเดินหายใจ
เหตุการณ์มรณะในครั้งนี้ลากยาวไปเกือบสัปดาห์ และในวันที่ 10 ธันวาคม ทุกอย่างก็ค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ หลังหมอกเริ่มจางลงและลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
นี่ถือเป็นเหตุการณ์ด้านมลภาวะที่คร่าชีวิตคนอังกฤษมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่วิกฤตมลพิษถ่านหินในช่วงศตวรรษที่ 13 และมีผลทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องออกกฎหมายจัดการมลพิษทางอากาศฉบับแรกในปี 1956 หรือที่เรียกว่า (Clean Air Act 1956)
จะว่าไปเหตุการณ์นี้ก็เริ่มคล้ายกับสถานการณ์ในบ้านเรามากขึ้นทุกวัน ถ้ายังไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดี หรือวันไหนกรุงเทพฯ ดันเกิดปรากฏการณ์ แอนติไซโคลน จนหมอกพิษลอยมาให้เราดมได้ ในอนาคตลูกหลานของเราอาจจะต้องเรียนเรื่อง ‘The Great Smog of Bangkok’ แทนเรื่องของเมื่อปี 1952 ก็เป็นได้
ที่มา:
https://en.wikipedia.org/wiki/Great_Smog_of_London
http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/2542315.stm
http://news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/december/9/newsid_4506000/4506390.stm