17 ม.ค. 2567 | 13:26 น.
- สังคมสมัยอยุธยายังมีความเชื่อว่ากษัตริย์เป็นเทพ (ไม่ใช่สมมติเทพ) การเอาเท้าชี้ไปทางพระองค์จึงเป็นเรื่องไม่บังควร ในระหว่างถวายตัว สตรีจึงต้องพับขาไปข้างหลัง และมือไม้จะไปแตะสัมผัสพระวรกายอย่างใดก็ไม่ได้อีก จึงต้องพนมมือไว้บนศีรษะ
- แม้ว่า ‘ท่าถวายตัว’ อาจจะเป็นเรื่องยากหนักหนาสาหัสเพียงใด ก็มีสตรีมากมายที่ฝึกฝนเพื่อจะได้ถวายตัว เพราะกษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งอย่าง และเมื่อเป็นที่โปรดปรานขึ้นมา สตรีนางนั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอำนาจวาสนายิ่งกว่าผู้ใดในอาณาจักร
- สุริโยไทกับศรีสุดาจันทร์ เป็นภาพต่างตรงข้ามกัน ฝ่ายหนึ่งได้รับยกย่องเป็น ‘หญิงดี’ ขณะที่อีกฝ่ายถูกประณามหยามเหยียดเป็น ‘หญิงชั่ว’ ตามแบบประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของผู้ชนะ เพราะผู้ชนะย่อมบันทึกไปตามมุมมองของตน ไม่อวยฝ่ายตรงข้ามเป็นธรรมดาวิสัยมนุษย์
กระแสความนิยมละครแนวพีเรียด ยังคงมีต่อมาเรื่อย ๆ ล่าสุด ช่อง One ได้เสนอโปรเจกต์ละครเรื่อง ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’
นับตั้งแต่ปล่อยภาพตัวอย่างบางตอนออกมาก็เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย โดยเฉพาะภาพการแสดงของ ‘ใหม่ ดาวิกา’ ซึ่งรับบทเป็นท้าวศรีสุดาจันทร์ ในท่า ‘พับเป็ด’ หรือท่าถวายตัว จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะบทแสดงท้าวศรีสุดาจันทร์ ก่อนหน้านี้นักแสดงผู้สร้างตำนานในบทนี้เวอร์ชันแรกก็ชื่อ ‘ใหม่’ เหมือนกัน คือ ‘ใหม่ เจริญปุระ’ ต่อมาคือ ‘โย - ยศวดี หัสดีวิจิตร’
ตำนานเดิมที่ ใหม่ เจริญปุระ และ โย - ยศวดี หัสดีวิจิตร เคยเล่นนั้น เป็นภาพท้าวศรีสุดาจันทร์ในเครื่องแต่งองค์ที่ค่อนข้างจะ ‘อล่างฉ่าง’ เป็นภาพเปลือยอก โชว์ความเซ็กซี่ มาหนนี้ดูเหมือน ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ จะรับบทที่เขยิบไปอีกขั้น คือ ท่วงท่าในการ ‘โล้สำเภา’ ที่เรียกว่า ‘ท่าพับเป็ด’ ไม่ทุ่มเทจริง ท่านี้ทำไม่ได้
นอกเหนือจากความเป็นมืออาชีพของนักแสดงนำแล้ว สตอรี่จากการเขียนบทที่ผ่านการค้นคว้ามาเป็นอย่างดี ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และด้วยความที่เป็นเรื่องที่แขวนป้าย ‘อิงประวัติศาสตร์’ แล้วไซร้ ในการเขียนบทที่ว่านี้ผู้เขียนจึงจำเป็นจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์มาพอสมควร
‘ท่าพับเป็ด’ หรือ ‘ท่าถวายตัว’ คืออะไร?
เข้าใจง่าย ๆ ก็คือว่า เนื่องจากสังคมสมัยอยุธยายังมีความเชื่อว่ากษัตริย์เป็นเทพ (ไม่ใช่สมมติเทพ) การเอาเท้าชี้ไปทางพระองค์จึงเป็นเรื่องไม่บังควร ในระหว่างถวายตัว สตรีจึงต้องพับขาไปข้างหลัง และมือไม้จะไปแตะสัมผัสพระวรกายอย่างใดก็ไม่ได้อีก จึงต้องพนมมือไว้บนศีรษะ นอกจากนี้สตรีที่จะถวายตัวยังต้องผ่านการทำความสะอาดร่างกายมาอย่างดี มีการใช้เครื่องหอม - อบอวัยวะเพศที่เรียกว่า ‘อบเต่า’ อีกด้วย
ประเด็นของความยากในท่วงท่าลีลาที่ไม่ใช่เป็นใครก็ทำได้นี้ ยังหมายถึงสตรีผู้ที่จะถวายตัวยังต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างหนัก ที่ยากที่สุดเห็นจะเป็นการพับขาไปข้างหลังนั่นแหละ ปัจจุบันท่านี้เป็นท่าหนึ่งของการออกกำลังกายแบบโยคะเรียกว่า ‘ท่าพับเป็ด’ แต่เดิมนั้นเรียกว่า ‘ท่าถวายตัว’ อย่างตรง ๆ เฮ้อ...เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก...
ในสังคมอยุธยา สตรีฝ่ายในนับว่ามีบทบาทสูง โดยเฉพาะสตรีอยุธยาที่มักมีทักษะด้านการค้าขาย จึงมั่งคั่งร่ำรวยกว่าผู้ชาย การที่สตรีไม่ถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนผู้ชาย ยังทำให้สตรีเป็นผู้สืบมรดกและมีอำนาจจัดการทรัพย์สินตามธรรมเนียม เพราะผู้ชายอาจตายในหน้าที่รับใช้นายเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ผู้หญิงไม่เป็นเช่นนั้น คำว่า “อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน” นั้นก็สะท้อนอยู่โดยนัยว่าอำนาจในการจัดการทรัพย์สินไปตกอยู่กับผู้หญิง
เมื่อผู้ชายถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่ ไปทำสงครามบ้าง ไปก่อกำแพง สร้างป้อมปราการ ทำวัด สร้างวัง ขุดคลอง ฯลฯ ผู้หญิงที่อยู่กับเรือนก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องบ้านเรือนจากโจรผู้ร้าย ก็เกิดภาษิตอีกบทตามมาคือ “มือก็แกว่ง ดาบก็ไกว” คือนอกจากเลี้ยงลูก (ไกวเปล) ลูกคือสิ่งสำคัญที่สุดในบ้าน แล้วยังต้องคอยจับดาบคอยต่อสู้กับพวกผู้ร้ายที่จะมารุกล้ำบ้านช่องและที่ดินเรือกสวนไร่นาอีกด้วย
อย่าว่าแต่พระสุริโยไทเลยที่ขี่ช้างใช้พระแสงของ้าวเป็น สตรีชาวบ้านหรือไพร่นั่นแหละก็มีจับดาบต่อสู้เป็นกันด้วย ไม่มีเอวบางร่างน้อย ถ้ามี ผู้ชายก็ไม่นิยมเอามาทำเมีย เพราะไม่แข็งแรงพอจะใช้งานในบ้านและเรือกสวนไร่นา
ออเจ้าจะย้อนเวลากลับไปในยุคแบบนั้น ยังไงก็คิดให้ดีก่อนนะขอรับ!!!
แม้ว่า ‘ท่าถวายตัว’ อาจจะเป็นเรื่องยากหนักหนาสาหัสเพียงใด ก็มีสตรีมากมายที่ฝึกฝนเพื่อจะได้ถวายตัว เพราะกษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งอย่าง และเมื่อเป็นที่โปรดปรานขึ้นมา สตรีนางนั้นก็จะกลายเป็นผู้มีอำนาจวาสนายิ่งกว่าผู้ใดในอาณาจักร ซึ่งจะพลอยทำให้บิดามารดาตลอดจนญาติโกโหติกาของสตรีนางในผู้นั้น กลายเป็นผู้มีอำนาจวาสนาตามไปด้วย
ถึงแม้จะมีธรรมเนียมและคำกล่าวอ้างที่ว่า “กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ” แต่ทว่าก็มีธรรมเนียมที่เมื่อสตรีฝ่ายในเอ่ยปากขอแล้วเป็นต้องทรงอนุโลมตาม ไม่เว้นแม้แต่โทษประหารชีวิต ถ้าญาติผู้ต้องโทษประหารไป ‘วิ่งเต้น’ ให้พระมเหสีหรือพระสนมกราบทูลขอ นักโทษประหารผู้นั้นมักจะรอดคมดาบเพชฌฆาต ก็ท่านรักของท่านอะ จะเอาอะไร เอ่ยปาก ก็ให้ได้หมด ไม่เห็นจะมีอะไรซับซ้อน ก็ในเมื่อระบบไปให้อำนาจอยู่กับบุคคล และบุคคลทุกคนย่อมต้องมีคนรักหรือคนที่เคารพนับถือ
จากจุดนี้จะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ‘หลังบ้านขุนหลวง’ นั่นแหละ คือผู้มีอำนาจที่มากกว่าผู้มีอำนาจที่เป็นทางการ!!!
‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’ ในพงศาวดารบนแผ่นฟิล์ม 2 เวอร์ชัน
ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 กว่าปีที่แล้ว เรื่อง ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’ (บางแห่งเรียก ‘พระนางศรีสุดาจันทร์’) ได้โลดแล่นออกอากาศโด่งดังถึง 2 เรื่อง คือ ในเรื่อง ‘สุริโยไท’ สร้างเสร็จและออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2544 และอีกเรื่องคือ ‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’ เริ่มฉายเมื่อ พ.ศ. 2548
ท้าวศรีสุดาจันทร์ เวอร์ชัน ใหม่ เจริญปุระ ใน ‘สุริโยไท’
เรื่องของท้าวศรีสุดาจันทร์เวอร์ชัน ‘สุริโยไท’ ผลงานการกำกับโดย ‘ท่านมุ้ย’ (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รับบทเป็นพระสุริโยไท และศรัณยู วงษ์กระจ่าง รับบทเป็นพระเฑียรราชา หรือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จอนนี่ แอนโฟเน่ รับบทเป็นขุนวรวงศาธิราช และ ใหม่ เจริญปุระ รับบทเป็นท้าวศรีสุดาจันทร์ จึงอาจเรียกท้าวศรีสุดาจันทร์เวอร์ชันนี้ว่า ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์เวอร์ชัน ใหม่ เจริญปุระ’ ก็ได้
แม้ว่าเนื้อเรื่องหลักจะเป็นเรื่องของพระสุริโยไท แต่บทก็ส่งให้ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นตัวเด่นในเรื่องไม่น้อย เพราะถ้าไม่มีท้าวศรีสุดาจันทร์ ก็ไม่มีพระสุริโยไท เนื่องจากเป็นเรื่องราวพันอีรุงตุงนังเกี่ยวข้องโยงใยกันมา จะเข้าใจเรื่องของพระสุริโยไทได้ ต้องเข้าใจเรื่องของท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นพื้นเสียก่อนด้วย
‘สุริโยไท’ เป็นภาพยนตร์ทุ่มทุนสร้างมหาศาลกว่า 400 ล้านบาท นับว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่มีทุนสร้างมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยใช้เวลาสร้างนานกว่า 5 ปี นั่นหมายถึงว่าเริ่มสร้างมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โดยแบ่งเป็นเวลาในการเขียนบท 2 ปี และถ่ายทำอีก 3 ปี ท่านมุ้ยและทีมงานได้ค้นคว้าประวัติศาสตร์อยุธยาในช่วงยุคสมัยของท้าวศรีสุดาจันทร์และพระสุริโยไทเป็นอันมาก
เมื่อถ่ายทำเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทอดพระเนตรภาพยนตร์ ‘สุริโยไท’ รอบปฐมทัศน์ ณ ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2544 (ตรงกับ ‘วันแม่แห่งชาติ’ ของปีนั้นพอดี)
ท้าวศรีสุดาจันทร์ เวอร์ชัน โย - ยศวดี หัสดีวิจิตร ใน ‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’
‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’ (The King Maker) สร้างและเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2548 นำแสดงโดย ยศวดี หัสดีวิจิตร, แกรี่ สเตรจช์, สิรินยา เบอร์บริดจ์, จอห์น รีทส์ เดวี่ส์, พุฒิชัย อมาตยกุล, นิรุตต์ ศิริจรรยา, ดอม เหตระกูล, โอลิเวอร์ พูพาร์ท, ชาลี ไตรรัตน์ กำกับการแสดงโดย เล็ก กิติพราภรณ์
‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’ เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ แต่ออกเป็นวีซีดี เป็นภาพยนตร์ที่ทางไทยกับสหรัฐอเมริการ่วมมือกันสร้าง มีดาราไทยและดาราฮอลลีวูดร่วมแสดงด้วยกัน เนื่องจากตลาดของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ต่างประเทศเป็นหลัก จึงเป็นภาพยนตร์ที่พูดเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง นับเป็นความแปลกใหม่สำหรับสมัยนั้นที่ยังไม่มีเน็ตฟลิกซ์
เนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ตามบันทึกชาติตะวันตก (โปรตุเกส) แต่ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบมาตั้งแต่เริ่มสร้าง ตั้งแต่ชื่อของภาพยนตร์ ซึ่งตอนแรกผู้สร้างจะใช้ชื่อว่า ‘กษัตริย์ผลัดแผ่นดิน’ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อภาษาอังกฤษ (คือ ‘The King Maker’) แต่ถูกติงว่าไม่เหมาะสมจึงเปลี่ยนมาเป็น ‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’ แทน
อย่างไรก็ตาม เนื้อเรื่องก็ยังเป็นที่พูดถึงในแง่ที่สร้างได้ผิดเพี้ยนจากประวัติศาสตร์หลายประการ มีหลายฉากที่ถูกมองว่าแต่งเติมจน ‘เกินจริง’ ไปมาก อีกทั้งชื่อตัวละครก็ยังผิดเพี้ยนไปจากบันทึกประวัติศาสตร์ จึงได้รับคะแนนเพียง 3.6 ดาว จากทั้งหมด 10 ดาว จากเว็บไซต์ IMDb
ประวัติศาสตร์ที่ถูกนำเอามาเป็นมาตรฐานวัดความสมจริงของภาพยนตร์เรื่อง ‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’ นี้คือประวัติศาสตร์ตามฉบับพระราชพงศาวดาร ผู้วิจารณ์ส่วนใหญ่นั้นอาจจะหลงลืมไปแล้วว่า นี่เป็นการสร้างตามมุมมองฝรั่งและเพื่อฝรั่งโดยแท้ ประวัติศาสตร์ฉบับ ‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’ มีที่มาจากบันทึกของโปรตุเกสและสเปน ที่เข้ามามีบทบาทอยู่ในอยุธยาร่วมสมัยท้าวศรีสุดาจันทร์ ต่างจากพระราชพงศาวดารซึ่งเป็นผลจากการชำระในภายหลัง
แม้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงในแง่ลบไปมาก แต่ในต่างประเทศ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดจึงเป็นที่นิยม จนเมื่อเปรียบเทียบกับ ‘สุริโยไท’ แล้ว ‘สุริโยไท’ คือเวอร์ชันสร้างโดยคนไทย - เพื่อคนไทย ในขณะที่ ‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’ สร้างโดยฝรั่ง - เพื่อฝรั่ง
อย่างไรก็ตาม ทั้งเวอร์ชัน ‘สุริโยไท’ และ ‘กบฏท้าวศรีสุดาจัน’ ต่างก็นำเสนอภาพลักษณ์ของท้าวศรีสุดาจันทร์ในมุมเดียวกันคือพระนางเป็นผู้ร้าย สร้างความวิบัติให้แก่บ้านเมืองกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็เป็นมุมมองเดียวกับพระราชพงศาวดารฉบับชำระ
อีกทั้งยังเป็นเวอร์ชันตามความรับรู้ (ที่บิดเบี้ยว) อันเนื่องมาจากคำเรียกท้าวศรีสุดาจันทร์ที่ว่า ‘แม่หยัว’ นั้นถูกตีความในภายหลังว่าคือ ‘แม่ยั่วเมือง’ ท้าวศรีสุดาจันทร์ในเวอร์ชันภาพยนตร์ทั้งสองจึงออกมาในแนวที่ว่า พอเป็นเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์แล้ว เป็นต้องออกแนวเซ็กซี่ เปลือยอก ปทุมถันมหึมา และฉากโล้สำเภาที่เร่าร้อน
ท้าวศรีสุดาจันทร์ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ & ‘แม่หยัว’ (แม่อยู่หัว) ไม่ใช่ ‘แม่ยั่วเมือง’
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คำว่า ‘แม่หยัว’ นั้นไม่เพียงไม่ตรงกับ ‘แม่ยั่ว’ หรือ ‘แม่ยั่วเมือง’ หากแต่เป็นคำเรียกที่แสดงความเคารพ เพราะตรงกับ ‘แม่อยู่หัว’ (แม่ของว่าที่พระเจ้าอยู่หัว) เลยทีเดียว เพราะท้าวศรีสุดาจันทร์นั้นเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระยอดฟ้า พระราชบิดาคือสมเด็จพระไชยราชา สมเด็จพระยอดฟ้าจึงอยู่ในฐานะ ‘หน่อพุทธางกูร’ คืออยู่ในเกณฑ์ลำดับต้นของผู้ที่จะสืบราชสมบัติ
หลักฐานอีกแหล่งที่สำคัญคือ ตัวบทกฎหมายใน ‘บทพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน’ ที่ให้ข้อมูลว่า ‘ศรีสุดาจันทร์’ นั้นเป็นชื่อตำแหน่งราชทินนาม ไม่ใช่ชื่อบุคคล กฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวถึงตำแหน่งพระสนมเอกของกษัตริย์อยุธยา นิยมมี 4 พระนางหลัก ๆ จากทิศทั้งสี่ คือ (1) ‘ศรีสุดาจันทร์’ (2) ‘ศรีจุฬาลักษณ์’ (3) ‘อินทรสุเรนทร์’ (4) ‘อินทรเทวี’ เป็นต้น
เหตุที่ต้องตัวแทนจากสี่ทิศ (เหนือ - ใต้ - ออก - ตก) นั้นก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานภาพของกษัตริย์อยุธยาที่ถือว่าทรงเป็น ‘จักรพรรดิราช’ (ราชาเหนือราชา) โดยพระสนมเหล่านี้จะต้องเป็นผู้ดีมีสกุลสืบมาจากบ้านเมืองสำคัญในอาณาจักรจากทิศทั้งสี่ ซึ่งจะมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง
ในพระนางทั้งสี่นี้ ถ้านางใดมีพระราชโอรส จะได้เฉลิมพระยศเป็น ‘แม่อยู่หัว’ (แม่ของว่าที่พระเจ้าอยู่หัว) ซึ่งพระนางศรีสุดาจันทร์เป็นพระราชมารดาของพระยอดฟ้า พระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชา ก็จึงได้รับการเฉลิมพระยศเป็น ‘แม่อยู่หัว’
แต่ตัวบทกฎหมายเก่าฉบับนี้ระบุเพียงชื่อตำแหน่งราชทินนามพระสนมเอกสี่ทิศนี้เอาไว้ ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ ได้ขยายความไว้ดังนี้ :
(1) ‘ศรีสุดาจันทร์’ เป็นพระสนมเอกประจำทิศตะวันออก สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ผู้ครองลพบุรี หรือละโว้ - อโธยา
(2) ‘ศรีจุฬาลักษณ์’ เป็นพระสนมเอกจากทิศเหนือ สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ผู้ครองสุโขทัย - พิษณุโลก
(3) ‘อินทรสุเรนทร์’ เป็นพระสนมเอกจากทิศตะวันตก สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ผู้ครองสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี)
(4) ‘อินทรเทวี’ เป็นพระสนมเอกจากทิศใต้ สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช
‘พิเศษ เจียจันทร์พงษ์’ ได้แสดงความเห็นต่างจากสุจิตต์ว่า ‘ศรีจุฬาลักษณ์’ เป็นตำแหน่งเชื้อสายจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ เพราะตามจารึกที่พบใหม่คือ ‘จารึกวัดบูรพาราม’ จ.สุโขทัย ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ถูกส่งตัวไปอภิเษกเป็นพระมเหสีของกษัตริย์สุโขทัย ก่อนที่ภายหลังจะกลายมาเป็นชื่อตำแหน่งพระสนมเอกองค์หนึ่งของกษัตริย์อยุธยา เมื่ออยุธยาสามารถผนวกรวมแคว้นสุโขทัยเข้ามาขึ้นต่ออยุธยาได้แล้ว
อีกทั้งพระนางศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นน้องสาวของพระเพทราชา และก็เป็นหญิงที่มีภูมิลำเนาเดิมมาจากแขวงสุพรรณบุรี ส่วนพระสนมเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยสำหรับ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เห็นว่าน่าจะคือ ‘อินทรสุเรนทร์’ มากกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังแปลกและเป็นปริศนาอยู่ว่า ทำไมสตรีจากราชวงศ์สุโขทัยที่อภิเษกกับชายราชวงศ์สุพรรณภูมิที่รู้จักกันดีจริง ๆ นั้นกลับมีพระนามว่า ‘ศรีสุริโยทัย’ หรือ ‘พระสุริโยไท’ ไม่ใช่ทั้ง ‘ศรีจุฬาลักษณ์’ และ/หรือ ‘อินทรสุเรนทร์’ ซึ่งคำว่า ‘ศรีสุริโยทัย’ นั้นพ้องกันดีกับคำว่า ‘ศุขโขทัย’ หรือ ‘สุโขทัย’
อย่างไรก็ตาม ทั้งสุจิตต์และพิเศษต่างก็เห็นตรงกันว่า ‘ศรีสุดาจันทร์’ พระสนมเอกประจำทิศตะวันออกนั้นเป็นสายราชวงศ์ลพบุรีหรือราชวงศ์ละโว้ - อโยธยา ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ในพื้นที่ที่เรียกกันว่า ‘เขตอโยธยา’ หรือ ‘เมืองเก่าอโยธยา’ (ที่รถไฟความเร็วสูงจะตัดผ่านไปนั่นแหละครับ)
ราชวงศ์นี้เคยถูกเรียกอย่างเข้าใจผิดว่า ‘ราชวงศ์อู่ทอง’ เพราะเชื่อกันว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นั้นคือ ‘พระเจ้าอู่ทอง’ ในตำนานและเดิมครองราชย์อยู่ที่เมืองอู่ทอง ก่อนจะอพยพผู้คนหนีโรคห่ามาสถาปนากรุงศรีอยุธยา
แต่เมื่อมีการค้นพบเมืองโบราณก่อน พ.ศ. 1893 ที่บริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา และร่องรอยจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงมีพระราชโอรสองค์โตคือ ‘สมเด็จพระราเมศวร’ ส่งไปครองเมืองลพบุรี จึงเป็นอันเข้าใจว่าราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ควรจะเป็น ‘ราชวงศ์ลพบุรี’ หรือ ‘ราชวงศ์ละโว้ - อโยธยา’
เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเชื้อสายราชวงศ์ลพบุรี พระนางจึงเป็นทายาทของพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ด้วย!!!
จากจุดนี้ทำให้เกิดมุมมองใหม่ต่อท้าวศรีสุดาจันทร์แบบพลิกกลับตาลปัตร (Reversal perspective) ไม่เพียงไม่ใช่ ‘แม่ยั่วเมือง’ หากแต่การกระทำของพระนางเป็นเรื่องที่อธิบายได้เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างราชวงศ์ลพบุรีกับราชวงศ์สุพรรณภูมินั่นเอง
สุริโยไท/Conservatism (vs) ศรีสุดาจันทร์/Liberalism
สุริโยไทกับศรีสุดาจันทร์ เป็นภาพต่างตรงข้ามกัน ฝ่ายหนึ่งได้รับยกย่องเป็น ‘หญิงดี’ ขณะที่อีกฝ่ายถูกประณามหยามเหยียดเป็น ‘หญิงชั่ว’ ตามแบบประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของผู้ชนะ เพราะผู้ชนะย่อมบันทึกไปตามมุมมองของตน ไม่อวยฝ่ายตรงข้ามเป็นธรรมดาวิสัยมนุษย์
ทั้งนี้พระสุริโยไท ยอมอภิเษกตามประเพณีที่เรียกกันในภายหลังว่า ‘คลุมถุงชน’ ซึ่งดูจะผิดแปลกเมื่อท้ายสุดทรงสิ้นพระชนม์บนคอช้างเพื่อปกป้องพระสวามี (ที่ทรงอภิเษกด้วยแบบคลุมถุงชน) ภาพยนตร์เสนอภาพพระนางเป็นหญิงแกร่งที่เห็นแก่บ้านเมืองมาตั้งแต่แรกเริ่ม ฉากแรกก็คือพระนางวิ่งหลบหนีการแต่งงานฝ่าสายฝน แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจเพราะเห็นแก่บ้านเมือง
เมื่อได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสอยู่กินกับพระเฑียรราชา พระนางก็รักพระสวามี แม้แต่เมื่อยามที่พระสวามีชีวิตตกต่ำต้องหนีไปบวช อาศัยผ้าเหลืองเอาตัวรอด พระนางก็ติดต่อคนรักเก่าคือขุนพิเรนทรเทพ (สมเด็จพระมหาธรรมราชาในเวลาต่อมา) ให้มาช่วยกำจัดขุนวรวงศาธิราช เวนคืนราชสมบัติให้แก่พระเฑียรราชา และเมื่อมีศึกสงครามมาประชิดพระนคร พระนางก็ออกรบช่วยพระสวามีจนสิ้นพระชนม์
ขณะที่ท้าวศรีสุดาจันทร์นั้นทรงเลือกพระสวามีเองคือ ‘ขุนวรวงศาธิราช’ ซึ่งเมื่อตอนยังลอบมีสัมพันธ์สวาทด้วยกันนั้น ชายผู้นี้ยังมีตำแหน่งเป็นเพียง ‘พันบุตรศรีเทพ’ (พระราชพงศาวดารว่าเป็นตำแหน่งคนเฝ้าหอพระและนำสวดมนต์)
‘พันบุตรศรีเทพ’ จะมีความเกี่ยวข้องกับเมืองศรีเทพหรือไม่ ยากที่จะทราบได้ ซึ่งถ้าใช่ ก็อาจเป็นศรีเทพที่วิเชียรบุรี ไม่ใช่ศรีเทพในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพปัจจุบันไปอีก เพราะมูลนายของศรีเทพได้ย้ายศูนย์กลางไปเป็นตำบลท่าโรง (วิเชียรบุรี) แล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย
แต่ถ้าหากว่าใช่ ‘พันบุตรศรีเทพ’ มีความเกี่ยวข้องหรือสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ผู้เคยครองศรีเทพมาก่อนจริงแล้วไซร้ การลอบมีสัมพันธ์สวาทของบุคคลทั้งสอง ก็จะเท่ากับฝ่ายราชวงศ์ลพบุรีกับศรีเทพ รวมกำลังเกี่ยวดองกันเพื่อโค่นฝ่ายสุพรรณภูมิที่ก็แต่งงานการเมืองกับราชวงศ์สุโขทัย
ท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้ปฏิเสธความรักแบบคลุมถุงชน จึงดูเข้ากับแนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) มากกว่า ในขณะที่พระสุริโยไทดูจะเข้ากับแนวคิดอนุรักษนิยม!!!
กล่าวโดยสรุป ยังไม่รู้ว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์เวอร์ชัน ใหม่ ดาวิกา จะผลิตซ้ำมุมมองแง่ลบแบบพระราชพงศาวดารและภาพยนตร์ 2 เรื่องที่มีมาก่อนหน้า (สุริโยไทและกบฏท้าวศรีสุดาจัน) หรือจะเป็นมุมมองใหม่แบบประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่เสนอโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ และพิเศษ เจียจันทร์พงษ์
ถ้าแบบแรกอาจจะไม่ปัง แต่ถ้าแบบที่ 2 โอกาสปังชนิดที่ทั้งสุริโยไท กบฏท้าวศรีสุดาจัน หรือแม้แต่พรหมลิขิต ก็ยังทำไม่สำเร็จ อาจจะเกิดขึ้นกับเวอร์ชัน ใหม่ ดาวิกา ก็เป็นได้ คงต้องรอชมกันต่อไป...
เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์
อ้างอิง :
กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ. 2548.
กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544.
พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. นนทบุรี: มสธ., 2549.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น ๆ. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2563.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. พระสุริโยทัยเป็นใคร มาจากไหน? กรุงเทพฯ: มติชน, 2544.
ฟลอรืช, มาเรีย ดา กง ไซเซา. ชาวโปรตุเกสและสยามสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 (Os Portugueses e o siao no seculo XVI). แปลโดย มธุรส ศุภผล, กรุงเทพฯ: ออร์คิด, 2547.
รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก). ท้าวศรีสุดาจันทร์. กรุงเทพฯ: เพื่อนชีวิต, 2532.
รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต). แปลโดย นันทา วรเนติวงศ์ และวนาศรี สามนเสน, กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2546.
วริศรา ตั้งค้าวานิช. ประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.
สารานุกรมเสรี (Wikipedia). “กบฏท้าวศรีสุดาจัน” https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99 (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566).
สารานุกรมเสรี (Wikipedia). “สุริโยไท” https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%97 (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566).
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ท้าวศรีสุดาจันทร์ “แม่หยัวเมือง” ใครว่าหล่อนชั่ว? กรุงเทพฯ: มติชน, 2540.