20 ก.พ. 2562 | 10:39 น.
ย่านสำเพ็งเป็นย่านที่อยู่ของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ต้นตอนั้นเนื่องมาจาก รัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์จะย้ายกรุงข้ามฝากจากฝั่งธนฯ ติดแต่ว่าเดิมพื้นที่ที่จะสร้างวังหลวงใหม่เป็นพื้นที่ชาวจีนอาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์จึงโปรดเกล้าให้ชาวจีนย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มไปจนถึงคลองเหนือวัดสำเพ็ง แถวนี้จึงกลายเป็นย่านที่พักอาศัยและทำการค้าที่คึกคักของชาวจีนมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเกิดเป็นเมืองที่ผู้คนหนาแน่น ก็ต้องมีสถานบันเทิงรองรับ ในย่านนี้จึงมีทั้งโรงบ่อนและหอนางโลมอยู่มากมายหลายแห่ง สุนทรภู่กวีเอกที่เกิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ก็เคยแต่งกลอนเล่าถึงสำเพ็งไว้ว่า "ถืงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน "มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง" แม้สุนทรภู่จะกล่าวถึง "นางจ้างประจาน" ในย่านสำเพ็งไว้เพียงน้อยนิด แต่หอนางโลมในย่านนี้ก็คงลือชื่อเป็นที่รู้จักของคนไปทั่วไม่เพียงแต่ชาวบ้านในย่านเดียวกันเท่านั้น ทำให้ตรอกซอกซอยหลายแห่งในย่านสำเพ็งถูกเรียกด้วยชื่อของแม่เล้าชื่อดังที่ตั้งสำนักอยู่ในตรอกนั้นๆ (ทำนองแค่เอ่ยชื่อก็นึกออกว่าอยู่ตรงไหน) หนึ่งในแม่เล้าที่ดังมากที่สุดในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็คือ "ยายแฟง" ชื่อของเธอจึงได้ถูกเอามาใช้เรียกเป็นชื่อตรอกหนึ่งในย่านสำเพ็งด้วยเช่นกัน ก่อนที่ตรอกนั้นจะถูกไฟไหม้ และชื่อตรอก "อำแดงแฟง" ก็ได้หายสาบสูญไปจากแผนที่ แต่ยังมีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุที่เล่าถึงเหตุการณ์ไฟไหม้คราวนั้นเมื่อปี 2403 และแม้ว่ายายแฟงจะจากโลกนี้ไปนานนับร้อยปีแล้ว แต่ชื่อของยายแฟงก็ยังเป็นที่กล่าวถึงในปัจจุบัน ด้วยคุณงามความดีที่เธอได้สร้างไว้ (นอกเหนือจากการเปิดซ่องจนชื่อเสียงกระฉ่อนทำให้มีคำพูดคล้องจองกันว่า “ยายฟักขายข้าวขายแกง ยายแฟงขาย… ยายมีขายเหล้า") ด้วยการบริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัด ซึ่งก็คือ “วัดคณิกาผล” วัดที่เกิดขึ้นด้วยผลประโยชน์อันได้จากหญิงคณิกา หรือวัดใหม่ยายแฟงที่ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชยเยื้องกับมูลนิธิปอเต็กตึ๊งนั่นเอง การสร้างวัดของยายแฟงมีตำนานเล่าไว้ด้วยว่า ยายแฟงเมื่อสร้างวัดแล้วก็อยากรู้ว่าตัวเองจะได้บุญมากน้อยเพียงใด ว่าแล้วจึงแต่งเนื้อแต่งตัวนั่งรถเจ๊ก (รถลาก) เดินทางไปวัดระฆังหวังนมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สอบถามให้หายข้อข้องใจ ฝ่ายสมเด็จฯ โตได้รู้กิตติศัพท์อันลือชื่อของคุณยายแฟงอยู่ก่อนแล้ว เมื่อถูกถามว่า อานิสงส์จากการสร้างวัดด้วยเงินที่ได้จากหญิงขายบริการจะได้สักกี่มากน้อย ท่านก็ตอบไปทำนองว่า “เห็นจะได้สักสลึงเฟื้องนั่นแหละโยม” ยายแฟงได้ฟังก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟทีเดียว เพราะรู้ว่าสมเด็จฯ ท่านจงใจที่จะ “แซะ” วิชาชีพของตัวเองเนื่องจากเงินสลึงเฟื้องก็เท่ากับค่าตัวหญิงคณิกาในสมัยนั้นนั่นเอง แต่แม้จะถูกเสียดสี ยายแฟงก็คงมิได้สะทกสะท้านสักเท่าใดนัก ท่านก็ยังคงเป็นแม่เล้าต่อไปอยู่นั่นเอง และลูกสาวยายแฟงก็ดั่งลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ยังได้ประกอบวิชาชีพเป็นแม่เล้าสืบต่อมา ลูกยายแฟงคนนี้ชื่อว่า “อำแดงกลีบ” เล่ากันว่า หอนางโลมของลูกสาวยายแฟงนั้นถือว่าเป็นหอนางโลมชั้นสูงที่มีชื่อเสียงทีเดียว ส. พลายน้อยนักเลงประวัติศาสตร์ เล่าว่า ห้องหับของหญิงบริการในสังกัดอำแดงกลีบนั้นตกแต่งอย่างสวยงามราวกับห้องของลูกสาวคหบดี เช่นมีม้าหรือโต๊ะกระจกตั้งพานเครื่องแป้งถมโถถมปริกทอง ขันน้ำถม กระโถนเงิน มุ้งแพร ซึ่งโรงโสเภณีที่ไหนก็สู้ได้ยาก ทั้งนี้ โรงซ่องโสเภณีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นตั้งอยู่อย่างเปิดเผย ถึงปี พ.ศ. 2438 มีบันทึกไว้ว่า เฉพาะในกรุงเทพฯ มีซ่องอยู่ถึง 67 โรง กับโสเภณีอีกว่า 656 คน จำนวนมากก็อยู่ในย่านสำเพ็ง และหญิงโสเภณีสมัยนั้นก็ไม่ได้แต่ขายการสำเร็จความใคร่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โสเภณีชั้นสูงยังต้องเรียนรู้เรื่องศิลปะและดนตรีไว้รับแขก บางโรงก็รับแขกแต่ชาวจีน โสเภณีไทยมาขายบริการย่านนี้ก็ต้องแปลงชื่อเป็นจีน ก่อนจะจากกันไป หลายท่านคงสะกิดใจขึ้นมาว่า โรงซ่องโสเภณีสมัยก่อนเหตุใดจึงมีแต่ “แม่เล้า” เป็นเจ้าสำนัก เรื่องนี้คงเป็นธรรมเนียมเดิมมาแต่ไหนแต่ไร เนื่องจากคนเป็นหญิงด้วยกันคงเข้าใจและปกครองกันง่ายกว่า แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อรัฐนึกอยากจะควบคุมโรงซ่องโสเภณีขึ้นมาเป็นคราวแรก ก็ได้กฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง คือพระราชบัญญัติป้องกันโรคสัญจร ร.ศ. 127 ซึ่งมาตราหนึ่งได้บัญญัติเอาไว้ว่า โรงโสเภณีแต่ละแห่งจะต้องมีผู้ควบคุม “หญิงนครโสเภณี” ที่เรียกว่า “นายโรง” ด้วย แต่ นายโรงนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้จะเป็นได้ต้องเป็น “ผู้หญิง” เท่านั้น (ซึ่งเป็นการพิลึกไม่น้อยที่กฎหมายไม่ยอมเรียกว่า “นางโรง” หรือ “แม่เล้า” อย่างที่คนคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว)