‘ซุปเปอร์ด็อก’ (Superdog) น้องหมาในประวัติศาสตร์ความเชื่อไทย ๆ

‘ซุปเปอร์ด็อก’ (Superdog) น้องหมาในประวัติศาสตร์ความเชื่อไทย ๆ

บทความนี้พาเราย้อนรอยความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างมนุษย์และสุนัขในสังคมไทย ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและอิทธิพลความเชื่อจากภายนอก จนนำมาสู่มุมมองที่มีต่อสุนัขในปัจจุบัน

KEY

POINTS

  • การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงความผูกพันระหว่างมนุษย์และสุนัขในดินแดนไทย
  • วิวัฒนาการความเชื่อเกี่ยวกับสุนัขจากสวรรค์สู่นรกภูมิ ผ่านอิทธิพลศาสนาและวัฒนธรรมต่างถิ่น
  • บทบาทของสุนัขในพุทธศาสนา จากกุกกุรชาดกถึงภาพอสุภกรรมฐาน
  • การเปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อสุนัขในยุคสมัยใหม่ ภายใต้อิทธิพลแนวคิดมนุษยนิยม
     

เมื่อ ‘ซุปเปอร์แมน’ กลายเป็นแค่ ‘นุด’ ธรรมดาคนหนึ่ง 

เป็นที่ฮือฮาพอสมควรสำหรับฉาก Teaser ของภาพยนตร์เรื่อง ‘Superman’ เวอร์ชันผู้กำกับ ‘เจมส์ กันน์’  (James Gunn) ซุปเปอร์แมนซึ่งทำมาแล้วหลายเวอร์ชัน เมื่อถูกนำมาทำใหม่อีกก็แทบจะอยู่ในอาการ ‘หมดมุข’ หรือ ‘มุขแป๊ก’ แต่เวอร์ชันนี้ดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อฉาก Teaser เรียกความสนใจได้มาก 
ฉากที่ว่านี้เป็นฉากที่ซุปเปอร์แมน พ่อหนุ่มใหญ่ร่างบึ๊กของเรา ร่วงหล่นลงไปนอนจมพื้นหิมะ คล้ายภาพจำของ ‘หยำฉา’ เมื่อคราวถูกไซไบแมนของชาวไซย่าซัดจนหมอบในการ์ตูนยอดฮิต-ดราก้อนบอล แต่ซุปเปอร์แมนคือซุปเปอร์แมน ขนาดเวอร์ชันดีซีให้ถูกแบทแมนใช้หอกคริสตัลแทงตายแล้วก็ยังฟื้นคืนมาได้อีก ทุกคนรู้ว่าซุปเปอร์แมนยังไงก็ไม่ตายจริง แต่หนนี้ ‘พี่ซุป’ ของเรามีตัวช่วยที่ไม่ธรรมดา เป็นน้องหมาขนปุยสีขาว มีเสื้อคลุมสีแดงฉานเหมือนเสื้อซุปเปอร์แมน 

เมื่อซุปเปอร์แมนในลุคหยำฉาผิวปาก ซุปเปอร์ด็อกก็วิ่งฝ่าหิมะมา เมื่อมาถึง ‘ซุปเปอร์นุด’ ก็ยื่นชายเสื้อคลุมให้พร้อมกับบอกว่า “Take me home” แล้วก็มีภาพสั้น ๆ ซุปเปอร์หมาลากซุปเปอร์แมนกลับบ้านไป เป็นภาพนำเสนอซุปเปอร์แมนในฐานะ ‘ซุปเปอร์นุด’ คือเป็นแค่มนุษย์ (ต่างดาว) ธรรมดาคนหนึ่ง อย่างที่เพลง ‘Superman’ ของวง Five For Fighting เคยขับขานจนฮิตไปทั่วโลกมาแล้ว

       
 

“I can't stand to fly, I'm not that naive
I'm just out to find the better part of me
I'm more than a bird, I'm more than a plane
I'm more than some pretty face beside a train
And it's not easy to be me
 
I wish that I could cry
Fall upon my knees
Find a way to lie
'Bout a home I'll never see

It may sound absurd but don't be naive
Even heroes have the right to bleed
I may be disturbed but won't you concede
Even heroes have the right to dream?
And it's not easy to be me
     
Up up and away away from me
Well it's all right
You can all sleep sound tonight
I'm not crazy or anything

I can't stand to fly
I'm not that naive
Men weren't meant to ride
With clouds between their knees
     
I'm only a man in a silly red sheet
Digging for kryptonite on this one way street
Only a man in a funny red sheet
Looking for special things inside of me
     
Inside of me, inside of me, yeah
Inside of me, inside of me
     
I'm only a man in a funny red sheet
I'm only a man looking for a dream
I'm only a man in a funny red sheet
And it's not easy, it's not easy to be me” 

ปล. ในทางวิชาการและสื่อบันเทิง นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของจุดจบมนุษยนิยม (End of humanism) อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แต่เฉพาะซุปเปอร์แมนของโลกอเมริกัน ในโลกสังคมวัฒนธรรมไทยเอง ก็มีซุปเปอร์แมนที่กลายเป็น ‘ซุปเปอร์นุด’ หรือ ‘ซุปเปอร์นุด’ ที่จำต้องมี ‘ซุปเปอร์ด็อก’ อยู่ข้างกายมาเป็นเวลาช้านานแล้ว  

จากโครงกระดูกน้องหมาถึงกุกกุรชาดก

หมาเป็น ‘เพื่อนซี้ต่างสายพันธุ์’ ของมนุษย์ในภูมิภาคแหลมทองมาช้านานแล้ว ปัจจุบันการดำเนินงานโบราณคดีขุดค้นพบโครงกระดูกหมา 6 โครง จากแหล่งโบราณคดี 5 แหล่ง ดังนี้

(1) ‘คุณทองโบราณ’ จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง วัดโพธิ์ศรีใน ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ขุดพบ พ.ศ.2547 อายุไม่ต่ำกว่า 3,500 ปีมาแล้ว ชื่อ ‘คุณทองโบราณ’ เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 เพื่อให้พ้องกับ ‘คุณทองแดง’ สุนัขทรงเลี้ยง ตั้งแต่ พ.ศ.2547 ปีที่ขุดพบ ต่อมา คุณทองโบราณ ได้กลายเป็นมาสคอตประจำจังหวัดอุดรธานีเรื่อยมาจนทุกวันนี้   

‘ซุปเปอร์ด็อก’ (Superdog) น้องหมาในประวัติศาสตร์ความเชื่อไทย ๆ

(2) น้องหมาที่เมืองโบราณศรีเทพ อายุราว 1,730 ปีล่วงมาแล้ว บริเวณที่ขุดพบอยู่ภายในคูเมืองชั้นในถัดจากกลุ่มโบราณสถานเข้าคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง ไปไม่ไกล ไม่มีรถไปส่ง เดินเท้าแป๊บเดียวก็ถึงหลุมขุดค้น ที่พิเศษก็คือหลุมนี้มีการฝังศพน้องหมาอยู่ข้างโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิง ซึ่งคาดว่าเป็นเจ้าของสุนัขตัวนี้  สะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับคนในสังคมโบราณได้อย่างมาก   

(3) แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา 2 โครง อายุราว 3,000 ปีล่วงมาแล้ว โครงกระดูกสุนัขถูกฝังในลักษณะคล้ายคลึงกับที่พบที่ศรีเทพ แต่มีอายุเก่ากว่าศรีเทพมาก สะท้อนว่าสังคมเกษตรกรรมโบราณอย่างแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด มีพัฒนาการบางอย่างที่ส่งผ่านไปยังชนรุ่นหลัง ถึงไม่พบความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับแหล่งศรีเทพ ก็กล่าวได้ว่าคนโนนวัดกับคนศรีเทพมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกันอยู่อย่างคือการเลี้ยงสุนัข ที่พิเศษก็คือสุนัขในหลุมขุดค้นที่นี่มีการฝังของมีค่าอย่างลูกปัดและเครื่องอัญมณีอยู่ในหลุมด้วย แสดงถึงความรักความผูกพันที่เจ้าของมีต่อสุนัขที่เสียชีวิต    

(4) แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค ต.ท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี อายุราว 1,800 - 2,000 ปีล่วงมาแล้ว เป็นแหล่งโบราณคดีที่อยู่นอกเมืองไปทางโคกสำโรง แต่ก็อยู่ในเส้นทางน้ำและทางบกเชื่อมกับเกาะเมืองลพบุรีที่วัดตองปุ ชาวลพบุรีก็เช่นเดียวกับชาวศรีเทพ ชาวโนนวัด และชาวบ้านเชียง ที่มีการเลี้ยงสุนัขไว้ใช้งานในสังคมเกษตรโบราณ   

(5.) แหล่งโบราณคดีบ้านโนนค้อ ต.นาทัน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ อายุราว 3,000 ปีล่วงมาแล้ว ออกจะมีลักษณะที่แปลกกว่าแหล่งอื่นและห่างไกลจากแหล่งอื่นอยู่มาก แต่เราทราบว่าบริเวณที่เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ในอดีตเคยมีชุมชนขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งที่นี่มีหลักสีมาหินทรายอยู่จำนวนหนึ่งที่วัดโพธิ์เสมาชัย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เป็นหลักสีมาหินทรายที่มีรูปสุนัข 

ใช่แล้ว!!! อ่านไม่ผิดหรอก มีรูปสลักภาพสุนัขอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างหลักสีมา ที่มีไว้เพื่อแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์  แถมยังเก่าโบราณถึงยุคสมัยอาณาจักรเมืองฟ้าแดดสงยางอีกด้วย รูปสุนัขที่ว่านี้เมื่อพิจารณาองค์ประกอบแล้วพบว่ามีความไม่ธรรมดาตรงที่เป็นรูปเล่าเรื่องกุกกุรชาดก เป็นพระชาติที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยาสุนัข แสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพรหมทัตให้เลิกฆ่าสุนัขและสัตว์ทั้งหลายเพื่อบูชายัญ  

ภาพนี้ (กุกกุรชาดก) เป็นที่นิยมทำในงานศิลปกรรมตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ด้วย ดังจะพบว่ามีอยู่ภาพสลักอันหนึ่งอยู่ภายในอุโมงค์วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก็มีภาพกุกกุรชาดก เป็นภาพเก่าย้อนไปถึงราวพศว.19 สมัยอยุธยาก็มีพบเศษชิ้นส่วนศีรษะสุนัข ทำจากวัสดุสำริด ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ อายุราวพศว.21 รัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องกุกกุรชาดกอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี  

นั่นเป็นยุคของความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แม้แต่พระพุทธเจ้าก่อนจะมาจุติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็เคยเกิดเป็นสัตว์ต่าง ๆ มาก่อน ไม่เว้นแม้แต่สุนัข ดังนั้นจึงเกิดเป็นแนวคิดในการมองสัตว์แบบเท่าเทียมกับมนุษย์ แน่นอนความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึงเหมือนกันหรือเท่ากันในเชิงปริมาณและศักยภาพ แต่ในที่นั้นคนเท่ากับสัตว์เพราะถือคติว่าต่างก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน สัตว์ในชาตินี้เมื่ออดีตอาจจะเคยเป็นบรรพบุรุษบรรพสตรีของคนในละแวกย่านชุมชนก็ได้ จึงมีคำสอนให้งดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยกเว้นเพื่อเป็นอาหารสำหรับประทังชีวิต ซึ่งก็เช่นเดียวกับทุกหลักคำสอนในสังคมวัฒนธรรมอุษาคเนย์ที่จะมีข้อยกเว้นเสมอนั่นแหล่ะ      

จาก ‘หมาเก้าหาง’ สู่ ‘หมานรก’ 

นอกจากโครงกระดูกน้องหมาตัวเต็ม ๆ ภาพสลักหิน และจิตรกรรมแล้ว ที่พบรูปสุนัขเก่าแก่โบราณยังมีอีกประเภทหนึ่งเป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง เช่นที่เขาจันทร์งาม อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา, ภูปลาร้า อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ความเชื่อนี้พบเห็นได้แพร่หลายขึ้นเหนือไปจนถึงมณฑลกวางสีของจีนแผ่นดินใหญ่ทางตอนใต้ ซึ่งก็เป็นถิ่นของกลุ่มชนตระกูลไท-ลาว ที่ดูน่าสนใจก็คือภาพสุนัขเหล่านี้เขียนไว้อยู่ชิดกับภาพมนุษย์ ทั้งมนุษย์ในระหว่างพิธีเต้นรำที่ภูปลาร้า หรือมนุษย์ในขณะออกล่าในท่าง้างธนูเตรียมยิง เช่นที่เขาจันทร์งาม  

หมามีคุณสมบัติพิเศษ จมูกดี หูไว ตาไว นิสัยผูกพันกับมนุษย์ผู้เลี้ยง จึงเป็นผู้ช่วยนายพรานเวลาออกล่าสัตว์ในป่า และเป็นสัตว์เฝ้าบ้าน เฝ้าพืชผลการเกษตร เวลาค่ำคืนที่ในอดีตกลางคืนคือกลางคืน ไม่มีแสงสว่างมากนักเหมือนสมัยปัจจุบันที่มีแสงนีออนจนคนไม่หลับไม่นอน ใช้ชีวิตกันได้ทั้งกลางและกลางคืน แต่ในอดีตกลางคืนเมื่อพระอาทิตย์ตกดินก็เวลาที่ความมืดเข้าปกคลุม ตาสุนัขที่เรืองแสง และชอบเห่าหรือหอนเมื่อพบเห็นสิ่งแปลกประหลาดเข้ามาในเคหสถาน ถูกเข้าใจว่า ‘หมาเห็นผี’ คือมีคุณสมบัติพิเศษดวงตาทิพย์สามารถแลเห็นวิญญาณได้ หมาจึงเห่าและหอนเมื่อเจอผี ซึ่งตามนุษย์ไม่สามารถจะเห็นผีได้เหมือนหมา (เขาว่างั้น) 

เหตุที่หมามีดวงตาทิพย์สามารถเห็นผี ยังถูกผูกเป็นตำนานความเชื่ออยู่หลายเวอร์ชันด้วยกัน แต่เวอร์ชันที่นิยมเล่ากันในกลุ่มชนกตระกูลไท-ลาว ก็คือตำนานเรื่อง ‘หมาเก้าหาง’ เล่าว่าเดิมหมาอยู่บนสรวงสวรรค์มีหาง 9 หาง แต่ได้ทรยศเหล่าแถน (เทวดานางฟ้า) มาช่วยมนุษย์ที่กำลังจะอดตาย โดยการเอาเอาหางทั้ง 9 จุ่มเอาเมล็ดข้าวลงมาให้แก่มนุษย์ ระหว่างที่กำลังเหินเวหาจะลงจากสวรรค์มาโลกมนุษย์อยู่นั้น พระยาแถนหลวงเห็นเข้าก็โกรธเลยไล่ฟันหมายจะฆ่าให้ตายเสีย แต่เงื้อดาบตามฟันไปได้แค่ 8 ครั้ง แต่ละครั้งโดนแต่ที่หาง ไม่โดนตัว พอจะฟันครั้งที่ 9 ก็ถึงโลกมนุษย์พอดี เลยวิ่งหนีพระยาแถนรอดไปได้อย่างหวุดหวิด เหลือหางเพียงหางเดียว แต่ข้าวก็ถึงโลกมนุษย์เป็นที่เรียบร้อย 

ความเชื่อเช่นนี้นอกจากเป็นคุณที่สะท้อนความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสุนัขแล้ว ยังเกิดผลในแง่ลบด้วย เพราะเมื่อเชื่อเช่นนั้น หมาก็คือสิ่งที่จะนำทางมนุษย์กลับขึ้นสู่สวรรค์ได้ด้วย เพราะเมื่อหมาตาย ก็มีความเชื่อว่าหมาจะกลับบ้านเดิมของตัวเองที่เมืองบน (สวรรค์) ดังนั้นจึงเกิดพิธีการฆ่าหมาฝังศพร่วมกับเจ้าของ เพื่อให้หมานำทางมนุษย์ที่เป็นเจ้าของนั้นขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ ศพน้องหมาในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีเช่นที่ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์, บ้านเชียง จ.อุดรธานี, โนนวัด จ.นครราชสีมา, ท่าแค จ.ลพบุรี ก็เป็นที่คาดกันว่าอาจเป็นสุนัขที่ถูกฆ่าเพื่อวัตถุประสงค์คือให้นำทางมนุษย์ในโลกหลังความตายนั่นเอง   

ต่อมาคติเดิมที่หมามาจากสวรรค์เอาข้าวมาให้มนุษย์ ถูกท้าทายและปรับเปลี่ยนเมื่อความเชื่อศาสนาอินเดียแพร่เข้ามาอุษาคเนย์ เป็นความเชื่ออินเดียที่ไม่ใช่อินเดียบริสุทธิ์ เพราะปะปนกับความเชื่อตะวันตก อย่าลืมว่าก่อนที่จะมาอุษาคเนย์ ชาวฝรั่งมังค่าเคยไปขึ้นเทียบท่าที่อินเดียมาก่อน วัฒนธรรมศาสนาอินเดียที่รับในรุ่นหลังจึงเป็นอินเดียปนฝรั่ง ปนยังไง ก็เห็นได้จากความเชื่อเรื่องหมานี่แลขอรับ  

ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า เดิมกลุ่มชนตระกูลไท-ลาว มีความเชื่อว่าหมาเคยอยู่บนสรวงสวรรค์ แต่ตกสวรรค์เพราะมาช่วยให้มนุษย์ได้มีข้าวกิน เมื่อตายวิญญาณหมาจึงกลับบ้านเก่าของตัวเองคือขึ้นสวรรค์ไปอยู่กับเหล่าพี่ ๆ เทวดา นางฟ้า (ยังไม่มีความเชื่อเรื่องดาวหมาในยุคโน้น) 

แต่เมื่อศาสนาอินเดียปนฝรั่งเข้ามา หมาที่เคยอยู่สวรรค์ ก็กลายเป็นอยู่ในนรกแทน ตามคติไตรภูมิพระร่วง (ซึ่งแต่งสมัยอยุธยาไม่ใช่สุโขทัย) มีหมาอยู่ในนรกภูมิ เป็นหมาที่น่ากลัวเสียด้วย บางฉบับว่าตัวใหญ่เท่าช้างสาร คมเขี้ยวก็แหลมคม ‘หมานรก’ เหล่านี้เป็นผู้ช่วยนายนิรยบาลในการลงโทษมนุษย์ที่กระทำผิดบาปต่าง ๆ เป็นต้นว่าการไล่มนุษย์ที่ประพฤติชู้สำส่อนให้ปีนขึ้นต้นงิ้ว การขบกัดเนื้อตัวร่างกายทรมานมนุษย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการอ้างอิงคุณสมบัติในทางดุร้ายของสุนัขไปใช้สร้างความกลัว เช่นว่า

“นรกอันมี 2 คำรบนั้น ชื่อว่าสุนัขนรกคนผู้ใดกล่าวคำร้ายแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีลแลพ่อแม่ผู้เถ้าผู้แก่ครูปัธยาย์ คนผู้นั้นตายไปเกิดในนรกอันมีชื่อว่าสุนัขนรกนั้นแล...

ในสุนัขนรกนั้นมีหมา 5 จำพวก หมาจำพวกหนึ่งนั้นขาว หมาจำพวกหนึ่งนั้นแดง หมาจำพวกหนึ่งนั้นด่าง หมาจำพวกหนึ่งนั้นดำ หมาจำพวกหนึ่งนั้นเหลือง

หมาฝูงนั้นใหญ่เท่าช้างสารทุกตัว ฝูงแร้งแลกาอันอยู่ในนรกนั้นใหญ่เท่าเกียนใหญ่ ๆ ทุกตัว ปากแร้งแลปากกาแลเล็บตีนนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวไฟลุกอยู่บ่มิได้เหือดสักคาบ แร้งแลกาหมาฝูงนั้นเทียรย่อมจำแนกหัวออกย่อมขบย่อมตอดคนทั้งหลายผู้อยู่ในนรกนั้น แลบาปกรรมของเขานั้นบ่มิให้ตาย แลให้เขาทนทุกข์เจ็บปวดสาหัสทนทุกข์เวทนาพ้นประมาณอยู่ในนรกอันมีชื่อว่าสุนัขนรกนั้นแล”

(คัดจาก ‘ไตรภูมิพระร่วง’ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2517) 

‘สัจนิยม’ และ ‘มนุษยนิยม’ (แบบไทย ๆ) & การบรรลุธรรมของ ‘นุด’ กับ การตกนรกของ ‘น้องหมา’ 

หมายิ่งตกนรกมากขึ้นไปอีก เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยที่ ‘นุดไทย’ รับเอาแนวคิดมนุษยนิยมจากตะวันตกมาดัดแปลงปรุงแต่ง (ก็หรอบเดียวกับ “เลียนแบบเขา แต่อย่าให้นับถือหรือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว” นั่นแหล่ะ) 

หลักฐานจากจิตรกรรมจำนวนมากในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา พบว่าพื้นที่หนึ่งเลยที่จะพบเห็นหมาอยู่ในจิตรกรรมงานศิลป์ประเภทนี้ก็คือ ‘ภาพอสุภกรรมฐาน’ ที่นิยมวาดกันมากในสมัยรัชกาลที่ 4 - 5 มีที่ไหนบ้าง ลองสังเกตดูกันเอาเอง ที่มีมากหน่อยก็เช่นที่ วัดเสม็ด ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี   

ภาพอสุภกรรมฐานคืออะไร? ก็คือภาพวาดเล่าเรื่องการบำเพ็ญเพียรของพระภิกษุสงฆ์โดยการเพิ่งพิจารณาศพ และศพนั้นก็มักจะมีสุนัขมางับลากไส้พุง ภิกษุสงฆ์ที่นิยมบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีนี้มากในสมัยรัชกาลที่ 4 - 5 ก็คือพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย 

ยิ่ง ‘นุดพระ’ บรรลุธรรมมากเท่าไหร่ น้องหมาก็กลายเป็นมีภาพลักษณ์อุบาทว์น่าเกลียดมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นการใช้ภาพลักษณ์สุนัขในแบบที่ไม่น่ารักน่าเอ็นดู เป็นภาพตรงกันข้าม และอย่างที่รู้กัน ขึ้นชื่อว่าแนวคิดแบบ ‘สัจนิยม’ (Realism) กับ ‘มนุษย์นิยม’ (Humanism) สำหรับในยุคโน้นแล้ว พระภิกษุธรรมยุติกนิกายนี่แหล่ะที่เป็นหัวหอกสำคัญของการแพร่อิทธิพลแนวคิดดังกล่าวนี้  

ยิ่งมนุษย์ถูกยกย่องสูงส่งและเป็นศูนย์กลางสรรพสิ่งมากกว่าสัตว์เท่าไร มนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถจะจัดการหรือกระทำอย่างใดกับสัตว์ก็ได้มากขึ้นเท่านั้น  สถานะ ‘สัตว์เลี้ยง’ ตามนิยามของคนรุ่นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา จึงเป็นสถานะคนละมิติกับความเท่าเทียมกัน เพราะสัตว์ไม่สามารถเป็นมนุษย์ได้ ตรงนี้ขัดแย้งกับความเชื่อแต่ดั้งเดิมที่ถือว่ามนุษย์ก็เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งเหมือนกัน 

กระบวนการทางความคิดแบบสมัยใหม่ อันหนึ่งเลยก็คือการจำแนกแยกสัตว์ออกจากมนุษย์ สุดท้ายแล้วก็นำมาสู่การสร้างกรงขังที่เอาสัตว์มาไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน สวนสัตว์คือสิ่งที่บ่งบอกว่ามนุษย์อยู่ห่างไกลจากความเป็นสัตว์มากขึ้นเท่าใด ไม่มีความเท่าเทียมกันอีกต่อไป เพราะ ‘โลกนี้’ สำคัญกว่า ‘โลกหน้า’ ปัจจุบันสำคัญกว่าอนาคต มนุษย์ไม่ได้เวียนว่ายตายเกิดคู่กับสัตว์โลกอื่น ๆ อีกต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ในโลกสมัยใหม่มนุษย์ก็ใช้สัตว์บำบัดความปรารถนาที่ไม่อาจหาได้จากมนุษย์ด้วยกัน เช่น การเลี้ยงแมวเป็นลูก มนุษย์ยังชอบปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ด้วยมุมมองแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง แง่หนึ่งเหมือนจะทำให้สัตว์มีความเป็นมนุษย์ด้วยเหมือนกัน เป็นมนุษย์แบบที่สามารถจะให้ความหมายได้อย่างอิสระ ลูกฮิปโปหมูเด้งเลยถูกแทนค่าว่าเป็นเหมือนมนุษย์เด็กน้อยน่ารักคนหนึ่ง หรือเสือกลับเป็นแมวได้แบบ ‘น้องเอวา’ หรือ ‘พรี่สุดเขต’ ทั้งหมดนี้สะท้อนพลานุภาพของลัทธิความเชื่อแบบมนุษย์นิยมสุดโต่งที่ไปสร้างภาพประทับ (representation) ให้แก่สัตว์ ไม่ใช่สัตว์ในฐานะที่เป็นสัตว์จริง ๆ        

บทสรุปและทิ้งท้าย: คนไม่ใช่สัตว์ประเสริฐ แต่เราต้องไม่เดรัจฉาน!!!  

ที่ผู้เขียนเน้นเล่าย้อนไปที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการอ้างอิงหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่อยู่คู่มนุษย์ในประวัติศาสตร์สังคมของคนในภูมิภาคนี้มาตลอด แน่นอนว่าแต่ละช่วงยุคสมัยมีนิยามเกี่ยวกับ ‘สัตว์เลี้ยง’ ไม่เหมือนกัน บางช่วงแตกหักอย่างตรงข้ามไปจากที่เคยเป็นมาในอดีต บางช่วงมีลักษณะของการผสมผสานและคลี่คลายกันมา 

อย่างไรก็ตาม ในระบบการนับเวลาแบบ ‘สิบสองนักษัตร’ มีปีหมา หรือ ‘ปีจอ’ รวมอยู่ด้วย ‘ส. พลายน้อย’ เคยให้ข้อสันนิษฐานว่าไทยรับมาจากเขมร และเขมรรับมาจากจีนอีกต่อหนึ่ง คำว่า ‘จอ’ ในภาษาขะแมร์-กูย แปลว่า ‘หมา’ มีเพลงหนึ่งที่นิยมร้องกันในหมู่คนขะแมร์-กูย มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งระบุว่า “จอ จา ฉิ่ม” แปลว่า “หมากินหมด” ความหมายเดียวกับ ‘มคปด.’ (หมาคาบไปแดก)  

ในแง่องค์ความรู้ตำรา (Guru knowledge) ‘ตำราสุนัข’ มีน้อยกว่า ‘ตำราแมว’ มาก อาจเป็นเพราะหมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่คนแต่ก่อนคิดว่าตนเองรู้จักและจำแนกประเภทได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีบันทึกตำราเป็นมาตรฐานความรู้กลาง ในขณะที่แมวมีการแพร่พันธุ์หลากหลายชนิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ตำรา   

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยหลายคน มีประวัติเกี่ยวข้องกับหมาหรือนิยมเลี้ยงสุนัข เช่น สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ เราทราบบทบาทของท่านเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่เราไม่ค่อยว่าหมามีอิทธิพลต่อบทบาทของพวกท่านเหล่านี้อย่างไรบ้าง แม้ว่าแนวคิดมนุษย์นิยมจะครองอำนาจในโลกสมัยใหม่ แต่ทว่าสัตว์โดยเฉพาะหมาแมวที่อยู่ใกล้ตัวเราก็ไม่เคยหายไปไหน    

‘ไมเคิล ไรท์’ (Michael Wright) นักเขียนและนักประวัติศาสตร์นอกขนบ เคยใช้วิธี ‘ติ๊ต่าง’ ว่า แมวเป็นผู้เขียนงานให้แก่ตน และลงชื่อแนวผู้เขียนนั้นว่า ‘โมหิณี วิฬารวงศ์’ มีอยู่ที่หนึ่งได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ไมเคิล ไรท์ ดูเหตุการณ์ระดับโลกและระดับเมืองไทยแล้วจนใจ หมดกำลังใจ หมดความคิดเห็น เป็นใบ้ พูดเขียนอะไรไม่ออก ท่านจึงวานให้อีนังโมหิณี แมวรักแสนรู้ของท่าน เขียนบทความแทนชั่วระยะหนึ่ง” หลังจากนั้น โมหิณีก็เริ่มสาธยายราวกับเป็นองค์ปาฐกในที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการ เช่นว่า 

“ในเพียง 100 ปี ของคริสต์ศักราชที่ 20 มนุษยชาติได้ทำสงครามใหญ่ถึงสองครั้ง (ครั้งที่ 1 ค.ศ.1914 - 1918 เพียงห้าปี และครั้งที่ 2 ค.ศ.1940 - 1945 เพียงหกปี) จนตายกันเรือนห้าหมื่นล้านคน นอกนั้นมีสงครามเบ็ดเตล็ด (เช่น เกาหลี, เวียดนาม ฯลฯ) ที่น่าจะฆ่าคนตายอีกไม่น้อยกว่าห้าหมื่นล้านคน สิริรวมเป็นหนึ่งแสนล้านคนภายในหนึ่งร้อยปี 

นี่เป็นฝีมือของมนุษย์ สัตว์วิเศษที่มีปัญญารู้ดีรู้ชั่ว เป็นสัตว์เจริญที่มีศิลปวัฒนธรรม ปรัชญาและศีลธรรมเป็นดิลกประดับชาติ แล้วมนุษยชาติไม่รู้สึกละอายหรือสงสัยตนเองหรือเมื่อเทียบกับวิฬารชาติป่าเถื่อน (มีเล็บเขี้ยว ไม่มีปัญญา) ที่ฆ่าสัตว์อื่นเฉพาะรายตัวเพื่อประทังความหิวโหย? ขอให้ท่านผู้อ่านเชื่อแมวเถิด ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีปัญหา” 

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

อ้างอิง:
     กำพล จำปาพันธ์. ““คนกราบหมา” (มีอยู่จริง ๆ นั่นแหล่ะ) & ว่าด้วยปริศนา "ลัทธิบูชาหมา" และคติสิบสองนักษัตรในหัวเมืองปักษ์ใต้” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 45 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2567), หน้า 22-29. 
     กำพล จำปาพันธ์. “ประวัติศาสตร์ไทยฉบับ “ฝรั่งคลั่งแมว” (Meow Meow Meow) & แกะรอย “อีนังโมหิณี” ย้อนรำลึกถึงนักประวัติศาสตร์นอกขนบที่ชื่อ “ไมเคิล ไรท” (Michael Wright)” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 46 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2567), หน้า 10-18.    
     กำพล จำปาพันธ์. Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567. 
     คึกฤทธิ์ ปราโมช. คนรักหมา. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2512. 
     คึกฤทธิ์ ปราโมช. สรรพสัตว์. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2547. 
     ฉวน-อัน, หู (Hu Chuan-an). ย้อนรอยโฮ่ง ตามรอยเหมียว (A History of Civilization with Cats and Dogs). แปลโดย อารยา เทพสถิตย์ศิลป์, กรุงเทพฯ: มติชน, 2565. 
     ดิมิทรีเยฟ, ยูริ (Yuri Dmitriyev). มนุษย์กับสัตว์ (Man and Animals). แปลโดย ทองสุก เกตุโรจน์, กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2534.  
     (เขาว่าพญาลิไท แต่ที่จริงไม่ใช่). ไตรภูมิพระร่วง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2517. 
     ส. พลายน้อย. สัตวนิยาย. กรุงเทพฯ: อักษรพิทยา, 2537. 
     ส. พลายน้อย. สิบสองนักษัตร. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, 2534. 
     สุจิตต์ วงษ์เทศ. (บก.). ข้าวปลา หมาเก้าหาง: ประชุมคำบอกเล่าเก่าแก่เกี่ยวกับกำเนิดต้นข้าว. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546. 
     อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ. รูปเขียนดึกดำบรรพ์ "สุวรรณภูมิ" 3000 ปีมาแล้ว ต้นแบบงานช่างเขียนปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2549.