เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ : ชายที่ค้นพบว่าเราจะเห็น ‘ดาวหางฮัลเลย์’ เพียง 1 - 2 ครั้งในชีวิต

เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ : ชายที่ค้นพบว่าเราจะเห็น ‘ดาวหางฮัลเลย์’ เพียง 1 - 2 ครั้งในชีวิต

ดาวหางฮัลเลย์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อเพลง แต่จริง ๆ แล้ว ฮัลเลย์คือชื่อของนักดาราศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่า ดาวหางฮัลเลย์จะปรากฏบนท้องฟ้าทุก ๆ 75-76 ปีเป็นคนแรก เขาคือ เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ ผู้มีโอกาสดูดาวหางที่มีชื่อเดียวกับเขาเพียงครั้งเดียวในชีวิต

  • ดาวหางฮัลเลย์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุก ๆ 75 -76 ปี 
  • ในช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง เราอาจได้เห็นดาวหางนี้ได้เพียง 1 - 2 ครั้ง
  • เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ คือชายหนุ่มที่ยอมล่องเรือดูดาวเพื่อรวบรวมรายชื่อดาวในซีกโลกใต้ ก่อนจะมาเจอดาวหางฮัลเลย์

ในช่วงชีวิตหนึ่งจะมีเพียง 1 - 2 ครั้ง ที่เราอาจได้เห็น ‘ดาวหางฮัลเลย์’ ที่ใช้เวลาโคจรเข้าใกล้โลกประมาณ 75-76 ปี

เอกลักษณ์ของดาวดวงนี้ถูกนำไปใช้กิมมิคในเพลงดาวหางฮัลเลย์ของ fellow fellow เพลงรักที่ไม่มีคำว่ารักที่เพิ่งปล่อยมาเพียง 2 สัปดาห์ แต่กลับเป็นกระแสไวรัลในติ๊กต็อกและพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 2 ท็อปชาร์ตเพลงของยูทูบ (YouTube) ประเทศไทย

แต่จริง ๆ แล้ว ชื่อ ‘ฮัลเลย์’ มาจาก ‘เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์’ (Edmond Halley) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษมากความสามารถที่เติบโตขึ้นมาในยุคที่วงการวิทยาศาสตร์กำลังเปลี่ยนแปลง 

เพราะขนาดเจ้าของชื่อดาวหางนี้ เขายังมีโอกาสได้ดูดาวหางนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น…

เด็กหนุ่มที่เกิดมาในยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์

ฮัลเลย์เป็นลูกชายของช่างทำสบู่และเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เขาลืมตาดูโลกในปี 1656 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาปฏิวัติวิทยาศาสตร์และวางรากฐานแนวคิดสมัยใหม่ให้วงการ และรู้ตัวเองก่อนเข้าโรงเรียนว่า เขาสนใจคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์

พออายุได้ 17 ปี เขาได้รับข้อเสนอจาก ‘จอห์น แฟลมสตีด’ (John Flamsteed) นักดาราศาสตร์ประจำราชวงศ์คนแรก และยังเป็นสมาชิกของ ‘ราชสมาคมลอนดอน’ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในอังกฤษให้เข้าเรียนที่ ‘วิทยาลัยควีนส์คอลเลจ’ (Queens College) 

ระหว่างเรียนวิทยาลัย บางครั้งฮัลเลย์ก็พกอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่พ่อซื้อให้ไปดูปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนท้องฟ้า ไปเยี่ยมหอดูดาว ‘รอยัลกรีนิช’ สถานที่ทำงานของอาจารย์แฟลมสตีด และยังมีโอกาสตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องจุดมืดบนดวงอาทิตย์ด้วย

ล่องเรือดูดาว

หลังจากฝึกวิชาร่วมกับอาจารย์มาสักพัก ก็ถึงเวลาที่ฮัลเลย์จะเริ่มต้นโชว์ความสามารถด้านดาราศาสตร์ของตัวเอง นั่นก็คือการออกล่องเรือแล้วใช้กล้องโทรทรรศน์ดูดาวเพื่อรวบรวมรายการดาวฤกษ์แถบซีกโลกใต้

แรงบันดาลใจของการเดินทางครั้งนี้ก็คือ แฟลมสตีด อาจารย์ของเขานั่นเอง

ฮัลเลย์นั่งเรือไปยังเกาะเซนต์เฮเลนา ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของอังกฤษ ตั้งแต่ปี 1676 และกลับมาถึงในปี 1678 แม้ฟ้าฝนระหว่างเดินเรือจะไม่ค่อยเป็นใจ แต่ชีวิตบนเรือก็ทำให้เขาเรียนรู้หลาย ๆ อย่าง

เขาปรับปรุงเครื่องวัดทิศทาง บันทึกข้อสังเกตเกี่ยวกับมหาสมุทรและบรรยากาศ ทั้งยังเริ่มบันทึกลองจิจูดท้องฟ้าและละติจูดของดาวฤกษ์ 341 ดวง และสังเกตการโคจรของดาวพุธที่ดูคล้ายกับดาวศุกร์เพื่อวัดขนาดระบบสุริยะจนสามารถตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นแรกได้ในปลายปี 1678

เพราะความสามารถที่โดดเด่น ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 มีพระราชกฤษฎีกาให้มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมอบปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตให้กับฮัลเลย์ และได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของราชสมาคมลอนดอนด้วยการเป็นหนึ่งในสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของราชสมาคมในวัย 22 ปี

 

ครั้งแรกที่ได้เจอกับไอแซก นิวตัน

การศึกษาอย่างไม่หยุดยั้งของฮัลเลย์นำมาสู่การเดินทางครั้งสำคัญ คือ การไปพบ ‘ไอแซก นิวตัน’ เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนทฤษฎีการโคจรของดาวเคราะห์ ครั้งนี้ฮัลเลย์ไม่ได้ไปคนเดียว แต่ไปพร้อมกับ ‘คริสโตเฟอร์ เรน’ และ ‘โรเบิร์ต ฮุค’ เพื่อนร่วมรุ่นของเขา

ปี 1684 ฮัลเลย์  ‘คริสโตเฟอร์ เรน’ และ ‘โรเบิร์ต ฮุค’ เพื่อนร่วมรุ่นของเขาพยายามหาคำตอบพิสูจน์ว่า แรงโน้มถ่วงแบบใดที่จะทำให้ดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ได้  

และคำตอบที่ดีที่สุดคือการไปพบ ‘ไอแซก นิวตัน’ เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนทฤษฎีการโคจรของดาวเคราะห์ 

หลังจากนิวตันแสดงวิธีคำนวณ ทั้งสามคนลองกลับมาทบทวนทฤษฎีก็ยังไม่พบคำตอบ จนสุดท้ายฮัลเลย์ก็เพิ่งรู้ว่า เขาคำนวณผิดพลาดไป ทั้งสองคนจึงร่วมขยายการศึกษาเรื่องกลศาสตร์บนท้องฟ้า จนกลายเป็นผลงานชิ้นเอกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งชื่อว่า ‘ปรินซิเปีย’ ที่ถูกนำมาตีพิมพ์ในปี 1687

พอผ่านช่วงนั้น ฮัลเลย์ก็สร้างผลงานที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย เช่น แก้ไขวารสาร ‘Philosophical Transactions’ ซึ่งเป็นตารางคณิตศาสตร์ประกันภัยฉบับแรก ๆ ของโลก และตีพิมพ์แผนภูมิอุตุนิยมวิทยาฉบับแรก รวมถึงวัดเข็มทิศในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้และยังระบุลองจิจูดและละติจูดของท่าเรือที่เขาเดินทางได้อย่างแม่นยำ 

 

นักดาราศาสตร์ฮัลเลย์สู่ดาวหางฮัลเลย์

ฮัลเลย์เป็นดาวหางที่มีชื่อเสียงที่สุด เพราะดาวดวงนี้ทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจเป็นครั้งแรกว่า ดาวหางอาจปรากฏบนฟากฟ้าของเราซ้ำแล้วซ้ำอีก

ซึ่งฮัลเลย์คือผู้ชี้ทางสว่างใช้ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงและการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ของนิวตันคำนวณวงโคจรของดาวหางหลายดวงและพบว่า วงโคจรของดาวหางที่สว่างในปี 1531, 1607 และ 1682 มีความคล้ายคลึงกัน

เขายังบอกอีกว่า ดาวทั้งสามดวงนั้น แท้จริงแล้วคือดาวดวงเดียวกันที่เดินทางไปกลับ และยังทำนายได้ถูกอีกว่า ดาวหางนี้จะกลับมาปรากฏให้ชาวโลกเห็นอีกครั้งในปี 1758 หรือใช้ระยะห่างในการปรากฏตัวแต่ละครั้งราว ๆ 75 – 76 ปี

จึงมีการตั้งชื่อดาวดวงนี้ว่า ดาวหางฮัลเลย์ ตามชื่อของ เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ เพื่อเป็นเกียรติให้แก่เขา

ดาวหางนี้ถูกพบครั้งสุดท้ายบนฟากฟ้าในปี 1986 และจะกลับมาส่องแสงให้ชาวโลกเห็นอีกครั้งในปี 2061

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เว็บไซต์ spaceth.co บอกว่า สิ่งที่ดาวหางฮัลเลย์ทิ้งไว้ให้เราทุกปี คือ ฝนดาวตกจากฝุ่นของดาวดวงนี้ โดยจะเห็นปีละ 2 ครั้ง คือเดือนพฤษภาคม เป็นฝนดาวตกกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และครั้งที่สองในเดือนตุลาคม เป็นฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน

เพราะสำหรับคนคนหนึ่ง ถ้าเราได้เจอใครสักคนที่พร้อมจะรอดูดาวหางดวงนี้ไปด้วยกัน เหมือนที่เพลงบอกไว้ก็คงดีเหมือนกัน

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : แฟ้มภาพจาก Getty Images

 

อ้างอิง :

NASA

britannica

space

spaceth