02 ต.ค. 2562 | 16:55 น.
เสถียร โพธินันทะ คือชื่อของนักพูด และนักเขียนธรรมะในพระพุทธศาสนา ที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงว่าเป็นผู้ที่รู้ลึกรู้จริงในทางพุทธศาสนาทั้งทางฝ่ายเถรวาทและมหายาน ในระดับที่หลังจากเขาเสียชีวิตลงแล้วกว่า 5 ทศวรรษ ก็ยังหาคนที่สร้างผลงานทัดเทียมได้ยาก หากแต่ชื่อเสียงของเขาอาจมิได้เปรี้ยงปร้างเหมือนพระเกจิหลายรูปที่ทิ้งเครื่องรางของขลังไว้เป็นของต่างหน้า แม้จะมิได้สร้างสรรค์องค์ความรู้หรือตำราทางพระพุทธศาสนา เหมือนเช่นเสถียรที่ได้เขียนเอาไว้หลายเล่ม จากข้อมูลของ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักวิชาการอิสระ (ใน "ฆราวาสมุนี" เสถียร โพธินันทะ, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม พ.ศ. 2560) เสถียรเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2472 สามปีก่อนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง แรกทีเดียวใช้นามสกุล "กมลมาลย์" มาเปลี่ยนเป็น "โพธินันทะ" แปลว่า "ผู้มีความพอใจในการตรัสรู้" เมื่ออายุได้ 20 ปี และมีชื่อจีนว่า เหม่งเต็ก แซ่ตั้ง วัยเด็ก เสถียรเป็นเด็กเรียบร้อย เวลาเล่นก็ชอบเล่นไหว้พระสวดมนต์กับเพื่อน หากระป๋องเปล่ามาปักไม้ก้านธูปแล้วสวดนำเพื่อนให้สวดตามเสมอ หลังเรียนจบชั้นมัธยม 5 จากบพิตรพิมุขแล้วก็มิได้เรียนต่อ เนื่องจากต้องการอิสระในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และได้ผูกมิตรกับ "สุชีโว ภิกขุ" พระภิกษุมหาเปรียญธรรม 9 ประโยคแห่งวัดกันมาตุยาราม ซึ่งห่างจากบ้านของเสถียรไปเพียง 5 นาทีหากเดินด้วยเท้า (สุชีโว ภิกขุ ภายหลังลาสิกขาในปี พ.ศ. 2495 แล้วก็หันมาใช้ชื่อ สุชีพ ปุญญานุภาพ) เสถียรยังเป็น "เพ็นพาล" (pen pal-เพื่อนทางจดหมาย) กับพุทธทาสแห่งสวนโมกข์ ไชยา โดยได้เริ่มเขียนจดหมายแนะนำตัวไปถึงพุทธทาสขณะที่เขาอายุได้ 18 ปี เมื่อได้สนทนาโต้ตอบกันหลายครั้ง จึงกลายเป็นกัลยาณมิตร ซึ่งพุทธทาสเคยกล่าวไว้ในอัตชีวประวัติว่า ภายหลังเมื่อต้องขึ้นไปกรุงเทพฯ ก็ต้องไปคุยกันที่วัดกันมาตุยารามอยู่เป็นนิจ ความสามารถของเสถียรเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะตั้งแต่เมื่อเขาอายุได้เพียง 17 ปี เมื่อเขาขึ้นไปบรรยายธรรมะอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่พุทธสมาคม ทำให้เขากลายเป็นดาวรุ่งในวงการพระพุทธศาสนา จากนั้น สุชีโว ภิกขุ ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าหน้ากองบรรณาธิการธรรมจักษุ จึงได้ชักชวนให้หัดเขียนบทความธรรมะเพื่อลงในหนังสือธรรมจักษุ จากนั้นจึงได้มีผลงานเขียนเรื่อยมา การหมั่นเพียรเรียนภาษาจีนทำให้เขาสามารถศึกษาคัมภีร์มหายานชั้นปฐมภูมิแล้วเอามานำเสนอได้อย่างพิสดาร โดยเฉพาะงานที่พัฒนามาเป็นหนังสือ "ปรัชญามหายาน" ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือพุทธมหายานที่ถูกอ้างอิงในงานวิชาการมากที่สุดเล่มหนึ่ง เขายังแปลพระสูตรเต็มของมหายานอีกสองชิ้นคือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร และวิมลเกียรตินิทเทสสูตร นอกจากจะได้แสดงธรรม และมีงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอแล้ว หลังจากเสถียรบวชเป็นระยะสั้น ๆ ในปี 2494 เมื่อลาสิกขาเขายังได้รับเชิญให้มาเป็นอาจารย์ประจำบรรยายวิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในสภาการศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ระหว่างนั้นยังรับเป็นองค์ปาฐกให้กับยุวพุทธิกสมาคมที่เขาร่วมก่อตั้ง รวมไปถึงวัดและสถานศึกษาต่าง ๆ ด้วย ด้วยงานที่โดดเด่นของเขามักเป็นงานเกี่ยวกับปรัชญามหายาน ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์มหายาน แต่เสถียรใฝ่ศึกษาความรู้ในทุกนิกาย และเขาได้นิยามตัวเองว่า "ข้าพเจ้าไม่เป็นพุทธศาสนิกชนสังกัดนิกาย ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธองค์เป็นพระบิดาทางใจ เลื่อมใสได้ทุกนิกาย ข้าพเจ้าเป็นทั้งพุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยาน และมหายาน เวลาสวดมนต์ก็สวดทั้งพระสูตรบาลีและสันสกฤตของมหายาน ที่บูชาภายในบ้านของข้าพเจ้ามีพระพุทธรูปมหายาน และพระโพธิสัตว์มหายานประดิษฐานไว้บูชาด้วย แต่ในด้านความเลื่อมใสในหลักธรรมโดยส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าเลื่อมใสหลักธรรมของฝ่ายเถรวาท ในทางมหายานข้าพเจ้าเลื่อมใสปรัชญาของนาคารชุน และในทางเวทย์มนตร์ ข้าพเจ้าเลื่อมใสธารณีของมนตรยาน พุทธศาสนิกชนไม่ควรยึดถือในเรื่องพรรค พวก นิกาย นี่เป็นคำสรุปของข้าพเจ้า" ความเก่งกาจของเสถียร ทำให้ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ได้กล่าวสดุดีเขาเอาไว้ว่า "คำบรรยายทางพระพุทธศาสนาที่ท่านได้กล่าวออกมาแก่เรา มีลักษณะเหมือนภาพถ่าย...ฝรั่งเขาเรียกว่า Photographic Mind" หรือคนที่บันทึกความทรงจำเป็นภาพถ่าย ทำให้เพียงได้เห็นสักครั้งหนึ่งก็ไม่ลืม หรือคลาดเคลื่อนไป แต่เมื่อพระนักศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยถามว่าเขาเห็นหนังสือครั้งเดียวก็จำได้จริงมั้ย? เสถียรตอบว่า "ข้อนี้เห็นจะไม่จริงละครับ ไอ้ท่องหน่ะไม่เคยท่องจริง แต่ไม่ใช่ดูทีเดียวจะจำได้" ปัจจัยที่ทำให้เกิดคนเช่นเสถียรในสังคมไทย ในงานเสวนา ฆราวาสมุนีกับการปฏิบัติธรรมในวิถีชาวบ้าน ณ สโมสรธรรมทาน หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562 นริศ จรัสจรรยาวงศ์ กล่าวว่า ช่วงชีวิตสั้น ๆ ของเสถียร (37 ปี) อยู่ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สามัญชนมีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาความรู้ และมีโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถออกมา ต่างจากยุคก่อนซึ่งโอกาสเช่นนั้นมีน้อย และเป็นไปได้ยากที่สามัญชนอย่างเสถียร หรือพุทธทาสจะมีโอกาสได้แสดงศักยภาพของตน (แม้ว่าสามัญชนเหล่านี้จะไม่ปรากฏว่าเคยให้เครดิตความสำเร็จของตนว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ตาม) ด้าน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาสายมหายาน เห็นว่า แทบจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในทุกสังคมหลังการกดขี่หรือปิดกั้นเป็นเวลานานเมื่อโอกาสมันเปิดขึ้น เหมือนเช่นที่ยุโรปในยุคกลางที่องค์ความรู้หลายอย่างถูกกดทับด้วยความเชื่อทางศาสนา แต่เมื่อการปิดกั้นนั้นพังทลายลง สิ่งที่ตามมาก็คือยุคแสงสว่างทางปัญญา ความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาทำให้เกิดอัจฉริยะขึ้นมากมาย ขณะที่ในยุคปัจจุบันออกจะเป็นยุคที่คนรู้สึกเฉย ๆ สบายดีหรือเปล่า? จึงมิได้เกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นอีก ส่วน สุธาวัชร์ ปานเงิน แอดมินเพจ เสถียร โพธินันทะ กล่าวว่า โอกาสและอาจารย์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดคนเช่นเสถียร เพราะในโลกของธรรมะโอกาสที่คนอายุน้อย ๆ จะได้แสดงความสามารถมีไม่มาก ด้วยยังขาดความน่าเชื่อถือ แต่เสถียรมีโอกาสนั้นตั้งแต่อายุได้เพียง 17 ปี และถ้าไม่ได้ สุชีโว ภิกขุ ชักนำให้หัดเขียนบทความด้านธรรมะ ก็คงเป็นการยากเช่นกันที่เสถียรจะสร้างชื่อและตัวตนได้อย่างที่เป็น แม้ว่า เสถียร โพธินันทะ จะเป็นปรากฏการณ์ในยุคสมัยของเขา เห็นได้จากการจากไปของเขามีผู้จัดทำอนุสรณ์งานศพให้กับเขามากถึง 14 เล่ม ซึ่งถือว่ามากที่สุดคนหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นสามัญชน แต่หลังจากนั้นชื่อเสียงของเขาก็ค่อย ๆ จางหายไปจากสังคมไทย แทบไม่มีใครจัดงานรำลึกถึงเขาหรือผลงานของเขาอีกเลย ซึ่งนริศกล่าวว่า มาร์ติน ซีเกอร์ อาจารย์ไทยศึกษามหาวิทยาลัยลีดส์ มิตรสหายของเขาได้กล่าวเอาไว้ว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะ “เสถียรขาดความศักดิ์สิทธิ์” ต่างจากพระเกจิมากมายที่จากไปแล้วทิ้งความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ หรือถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา จนผู้คนบูชามิได้หลงลืม และในชั่วชีวิตของเสถียร จริง ๆ แล้วเขาเองก็เคยสนใจศึกษาเรื่องเครื่องรางของขลังอย่างจริงจังอยู่เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็อาจทำให้เขากลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ผู้หนึ่งที่เป็นที่จดจำของสังคมสืบมา แต่เขาก็ตัดสินใจละทิ้งความรู้ด้านนี้ไปเสียก่อน โดยให้ความเห็นว่า “...ไอ้เรื่องเครื่องรางของขลังผมรู้ดีครับ เพราะผมเองหน่ะเรียนมาเยอะแล้ว เครื่องรางของขลังวิชาไสยศาสตร์หน่ะ ไหว้ครูยกครูมาเยอะแยะจนกระทั่งเดี๋ยวนี้เลิกหมด เลิกเมื่อปี 2499 เลิกหมดครอบครูบาอาจารย์สำนักไหนเก่ง...ผงพุทธคุณก็ทำมาแล้ว และก็เรียนตะกรุดต่างๆ ลงยันต์ เรียนมาหมดแล้ว แล้วก็เลิก... “เลิกหมดเพราะอะไร? ไม่เป็นที่สุดของทุกข์ เรียนไปแล้วตัวเองก็ไม่พ้นทุกข์ กิเลสก็ยังเท่าเก่า ไม่รู้จะเรียนไปทำไม...เอาเวลามาอ่านหนังสือธรรมะดีกว่า..ตัวเองไม่มีอะไรขลังเหลือแม้แต่อย่างหนึ่งอยู่เลย พระเครื่องรางที่แขวนถอดหมด ไม่เอาหมด ให้เค้าหมด แจกหมด ไม่เหลือไว้เลย เดินตามสายพุทธวิถีแท้ พุทธบุตรแท้ดีกว่า...”