12 ก.ค. 2562 | 18:13 น.
การพนันคืออะไร? ตามคำอธิบายของราชบัณฑิตระบุว่าเป็นการ "เล่นเอาเงินหรือสิ่งอื่นโดยอาศัยความฉลาด ความชำนาญ เล่ห์เหลี่ยม ไหวพริบ และฝีมือ รวมทั้งโชคด้วย" การอธิบายแบบนี้อาจจะยังดูกำกวม วิธีการแยกแยะง่าย ๆ ก็แค่ดูว่ามีการ "ได้-เสีย" ให้ลุ้นหรือเสี่ยงโชคหรือไม่? อย่างเช่น การเล่นไพ่ป๊อกเด้ง ผู้เล่นทุกคนต้องวางเงินเดิมพัน ก็ต้องมาลุ้นว่าจะชนะมั้ย? ถ้าชนะก็ "ได้" เงิน แต่ถ้าแพ้ก็ "เสีย" เงิน แต่ถ้าเป็นการเล่นไพ่ป๊อกเด้งเหมือนกัน แต่เงินที่ชนะได้มาถูกเอามารวมเป็นกองกลางเพื่อเอาไปเลี้ยงข้าวกันเช่นนี้แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นการพนัน เพราะกลายเป็นว่าไม่มีการลุ้นกันว่าจะมีใคร "ได้" เพราะทุกคนต่างก็ "เสีย" กันทั้งสิ้น หรือไม่ก็แค่ "เสมอตัว" เช่นนี้จึงไม่เข้าข่ายที่จะเรียกได้ว่าเป็น "การพนัน" หากนำหลักการข้างต้นมาเทียบเคียงกับ "ตู้คีบฝึกทักษะ" แล้ว ตู้เกมเช่นนี้ย่อมอยู่ในข่าย "การพนัน" เพราะผู้เล่นต้องเสียเงินเล่นอย่างแน่นอน แล้วก็ต้องมาลุ้นว่า ทักษะของตนดีพอที่จะหยิบรางวัลได้หรือไม่? ถ้าชนะก็ได้รางวัลไป ถ้าแพ้ก็ต้องเสียเงินเปล่า ซึ่งในประเทศไทยมันเป็นการพนันที่สามารถ "ขออนุญาต" เล่นอย่างถูกกฎหมายได้ แม้ในทางปฏิบัติจะไม่มีการให้อนุญาตแล้ว (ซึ่งกลับเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ที่ฉ้อฉลตามท้องถิ่นต่าง ๆ รับเงินใต้โต๊ะแลกกับการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่แทน) ข่าวการจับกุมตู้คีบในเมืองไทยสร้างความสนใจให้กับสื่อญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะที่นู่นตู้คีบฝึกทักษะเป็นอะไรที่เห็นได้ทั่วไป แต่นั่นก็ใช่ว่าการตีความของเจ้าหน้าที่ไทยเป็นการตีความที่วิปริตแต่อย่างใด เพราะที่สหรัฐฯ ตู้คีบฝึกทักษะก็เคยถูกขึ้นบัญชีเป็นสินค้าต้องห้ามเข้าข่ายเป็นการพนันที่รัฐต้องการควบคุมเพื่อจำกัดอิทธิพลของมาเฟียมาก่อน ประวัติศาสตร์ของตู้คีบต้องบอกว่ามีความเป็นมาที่ยาวนานนับร้อยปี ในขณะที่เกมตู้หลาย ๆ แบบพากันล้มหายตายจากไปหมดแล้ว แต่เกมตู้คีบยังยืนยงมาได้ถึงทุกวันนี้ แม้ว่าหน้าตารูปร่างของมันจะต่างไปจากเดิมไม่น้อย แต่คอนเซปต์ในการเล่นก็ยังคงเหมือนเดิม จากข้อมูลของ Metal Floss นักประวัติศาสตร์สวนสนุกเชื่อว่า เกมตู้คีบน่าจะมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อย่างน้อย ๆ ก็มีหลักฐานว่าในทศวรรษที่ 1890 มีการเล่นพนันขันต่อในลักษณะนี้แล้ว โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเครนตักดินขนาดใหญ่ที่ใช้ในการขุดคลองปานามา ซึ่งเป็นที่ฮือฮาของประชาชนสมัยนั้นเป็นอย่างมาก หน้าตาของเครื่องเล่นชนิดนี้ในยุคแรกจะเป็นตู้กระจกแนวตั้งแล้วมีเครนยกหน้าตาเหมือนเครนก่อสร้างขนาดย่อม ๆ คนเล่นก็จะบังคับเครนด้วยการใช้มือหมุนเหมือนการไขลาน พอเครนหยุดก็ต้องบังคับหัวขุดให้หย่อนลงมาคีบเอาของรางวัล (สมัยนั้นมักจะเป็นพวกลูกอม) ถ้าหยิบติดเครนก็จะหมุนกลับมาที่ช่องปล่อยรางวัลให้หล่นออกมาสำหรับคนชนะ ซึ่งหลักการก็เหมือนกับการเล่นตู้คีบในปัจจุบันไม่ผิดกัน (ต่างกันที่สมัยนี้เครื่องเล่นใช้ระบบไฟฟ้า แต่สมัยก่อนต้องอาศัยการหมุนกลไกเครื่องกลเป็นหลัก) แต่กว่าจะมีการผลิตตู้คีบฝึกทักษะลักษณะนี้ออกมาขายแบบเป็นล่ำเป็นสันก็ต้องรอถึงทศวรรษ 1920s โดยตัวแรก ๆ ที่วางขายในตลาดใช้ชื่อ Erie Digger ผลิตโดย The Erie Manufacturing Company ซึ่งเอาชื่อมาจากคลองดังในนิวยอร์กที่ขุดขึ้นก่อนหน้าคลองปานามามา แต่ตัวที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็คือ Miami Digger ออกแบบโดย วิลเลียม บาร์ตเล็ตต์ (William Bartlett) ซึ่งออกสู่ตลาดในระยะต่อมา และได้จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้ในช่วงทศวรรษ 1930s ความแตกต่างของเครื่องเล่นตัวนี้ก็คือมันเป็นเครื่องแรกที่หันมาใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ระยะเวลาในการเล่นแต่ละเกมเร็วขึ้น แถมยังหันมาใช้ "เหรียญเงิน" เป็นรางวัลแทนลูกอม ตู้คีบตัวนี้จึงเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากเด็ก ๆ มาเป็นผู้ใหญ่ผู้ปกครองเจ้าของเงินโดยตรง และกลายเป็นที่แพร่หลายทั่วสหรัฐฯ ทั้งตามสถานีรถไฟ รถโดยสาร โรงแรมชั้นสูง หรือสวนสนุกเคลื่อนที่ และแทนที่บาร์เล็ตต์จะขายขาดเครื่องเล่นของเขา เขาเลือกที่จะจ้างคนไปคอยดูแลเครื่องเล่นของเขาที่มีนับพันเครื่องแล้วเก็บรายได้จากเครื่องเล่นโดยตรง ทำให้เขาร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะเสียชีวิตไปในปี 1948 หลังจากนั้นตู้คีบในสหรัฐฯ ก็เจอกับปัญหาด้านข้อกฎหมาย เมื่อมีการออกกฎหมายที่ชื่อว่า Transportation of Gambling Devices Act ในปี 1951 เป็นกฎหมายที่ห้ามการเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นการพนันข้ามรัฐ ซึ่งมีเจตนาสำคัญที่จะลดทางทำมาหากินของกลุ่มมาเฟียที่มีรายได้มหาศาลจากเครื่องเล่นสล็อตแมชีน และการตีความอย่างเคร่งครัดก็ทำให้เจ้าของเครื่องตู้คีบที่พาเครื่องตระเวนไปหาเงินจากลูกค้าตามสวนสนุกเคลื่อนที่ต่าง ๆ ต้องยุติการเคลื่อนไหวไปด้วย ตอนนั้นมีการยึดทำลายเครื่องเล่นชนิดนี้อย่างกว้างขวาง แต่ตอนหลังก็มีการประนีประนอม หลังบรรดาเจ้าของเครื่องเล่นตู้คีบขอต่อรองกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้จัดหมวดเครื่องเล่นตู้คีบให้อยู่นอกบัญชีเครื่องเล่นพนัน ตอนหลังก็อนุญาตให้ตู้คีบกลับมาอยู่ในสวนสนุกได้อีกรอบ พร้อมกฎเกณฑ์ใหม่ตั้งแต่ห้ามใช้ไฟฟ้า ต้องไปอาศัยระบบกลไกอีกครั้ง ห้ามใช้เงินเป็นรางวัล และรางวัลก็ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1 ดอลลาร์ แถมด้วยการจัดเก็บภาษีต่างหาก แต่พอเข้าทศวรรษที่ 1970s ทางเอฟบีไอก็เริ่มปล่อยผี ตู้คีบจึงเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องเล่นทันสมัยที่ถูกนำเข้ามาจากฝั่งยุโรป หลังจากที่สหรัฐฯ ถูกจำกัดพัฒนาการไปนาน ซึ่งก็เป็นระยะเวลาใกล้ ๆ กันกับที่ตู้คีบเริ่มแพร่หลายเข้าไปในเอเชีย (Japan Times) สำหรับตอนนี้ในสหรัฐฯ การควบคุมตู้คีบอยู่ในดุลพินิจของแต่ละรัฐ ซึ่งหลายรัฐก็มีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้แน่ใจว่า เครื่องเล่นจะไม่ถูกตั้งโปรแกรมให้ยากเกินไปจนผู้เล่นไม่อาจเอาชนะได้ รวมถึงการกำหนดให้รางวัลมีมูลค่าค่อนข้างต่ำ เพื่อไม่ให้ดูเหมือนการพนันมากเกินไป จนเหมือนกับหวยที่คนยอมเสียเงินก้อนเล็กด้วยหวังเงินรางวัลก้อนใหญ่ (Vox) ส่วนในประเทศไทยใครอยากเล่นก็ยังพอสามารถเล่นได้ตามสถานที่ที่โชคดีขออนุญาตไว้ทัน ก่อนที่ทางกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายห้ามขยายการอนุญาตเพิ่มเติม ด้วยความหวังดีไม่อยากให้เยาวชนหมกมุ่นกับการพนันในลักษณะนี้ (ช่อง 7) ซึ่งก็อาจจะทำให้ดูลักลั่นไม่น้อยที่ผู้ประกอบการบางรายมีสิทธิติดตั้งเครื่องเล่นได้ด้วยเหตุเพราะตัวเองมาก่อน จนดูเหมือนเป็นการให้สัมปทานผูกขาดการหากำไรในลักษณะนี้ไปแทน