เฟอร์รีส ผู้คิดค้น ชิงช้าสวรรค์ ที่ทำให้เขาล้มละลาย

เฟอร์รีส ผู้คิดค้น ชิงช้าสวรรค์ ที่ทำให้เขาล้มละลาย

ผู้คิดค้น ชิงช้าสวรรค์ ที่ทำให้เขาล้มละลาย

งานเอ็กซ์โปฉลองโคลัมบัสเจออเมริกา

ในปี 1893 ชิคาโกได้จัดงานใหญ่เพื่อฉลองครบรอบวาระ 400 ปี ที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินทางมาเจอแผ่นดินอเมริกา (ซึ่งจริงๆ มีหลายคนเคยเดินทางมาเจอก่อนหน้า แต่ไม่ได้รับเครดิตเท่าเขา) ในงานชื่อ "World's Columbian Exposition" ซึ่งสี่ปีก่อนหน้านั้นคนทั่วโลกเพิ่งจะได้เห็นความน่าตื่นตาตื่นใจของสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมอย่าง "หอไอเฟล" ที่ใช้เป็นทางเข้างานเอ็กซ์โปที่ปารีส เจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปโคลัมบัสในชิคาโกก็หวังว่าพวกเขาจะต้องเปิดตัวงานให้อลังการและเป็นที่กล่าวขานไม่แพ้กัน งานนี้มีการวางแผนล่วงหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 1890 เดเนียล เบิร์นแฮม (Daniel Burnham) สถาปนิกชื่อดังซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานในการออกแบบมหกรรมงานจัดแสดงในครั้งนี้ จึงระดมความคิดจากบรรดาวิศวกรเพื่อสรรสร้างงานที่ใครเห็นก็ต้องทึ่งและสามารถใช้งานได้จริง และ จอร์จ วอชิงตัน เกล เฟอร์รีส เจอาร์. (George Washington Gale Ferris Jr.) วิศวกรหนุ่มจากพิตต์สเบิร์ก ก็เป็นหนึ่งในคณะวิศวกรที่มีส่วนร่วมในการนำเสนอโครงการในครั้งนั้นด้วย ตามประวัติเฟอร์รีสเรียนจบจากสถาบันโพลีเทคนิคเรนส์เซเลียร์ (Rensselaer Polytechnic Institute) ในนิวยอร์ก ด้วยผลการเรียนชั้นเลิศ เคยเป็นวิศวกรที่ดูแลเรื่องการค้นหาแร่ถ่านหินและสร้างทางรถไฟในเวสต์เวอร์จิเนีย ก่อนไปเป็นผู้ตรวจสอบความปลอดภัยของสะพานรางรถไฟ และเริ่มหันมาให้ความสนใจกับงานออกแบบสร้างสรรค์  

ถูกตั้งข้อสงสัยในไอเดีย

บริษัทของเฟอร์รีสเบื้องต้นได้รับการว่าจ้างให้เข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้งานเหล็กกล้าเพื่อการก่อสร้างในงานเอ็กซ์โปครั้งนั้น และระหว่างการระดมความเห็นถึงการก่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์เพื่อดึงดูดคนดู เขาก็เกิดไอเดียที่จะสร้างล้อหมุนขนาดยักษ์ที่สร้างจากโครงเหล็ก โดยมีตู้โดยสารที่จะพาคนหมุนขึ้นไปตามวงล้อที่มีความสูงพอๆ กับเทพีเสรีภาพ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเห็นวิวภายในงานเอ็กซ์โปได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเขาเชื่อว่ามันจะกลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่เอาชนะหอไอเฟลได้ เฟอร์รีสได้ร่างแบบและใส่รายละเอียดของการก่อสร้างแล้วนำไปเสนอเบิร์นแฮม ก่อนถูกติงกลับมาว่าแท่งเหล็กเรียวๆ ที่เขาใช้มันบอบบางเกินไปสำหรับการแบกคนจำนวนมากลอยขึ้นไปในอากาศด้วยความสูงระดับนั้นหรือไม่? แต่เฟอร์รีสไม่ยอมแพ้ เขาลงทุนควักเงินส่วนตัว 25,000 ดอลลาร์ สำหรับว่าจ้างวิศวกรมาทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องและเพิ่มความมั่นใจในมาตรการความปลอดภัย รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์หานักลงทุนมาร่วมโครงการ และในวันที่ 16 ธันวาคม 1892 ชิงช้าสวรรค์ของเขาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 250 ฟุต มีตู้โดยสาร 36 ตู้ สามารถบรรทุกคนได้ตู้ละ 60 คน ความจุรวม 2,160 คน ก็ได้รับเลือกให้เป็นจุดขายให้กับงานเอ็กซ์โปในชิคาโก และทำให้ชิงช้าสวรรค์กลายเป็นที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า "วงล้อของเฟอร์รีส" (Ferris's Wheel)  

ประสบความสำเร็จในแง่ความนิยม ก่อนเป็นคดีความ

ชิงช้าสวรรค์ของเฟอร์รีสประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ตลอดระยะเวลางานเอ็กซ์โปที่กินเวลา 19 สัปดาห์ มีผู้เข้าร่วมชมงานเอ็กซ์โปทั้งหมดราว 27 ล้านคน มีอยู่ราว 1.4 ล้านคนที่ยอมเสียเงิน 50 เซนต์ เพื่อขึ้นชิงช้าของเฟอร์ริสเป็นเวลา 20 นาทีต่อครั้ง แม้กระทั่งหลังงานเอ็กซ์โปปิดตัวลง (วันสุดท้ายของงานคือ 30 ตุลาคม 1893) ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เดินทางมาที่งานเพื่อขึ้นชิงช้าของเฟอร์รีสโดยเฉพาะและผู้ดูแลก็ยังรับเงินและเปิดให้บริการอยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาห้ามจึงมีการปะทะเกิดเป็นจลาจลย่อยๆ ระหว่างผู้ชม ผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฝ่ายของเฟอร์รีสยืนยันว่าพวกเขามีสิทธิที่จะเปิดให้บริการต่อไป เนื่องจากตามสัญญาเขายังมีสิทธิใช้สอยพื้นที่ต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงต้นปี 1894 การที่เขาจะเปิดใช้บริการชิงช้าสวรรค์หรือจะรื้อถอนมันก็เป็นสิทธิของเขา หลังจากนั้น เฟอร์รีสตกเป็นคดีความกับหลายฝ่าย ทั้งผู้ผลิตที่เขาติดค้างชำระหนี้ รวมถึงฝ่ายจัดงานเอ็กซ์โปซึ่งเขาอ้างว่ายังติดค้างชำระหนี้เขาอยู่ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยอมรับว่าเขาไม่ยอมแบ่งรายได้บางส่วนจากการขายตั๋วให้กับฝ่ายจัดงาน โดยอ้างว่าฝ่ายจัดงานเป็นฝ่ายที่ต้องชำระค่าเสียหายให้กับเขาก่อน ในปี 1896 หลังจากมีชื่อเสียงโด่งดังจากการสร้างชิงช้าสวรรค์ได้เพียงไม่นาน เฟอร์รีสก็ประสบกับภาวะล้มละลาย และล้มป่วยลงด้วยโรคไทฟอยด์ เขาเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมอร์ซีในพิตต์สเบิร์กได้ราวหนึ่งสัปดาห์ ก็เสียชีวิตลงด้วยวัย 37 ปี ส่วนชิงช้าสวรรค์ของเขาได้ถูกซื้อขายเปลี่ยนมืออยู่หลายครั้ง และมีโอกาสได้ไปปรากฏตัวในงานจัดแสดงระดับโลกที่เซนต์หลุยส์ในปี 1904 (St. Louis World's Fair) ก่อนถูกระเบิดทำลายทิ้งในอีกสองปีต่อมา   ที่มา https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1893/11/02/109268205.pdf https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1896/11/23/108263744.pdf https://www.smithsonianmag.com/history/history-ferris-wheel-180955300/