13 พ.ค. 2562 | 18:46 น.
การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยความรุนแรงไม่ใช่แนวทางของรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ นั้น การโค่นล้มรัฐบาลด้วยอำนาจนอกระบบอาจถือเป็น “จารีตประเพณี” หนึ่งก็ได้ เพราะนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยการรัฐประหารมาแล้วถึงสิบสามครั้ง (ล่าสุดเมื่อปี 2557) และ พ.ท.พโยม จุลานนท์ ก็เป็นนักต่อสู้ผู้หนึ่งที่มีชีวิตเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงหรือความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยความรุนแรงอยู่หลายครั้งอย่างน่าทึ่ง แม้เขาจะเคยต่อสู้ด้วยวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยในรัฐสภา แต่เขาเองก็เคยต้องคดีกบฎ เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และยังเคยเป็นเขยกบฏบวรเดช ทั้งยังเป็นบิดาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกเสนอชื่อโดยคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 พโยม เป็นคนเมืองเพชรโดยกำเนิด บิดาคือพระยาวิเศษสิงหนาถ (ยิ่ง จุลานนท์) มารดาคือคุณหญิงเก๋ง จุลานนท์ เขายังเคยมีฐานะเป็น “เขยกบฏ” ด้วยเคยได้สมรสกับ “อัมโภช ท่าราบ” บุตรสาวของ พระยาศรีสิทธิสงครามหรือ “ดิ่น ท่าราบ” หนึ่งในผู้นำคณะกบฏบวรเดชที่เสียชีวิตลงระหว่างการปราบปรามของรัฐบาลในสมัยนั้น (ภายหลังพโยมเลิกรากับภรรยารายนี้โดยมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ สุรยุทธ์ จุลานนท์) พโยมมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2475 โดยใน “อัตชีวประวัติ” ที่เขาเขียนขึ้นด้วยลายมือ (ปรากฏในหนังสือ “ลุงคำตัน: ชีวิต / อุดมการณ์ / ความหวัง” ทันพงษ์ รัศนานันท์ เป็นบรรณาธิการ) เล่าว่า ตอนนั้นเขาเป็นทหารในกองทัพบกแล้ว โดยเพิ่งเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยฯ ได้ราวปีหนึ่ง รุ่งขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเขาได้ทำหน้าที่ประจำกองรถรบ ณ กองบัญชาการฝ่ายทหารของคณะราษฎรที่วังปารุสกวัน แต่ความที่เป็นคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง (ซึ่งคงไม่ใช่ลักษณะที่ดีของคนเป็นทหารที่ต้องทำตาม “คำสั่งนาย” เป็นหลัก แม้ว่าคำสั่งนั้นจะไม่สมเหตุสมผลเลยก็ตาม) ทำให้เขามีสัมพันธ์ที่ไม่ดีนักกับผู้นำบางรายในคณะราษฎร เขาอ้างว่าตนเองถูกกลั่นแกล้งโดนคำสั่งย้ายอย่างไม่เป็นธรรมอยู่หลายครั้ง เช่นในปี 2477 ถูกย้ายจากหน่วยกำลังรบไปประจำอยู่กรมจเรทหารม้า อีกราวสามปีต่อมาหลังจบหลักสูตรเสนาธิการ รับตำแหน่งอยู่กรมยุทธการทหารบกได้ไม่กี่เดือนก็ถูกย้ายอีกครั้งไปเป็นผู้บังคับการกองร้อยทหารม้าที่ปราจีนบุรี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกำลังยกพลขึ้นบกในฝั่งไทยนั้น เบื้องต้นรัฐบาลได้สั่งให้กองทัพเตรียมรับมือไว้ก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนท่าทียอมให้ญี่ปุ่นยกกำลังผ่านประเทศไทยข้ามไปพม่าได้ แต่พโยมไม่เห็นด้วย เขาหาแนวร่วมเข้าไปเจรจากับผู้บังคับบัญชากองพลที่ 2 ที่เขาสังกัดขอให้ทำการรบสกัดการเคลื่อนทัพของญี่ปุ่น แม้จะต้องรบพลางถอยพลางไปจนถึงชายแดนฝั่งพม่าก็ตาม แต่ผู้บัญชาการของเขาไม่เอาด้วย เนื่องจากเป็นการขัดคำสั่งรัฐบาลเข้าลักษณะเป็น “กบฏ” ระหว่างสงครามเขายังถูกโยกย้ายอีกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเขาเชื่อว่าเกิดจากการที่เขาไปวิจารณ์การยุทธของกองบัญชาการกองพลเข้า จึงถูกย้ายจากปฏิบัติการการรบฝั่งแม่น้ำคงในพม่าไปอยู่เชียงราย และอีกครั้งเพราะผู้บังคับบัญชา “ไม่ไว้ใจทางการเมือง” ทำให้เขาถูกส่งไปอยู่สงขลา ซึ่งที่นี่เขาได้ให้ความร่วมมือกับขบวนการต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นทั้งของมลายูและไทย รวมถึง “ขบวนการเสรีไทย” จุดหักเหสำคัญที่ทำให้พโยมคิดเลิกรับราชการทหารไปเล่นการเมือง มาจากเมื่อสงครามจบลง อังกฤษส่งทหารมาประเทศไทยส่วนหนึ่งเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น แต่อีกทางหนึ่งก็เพื่อบีบให้ไทยยอมรับสถานะผู้แพ้สงคราม ทำให้เขาเชื่อว่า “งานด้านการเมืองมีความสำคัญจำเป็นและขอบเขตกว้างขวางยิ่งกว่าการต่อสู้ทางการทหาร” จึงออกราชการไปลงสมัครเป็น ส.ส. ที่บ้านเกิด แต่สอบตก จึงกลับมารับราชการโดยถูกโยกย้ายไปเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก พโยมมีส่วนร่วมในการยึดอำนาจอีกครั้งในปี 2490 เมื่อคณะรัฐประหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณยึดอำนาจรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (พันธมิตรของปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกฯ ที่ต้องสละตำแหน่งเซ่นกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8) โดยรับหน้าที่เป็นโฆษกชั่วคราวให้กับคณะรัฐประหาร ก่อนลงสมัคร ส.ส. อีกครั้ง จนได้เป็นผู้แทนของเพชรบุรีสมใจ และได้รับตำแหน่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ครั้น ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารถูกบีบให้ลาออก เพื่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ พโยมจึงตัดสินใจลาออกตามและหันมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลของจอมพล ป. ไม่นานจากนั้น พโยมกลายมาเป็นหนึ่งในคณะวางแผนโค่นล้มรัฐบาลโดยตรง โดยได้ร่วมกับคณะนายทหารเสนาธิการ (การครั้งนี้จึงถูกเรียกว่า “กบฏเสนาธิการ”) วางแผนเล่นงานคณะผู้นำรัฐบาลที่จะมาร่วมงานสมรสของ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) กับ วิจิตรา ชลทรัพย์ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2491 แต่แผนการดังกล่าวล้มเหลว เนื่องจากข่าวรั่วไปเข้าฝั่งรัฐบาลเสียก่อน พโยมซึ่งดำรงตำแหน่ง ส.ส. อยู่ในขณะนั้นสามารถหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลไปได้ และอาศัยสถานะดังกล่าวคุ้มกันอำนาจการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จนมีการกบฏซ้ำอีกในปี 2492 โดยกลุ่มของปรีดีที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏวังหลวง” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาปิดประชุมรัฐสภาแล้ว พโยมที่มีส่วนกับการก่อกบฏเสนาธิการซึ่งสมาชิกหลายคนใกล้ชิดกับปรีดี (แม้ว่าก่อนนั้นพโยมจะมีส่วนร่วมกับคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากถวัลย์พันธมิตรของปรีดี) จึงต้องหนีการจับกุมไปอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่านานนับสิบปี ถึงปี 2501 จอมพล ป. พ้นจากอำนาจ (หลังถูกจอมพลสฤษดิ์ ลูกน้องเก่ายึดอำนาจ) เขาจึงเดินทางกลับมาต่อสู้คดีทางการเมืองจนศาลสั่งยกฟ้อง หลังหลุดพ้นจากคดีความ เขาลงเลือกตั้งซ่อมจังหวัดพระนครในปี 2501 แต่สอบตกจึงหันไปทำธุรกิจการค้า แต่พโยมยังถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลเผด็จการ และสายลับของสหรัฐฯ ที่ทำสงครามเย็นกับ “คอมมิวนิสต์” จึงทำให้เขาตัดสินใจเข้าป่าหลบซ่อนตัวอีกครั้งในปี 2506 สิ่งที่ไม่ปรากฏในอัตชีวประวัติของเขาเลยคือความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมาเป็นที่ปรากฏหลักฐานในที่อื่นว่า พโยมได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทยตั้งแต่ปี 2493 เป็นที่รู้จักในหมู่สมาชิกว่า “สหายคำตัน” หรือ “ลุงคำตัน” สหายคำตันได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางสำรองในปี 2504 หลังการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 และในปี 2507 เขาก็ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคคอมมิวนิสต์ให้เป็นตัวแทนของกลุ่มแนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทยประจำปักกิ่ง โดยได้มีโอกาสไปประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง และเป็นผู้ที่ลงพื้นที่เพื่อทำการปลุกระดมและจัดตั้งมวลชนในชนบท และยังมีบทบาทสำคัญในฐานะเสนาธิการทำหน้าที่วางแผนการรบเหมือนเช่นที่เขาเคยรับใช้กองทัพไทย ความคาดหวังในการต่อสู้ทางการเมืองของสหายคำตัน คงเห็นได้จาก “สาส์นของแนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทย” ที่สำคัญคือการยกฐานะของประชาชนให้อยู่ดีกินดี กำจัดปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ข้าราชการ พัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข ปลดแอกประเทศจากการเป็น “อาณานิคมรูปแบบใหม่” ของจักรวรรดินิยมอเมริกัน และพาประเทศไปสู่สันติและเป็นกลาง สหายคำตันต่อสู้ตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เรื่อยมา ก่อนที่จะล้มป่วยลงด้วยอาการของโรคหัวใจในปี 2523 จึงได้เดินทางไปรักษาตัวที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และเสียชีวิตลงที่นั่น เมื่อวันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน อายุได้ 71 ปี จึงไม่มีโอกาสได้เห็นลูกชายขึ้นครองอำนาจ (ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน) ในอีก 26 ปีต่อมา