22 มี.ค. 2562 | 10:50 น.
วลาดิเมียร์ มายาคอฟสกี (Vladimir Mayakovsky) คือนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของรัสเซีย เขาชื่นชมในอุดมการณ์ของเลนินนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์มาก ในยุคปฏิวัติเขาจึงมีผลงานหลายชิ้นที่ช่วยส่งเสริมพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมามีอำนาจจริง เขาก็เริ่มปะทะกับพรรคเมื่อพรรคเริ่มออกลายเผด็จการ ถึงอย่างนั้นเมื่อเขาจากไป รัฐบาลโซเวียตก็ยังตั้งอนุสาวรีย์อุทิศให้กับเขาในกรุงมอสโควเมื่อปี 1958 อนุสาวรีย์ของมายาคอฟสกีกลายเป็นจุดรวมตัวของผู้ที่สนใจวรรณกรรม มีการอ่านบทประพันธ์ในบริเวณจัตุรัสที่ตั้งรูปปั้นของเขาเป็นประจำ ที่นี่จึงกลายเป็นจุดบ่มเพาะ "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" จนทำให้รัฐบาลโซเวียตเห็นถึงภัยคุกคามและได้สั่งห้ามการชุมนุมเพียงไม่นานหลังจากการเปิดตัว ในปี 1960 วลาดิเมียร์ บูคอฟสกี (Vladimir Bukovsky) นักศึกษาบ้านนอกจากเบเลบี (Belebey) กับมิตรสหายที่กระหายเสรีภาพ จึงได้รื้อฟื้นการอ่านบทประพันธ์ที่จัตุรัสมายาคอฟสกีขึ้นมาอีกครั้ง การเป็นตัวตั้งตัวตีในการประกอบกิจกรรมที่ทางรัฐบาลเห็นว่าเป็นการต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์จึงทำให้บูคอฟสกีถูกเพ่งเล็ง ทุกครั้งที่มีการชุมนุมเพื่ออ่านบทประพันธ์ แม้หลายครั้งเป็นเรื่องของ "ศิลปะ" โดยแท้ แต่ก็มักจะมีเจ้าหน้าเคจีบีนอกเครื่องแบบมาคอยจับตาเสมอ บูคอฟสกีอ้างในอัตชีวประวัติ (To Build a Castle: My Life as a Dissenter) ของเขาว่า หลายครั้งเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะคอยก่อความวุ่นวายด้วยการชวนทะเลาะเบาะแว้งกับคนที่มาชุมนุม และมีการจับกุมผู้ชุมนุมด้วยข้อหาต่าง ๆ บูคอฟสกีผู้เขียนงานวิจารณ์ถึงความล้มเหลวและเสื่อมทรามของโซเวียตและองค์การสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์อย่างเผ็ดร้อนก็ถูกควบคุมตัวอยู่บ่อยครั้ง เขายังถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ให้ไม่สามารถทำการเรียนได้ปกติ ก่อนถูกไล่ออกพ้นสภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยมอสโควในปี 1961 จากนั้นเขายังคงเขียนงานและเผยแพร่งานใต้ดินที่ถูกแบน จึงถูกจับกุมฐานครอบครองเอกสารต้องห้ามในปี 1963 ก่อนถูกจับตัวส่งให้จิตแพทย์ตรวจสอบ ซึ่งหมอวินิจฉัยสภาพจิตของเขาแล้วสรุปว่าเขา "บ้า" ทั้งนี้ ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมตัว นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำโซเวียตซึ่งพยายามสลัดภาพเผด็จการอันเหี้ยมโหดของสตาลิน และต้องการแข่งขันด้านภาพลักษณ์และวัฒนธรรมกับโลกเสรีได้ออกมาประกาศว่า โซเวียตไม่มีนักโทษการเมืองอีกต่อไป และทุกคนต่างพึงพอใจกับระบอบโซเวียตทั้งสิ้น เว้นแต่ผู้มีจิตวิปริตเท่านั้น ซึ่งนั่นก็กลายเป็นมาตรการใหม่ที่โซเวียตใช้จัดการผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ผู้ต่อต้านรัฐบาลไม่แต่บูคอฟสกีต่างถูกวินิจฉัยว่าบ้ากันทั้งสิ้น บูคอฟสกีเล่าว่า เขาถูกถามซ้ำ ๆ ว่า ทำไมเขาต้องทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับสังคมและธรรมเนียมที่สังคมยึดถือ? ทำไมความเชื่อของเขาถึงได้มีความสำคัญอย่างล้นเกิน? ทำไมเขาถึงให้ความสำคัญกับมันมากเสียยิ่งกว่าอิสรภาพ การศึกษา หรือแม่ของตัวเอง? "นี่ไม่ใช่เรื่องที่ตอบได้ง่ายเลย ถ้าผมพูดว่าสังคมเองนั่นแหละที่ทำให้ผมต้องกลายเป็นขบถ นั่นก็แปลว่า คนรอบตัวผมที่ผิด มีผมคนเดียวที่ถูก แน่นอนมันคงทำให้ผมฟังดูเหมือนคนบ้า ผมจะพูดอะไรได้เกี่ยวกับอุดมการณ์ของตัวเอง? มีเด็กอยู่คนหนึ่งที่อ้างถึงเลนินว่าเขาก็เป็นขบถต่อสังคมเหมือนกันจนถูกเนรเทศไปอยู่ไซบีเรียเพราะอุดมการณ์ของเขา แต่ผลของการใช้กลยุทธ์แบบนี้ก็คือการถูกบันทึกในประวัติคนไข้ว่า 'มีอาการประสาทหลอนหลงผิดคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ เอาตัวเองไปเปรีบเทียบกับเลนิน' ไม่ว่าจะตอบอย่างไร ผลก็ไม่มีทางออกมาว่าคุณปกติ ยิ่งตอบอย่างตรงไปตรงมาก็ยิ่งกลายเป็นหลักฐานของอาการป่วยหนักเข้าไปอีก" บูคอฟสกีกล่าว เขาติดอยู่ในสถานบำบัดจิตเวชร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์และผู้ป่วยทางจิตจริง ๆ เป็นเวลาราวสองปี (ซึ่งระหว่างนั้นก็ถูกโยกย้ายสถานที่ไปบ้าง) ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมา บูคอฟสกีไปจัดการชุมนุมประท้วงการจับกุมผู้เห็นต่างกับรัฐบาล และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เขาถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจิตเวชอีกรอบ ต่อด้วยการส่งตัวไปยังค่ายแรงงานเป็นเวลาสามปี เมื่อได้รับอิสรภาพเขาพยายามเปิดโปงโซเวียตให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความหมกเม็ดในกระบวนการยุติธรรมด้วยการใช้สถานพยาบาลจิตเวชในการกักขังผู้มีอุดมการณ์ตรงข้าม บูคอฟสกีแอบนำบันทึกการรักษาของผู้ป่วยทางจิตการเมืองหลายรายส่งให้กับเครือข่ายเพื่อเผยแพร่ต่อในต่างประเทศ ทำให้นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกรุมประณามโซเวียตที่ใช้วิธีการสกปรกเล่นงานฝ่ายตรงข้าม บูคอฟสกีถูกจับตัวส่งโรงพยาบาลจิตเวชซ้ำอีกในปี 1971 แต่ด้วยกระแสประท้วงอย่างกว้างขวาง ทำให้คราวนี้เขาได้รับการวินิจฉัยว่ามีสภาพจิตปกติ หลังถูกจับกุมตัวโดยตัดขาดจากโลกภายนอกนาน 8 เดือน เขาก็ถูกส่งตัวขึ้นศาลซึ่งใช้เวลาในการตัดสินความผิดเพียงแค่วันเดียว เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปลุกปั่นความวุ่นวายด้วยการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลโซเวียต และเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จถึงการควบคุมนักโทษของรัฐบาล ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ใช้แรงงานหนักอีก 5 ปี และถูกเนรเทศต่ออีก 5 ปี (The New York Times) อิสรภาพของบูคอฟสกีมาถึงก่อนกำหนดเมื่อโซเวียตตกลงที่จะแลกตัวเขากับผู้นำคอมมิวนิวต์ชาวชิลีที่ถูกเผด็จการปิโนเชต์กักขัง การแลกตัวนักโทษเกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมปี 1976 ที่สวิตเซอร์แลนด์ บูคอฟสกีกลายเป็นนักโทษการเมืองของโซเวียตซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลกตะวันตก มีหลายประเทศเสนอจะให้ที่พำนักกับเขา ซึ่งเขาเลือกจะใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ ที่นี่เขามีโอกาสได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาโทด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บูคอฟสกียังคงทำกิจกรรมต่อต้านโซเวียตเรื่อยมา และได้การยอมรับจากผู้นำโลกเคยให้คำปรึกษาทั้งมาร์กาเรต แธตเชอร์ อดีตนายกฯ อังกฤษ รวมถึงโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการรับมือกับโซเวียต เมื่อโซเวียตล่มสลาย บอริส เยลซิน ประธานาธิบดีคนใหม่ (ที่เคยพิจารณาชื่อของบูคอฟสกีในฐานะรองประธานาธิบดี) ก็ได้เชิญเขาเดินทางกลับรัสเซียในปี 1992 เป็นครั้งแรกที่เขาได้กลับไปเหยียบบ้านเกิดอีกครั้ง พร้อมได้สถานะพลเรือนรัสเซียกลับมา (Vladimir Bukovsky) หลังจากนั้น ความเข้มข้นทางการเมืองระหว่างรัสเซียและโลกตะวันตกก็ผ่อนคลายลง ข่าวคราวของบูคอฟสกีก็ค่อย ๆ ซาลงไป แม้เขาจะยังคงส่งเสียงวิจารณ์รัสเซียยุคใหม่ รวมถึงปัญหาในรัฐตะวันตกอยู่เป็นระยะ จนกระทั่งเมื่อปี 2015 เขาได้กลายมาเป็นข่าวใหญ่เสียเอง หลังถูกกล่าวหาว่า มีสื่อลามกของเยาวชนอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาให้การปฏิเสธ และฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมอัยการอังกฤษเป็นเงิน 1 แสนปอนด์ ข่าวรายงานว่า ภาพดังกล่าวถูกพบในคอมพิวเตอร์ของเขาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเวลาที่เขากำลังจะขึ้นให้ปากคำเกี่ยวกับการตายของอเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก (Alexander Litvinenko) เพื่อนสนิทและอดีตสายลับรัสเซียแปรพักตร์ที่เสียชีวิตเนื่องจากพิษของสารกัมมันตรังสี โพโลเนียม-20 เมื่อปี 2006 ซึ่งบูคอฟสกีกล่าวว่า เขาค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐบาลเครมลินอยู่เบื้องหลังการตายของเพื่อนรายนี้ (The Guardian) อย่างไรก็ดี ในปี 2018 ศาลสูงอังกฤษได้สั่งเลื่อนการพิจารณาคดีของบูคอฟสกีออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเขาในวัย 76 ปีมีสุขภาพทรุดโทรมลงไปมาก ในการพิจารณานัดแรกเขาถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการปอดบวมตั้งแต่วันที่สองของการพิจารณา เมื่อมีการเรียกนัดพิจารณาคดีใหม่สุขภาพของเขาก็ยังเป็นอุปสรรคทำให้ศาลสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปจนกว่าเขาจะแข็งแรงพอที่จะสู้คดีได้ ซึ่งทางอัยการก็มิได้คัดค้านคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด (BBC)