19 ส.ค. 2566 | 16:00 น.
“มันคือหนังสือที่น่าขยะแขยงที่สุดที่ความคิดอันสุดแสนวิปลาสได้ให้กำเนิดมันขึ้นมา”
คือถ้อยคำของ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสที่ถูกจารึกไว้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์ ที่ได้เขียนบรรยายเอาไว้ในบันทึกของตัวเองเมื่อได้อ่าน ‘Justine’ ฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่สาม ผลงานของนักเขียนที่มนุษยชาติจารึกเขาเอาไว้ว่ามีความคิดที่วิปลาสและสุดโต่งที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกของเราจะเคยมีมา ‘มาร์กีส์ เดอ ซาด’ (Marquis De Sade)
ภาพประกอบจากนวนิยาย Justine, or The Misfortunes of Virtue (1791)
ประพันธ์โดย มาร์กีส์ เดอ ซาด
‘ซาดิสม์’ (Sadism) หรือภาวะที่ใครสักคน มีความสุข - โดยเฉพาะทางเพศ - จากความรุนแรง ความเจ็บปวด หรือความทุกข์ของผู้อื่น หรือแม้แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับตัวเอง คำที่ใครหลายคนน่าจะเคยได้ยินกันมาไม่น้อย ซึ่งเป็นรากของสิ่งที่วันนี้จะพัฒนากลายมาเป็นสิ่งที่เรารู้จักกันในนาม ‘BDSM’
อาจมีคนสงสัยกันว่าคำนี้มันมีที่มาที่ไปมาจากอะไรกัน ไม่ใช่ภาษาไทยแน่ จะเป็นภาษาอังกฤษก็ดูไม่เชิง แท้จริงแล้วคำว่าซาดิสม์นั้นถูกบัญญัติขึ้นตามชื่อของชายคนหนึ่ง ที่ไม่เพียงสร้างสรรค์งานเขียนที่มาพร้อมกับเนื้อหาทางเพศสุดวิปลาส ที่บางคนก็ถึงกับบรรยายเอาไว้ว่า “คุณลองนึกเรื่องทางเพศหรือการลดทอนความเป็นคนแบบผิดมนุษย์มนาที่สุด หรือคดีใดก็ได้ที่โหดจนคุณไม่อยากจะนึกถึง คุณจะเจอมันในงานเขียนของเขา”
แต่ก็เพราะด้วยเรื่องราวหรือสิ่งที่ตัวเขาเองได้ก่อเอาไว้ในชีวิตจริง ๆ ด้วย เขาคือ มาร์กีส์ เดอ ซาด ซึ่งในภายหลัง ‘ซาด’ (Sade) นามสกุลของเขาก็จะให้กำเนิดคำใหม่อย่าง ‘ซาดิสม์’ ที่เราเรียกนิยามความหมายดังที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันนี้นั่นเอง
ในบทความนี้ The People จึงอยากจะพาไปรู้จักและหาคำตอบกัน ว่าเพราะอะไร มาร์กีส์ เดอ ซาด ถึงได้ถูกขนานนามให้เป็นบิดาผู้ให้กำเนิดคำว่าซาดิสม์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ งานเขียนของเขากล่าวถึงอะไร พร้อมทั้งคำถามที่น่าถามต่อว่า ‘เขาเลวร้ายแบบนั้นจริงหรือไม่?’
ภาพวาด มาร์กีส์ เดอ ซาด
จากจินตนาการของ H. Biberstein
กำเนิดศาสดาซาดิสม์
“หากพระคริสต์คือผู้ให้กำเนิดศาสนาคริสต์
คำว่าซาดิสม์ก็คลอดออกมาจาก (วีรกรรมของ) เขา”
เพราะพ่อติดงานไม่มีเวลาให้ แม่ก็ปลีกวิเวกกลายเป็นแม่ชี ชีวิตของ มาร์กีส์ เดอ ซาด ที่เกิดมาในวันที่ 2 มิถุนายน ปี 1740 ประเทศฝรั่งเศส จึงได้ดำเนินมาผ่านการอุ้มชูและตามใจของเหล่าคนรับใช้ แม้จะไม่มีพ่อหรือแม่คอยมอบความอบอุ่น แต่ฐานะ เงินตรา และการเลี้ยงแบบตามใจก็ยังเป็นเหล่าปัจจัยที่พอจะบอกได้ว่าซาด ‘โชคดี’ เมื่อเปรียบเทียบกับคนอีกมากมายในยุคสมัยดังกล่าว
ภาพวาดของ มาร์กีส์ เดอ ซาด
แต่แม้ที่บ้าน (หรือปราสาท) เขาถูกปรนนิบัติเฉกเช่นราชาจากเหล่าคนรับใช้ แต่เมื่อไปที่โรงเรียน กฎระเบียบเป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำตาม และเมื่อความดื้อที่ถูกตามใจมาทั้งชีวิต ซาดจึงโดนลงโทษบ่อยครั้งโดยเฉพาะการตี บ้างก็ว่าวัฒนธรรมการลงโทษผ่านการทำร้ายร่างกายนี้คือสิ่งหนึ่งที่ฝังเมล็ดแห่งความวิปลาสด้านความรุนแรงเข้าไปในจิตใจของเขา
ภายหลังจากเรียนจบ เขาก็ได้ไปร่วมกับกองทัพร่วมรบใน สงครามเจ็ดปี (Seven Years’ War) และเมื่อจบจากสงครามเขาได้แต่งงานและมีครอบครัว แต่ชีวิตของเขา แทนที่จะดำเนินไปตามครรลองกับขนบสังคม มันกลับตรงกันข้าม แม้จะแต่งงานมีคู่ครองแล้ว ซาดก็มีเรื่องฉาวอุบัติขึ้นไม่เว้นพัก หนึ่งในนั้นก็คือการที่โสเภณีปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์กับเขาต่อเพราะรสนิยมและความรุนแรงของเขาที่ผิดมนุษย์มนา
Battle of Kunersdorf on 1 August 1759 ภาพวาดตีแผ่บรรยากาศของสงครามเจ็ดปี
ซาดก่อเรื่องทำนองนี้ซ้ำไปซ้ำมาจนเหล่าตำรวจต้องจับตามองและบอกว่า “อีกไม่นาน เรื่องสยองจากฝีมือของซาดจะดังลั่นมาถึงหูเราอีกแน่” และมันก็เกิดขึ้นตามที่เขาได้คาดเอาไว้
หนึ่งในการกระทำของซาดที่วิปริตที่สุดในชีวิตของเขาก็หนีไม่พ้นในวันที่เขาพาหญิงแม่หม้ายขอทานผู้หนึ่งกลับบ้าน โดยเขาเชิญชวนเธอผ่านการว่าจ้างให้ไปเป็นแม่บ้านทำความสะอาด แต่เมื่อก้าวเท้าเข้าไปถึงห้องนอนเท่านั้น เรื่องสยองที่ผู้หญิงคนนั้นจะไม่ลืมก็เกิดขึ้น
ซาดมัดเธอเข้ากับเตียงแล้วคว้าแซ่มาฟาดเธออย่างไม่ยั้งมือ ภายหลังจากนั้นเขาก็เฉือนเนื้อของเธอให้มีแผลเปิด ก่อนที่จะคว้าขี้ผึ้งเดือดมาเทใส่แผลของเธอจนเธอกรีดร้องทรมานอย่างสุดเสียง และระหว่างที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ซาดจ้องมองและช่วยตัวเองไปกับเสียงกรีดร้องสุดแสนทรมานของเธอ ซ้ำยังเอ่ยขู่ว่าหากเมื่อใดที่เธอหยุดกรีดร้อง เขาจะฆ่าเธอเสีย
ภายหลังจากเสร็จสุขสมใจ ซาดก็บีบบังคับให้เธอกระทำด่าทอพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องหนักหนามากในยุคดังกล่าว ก่อนที่จะก้าวเดินออกไปจากห้อง ระหว่างนั้นเอง หญิงแม่หม้ายคนนั้นจึงใช้โอกาสเดียวที่เธออาจมี หนีออกทางหน้าต่างและไปขอความช่วยเหลือและเล่าทุกสิ่งอย่างที่เธอเจอให้กับชาวบ้านชาวเมืองฟัง
เรื่องราวความวิปลาสของซาดได้ก่อประกายไฟในน้ำมันที่ตัวเขาเองราดเอาไว้ก่อนหน้าจนเกิดเป็นไฟอันร้อนระอุในความรู้สึกของใครหลายคนที่ขอไม่ทนกับคนวิปริตเยี่ยงนี้อีกต่อไป พวกเขารวมตัวกันเพื่อประท้วงและเรียกร้องให้ทางการลงโทษชายผู้นี้ให้สาสม…
แต่โทษจำคุก 6 เดือนคือสิ่งที่ซาดได้รับ
Marquis de Sade investigated by policemen (Pubic Domain)
The 120 Days of Sodom - หนึ่งร้อยยี่สิบวันฝันสลาย
ภายหลังที่ได้เสรีภาพกลับคืน สันดานของซาดยังคงเดิม เขายังก่อการวิปลาสดังเช่นเดิมมิเปลี่ยนไป ครั้งหนึ่งเขาเคยจ้างโสเภณีมาจำนวน 5 คนเพื่อบำเรอเขา แต่เขากลับวางยาพวกเธอทั้ง 5 จนศาลได้ตัดสินให้เขาโดนโทษประหารชีวิต แม้จะหนีไปได้ แต่คนที่เหลือทนกับการกระทำนี้คือแม่ยายของเขาผู้ซึ่งมาจากตระกูลใหญ่โตในสังคม และถวายฎีการ้องทุกข์ไปยังกษัตริย์เพื่อ ‘Lettre De Cachet’ หรือโองการจากพระราชาที่สามารถจับใครก็ได้ขังคุกในทันทีโดยไม่ต้องรอการไต่สวน ชีวิตของซาดจึงต้องดำเนินต่อในเรือนจำ
แต่มันยังไม่จบ เพราะนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของบทชีวิตที่เขาได้ประพันธ์หนังสือที่ถูกลือลั่นและสาปส่งไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะกับ ‘The 120 Days of Sodom’ วรรณกรรมวิปลาสและถูกขนานนามว่า เลวทรามต่ำช้าและเต็มไปด้วยมลทินที่สุดในโลก และมันยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นยอดภาพยนตร์ต้องห้ามอันลือลั่นอย่าง ‘Salò, or the 120 Days of Sodom’ ในปี 1975 อีกด้วย
เมื่อซาดถูกจำคุก
Salò, or the 120 Days of Sodom (1975)
/ ความเห็นจากผู้เขียน : เนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลำบากใจยิ่งที่จะบรรยายถึง ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเพียงเรื่องย่อสั้น ๆ พร้อมใบ้คร่าว ๆ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ผู้เขียนก็มั่นใจดีว่า แม้จะใบ้มาก - น้อยเพียงใด สิ่งที่ผู้อ่านจะรู้สึกได้เมื่ออ่านกับงานเขียนเล่มนั้นย่อมคงเดิม เพราะมันทะลุเพดานความคาดหมายและขอบเขตศีลธรรมของสังคมเราไปมากกว่าจะเห็นยอดของมัน แถมเรื่องราวของมันกว่าจะถูกนำมาตีพิมพ์ได้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายไม่แพ้ผู้ประพันธ์มันเลยแม้แต่น้อย ไม่แน่เราอาจได้เห็นที่กล่าวถึงเรื่องราวของหนังสือนี้โดยเฉพาะในอนาคตก็เป็นได้ /
ในช่วงขณะที่เขาจำคุก (อย่างหรูหรา) ที่ บาสตีย์ (Bastille) ไม่มีเหยื่อคนไหนให้เขาได้ระบายอารมณ์ของตน หน้ากระดาษและปากกาเป็นสิ่งเดียวที่สามารถเยียวยาเขาได้ ซาดลงมือเขียนนวนิยายยาว 400 หน้าภายใน 37 วัน และมันได้กลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขา จนในปี 2017 ทางฝรั่งเศสก็ได้ประกาศว่าต้นฉบับของมันได้กลายเป็นหนึ่งในสมบัติชาติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนเกิดเป็นดราม่าถกเถียงกันไม่น้อย… เพราะอะไรกันนะ?
ต้นฉบับที่ถูกซ่อนไว้ในเรือนจำบาสตีย์
เป็นกระดาษที่มีอัดแน่นด้วยตัวอักษรและมีความยาวหลายเมตร
The 120 Days of Sodom เกี่ยวกับผู้มีอำนาจและไร้ศีลธรรม 4 คน เดินทางมากักขังตัวเองไว้ในปราสาทอันไกลปืนเที่ยงกับเหล่าเด็กหนุ่มสาวจำนวนมากที่พวกเขาลักพาตัวมา โดยเนื้อเรื่องจะเล่าเรื่องราวเป็นระยะเวลา 120 วัน หรือ 4 เดือน โดยในแต่ละเดือนจะมีความเข้มข้นรุนแรงที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่การปลดปล่อยตัณหาราคะธรรมดา ขยับขึ้นไปที่การข่มขืน ลามไปถึงความรุนแรง และฆาตกรรม
นอกจาก The 120 Days of Sodom แล้ว ซาดก็ยังมีงานเขียนอย่าง Philosopher of the Bedroom หรือ Justine อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนวนเวียนอยู่กับความวิปลาสเกินบรรยายจนสร้างข้อถกเถียงกับงานและแนวคิดของเขามาจนถึงทุกวันนี้ ว่าเขาต้องเป็นคนอย่างไรถึงได้อุบัติแนวคิดอะไรเช่นนี้ขึ้นมาได้?
มองมุมต่าง
มุมมองในระดับแรกที่ใครหลายคนได้มารู้จักกับชายคนนี้ย่อมรู้สึกไม่ต่างกันถึงความวิปลาสผิดมนุษย์มนาของเขา ไม่ว่าจะผ่านนานาวีรกรรมที่เขาได้ก่อหรือรายละเอียดที่ยากเกินจะเหลียวอ่านของเขา ย่อมมองว่าเขาคนนี้แทบไม่ต่างกับอสุรกายในร่างมนุษย์เลยทีเดียว
แต่ก็มีหลายคนลองมองมุมต่างจากกระแสเดิมที่ตีตราให้เขาเป็นอสุรกายร้ายว่า แท้จริงแล้วเราอาจจะให้ร้ายซาดกันมากเกินไป ซาดอาจเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกกรอบของสังคมกดทับในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะกฎหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี และโดยเฉพาะกับศาสนาที่สร้างครรลองแนวทางให้ผู้คนในสมัยนั้นเดินตามอย่างเคร่งครัด
การตีกรอบเช่นนี้จึงเปรียบเสมือนการกดสัญชาตญาณดิบของมนุษย์จนคนอย่างซาดต้องระเบิดมันออกมาอย่างที่เราเห็น ไม่ว่าจะผ่านการกระทำหรือแนวคิดงานเขียน หลายคนมองว่าเขาเป็นคนหัวขบถคนหนึ่งที่ไม่เอาศาสนา ไม่เอากรอบสังคม และยืนหยัดอย่างมั่นคงในสิ่งที่ตัวเขาเชื่อ บางคนถึงขั้นมีแนวคิดว่าซาดเปรียบเสมือนภาพแทนแนวคิดของผู้คนหัวก้าวหน้าที่สนับสนุนเสรีภาพ โดยเฉพาะในด้านความสุขทางเพศรส
แต่ก็มีคนแย้งว่าสิ่งที่พวกเขามองอาจจะแตกต่างกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง เพราะหากประเมินจากหลักฐานและแนวคิดที่ซาดได้ตีแผ่ แทนที่เขาจะเป็นหัวก้าวหน้าที่สำแดงรสนิยมของตนสู่สาธารณชนอย่างมั่นใจ ซาดเองอาจเป็นภาพแทนของสังคมอำนาจนิยม สังคมชายเป็นใหญ่ สังคมที่ใครแกร่งกว่าชนะ และขนบกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้น มันถือกำเนิดขึ้นเพื่ออุ้มชูเหล่าผู้อ่อนแอและไม่ยอมให้ผู้แข็งแกร่งเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ เขาไม่สนกฎเกณฑ์ของสังคมหรือความทุกข์ร้อนของใครอื่น เพราะสุขของตนคือปณิธานเดียวที่เขาถวิลหา ดังที่ถูกตีแผ่ออกมาอย่างชัดเจนผ่าน 120 Days of Sodom
จะขวาชิดมุมหรือซ้ายตกขอบก็คงยากที่จะตัดสินได้ว่าซาดเป็นเช่นไร แต่อย่างน้อยงานของเขาก็ถูกนำมาตีพิมพ์ให้ผู้คนในสมัยนี้ได้อ่านแล้วนำไปคิดต่อเพื่อย่อยมาถกเถียงและสร้างสีสันในการสนทนาต่อไป หากคุณคิดว่าซาดเป็นคนอย่างไร อย่าลืมที่จะแสดงความคิดเห็นของคุณลงในคอมเมนต์ และถ้าหากใครอยากรู้ว่าความวิปลาสของ มาร์กีส์ เดอ ซาด เป็นอย่างไร การลองอ่านงานของเขาคงจะเป็นวิธีที่ตอบคำถามได้ดีที่สุด
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง :
The life of the Marquis de Sade - Count Amadeus Productions
The Deranged Mind of the Marquis de Sade - This is Barris! - French History
Marquis de Sade: depraved monster or misunderstood genius? It’s complicated - The Conversation
Marquis De Sade: The Father Of Sadism, Explained - History Daily