‘ชิบุซาวะ เออิจิ ’ บิดาแห่งทุนนิยมญี่ปุ่น เจ้าของใบหน้าบนธนบัตร 10,000 เยนแบบใหม่ในรอบ 20 ปี

‘ชิบุซาวะ เออิจิ ’ บิดาแห่งทุนนิยมญี่ปุ่น เจ้าของใบหน้าบนธนบัตร 10,000 เยนแบบใหม่ในรอบ 20 ปี

ชิบุซาวะ เออิจิ บิดาแห่งทุนนิยมญี่ปุ่นที่บุกเบิกแนวคิดทุนนิยมที่แคร์คนอื่น เจ้าของใบหน้าบนธนบัตร 10,000 เยนแบบใหม่ที่จะประกาศใช้ในปี 2024

  • ปี 2024 ประเทศญี่ปุ่นจะประกาศใช้ธนบัตรแบบใหม่ 
  • ผู้ได้รับเกียรติประทับใบหน้าบนธนบัตร 10,000 เยน ซึ่งเป็นธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุด คือ ธนบัตรชิบุซาวะ เออิจิ 
  • เขาได้รับฉายาว่า บิดาแห่งทุนนิยมญี่ปุ่น และมีเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจ

ปกติแล้วตามธรรมเนียมปฏิบัติของญี่ปุ่น จะนำใบหน้าบุคคลสำคัญที่ได้สร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่ประเทศชาติประทับลงบนแบงก์ ‘ธนบัตร’ ของประเทศ และไล่ลำดับความสำคัญตามมูลค่าของธนบัตรกันไป ซึ่งมูลค่าที่มากสุดของธนบัตรญี่ปุ่น คือ ‘ธนบัตร 10,000 เยน’ 

โดยปี 2024 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนใบหน้าบนธนบัตร 10,000 เยน จากเดิมที่เป็น ฟุยุซาวะ ยุคิชิ (Fukuzawa Yukichi) มาสู่สุภาพบุรุษนามว่า ชิบุซาวะ เออิจิ (Shibusawa Eiji)

แล้วคนนี้เป็นใคร เหตุใดถึงได้รับการยกย่องนำใบหน้ามาประทับลงบนธนบัตรที่มีมูลค่ามากที่สุดของประเทศเช่นนี้?

นักขบถแต่เด็ก

เออิจิเกิดเมื่อปี 1840 ที่หมู่บ้านจิอะราอิจิมะ จังหวัดไซตามะ ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว เขาเป็นลูกชายคนโต ครอบครัวของเขามีฐานะมั่งคั่ง ทำธุรกิจด้านผ้าไหม เขาจึงมีโอกาสได้เรียนหนังสือรอบด้านตั้งแต่ยังเล็ก ทั้งประวัติศาสตร์และวรรณกรรมคลาสสิก

ความที่เป็นครอบครัวมีฐานะ จึงมีโอกาสได้พบปะเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็ทำให้เออิจิน้อยในวัยเด็กสัมผัสได้ถึงทัศนคติที่ใจเขาลึก ๆ ไม่ซื้อไอเดียเหล่านี้ นั่นคือ ‘การยกตนข่มท่าน’ ดูถูกดูหมิ่นประชาชนคนเดินดินธรรมดา เขาสัมผัสถึงการใช้อำนาจที่ผิดไม่เป็นธรรม ระบบพวกพ้องที่เอื้ออำนวยประโยชน์พวกเดียวกัน ทัศนคติเหล่านี้ไม่ได้มองคนที่ความสามารถที่แท้จริง และบั่นทอนการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ 

ช่วงทศวรรษ 1860 เกิดกระแสคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่บางกลุ่มต่อต้านชาวต่างชาติที่เริ่มย้ายมาตั้งรกรากในญี่ปุ่น โดยเฉพาะโยโกฮาม่าซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่เปิดรับชาวต่างชาติ เออิจิก็มีโอกาสได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้าน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาล้มเลิกแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งนี้เพราะพลันแต่เป็นโซ่ตรวนให้ญี่ปุ่นไม่พัฒนาไปไหน 

เขาเปลี่ยนความคิดและเดินทางต่อไปถึงเกียวโต ด้วยคอนเนกชั่นจากครอบครัว และในฐานะที่เป็นคนมีการศึกษา รู้ทั้งระบบบัญชี เข้าใจประวัติศาสตร์ อ่านออกเขียนได้ดีเยี่ยม เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ‘ผู้ติดตามซามูไร’

ตาสว่างที่ยุโรป

ในปี 1868 เมื่อเออิจิอายุได้ 28 ปี ญี่ปุ่นก็ได้เข้าสู่ยุคฟื้นฟูเมจิ (Meiji Restoration) อย่างเป็นทางการ เพื่อต้องการเร่งรัดญี่ปุ่นให้เป็นประเทศที่ทันสมัย และเออิจิมีโอกาสได้เข้าร่วมคณะญี่ปุ่นที่ไปร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่กรุงปารีส (Paris International Exposition) ในปี 1867

ณ งานใหญ่แห่งนี้เอง เขาได้พบเห็นนวัตกรรมล้ำหน้ามากมาย และสัมผัสได้ถึงคนเก่งจากทั่วโลก ทั้งนักคิด นักธุรกิจ นักการทูต นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ที่มารวมตัวกันในงานนี้ แม้งานจะจบลงไปแล้ว แต่เขายังตระเวนเดินทางทั่วยุโรปอยู่เกือบ 2 ปีเต็มเพื่อศึกษาสภาพสังคมและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ในยุคสมัยก่อน ชนชั้นพ่อค้าในญี่ปุ่นไม่ใช่อาชีพที่มีเกียรตินัก บางทีถูกมองในแง่ลบด้วยซ้ำ เพราะมุ่งหวังกำไรเข้าเนื้อเข้าตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับยุโรปที่เขาไปพบเจอมา ที่เหล่าบรรดาพ่อค้ามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและริเริ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างเอิกเกริก

เขาตระหนักว่า ทางเดียวที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาได้ทัดเทียมกับนานาชาติได้นั้น ต้องมาพร้อมสถาบันที่คอยทำหน้าที่ส่งเสริม และบุคลากรแต่ละคนต้องได้โชว์ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง 

เมื่อกลับมาญี่ปุ่น เออิจิได้ก่อตั้งหนึ่งในบริษัทร่วมทุน (Joint-stock company) แห่งแรก ๆ ในญี่ปุ่นขึ้นมา และไม่นานนักเรื่องนี้ไปเตะตาผู้มีอำนาจในรัฐบาลญี่ปุ่นเข้า จึงได้มาทาบทามเออิจิให้เป็น ‘รัฐมนตรีการคลัง’ เขาเริ่มมีบทบาทในระดับนโยบายด้านการค้าและอุตสาหกรรม ปฏิรูประบบภาษีและสกุลเงิน ระมัดระวังการทุ่มงบประมาณไปยังกองทัพที่มากเกินไปจนละเลยโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน รวมถึงการบุกเบิกพัฒนาสถาบันการเงินต่าง ๆ 

บิดาแห่งทุนนิยมญี่ปุ่น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ญี่ปุ่นจะไม่สามารถสร้างประเทศมาได้ไกลขนาดนี้ถ้าไม่ใช้ระบบทุนนิยมเป็นตัวขับเคลื่อน ประเทศขับเคลื่อนด้วยนายทุนใหญ่ นักธุรกิจหัวก้าวหน้า ผู้ประกอบการมากจินตนาการ 

ปี 1873 เขาปลดระวางลาขาดจากฝั่งรัฐบาล ก่อนกระโดดเข้าสู่ภาคเอกชน และร่วมก่อตั้งธนาคาร First National Bank ธนาคารสมัยใหม่แห่งแรกในญี่ปุ่น เขายังเป็นผู้นำการปฏิรูปเศรษฐกิจญี่ปุ่นในหลายด้าน ริเริ่มพัฒนาระบบการเงินในฐานะธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงินและปล่อยกู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีความฝัน และร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาพื้นฐานด้านการผลิตและวิสาหกิจ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งระบอบทุนนิยมญี่ปุ่น’

จากนั้นตลอดชีวิตของเออิจิ เขาได้มีส่วนร่วมช่วยก่อตั้งกว่า 500 บริษัทให้ตั้งไข่ขึ้นมาได้ อาทิ Sapporo Beer ซึ่งเป็นแบรนด์เบียร์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 1876

ทุนนิยมที่แคร์ผู้อื่น

เออิจิยังเป็นคนบุกเบิกแนวคิดที่ปัจจุบันเราใช้คำว่า ระบบทุนนิยมที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Capitalism) เป็นทุนนิยมที่แคร์ผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คำนึงถึงหลากหลายตัวแปรทั้งลูกค้า ผู้ผลิต พนักงาน ชุมชน ผู้ถือหุ้น และสิ่งแวดล้อม 

จัดว่าเป็นทุนนิยมที่มีความยั่งยืน และถือว่าหัวก้าวหน้ามาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว! และแตกต่างจากแนวคิดทุนนิยมยุคสมัยนั้นที่โฟกัสไปที่การแสวงหากำไรและความมั่งคั่งสูงสุดแก่คนเป็นเจ้าของ

แนวคิดเรื่องทุนนิยมของเขายังรวมถึงการ ‘กระจายรายได้’ ให้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ด้วย โดยที่ความมั่งคั่งไม่ควรมากระจุกตัวอยู่แค่ชนชั้นนำทางธุรกิจเท่านั้น เพราะประชาชนหรือพนักงานส่วนใหญ่ก็ล้วนมีส่วนร่วมปลุกปั้นสร้างบริษัทให้เติบใหญ่ด้วยเหมือนกัน 

ที่สำคัญ ยังนำหลักการประชาธิปไตยซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของสังคมญี่ปุ่น มาใช้คัดสรรผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์กร เช่น กรรมการบริษัท โดยไม่ได้อิงตามสายเลือดแบบธุรกิจครอบครัวดั้งเดิม

ตลอดช่วงชีวิตของเออิจิ เขายังได้ร่วมก่อตั้งมากกว่า 600 องค์กรเพื่อการกุศลขึ้นมาเลยทีเดียว

ว่ากันว่าคนเราเมื่อมีเป้าหมายและแพสชันที่ชัดเจนในชีวิต ก็มักมีชีวิตยืนยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ เออิจิจากไปในปี 1931 ด้วยวัยที่มากถึง 91 ปี ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นยุคนั้นอยู่ที่ราว 45 ปีเท่านั้น 

แม้ตัวเขาจะจากไปตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่คุณงามความดีและคุณูปการยังคงอยู่ต่อไป เขาได้วางรากฐานทางเศรษฐกิจ สถาบันทางการเงิน และความคิดมากมายแก่ประเทศญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่ ที่คนญี่ปุ่นรุ่นหลังได้เอนจอยและถึงขั้นยกย่องนำมาประทับลงบนธนบัตร 10,000 เยน

.

ภาพ : Getty Images

.

อ้างอิง 

.

asianstudies

japantimes

britannica

nippon