14 พ.ย. 2567 | 03:02 น.
KEY
POINTS
เดิมทีนั้นผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่อง ‘พระสนมสี่ทิศ’ แต่ในระหว่างที่เขียนไปจนจวนจะแล้วเสร็จและส่งให้กองบก. The People.co อยู่แล้ว ละครเรื่อง ‘แม่หยัว’ ออนแอร์มาถึงตอนที่ 5 แล้วเกิดมีเรื่องวางยาสลบแมวเพื่อความสมจริง
ภาพที่เห็นตามคลิปเผยแพร่และที่ได้ดูจากในละครวันนั้นรบกวนจิตใจอย่างมาก เนื่องจาก ‘โมโมทาโร่’ แมวของผู้เขียน เมื่อจะจากไป ก็มีลักษณะอาการเช่นเดียวกับแมวดำในเรื่อง แต่โมโมทาโร่เจอผลข้างเคียงจากการรักษาที่ยาวนาน จากโรคภัยที่คุกคาม ผู้เขียนและครอบครัวได้พยายามยื้อจนสุดทางแล้ว ไม่ได้ถูกวางยาสลบ เหมือนแมวดำที่เคราะห์ร้ายตัวนั้น
ผู้เขียนจึงไม่อาจเขียนหรือนำเสนอสิ่งใด ๆ เพื่อสนับสนุนละครเรื่องนี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอีกต่อไป ปกติความไม่สมจริง การอิงประวัติศาสตร์ เอาบุคคลในประวัติศาสตร์ มาทำอย่างเละเทะอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่ให้อภัยกันได้ แต่เรื่องนี้ ต้องขอบอกว่าทำใจรับไม่ได้จริง ๆ เลยแจ้งไปยังบก. ขอเปลี่ยนบทความที่จะส่งจากเรื่อง ‘พระสนมสี่ทิศ’ มาเป็นเรื่องนี้แทน ซึ่งก็ได้รับอนุญาตจากบก. ผู้เขียนขอขอบคุณและขออภัยบก. และทีมงาน The People.co ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจจะสืบเนื่องมาจากองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่บกพร่องในสังคมไทย เมื่ออยากจะเกาะกระแสแมว จะให้แมวมีซีนในประวัติศาสตร์ยุคสมัยอย่างกรุงศรีอยุธยา เลยไม่รู้จะเอาแมวมานำเสนอไว้ในฉากไหน เมื่อในเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์ มียาพิษเป็นกุญแจสำคัญในการขึ้นสู่อำนาจของตัวเอก
ทั้งที่จริงเรื่องที่ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์วางยาพิษใส่ในน้ำนมให้สมเด็จพระไชยราชาและสมเด็จพระยอดฟ้านั้น อยู่ในบันทึกหลักฐานต่างชาติเพียงแห่งเดียว แถมเป็นหลักฐานจากฝ่ายที่มากระทำรัฐประหารยึดอำนาจและประหัตประหารกลุ่มท้าวศรีสุดาจันทร์ - ขุนวรวงศาธิราช กรณีที่เรื่องปรากฏในหลักฐานเพียงชิ้นเดียวไม่ปรากฏสอดคล้องกับในหลักฐานอื่นที่เป็นอิสระต่อกัน และเป็นบันทึกให้ร้ายจากฝ่ายตรงกันข้าม ในทางประวัติศาสตร์เรื่องแบบนั้นเราถือว่ายังขาดความน่าเชื่อถือ คือยังรับเชื่อไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์
หลักฐานสำคัญอย่าง ‘พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์’ หรืออย่าง ‘พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต’ ซึ่งทั้งสองชิ้นต่างบันทึกอย่างเป็นอิสระต่อกัน ระบุว่าสมเด็จพระไชยราชาสวรรคตในระหว่างเดินทัพกลับจากไปตีเชียงใหม่ วัน วลิต (Jeremias van Vliet) ระบุด้วยซ้ำไปว่า สวรรคตเพราะ ‘สาเหตุธรรมชาติ’
พระราชพงศาวดารฉบับชำระในสมัยอยุธยาปลายและต้นรัตนโกสินทร์ ระบุเพียงว่าสวรรคตเพราะถูกลอบปลงพระชนม์ ซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายปลงพระชนม์ใช้วิธีการอย่างใด ที่แน่ ๆ พระราชพงศาวดารไม่ได้ระบุถึงการใช้ยาพิษแต่อย่างใด
การสวรรคตของสมเด็จพระยอดฟ้า ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดต่อท้าวศรีสุดาจันทร์ เพราะแสดงออกถึงการเป็นคนโฉดชั่วช้าสามานย์ขั้นสุด โดยเฉพาะในฐานะสตรี เพราะสมเด็จพระยอดฟ้าเป็นพระราชโอรสของพระนาง ถึงจะเป็นพระราชโอรสที่เกิดกับศัตรูคือสมเด็จพระไชยราชา แต่ก็ได้ชื่อเป็นลูกในไส้ - บุตรในอุทร
กรณีสมเด็จพระยอดฟ้า ถึงพระราชพงศาวดารจะระบุถึงวิธีปลงพระชนม์ว่าเป็นการนำตัวไปทุบท่อนจันทน์ที่โคกพระยา แต่เรื่องนี้แม้แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวทรงให้อรรถาธิบาย ‘พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา’ ก็ไม่ทรงเชื่อ ถึงจะเป็นเกมส์การเมืองระหว่างราชวงศ์กันก็ตาม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเชื่อว่า ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้ทำและท้าวศรีสุดาจันทร์เพียงแต่เลยตามเลย เพราะขาดที่พึ่งมีแต่ขุนวรวงศาธิราชเท่านั้น
ประวัติศาสตร์ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอยู่ การที่จะนำเอาเรื่องใดมานำเสนอหรือเสนอในมุมใดมุมหนึ่ง รับเชื่อตามมุมใดก็ตาม จำเป็นต้องทำอย่างรอบคอบระมัดระวัง ตรงนี้สำหรับผู้เขียน ถ้าต้องให้คะแนนเกรดต่อละครแม่หยัว คงให้ได้ไม่เกิน D หรือ C ไม่ถึง B ยิ่ง A ยิ่งให้ไม่ได้ เพราะการนำเสนอสะท้อนว่าผู้นำเสนอยังไม่ได้พิจารณาหลักฐานต่าง ๆ อย่างรอบด้านมากพอ
สรุปก็คือว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์อาจไม่ได้ใช้ยาพิษจริงดังที่มีการกล่าวหาพระนาง แต่แมวที่แสดงในเรื่องแม่หยัวนี้ถูกวางยาสลบจริง!!!
บางคนแก้ต่างให้ทีมละครว่า ก็แล้วจะให้แมวมาปรากฏได้ในฉากไหน ในเมื่อไม่มีงานประวัติศาสตร์บอกเอาไว้ เดี๋ยวก็บ้ง ก็ผิด ไปจากประวัติศาสตร์อีก
อันที่จริงผู้เขียนได้เคยแสดงให้เห็นไว้แล้วในเล่ม ‘Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว’ และบทความหลายตอนในคอลัมน์ ‘Animal history’ ในวารสารศิลปวัฒนธรรม แต่ท่านผู้กำกับ ผู้เขียนบท ทีมงาน และทีมที่เชียร์คงไม่ได้อ่าน
นักประวัติศาสตร์ที่พวกท่านเหล่านี้รู้จักคงเป็น ‘ขาใหญ่’ ที่เด็กประวัติรุ่นหลังเรียกกันว่า ‘นักประวัติศาสตร์เจน B’ หรือ ‘นักประวัติศาสตร์บลูมเมอร์’
ปัญหาของประวัติศาสตร์ไทยแบบเจน B คือเป็นประวัติศาสตร์ที่มีพล็อตเรื่องเน้น ‘มนุษย์เป็นศูนย์กลาง’ (Human centrism) ที่มีหัวก้าวหน้า ก็ดีหน่อยตรงที่มนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางนั้นอาจเป็นไพร่ ทาส ประชาชน แต่ที่หัวโบราณอนุรักษ์นิยม มนุษย์ที่เป็นตัวเอกตัวเด่นก็คงไม่พ้นมนุษย์ชนชั้นนำ
ไม่แปลกที่งานของนักประวัติศาสตร์รุ่นโน้นท่านจะไม่มีแมว หรือหากแม้นว่าจะมีสัตว์ใด ก็จะต้องเป็นสัตว์ที่ทำคุณแก่ชนชั้นนำอย่างเช่น ช้าง เป็นต้น
แต่ที่จริง (ไม่ต้องเชื่อผู้เขียนก็ได้) ลองคิดพิจารณาดูนะว่า อยุธยาเป็นสังคมยุคที่คนยังต้องดำรงชีวิตอยู่โดยพึ่งพาสัตว์อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการคมนาคม (ลองไม่มีช้าง ม้า วัว ควาย คุณปู่คุณย่าจะแว๊นกันยังไง) การเกษตรกรรม ถ้าไม่มีพรี่ควาย มนุษย์อยุธยาจะทำนาปลูกข้าวกินได้อย่างไร การค้า และแหล่งอาหารการกิน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยุธยาเป็นสังคมพุทธศาสนา มีความเชื่อพื้นฐานอย่างหนึ่งว่า ทุกสรรพชีวิตล้วนเวียนว่ายตายเกิด คำว่า ‘ชาติ’ นั้นหมายถึง ‘ชาติภพ’ หรือ ‘ชาติภูมิ’ ไม่ได้หมายถึงรัฐหรือประเทศอย่างทุกวันนี้ และคำว่า ‘ชาติ’ ในสมัยอยุธยา ยังรวมถึงหมา แมว มด แมลง ฯลฯ ทุกสรรพสัตว์ ต่างถือว่าร่วมชาติเดียวกับมนุษย์ (ทั้งมนุษย์อย่างสมเด็จพระไชยราชา แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ขุนพิเรนทรเทพ พระเฑียรราชา พระสุริโยไท พระเจ้าตากสิน หรือพระเจ้าเหาที่ไหนก็ตาม ฯลฯ)
เมื่อมีแนวคิดพื้นฐานเช่นนี้ การปฏิบัติต่อสัตว์ จึงแตกต่างออกไปจากยุคสมัยที่ถือว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งในสากลจักรวาลนี้ หมา แมว อาจเป็นญาติของเราที่ล่วงลับไปแล้วไปเกิดเป็นมัน มาใช้กรรมอยู่กับเราก็ได้ พุทธศาสนาถึงได้มีคำสอนว่า อย่าเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ทำกรรม ทำบาป อย่างใดกับสัตว์ไว้ ก็จะเกิดผลย้อนกลับมาที่ตัวเรา ไม่ช้าก็เร็ว (ถึงกรรมมันจะติดจรวดหรือไม่ก็ตาม) สรุปคือคนเขาเชื่อแบบนั้น ก็เลยไม่มีการวางยาสลบแมวเพื่อความบันเทิง
แต่สำหรับในยุคสมัยที่ความเชื่อกระแสหลักคือความเชื่อที่ว่ามนุษย์สมัยใหม่เป็นผู้มีเหตุผล มีสติปัญญา หรือความสามารถใด ๆ เหมาะสมและคู่ควรแก่การครองโลกใบนี้ ก็จะคิดและประพฤติอีกแบบหนึ่งต่อสัตว์ ใช้สัตว์เป็นด้านตรงข้าม เหยียดบุลลี่สัตว์ หรือเปรียบมนุษย์ที่ไม่เหมือนใคร - ไม่สมบูรณ์ ให้เป็นสัตว์ ไม่เป็นคน เป็นต้น
เมื่อมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ บังเกิดความเชื่อว่าตนสูงส่งเหนือกว่าสัตว์เช่นนั้นมากเข้าแล้ว ก็นำมาสู่วิธีคิดและความเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิอำนาจที่จะกระทำอย่างใดต่อสัตว์ก็ได้
ทั้งที่ในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวอันตรายทำความเสียหายให้แก่โลกมามากต่อมากมหาศาล อย่างชนิดไม่มีสัตว์ร้ายใด ๆ แม้แต่สัตว์ประหลาดไคจูอย่างในหนังการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ไม่เคยทำมาก่อน
ในรอบร้อยกว่าที่ผ่านมา มนุษย์ทำสงครามเข่นฆ่าล้างโคตรกันครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง และทั้งสองครั้งผู้ที่บาดเจ็บล้มตายมากที่สุด ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามมากที่สุด ล้วนแต่ไม่ใช่พวกคุณ ๆ ท่าน ๆ ที่นั่งอยู่ทำเนียบ ในสภา หรือในพระราชวัง ไม่ใช่แม้แต่ผู้ที่เป็นทหารออกศึกได้ลั่นไกปืนรัว ๆ สังหารข้าศึกอย่างในหนังสงครามกำกับโดยโนแลน
หากแต่ที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดล้วนแต่เป็นคนธรรมดาที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรกับเขาด้วย
ในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ‘นุด’ ยังเป็นพวกที่สร้างความวิบัติเลวร้าย อย่างการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในนาม “การพัฒนาเพื่อความทันสมัย” ผลลัพธ์ที่ได้คือโลกเดือด มลพิษ โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบกันแล้ว แม้จะเป็นสัตว์มีเขี้ยวเล็บและดุร้ายยังไง ก็ร้ายกาจไม่เท่ามนุษย์เลยแม้แต่เสี้ยวเดียว
เหตุดังนั้น คนรุ่นผู้เขียนหลายคนเมื่ออ่านประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยที่ยังมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางอยู่ จะรู้สุกว่าเชย ล้าหลัง และไม่ควรเชื่อถืออีกต่อไป แต่เราก็ยังเห็นพวกชอบหยิบเอามาทำเป็นหนังเป็นละครอยู่ร่ำไป
มาถึงคำถามที่ตั้งไว้ข้างต้น ที่ว่าแมวจะสามารถอยู่ตรงไหนในฉากหนังฉากละครที่อิงประวัติศาสตร์อยุธยา คำตอบคือ อยู่ได้แทบจะทุกฉากทุกตอนนั่นแหล่ะ ไม่จำเป็นต้องให้ออกมาเฉพาะเมื่อตัวร้ายจะวางยาพิษ เพราะ (1) แมวเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบกรุงศรี (2) ไม่มีธรรมเนียมให้ ‘เจ้านายแมว’ กินข้าวก่อน ‘นุด’
ที่ว่าแมวเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบชาวกรุงศรีนั้น ไม่ได้เคลมเว่อร์ เพราะมีหลักฐานปรากฎเยอะแยะมากมาย ดังตัวอย่างคร่าว ๆ ต่อไปนี้
-จิตรกรรมฝาผนังก็มีแมว เช่นที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี
-ศิลปกรรมปูนปั้นก็มีปั้นรูปแมวมาตั้งแต่สุโขทัย เช่นที่มีรูปประติมากรรมหมาแมวสมัยสุโขทัย ขุดค้นได้มาจากแหล่งเตาทุเรียง ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
-ในวรรณคดีบางเรื่อง เช่นเรื่อง ‘ไชยเชษฐ์’ ก็มีแมวเป็นตัวละครเด่นอย่าง ‘นางวิฬาร์’ หรืออย่างในเรื่อง ‘ขุนช้างขุนแผน’ ภาษิตที่ว่า “ฝากปลาย่างไว้กับแมว” ก็มีที่มาจากวรรณคดีเรื่องนี้ มีตอนหนึ่งที่ขุนแผนรำพึงรำพันทำนองว่า ฝากให้ขุนช้างดูแลนางพิม ก็เหมือนฝากปลาย่างไว้กับแมว หรืออย่างภาษิตที่ว่า “ที่เท่าแมวดิ้นตาย” ก็มาจากวรรณคดีเรื่อง ‘ศรีธนญไชย’ เมื่อศรีธนญไชยขอพระราชทานที่ดินมีขนาดเท่าแมวดิ้นตาย
-จะไปรบใน ‘ตำราพิไชยสงคราม’ ก็มีพูดถึง ‘เสือหมอบแมวเซา’ และหรือ ‘วิฬาร์นาม’ การตั้งทัพที่อุปมาเหมือนดังแมวนอนขดตัวระวังภัย ถ้าแมวไม่สำคัญหรือแมวไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เห็นเป็นปกติสามัญ จะอธิบายแปรความการตั้งทัพที่รักษาค่ายมั่นไว้อย่างดีนั้นโดยเปรียบเทียบกับอากัปกิริยาของแมวได้อย่างไร
-ในเอกสารหลักฐานอย่างพระราชพงศาวดาร ก็มีเช่นใน ‘พงศาวดารเหนือ’ เล่าถึงกรณีพระยาพานได้ยินแม่แมวดุลูกแมว ถึงจะเป็นเรื่องเล่าอิงเหตุการณ์ที่นครไชยศรี แต่การปรากฏในพงศาวดารฉบับนี้ก็เป็นสิ่งสะท้อนว่าในพระราชวังของอยุธยาเองก็มีแมว เวลาใครจะไปใครจะมา ต่างต้องผ่านด่านแมว ก็เข้าไปยังตำหนักฝ่ายใน
-ตัวบทกฎหมาย อยุธยาก็มีบทพระไอยการห้ามทารุณกรรมสัตว์ ใครฆ่าฟันหรือทำร้าย ‘สุนักขะ’ (หมา) หรือ ‘วิลาระ’ (แมว) แม้แต่หมาแมวที่ไม่มีเจ้าของ เดินอยู่บนถนน ใครเห็นเกะกะเกเร จะทำร้ายพวกมัน ไม่ได้ ทางการก็มีบทลงโทษ ปรับไหมถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวได้เลยทีเดียว ในสมัยรัตนโกสินทร์ กฎหมายตรงนี้ภายหลังได้ขยายไปเป็นให้เจ้าของเมื่อหมาแมวตายจะต้องทำศพคือฝัง หรือเผา ให้เรียบร้อย หากพบปล่อยทิ้งเน่าเหม็นอยู่ตามถนน หรือตามแม่น้ำลำคลอง จะลงโทษและปรับไหมเจ้าของหมาแมวนั้นทันที
-หลักฐานสำคัญของอยุธยาอย่างเช่น ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง’ เมื่อกล่าวถึงสถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณแยกตะแลงแกงของเกาะเมืองอยุธยาคือ ‘หอกลอง’ ก็มีกล่าวถึงแมวผู้มีบทบาทพิทักษ์รักษาหอกลองที่เรียกว่า ‘วิฬาร์หอกลอง’ เจ้าพนักงานที่ประจำอยู่หอกลองจะต้องเลี้ยงแมวไว้สำหรับป้องกันไม่ให้หนูมากัดกลอง กลองนี้ถือว่าสำคัญมากสำคัญยุคที่ยังไม่มีระบบเตือนภัยแบบปัจจุบัน เพราะเมื่อมีเหตุด่วนเหตุร้าย เช่น ไฟไหม้ โจรผู้ร้าย ข้าศึกศัตรู ฯลฯ เจ้าพนักงานก็จะต้องตีกลองนี้เป็นสัญญาณให้ชาวกรุงได้ยินทั่วกัน
-ผู้ที่มีแมว ไม่ใช่เพียงคนยุดยา ชาวต่างชาติที่เข้ามาก็มีแมว นิยมเลี้ยงแมวเป็นเพื่อนคลายเหงา ดังจะเห็นได้จากบันทึกของแกมป์เฟอร์ (Engerlbert Kaempfer) ผู้อำนวยการสถานีการค้าของฮอลันดาที่แหลมฟ้าผ่า (พระประแดง) ในวันที่แกมป์เฟอร์ไปถึงนั้นไม่อยู่ ออกไปล่างูเหลือม แก้แค้นที่มันมาเขมือบ ‘สุริ’ แมวแสนรักของท่านผอ. (ฮอลันดา) สะท้อนความผูกพันระหว่างคนกับแมว ‘สุริ’ เป็นแมวตัวแรกที่ปรากฏชื่อในบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งยืนยันว่ามีวัฒนธรรมการตั้งชื่อให้แมวด้วยชื่อที่คล้ายคนมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว
-ตามบ้านเรือนขุนนาง ไพร่ ราษฎร นิยมเลี้ยงแมว เพราะมีความเชื่อเรื่อง ‘แมวมงคล’ เป็นเกียรติเป็นศรีแก่บ้านเรือน บ้านไหนไม่มีแมว บ้านนั้นถือว่าไม่ดีไม่งาม เพราะแมวเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ของเจ้าของบ้าน ก็เลยนิยมเลี้ยงไว้ประดับบารมี ไม่เว้นแม้แต่พระราชมณเฑียรที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่งั้นไม่มีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร (ภาษาชาวบ้านเรียก ‘ขึ้นบ้านใหม่’) ซึ่งถือเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของพระราชพิธีขึ้นครองราชย์
-ตำราแมวแต่งกันมากในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ไม่พบฉบับสมัยอยุธยา ส่วนใหญ่จะเป็นการแต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่อ้างว่าคัดลอกมาจากต้นฉบับสมัยอยุธยา แต่กระนั้นแนวคิดเรื่อง “แมวเป็นผู้มีบุญ” ที่ปรากฏในตำราแมวก็เชื่อว่าสืบมาจากความเชื่อเมื่อครั้งกรุงเก่าได้อยู่ แม้ตำราจะแต่งใหม่ แต่เป็นแนวคิดเก่าที่ยึดถือกันมา คนรุ่นต้นกรุงเทพฯ กับรุ่นอยุธยาตอนปลาย ที่แก่ชรามาแต่งตำราไว้สอนลูกหลานนั้นจริงก็เป็นคนรุ่นเดียวกัน
-ตำราสอนความประพฤติสตรี อย่างเช่น ‘กฤษณาสอนน้อง’ ซึ่งพบต้นฉบับแต่งในสมัยธนบุรี แต่ก็เช่นเดียวกับ ‘ตำราแมว’ คือเป็นตำราแต่งภายหลังที่ยึดเอาแนวคิดเดิมของรุ่นอยุธยามาแต่งใหม่ ในนั้นมีสอนว่า สตรีที่ดีที่เพียบพร้อมนอกจากงานบ้านงานเรือนไม่ขาดตกบกพร่อง การปรนนิบัติสามี แล้วยังรวมถึงบทบาทในการดูแลสัตว์เลี้ยง ขนาดนางสุชาดา เมียรักของมาฆมานพ ผู้ซึ่งบำเพ็ญบุญบารมีจะไปจุติเป็นพระอินทร์ ก็ยังประพฤติตามนั้นคือมีภาพพระนางเลี้ยงหมา ดังที่ปรากฏในจิตรกรรมหอไตร วัดระฆังฯ ฝั่งธนบุรี เป็นหอไตรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 ทรงพระราชทานให้แด่วัดระฆัง (ปัจจุบันคือวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ)
สรุปคือในกรุงศรีอยุธยา แมวอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในพระราชวัง วัด ตำหนัก อาคารบ้านเรือนขุนนาง ไพร่ ราษฎร ชาวต่างชาติ ไปจนตามถนนหนทาง มีแมวเดินไปเดินมา นั่งหาว นอนให้เกาพุง ร้องเมี๊ยว ๆ เรียกให้คนไปหาอาหารมาให้กิน ฯลฯ ได้ทั้งนั้น มีหลักฐานรองรับหมด ที่ไม่มีหลักฐานรองรับคือแมวเสวยยาพิษนั่นแหล่ะ และอันที่จริงโทษของการฆ่าแมวหรือทำแมวตายนี่หนักนะ เทียบเท่ากับฆ่าพระฆ่าเณรเลยทีเดียว เพราะมีความเชื่อว่าแมวคือพระ คือเณร มาเกิด เมื่อตายมันจะไปสวรรค์ ไม่ตกนรก ในสมุดภาพไตรภูมิถึงได้ไม่มีแมว มีแต่หมานรกที่คอยลงโทษคน ไล่วิญญาณคนขึ้นปีนต้นงิ้ว
บุคคลสำคัญยิ่งที่เป็นสตรีฝ่ายใน จะเป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อม สมัยนั้นก็ต้องเลี้ยงแมว ให้แมวอยู่บนเรือนด้วยได้ จะอัครมเหสี หรือพระสนมกี่ทิศ หรือพระสนมทิศไหน ก็ล้วนต้องแสดงความอ่อนโยนเป็นกุลสตรีผ่านการเลี้ยงแมวเป็นกันทั้งนั้น ก็ขนาดนางสุชาดา เมียพระอินทร์ ยังเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวเลย คงไม่ต้องบอกนะครับว่า พระอินทร์เป็น ‘ไอดอล’ ของชนชั้นนำอุษาคเนย์ยังไง
จะให้แมวมีซีนจะไปยากอะไร แทนที่สมเด็จพระไชยราชาจะสร้างเจดีย์ปรางค์ ก็อาจให้สร้างหอกลอง ให้จัดหาคนเลี้ยงแมวก็ได้ เมื่อขึ้นครองราชย์เข้าพิธีปราบดาภิเษก ช่วงเฉลิมพระราชมณเฑียร สมเด็จพระไชยราชาอาจจะทรงอุ้มแมว หรือสั่งให้ ‘อ้ายเขม’ ไปเก็บขรี้แมว หรือพระมเหสีจิตรวดีอุ้มแมว เดินตามขึ้นสู่ที่ประทับด้วยก็ได้ ขุนวรวงศาธิราชเมื่อจะเดินทางมาอโยธยา อาจจะเอาแมวมาด้วย ขุนพิเรนทรเทพ เมื่อเดินตรวจตราพระราชวัง เห็นแมวอาจจะแว๊บไปจกพุงแมวเล่นก็ได้ แม่หยัวศรีสุดาจันทร์แทนที่จะเรียกกระแสด้วยการให้ไปตีฉิ่งฉาบอยู่สระ ก็อาจจะมีฉากแมวหยุมหัว หรืออุ้มแมว เล่นกับแมว ก็ได้ ฯลฯ
มีความเป็นไปได้ จากหลักฐานแวดล้อมหรือพูดไว้อ้อม ๆ ทั้งนั้น แต่หนังละครไทยย้อนยุคนี่แปลกอยู่อย่าง อะไรที่มีหลักฐาน มักไม่อิงเอามาทำ แต่อะไรที่ไม่มีหลักฐาน ไม่รู้ทำไม ชอบเอามาทำกันซะเลอะเทอะไปหมด
กล่าวโดยสรุปก็คืออยากให้ดูสมจริง ใช้แมวจริง ไม่ต้อง CG ก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของแมว ไม่ให้มันรับบทที่เสี่ยงอันตรายได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตาย ให้แมวแสดงไปตามธรรมชาติที่มันเป็นนั่นแหล่ะ กระแสจะดี เรตติ้งกระฉูด ได้ใจคนรักแมว
‘สิทธิสัตว์’ (Animal right) เป็นเรื่องใหญ่มากในต่างประเทศ แต่ในไทย กลับมีคนบอกว่าขนาด ‘สิทธิคน’ หรือ ‘สิทธิมนุษย์’ หรือ ‘สิทธิมนุษยชน’ ยังรู้จักกันแต่ชื่อ รู้แต่หลักการ แต่ในทางปฏิบัติ ก็อย่างที่เห็นและเป็นอยู่กัน
หวังว่าเคสนี้จะจดจำกันไปจนชาตินี้และชาติหน้า อย่าได้ประพฤติปฏิบัติกันอีก ไม่ใช่ทำอะไรก็หวังแต่เรตติ้ง ฉาบฉวย ไม่ศึกษาให้รอบด้าน ไม่คิดคำนึงหลักจริยธรรม ไม่มืออาชีพ และไม่แสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดเรื่อง
แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่จะตามฝรั่ง เกาหลี เขาทันเหมือนอย่างที่คุยโม้ (ก็คงชาติหน้าตอนบ่าย ๆ แหล่ะมั๊งครับ)
ก็หวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น...
เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: Pexels
อ้างอิง
ผู้เขียนได้ระบุไว้ในเนื้อหาบทความแล้ว แต่หากต้องการรายละเอียดหรือรายการอ้างอิงเพิ่มเติมก็ขอให้อ่านได้จากเล่มนี้: กำพล จำปาพันธ์. Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.