03 ม.ค. 2562 | 14:39 น.
หากยังจำกันได้ เมืองไทยเคยโดนพิษสงของพายุ “ปาบึก” ที่ไม่ใช่ “ปลาบึก” เพราะ “ปาบึก” คือชื่อพายุหมุนเขตร้อน ที่แปลว่า “ปลาบึก” แต่เขียนว่า “ปาบึก” (ປາບຶກ) หรือ Pabuk เพราะประเทศลาวเป็นผู้ตั้งชื่อ ซึ่งคนที่มีส่วนอย่างมากในความสับสนของชื่อเรียกนี้คือ คลีเมนต์ ลินด์ลีย์ แรกกี นักอุตุนิยมวิทยาต้นกำเนิดแนวคิดการตั้งชื่อพายุด้วยชื่อเฉพาะ คลีเมนต์ ลินด์ลีย์ แรกกี (Clement Lindley Wragge) เป็นนักอุตุนิยมวิทยานามอุโฆษ เกิดที่วุร์สเตอร์เชอร์ ทางมิดแลนด์ตะวันตกของอังกฤษ เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1852 หลังจากมารดาเสียชีวิตตอนเขาอายุ 5 เดือน และบิดาเสียชีวิตในอีก 5 ปีต่อมา แรกกีก็ย้ายไปอยู่กับยาย ผู้ที่สอนเรื่องอุตุนิยมวิทยาให้กับเขา แรกกีเริ่มงานด้านอุตุนิยมวิทยาด้วยการทำงานที่สถานีตรวจอากาศในแถวสแตฟฟอร์ดเชอร์ ต่อมาเขาได้ปีนขึ้นยอดเขา เบน เนวิส ทุกวันเพื่อจดวัดค่าอากาศ และให้ภรรยาวัดค่าจากระดับน้ำทะเล ทำให้สมาคมอุตุนิยมวิทยาสก็อตแลนด์มอบรางวัลเหรียญทองให้เพื่อเป็นเกียรติ ในปี 1883 แรกกีได้มรดกจากป้า จึงย้ายไปอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย แล้วเป็นคนหนึ่งมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสมาคมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย ซึ่งแรกกีได้ช่วยเขียนรายงานเกี่ยวกับสภาพอากาศให้กับรัฐควีนส์แลนด์ สร้างผลงานป้องกันอันตรายจากพายุให้กับชาวประมง จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักอุตุนิยมวิทยาประจำรัฐควีนส์แลนด์ แรกกีเป็นคนริเริ่มให้มีการตั้งชื่อพายุด้วยชื่อเฉพาะ จากเดิมที่ตั้งตามชื่อแหล่งที่เกิด หรือชื่อนักบุญในภาษาสเปน โดยครั้งแรกเขามีความคิดจะตั้งตามตัวอักษรกรีก แต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อตามเทวปกรณ์ของชาวโพลีนีเซีย ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อผู้หญิงที่ให้ความรู้สึกอ่อนโยน และชื่อนักการเมือง ที่เขาเปรียบเทียบว่านักการเมืองนำหายนะมาสู่ประเทศไม่ต่างจากพายุรุนแรงพลังทำลายล้างสูง แต่หลังจากแวกกีเกษียณอายุไป แนวคิดตั้งชื่อนี้ก็ถูกหยุดไปด้วยเป็นเวลานานกว่า 60 ปี จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นักอุตุนิยมวิทยาในกองทัพอเมริกันได้รื้อฟื้นวิธีตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนด้วยชื่อสตรี ด้วยเหตุผลโรแมนติกส่วนตัวนิดๆ คือ จะได้เอาชื่อแฟนหรือภรรยาของตัวเองมาตั้งแทนความคิดถึงของคนที่อยู่ทางนั้นว่าคนทางนี้ยังคิดถึงกันเหมือนอย่างเดิมไม่เคยเปลี่ยน หลังสงครามสงบ วิธีการตั้งชื่อได้พัฒนาให้เรียงตามลำดับตัวอักษร จนในปี 2000 สมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) 14 ประเทศ ได้มีข้อตกลงระหว่างประเทศให้ตั้งชื่อพายุแบบใหม่ โดยให้แต่ละประเทศส่งรายชื่อพายุในภาษาท้องถิ่นมาประเทศละ 10 ชื่อ รวมเป็น 140 ชื่อ หมุนเวียนใช้ตามลำดับการเกิด มาถึงตอนนี้ทุกคนน่าจะรู้ที่มาของชื่อ “ปาบึก” กันแล้วว่าทำไมไม่เขียนว่า “ปลาบึก” แบบไทยๆ เพราะนั่นเป็นชื่อที่ประเทศลาวส่งเข้าประกวด ชื่อ “ปาบึก” เป็นชื่อในรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนในชุดที่ 2 ลำดับที่ 6 ของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ถ้าไม่นับปี 2019 ที่ผ่านมาได้มีการตั้งชื่อพายุว่าปาบึกไปแล้ว 3 ครั้ง คือ พายุไต้ฝุ่นปาบึก ปี 2001, พายุไต้ฝุ่นปาบึก ปี 2007 และ พายุโซนร้อนกำลังแรงปาบึก ปี 2013 ซึ่งต่อจากปาบึกจะใช้ชื่อเรียกพายุว่า หวู่ดิบ จากมาเก๊า ที่หมายถึง ผีเสื้อ และ เซอปัต จากมาเลเซีย ตามลำดับ นอกจากผลงานชิ้นโบว์แดงในการเป็นต้นคิดวิธีเรียกชื่อพายุแล้ว แรกกียังสร้างคุณูปการให้กับวงการอุตุนิยมวิทยาอีกทั้งการเขียนหนังสือ “Wragge's Australian Weather Guide and Almanac” ในปี 1898 รวมถึงความพยายามทดลองยิงปืนใหญ่ Steiger Vortex ขึ้นฟ้าเพื่อขอฝนในปี 1902 ซึ่งน่าเสียดายที่โครงการนี้ไม่มีฝนตกตามที่คาดไว้ จนกลายเป็นจุดเริ่มของจุดจบชีวิตการเป็นนักอุตุนิยมวิทยาของเขา ที่มา http://enacademic.com https://www.qhatlas.com.au https://en.wikipedia.org