อุบัติเหตุทางรังสี ‘โคบอลต์-60’ บทเรียนจากความประมาท-ไม่รู้ สู่เหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’

อุบัติเหตุทางรังสี ‘โคบอลต์-60’ บทเรียนจากความประมาท-ไม่รู้ สู่เหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’

ย้อนรอย อุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60 เมื่อ 23 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและพิการ มีการฟ้องร้องยาวนาน 15 ปี สู่เหตุการณ์ซีเซียม-137 หายไปอย่างปริศนาจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี

 

  • หลังเหตุการณ์ ‘อุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60’ เมื่อปี 2543 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางรังสีและทายาทของผู้เสียชีวิตได้ร่วมกันฟ้องคดีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และบริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด ให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพ โดยศาลฎีกาได้พิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559
  • เมื่อถามว่าสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องทำคืออะไร 'รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์' อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือการให้ความรู้ประชาชนเรื่อง "โลโก้วัตถุอันตราย"

ข่าวการค้นหากระบอกทรงกลมบรรจุสารกัมมันตรังสีอันตราย ‘ซีเซียม-137’ ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในเขตนิคมอุตสาหกรรม อ.ศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี กำลังเป็นที่สนใจไปทั่วประเทศ ด้วยความกังวลว่าสารชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน 

ยิ่งหากสารซีเซียม-137 ถูกนำไปยังโรงหลอมเหล็ก ‘สนธิ คชวัฒน์’ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชื่อดัง แสดงความกังวลว่า รังสีเบต้าและแกมมาซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็งจะกระจายไปในอากาศเป็นวงกว้าง หรือหากนำไปกองไว้ เมื่อฝนตก น้ำชะจะไหลปนเปื้อนลงในน้ำใต้ดิน น้ำผิวดิน 

เหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนนึกถึงคดีรังสี ‘โคบอลต์-60’ รั่วไหล ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้พิการ และการต่อสู้ทางกฎหมายดำเนินยาวนาน 15-16 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นจากความประมาทและความไม่รู้

คดีรังสีโคบอลต์-60 รั่วไหล 

จุดเริ่มต้นของอุบัติเหตุทางรังสีที่คนไทยไม่มีวันลืม เกิดขึ้นในวันที่ 24 มกราคม 2543 เมื่อพ่อค้าเร่คนหนึ่งได้รับซื้อกล่องโลหะทรงกระบอกขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร แล้วนำไปเก็บที่สนามหญ้าซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 100 เมตร 

ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เขาจึงนำโลหะทรงกระบอกดังกล่าวไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่าในซอยวัดมหาวงษ์ ตำบลสำโรง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 

ร้านรับซื้อของเก่าสั่งให้คนงาน 2 คน ช่วยกันผ่าแท่งโลหะนี้ออก ปรากฏว่าระหว่างที่ผ่า มีตะกั่วไหลออกมาพร้อมกลิ่นฉุนรุนแรง และเมื่อผ่าออกมาแล้วยังเจอแท่งโลหะขนาดเล็กอีก 2 อัน และแท่งโลหะทรงกระบอกอีก 1 อัน คนงานจึงใช้คีมคีบโลหะทั้ง 3 อันไปเก็บในกองเหล็กภายในโกดังร้าน ส่วนแท่งโลหะทรงกระบอกอันใหญ่ผ่าซีกไม่สำเร็จ ร้านรับซื้อของเก่าเลยคืนให้พ่อค้าเร่ ให้เอาไปแยกชิ้นส่วนต่อที่บ้าน 

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ่อค้าเร่ได้นำแท่งเหล็กทรงกระบอกมาแยกชิ้นส่วนต่อที่บ้าน แล้วนำไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่าอีกครั้ง 

ช่วงวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ ทั้งพ่อค้าเร่และคนงาน 2 คนของร้านรับซื้อของเก่า แสดงอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มือบวมพอง และผมร่วง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งต่อมาแพทย์สรุปความเห็นว่าน่าจะเกิดจากการได้รับรังสีระดับอันตราย จึงได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำเครื่องตรวจวัดรังสีไปตรวจที่ร้านรับซื้อของเก่าในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 

ในช่วงค่ำวันนั้นเอง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ชื่อเดิมคือสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ) หรือ OAP ตรวจพบว่าบริเวณหน้าร้านรับซื้อของเก่ามีระดับรังสีสูงมาก แสดงว่ามีต้นกำเนิดรังสีตกหล่นอยู่ 

 

เจ้าหน้าที่ใช้เวลาข้ามคืนกว่าจะพบตำแหน่งที่ต้นกำเนิดรังสีตกหล่น เนื่องจากมีกองเศษเหล็กและวัสดุต่างๆ วางระเกะระกะ ทั้งยังต้องปิดกั้นบริเวณทางเข้าออกซอยวัดมหาวงษ์ ใช้รถตักดินกวาดเศษวัสดุนอกร้านรับซื้อของเก่า และติดตั้งฉากกำบังรังสีเพื่อลดระดับรังสีแก่ผู้ปฏิบัติงาน ก่อนเริ่มกู้ต้นกำเนิดรังสีโดยใช้อุปกรณ์ด้ามยาวติดแม่เหล็กดูดวัสดุต้องสงสัย แล้วตรวจวัดด้วยเครื่องวัดรังสีที่ออกแบบสำหรับการวัดรังสีระดับสูง 

กระทั่งพบต้นกำเนิดรังสีที่มีลักษณะเป็นแท่งโลหะทรงกระบอก ขนเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.55 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร จำนวน 1 แท่ง 

เจ้าหน้าที่เก็บกู้ต้นกำเนิดรังสีสำเร็จ เมื่อช่วงตี 3 ของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จากการตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นโคบอลต์-60 มีความแรงรังสีประมาณ 425 คูรี 

สอบสวนพบว่า โคบอลต์-60 นี้ เคยอยู่ใน ‘เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60’ ซึ่งเดิมเป็นของโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง แต่เมื่อใช้งานเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 จนเสื่อมสภาพ ทางโรงพยาบาลจึงได้ซื้อเครื่องใหม่จาก บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด พร้อมกับขายเครื่องเก่าคืนให้ด้วย ทางบริษัทฯจึงขนย้ายมาเก็บไว้ที่โรงจอดรถรกร้างของบริษัทฯ ภายในซอยอ่อนนุช เขตประเวศ กระทั่งกลุ่มผู้รับซื้อของเก่านำออกมา 

หลังเก็บกู้แล้วเสร็จ ทางกระทรวงสาธารณสุขเร่งติดตามผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ พบผู้ป่วยหนัก 10 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 3 คน ที่เหลือกลายเป็นคนพิการ ถูกตัดแขนตัดขา ส่วนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงร้านรับซื้อของเก่าตรวจพบเม็ดเลือดขาวต่ำผิดปกติ และมีหญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งแท้งลูก

การฟ้องร้องทางกฎหมายในคดีโคบอลต์-60

หลังเหตุการณ์ ‘อุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60’ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางรังสีและทายาทของผู้เสียชีวิตได้ร่วมกันฟ้องคดี OAP ต่อศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ และฟ้องคดี บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลแพ่ง ให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน 

สำหรับคดีพิพาททางปกครอง ศาลปกครอง พิจารณาว่า OAP ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลการเก็บรักษาวัสดุกัมมันตรังสีและการจัดการให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งที่ทางโรงพยาบาลได้ทำหนังสือแจ้งมาแล้วว่าได้ขายเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ให้บุคคลอื่น แต่ OAP ก็มิได้ดำเนินการติดตามใดๆ อย่างละเอียด และมิได้ไปตรวจสอบตามที่มีการขอรับใบอนุญาตประจำปีแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังเห็นพ้องกับศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้ OAP ชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายทั้งหมดรวมเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป 

ส่วนคดีแพ่งนั้นดำเนินมาจนถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งได้พิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 สรุปว่า ผู้เสียหายไม่ได้กระทำละเมิดต่อบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ มีความผิดฐานมีเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้เก็บรักษาป้องกันมิให้เกิดอันตราย

การที่ผู้เสียหายรับซื้อแท่งโลหะสแตนเลส ซึ่งภายในบรรจุวัสดุกัมมันตรังสีโคบอลต์-60 แม้จะฟังได้ว่าผู้รับซื้อของเก่าขาดความระมัดระวังไปบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการรับซื้อไว้โดยประมาทเลินเล่อ

ประเด็นต่อมาคือ บริษัทฯละเมิดต่อผู้เสียหายทั้ง 12 ราย เนื่องจากไม่ได้จัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีโคบอลต์ตามกฎกระทรวงและคำแนะนำของ OAP และจัดเก็บในลักษณะปล่อยปละละเลย ถือว่าบริษัทฯประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง 

ศาลฏีกาพิพากษาให้บริษัทฯต้องชดใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้ง 12 ราย รวมเป็นเงินกว่า 5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ 

ถอดบทเรียนจากโคบอลต์-60 ถึงซีเซียม-137

‘รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ The People ในระหว่างที่ยังไม่พบสารซีเซียม-137 ที่หายไป

อาจารย์เจษฎาแนะนำข้อปฏิบัติเมื่อเจอสารเคมีไม่คุ้นเคยว่า โดยปกติแล้วสารกัมมันตรังสี (สารที่สามารถปลดปล่อยรังสีออกมาได้) จะต้องอยู่ในภาชนะ ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยรังสี ดังนั้นถ้าเราไปเจอภาชนะหน้าตาแปลกๆ หรือมีเครื่องหมายรังสีที่เป็นใบพัดสามแฉก เราจะต้องระวัง

 

อุบัติเหตุทางรังสี ‘โคบอลต์-60’ บทเรียนจากความประมาท-ไม่รู้ สู่เหตุการณ์ ‘ซีเซียม-137’

“แต่สังคมไทยไม่ค่อยให้ความรู้ว่าอะไรคืออันตราย คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นแค่ท่อนเหล็กแล้วไปแกะดู ทำให้มีโอกาสที่มันจะปล่อยรังสีหรือสารออกมา หรือมีโอกาสที่จะเข้าสู่ร่างกายถ้าหากมีคนนำไปเผาเพื่อหลอมเป็นเหล็ก อย่างนี้อันตราย เรื่องนี้สะท้อนว่าวิทยาศาตร์เป็นสิ่งสำคัญ คุณไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าซีเซียม-137 คืออะไร แต่คุณต้องรู้ว่าโลโก้นี้ อย่าไปใกล้มัน หน้าที่คือต้องเรียกผู้เชี่ยวชาญมาดู ไม่ใช่ทุกคนจะหั่นดูได้”

อาจารย์เจษฎากล่าวด้วยว่า สารเคมีที่อันตรายไม่ได้มีแค่สารกัมมันตรังสี แต่ยังมีสารเคมีอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีการทิ้งขยะอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ขยะเคมีเกิดขึ้นหลายจุด เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์

สำหรับกรณีของซีเซียม-137 อาจารย์เจษฎามองว่า คนทั่วไปมีโอกาสสัมผัสได้ยาก และถ้าซาเล้งเก็บไปก็น่าจะยังไม่เป็นอะไรมาก ยกเว้นว่ามันเก่ามาก อย่างก้อนที่ปรากฏในข่าวจะเห็นว่าสนิมเขรอะ เพราะผ่านมาตั้ง 20 กว่าปี อาจจะเริ่มมีรอยรั่ว 

“ถ้ายังจำกันได้เคยมีเคสซาเล้งไปเอาโคบอลต์-60 มาผ่าเพื่อเอาเหล็กเอาโลหะไปขาย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเคสนี้ก็เหมือนกัน แต่ปริมาณรังสีของซีเซียม-137 จะต่ำกว่าโคบอลต์-60 แต่มันก็อันตรายได้ ถ้ารับเข้าไปรังสีก็จะเข้ามาทำลายเนื้อเยื่อร่างกายเรา รวมถึงดีเอ็นเอ สารพันธุกรรม คล้ายกับในหนังนิวเคลียร์ ผมร่วงมาก่อนเลย แล้วตาก็จะเริ่มมองไม่เห็น อวัยวะต่างๆ เริ่มไม่ทำงาน เริ่มมีอาการอาเจียน คลื่นไส้ นั่นคือตัวรังสี แต่ถ้าเกิดรับสารเข้าไปด้วย หายใจเข้าไป หรือว่ากินเข้าไปด้วย อันนี้เข้าไปอยู่ในร่างกายแล้ว ยิ่งกำจัดออกยาก ยิ่งอันตรายสูงขึ้น”

เมื่อถามว่าสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องทำคืออะไร อาจารย์เจษฎาแนะนำว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือการให้ความรู้ประชาชนเรื่องโลโก้วัตถุอันตราย  

“ถ้าผมเอารูปเครื่องหมายรังสีแล้วเดินไปถามคนสิบคนในประเทศไทย จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามันคือโลโก้อะไร มันเหมือนกับสมัยที่สึนามีเข้าแล้วคนไทยไม่รู้ว่ามันคืออะไร ไปแห่ดูน้ำทะเลลด แต่ฝรั่งเขาวิ่งหนี เราคิดว่าวิทยาศาสตร์มันยาก ไม่ต้องเรียนหรอก แต่หลายอย่างมันเป็นวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันที่จำเป็นต้องรับรู้

สิ่งที่เราต้องบอกกับสังคมคือโลโก้ ไม่ใช่พยายามที่จะแถลงว่าวัตถุทรงนี้ ก้อนนี้ มันไม่ใช่ แต่มันคือโลโก้ เราต้องยกโลโก้นี้ขึ้นมาบอกว่าโลโก้นี้อันตราย เห็นอะไรที่เป็นโลโก้นี้รีบแจ้งเลย”

 

ภาพ: วารสารปรมาณูเพื่อสันติ 

อ้างอิง:

oap

rtrc

earththailand

nationtv.tv

thecitizen.plus