สมฤทธิ์ ลือชัย ฟันธงแม่นาก - แม่ณุน วัฒนธรรมร่วมไทย-เขมร เตือนอย่าติดกับดักชาตินิยม

สมฤทธิ์ ลือชัย ฟันธงแม่นาก - แม่ณุน  วัฒนธรรมร่วมไทย-เขมร เตือนอย่าติดกับดักชาตินิยม

วิเคราะห์กรณีคนไทยและคนกัมพูชาที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่า ‘ผีตายทั้งกลม แขนยาว ทำกับข้าวให้ผัวกิน’ ต้นกำเนิดมาจากประเทศของตัวเอง ผ่านมุมมอง ‘สมฤทธิ์ ลือชัย’ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์)

  • ‘แม่ณุน’ The Dark Mother หนังจากกัมพูชากำลังจะเข้าฉายในไทย ในเดือน ก.พ.2567
  • หนังเรื่องนี้เกิดการถกเถียงว่า มีความคล้ายเรื่อง ‘แม่นากพระโขนง’ ของไทย นำมาสู่ประเด็นใครเลียนแบบ และนี่คือมุมมองของ ‘สมฤทธิ์ ลือชัย’ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีต่อเรื่องนี้

ภาพยนตร์เขมร ‘แม่ณุน’ The Dark Mother กำลังจะเข้าฉายในไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในขณะเกิดข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชาว่า ‘แม่ณุน’ ภาพยนตร์กัมพูชามีความคล้ายเรื่อง ‘แม่นากพระโขนง’ ของไทย กระทั่งสงสัยว่าเป็นการลอกเลียนกันหรือไม่

สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อุษาคเนย์) ให้สัมภาษณ์ The People กรณีคนไทยและคนกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่า ‘ผีตายทั้งกลม แขนยาว ทำกับข้าวให้ผัวกิน’ เรื่องดังกล่าวเป็นภาพยนตร์จากเรื่องราวในชาติตัวเอง และคิดว่าถูกอีกฝ่ายลอกเลียนแบบ

โดยสมฤทธิ์ให้แง่คิดและมุมมองเรื่อง ‘วัฒนธรรมร่วม’ ของไทยกับกัมพูชาที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก่อนจะมี ‘ประวัติศาสตร์ชาตินิยม’ เครื่องมือหนึ่งในยุคสร้างชาติ ซึ่งปัจจุบันหมดยุคนั้นไปแล้ว แต่ตอนนี้เป็นยุคที่ต้องแสวงหาความร่วมมือกันเพื่อความเข้มแข็งของภูมิภาคอาเซียน

ผีไม่มีสัญชาติ ไม่มีลิขสิทธิ์

สมฤทธิ์กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องทบทวนว่า ผีบนโลกนี้มีลิขสิทธิ์ไหม และผีต้องมีสัญชาติไหม ผีตัวใดต้องเป็นของไทย หรือต้องเป็นของเขมรหรือไม่

ประเด็นของเรื่องนี้ เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่เราเห็นเท่านั้นเอง สะท้อนปัญหาระหว่างไทยกับเขมร ซึ่งมีความขัดแย้งเกิดจากสาเหตุหลักคือ ‘ประวัติศาสตร์ชาตินิยม’ ของทั้ง 2 ฝ่าย

เนื้อหาเท่าที่ได้ติดตามมา แม่ณุน ก็คล้าย ๆ กับเรื่องแม่นากพระโขนง ซึ่งที่มาทางประวัติศาสตร์ของไทยกับเขมร ก็ไม่สามารถแยกขาดจากกัน คือในไทยมีเขมร ในเขมรก็มีไทย

“ผมอยากจะให้มองประเด็นเรื่องแม่นาก จะจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องแม่นากเกิดในสมัยตอนต้นรัชกาลที่ 4 แล้วก็เกิดในเขตพระโขนง ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในกรุงเทพฯ แล้วกรุงเทพฯ เป็นดินแดนที่เรียกกันได้ว่าเป็น Melting Pot หรือหม้อจับฉ่ายที่ขนาดใหญ่มากของอุษาคเนย์ จึงเต็มไปด้วยคนซึ่งมีความหลากหลายชาติพันธุ์มาก ๆ ในกรุงเทพฯ

 

“ส่วนคำว่า พระโขนง มาจากคำว่า พระขนง ในภาษาเขมร แปลว่า คิ้ว เช่นเดียวกับบางเชือกหนัง (ในฝั่งธนบุรี) ก็มาจากคำว่า บางฉนัง ในภาษาเขมร แสดงว่าดินแดนตรงนั้นเป็นที่อยู่คนเขมร ฉะเชิงเทราก็เป็นภาษาเขมร แสดงว่าเป็นที่อยู่คนเขมร คำว่านางเลิ้งเป็นภาษามอญ แปลว่าหม้อ แสดงว่านางเลิ้งเป็นที่อยู่ของมอญ

“เพราะฉะนั้น พระโขนง ก็เป็นดินแดนเดิมของคนเขมร แล้วเรื่องแม่นากก็เกิดตรงนั้น ลองสังเกต ชื่อนาก ไปพ้องกับตำนานการเกิดอาณาจักรเขมรหรืออาณาจักรขอมคือ ‘พระทอง - นางนาค’ ดังนั้น นาค ก็มีความเกี่ยวข้องกับเขมร

“ถ้าเรามองอย่างนี้ เป็นไปได้ไหมว่า เรื่องผีนางนากที่เกิดที่พระโขนง ก็คือชุมชนที่คนเขมรอาศัยอยู่ แต่ปัจจุบันพระโขนงอยู่กับกรุงเทพฯ แล้วอยู่ในประเทศไทย เราก็เลยเข้าใจว่า ผีนางนากเป็นของไทย ซึ่งจะอ้างแบบนี้ก็ได้ไม่ผิด แต่ถ้าเรามองย้อนเข้าไปกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องมันก็เกิดขึ้นในดินแดนที่คนเขมรอาศัยอยู่”

ถ้ามองตามแผนที่ภูมิศาสตร์ จะไม่เข้าใจ

เราต้องมองข้ามรัฐชาติปัจจุบัน หากข้อสันนิษฐานของผมถูกต้องว่า พระโขนง มาจากพระขนงที่แปลว่าคิ้ว แสดงว่าชื่อบ้านนามเมืองก็บ่งบอกถึงคนที่อยู่ที่นั่นด้วย พระโขนงก็เป็นถิ่นที่อยู่ของคนเขมร ชื่อก็เป็นภาษาเขมร

ฉะนั้นนางนากก็อาจเป็นคนเขมรที่อยู่ในกรุงเทพฯ  หรืออาจจะถูกกวาดต้อนให้มาอยู่ในกรุงเทพฯ

แม่นาก - แม่ณุน มีประเด็นร่วมกันคือเป็นเรื่องวิญญาณที่ไม่ไปผุดไปเกิด ยังเป็นผีและมีความรักผัว เป็นผีที่ปรากฏร่างเป็นมนุษย์เพราะรักผัว ยังมาทำกับข้าวให้ผัวกิน แต่ผัวจับได้ว่าเมียเป็นผี เพราะเห็นมือยาว ประเด็นอยู่ตรงนี้ ซึ่งอาจจะเล่าจากเรื่องเดียวกันก็ได้ เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก นางนากมือยาว ตายทั้งกลม ก็อาจจะเป็นผีร่วมของไทย - เขมรก็ได้ ทำไมเราไม่มองอย่างนั้น แทนที่ต่างฝ่ายจะมองว่าเป็นของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ประเด็นที่แก้ยากก็คือ ความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ระหว่างกัน แก้ยากมาก ถ้ายังแก้ไม่ได้ จะมีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นอีกเยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องผี

เราทะเลาะกันมาแล้ว เรื่องแผ่นดิน เรื่องนาฏศิลป์ เรื่องโขน เรื่องชุดเป็นของใคร แล้ววันนี้มาเรื่องผีแม่นาก - แม่ณุน ใครเอาของใครไป มีการทะเลาะกันว่าตกลงเรื่องผีตัวนี้เป็นของใคร

ผมว่ามันจะไม่สิ้นสุดครับ ถ้าเรายังมีประวัติศาสตร์บาดแผลต่อกัน แล้วประวัติศาสตร์บาดแผลเกิดจาก ‘ประวัติศาสตร์ชาตินิยม’ ต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองดี คิดว่าตัวเองเด่น เราไม่เห็นหัวเพื่อนบ้าน

 ชาตินิยม เครื่องมือการสร้างชาติในยุคหนึ่ง แต่หมดยุคนั้นแล้ว

 ผมมีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์แต่ละชาติ ส่วนใหญ่ในอุษาคเนย์ยังติดกับดักประวัติศาสตร์ชาตินิยมของตัวเอง ซึ่งผมเชื่อว่า ในยุคหนึ่งมันเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติของแต่ละชาติ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ยุคของการสร้างชาติ มันเป็นยุคที่เราจะต้องมีความร่วมมือกันในภูมิภาค ประวัติศาสตร์ควรจะละทิ้งเรื่องตัวตนของตัวเอง แล้วเปิดใจกว้างรับฟังข้อมูลที่หลากหลาย

เราจะไปกลัวทำไม ในเมื่อประวัติศาสตร์เราก็บอกว่า สมัยอยุธยาก็มีเขมร มีเจ๊ก มีลาว มีมอญ มีฝรั่ง

คือในแง่ของสังคมไทยกับกัมพูชา มีปฏิสัมพันธ์กันตลอดมา ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ก็จะทราบว่าเรารับลัทธิเทวราชมาจากอาณาจักรขอม ขอมก็คืออดีตของกัมพูชานั่นเอง แล้วต่อมามีการส่งมอบ ด้วยความที่กัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา ราชสำนักของกัมพูชาตั้งแต่ราชวงศ์นโรดมกับศรีสวัสดิ์สลับกันขึ้นปกครองประเทศ ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงเทพฯ ก็จะได้วัฒนธรรมอารยธรรมไทย คนในวังพูดภาษาไทย ในขณะคนในวังสมัยอยุธยาพูดภาษาเขมร ราชาศัพท์ทุกวันนี้จึงเป็นภาษาเขมร

เพราะฉะนั้น นี่คือการแลกเปลี่ยนไปมาของกันและกัน เรามีเขมรในบ้านเรา เขมรมีเราในบ้านเขา และนอกจากนั้นยังมีเรื่องเชื้อชาติ ที่สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เขาเป็นเขมร พูดภาษาเขมร เชื้อชาติเป็นเขมร แต่เขาสัญชาติไทย ส่วนคนรุ่นปัจจุบันเกิดในแผ่นดินไทย อาจจะบอกว่าเชื้อชาติไทยแล้ว แต่พ่อแม่เป็นเขมร

รัฐชาติเป็นมายาที่ไม่สามารถปิดกั้น ในไทยมีเขมร ในเขมรมีไทย

ลองคิดดูเวลาเรามองคำว่าไทยกับเขมร จะปรากฏว่าคนที่เกาะกง กัมพูชา พูดภาษาไทยแม้เป็นคนเขมร คนที่สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ พูดภาษาเขมร แต่เป็นคนไทย รัฐชาติเป็นมายามาก ๆ แล้วจริง ๆ ก็ไม่สามารถกั้นความเป็นไทยกับเขมรได้ อย่างเช่น นามสกุลปกมนตรีในไทย ก็สืบทอดมาจากขุนนางเขมร 

แล้วยิ่งตระกูลอภัยวงศ์ในไทยก็มาจากเขมร รวมถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 สกุลเดิมของท่านก็คือ อภัยวงศ์

ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของไทย ก็นับว่าสืบเชื้อสายมาจากกัมพูชา เป็นชาวเขมร

แล้วในเกาะกง นายพลเตีย บันห์ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา เป็นชาวเกาะกงแต่พูดภาษาไทยชัดเจนมาก เรายังถ่ายทอดอะไรถึงกันอีกตั้งเยอะแยะ

แล้วเราจะทะเลาะกันไปทำไม พูดง่าย ๆ ว่า เวลาเราทะเลาะกันระหว่างไทยกับเขมร จริง ๆ แล้ว เรามีเขมรอยู่ในสังคมไทย แล้วก็มีไทยอยู่ในสังคมเขมร ทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรม ต่างฝ่ายต่างมีซึ่งกันและกัน ทำไมเราไม่ยอมรับประเด็นนี้ และการจะมีผีร่วมกัน ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ ต่างคนต่างมี จะไปอ้างว่าฉันมีคนเดียวได้อย่างไร ผีมีลิขสิทธิ์ไหม ผมย้ำคำนี้

ทะเลาะจริง ไม่ใช่การตลาดการประชาสัมพันธ์

เมื่อถามว่ากระแสทะเลาะกันในโซเชียลมีเดีย อาจจะเป็นเรื่องการตลาดการประชาสัมพันธ์หรือไม่

สมฤทธิ์กล่าวว่า “ผมไม่เชื่อว่าเป็นการตลาด การตลาดมันน่าจะเป็นลักษณะ positive ในแง่บวกมากกว่า เช่น หนังเรื่องนี้ดารานักแสดงเป็นใคร ต้องเป็น positive มากกว่า แต่การที่ไปทะเลาะเบาะแว้งกัน ผมว่าเป็น negative ทางลบ ผมคิดว่าการใช้ทางลบมาเป็นจุดขายทางการตลาด ไม่น่าจะประสบผลสำเร็จ เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นความขัดแย้งที่ฝังลึกแล้วในไทยกับกัมพูชา คนไทยและคนเขมร จึงเกิดปรากฏการณ์ออกมาด้อยค่าซึ่งกันและกัน”

 การศึกษาและการสื่อสาร 2 สิ่งสำคัญ

 สมัยผมเป็นเด็ก จำได้มีหนังเขมรดังมาก ชื่อ งูเก็งกอง เข้ามาตีตลาด คนไทยก็ไปดูเรื่องนี้ ในสมัยนั้นกระแสการไปด้อยค่ายังไม่มี อาจจะมีเพียงบางกลุ่มเล็ก ๆ ที่ด้อยค่าเขมร แต่ไม่ใช่กระแสที่แรง เพราะการศึกษาและการสื่อสารยังไม่ครอบงำสังคมไทยมากขนาดนี้ คนบ้านนอกอย่างบ้านผมอยู่เชียงรายมองว่าจะไปทะเลาะกันทำไม คนอีสานก็คงไม่ไปทะเลาะกับเขมรอย่างคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดคิดว่าจะไปด่าเขมรทำไม อย่างเรื่องเขาพระวิหารสมัยนั้นก็คงมีเพียงคนกระจุกหนึ่งไปทะเลาะ แล้วสมัยนั้นก็ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย

การศึกษากับการสื่อสาร 2 สิ่งนี้อันตรายมาก ถ้าทำไม่ดีจะกลายเป็นยาพิษ เหมือนอย่างไทยและเขมรที่เป็นตอนนี้ เราต้องช่วยกันทำความเข้าใจ ทำไมไม่มองว่าแลกเปลี่ยนกัน เรามีเขมรในสังคมไทย เขมรมีไทยในสังคมเขมร เรามีซึ่งกันและกัน เราต่างมีร่วมกันทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรม ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ แล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็ต่างคนต่างมี ผีไม่ได้มีสัญชาติ ไม่ได้จดทะเบียน ไม่ได้มีการระบุว่านางนากสัญชาติอะไร จะทะเลาะกันทำไมว่าผีตัวนี้เป็นของไทยหรือเขมร

จนถึงทุกวันนี้ ความเป็นไทยที่เราพูดมันร้อยเปอร์เซ็นต์จริงหรือ มันไม่จริงครับ มันมีความร้อยพ่อพันแม่ แต่ใน 'ประวัติศาสตร์' มักจะไม่มีคนอื่น มีแต่คนไทยตั้งแต่เขาอัลไตแล้ว ซึ่งเป็นการอธิบายแบบหนึ่ง (หัวเราะ)

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าประวัติศาสตร์อย่างนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจและจำเป็นมาก ที่เราจะต้องก้าวข้ามให้ได้ ยอมรับความเป็นจริง ไม่ใช่อยู่ในโลกมายาอย่างเดิมที่เหมือนกับตัวเองลอยอยู่ในสุญญากาศ ไม่เกาะเกี่ยวกับใครเลย เราอยู่ไม่ได้ในโลกปัจจุบัน เพราะโลกปัจจุบันจะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วยิ่งในกลุ่มภูมิภาคอย่างอาเซียน ถ้าเกาะกลุ่มกันได้ จะเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีพลัง แต่ทุกวันนี้ยังทำไม่ได้ เพราะยังไม่ก้าวข้ามเรื่องนี้

ผมคิดว่า ในแง่ของ ‘อุษาคเนย์ศึกษา’ ผมสนใจอยากให้เป็นประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ที่แท้จริง ที่ยอมรับการมีอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งคือความจริง ไม่ใช่มายา

เพราะฉะนั้น เรื่องผีที่กำลังเถียงกัน อย่างที่ผมบอก ผีไม่มีสัญชาติ ผีไม่มีลิขสิทธิ์ และถ้าผีนางนากเกิดที่พระโขนง โอกาสสูงมากที่จะเป็นดินแดนของคนเขมร เพราะฉะนั้น เขมรสร้างหนังเขมร เป็นผีเขมรก็ไม่ผิด แต่ประเด็นคือทั้ง 2 ฝ่ายไปติดกับดักเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยม

วัฒนธรรมร่วม ผีร่วมในอุษาคเนย์

 สมฤทธิ์กล่าวว่า มีคำคำหนึ่งเรียกว่า วัฒนธรรมร่วม คือต่างฝ่ายต่างมี บางสิ่งบางอย่าง ต่างคนต่างมี ไม่มีใครไปเอาของอีกคนมาได้ ในเมื่อผีไม่มีลิขสิทธิ์ ผีไม่มีสัญชาติ ก็เป็นวัฒนธรรมร่วม คือไม่ใช่ของใคร แล้วเราจะมีผีร่วมกันได้ไหม ก็เป็นเรื่องปกติ แล้วเอาเข้าจริง ๆ ก็มีผีร่วมในอุษาคเนย์ อย่างผีกระสือ ปรากฏว่าไทยก็มี เขมรก็มี มาเลเซียก็มี ก็คือ เมื่อได้ฟังกันมาก็สืบทอดกันไป ความเชื่อเหล่านี้สืบทอดแล้วไปปรุงแต่ง จึงทำให้กลายเป็นผีร่วมของอุษาคเนย์

นอกจากนั้น เพลงไทยเดิมก็สะท้อนว่าเราเต็มไปด้วยความหลากหลายมาก ๆ เพลงที่ดังมาก คือ เชิดจีน แขกมอญ ลาวแคน ทำไมเต็มไปด้วยชาติพันธุ์อื่น แขกลพบุรี ทำไมไม่เป็นเพลงไทยลพบุรี ไทยแคน ก็เพราะเพลงไทยเดิมบ่งบอกว่า นี่คือความจริงของสังคมนี้ที่มีความหลากหลาย

เหตุที่มองเพื่อนบ้านเป็นศัตรูและไม่ทัดเทียมตัวเอง

 เมื่อถามว่ากรณีไทยมีวัฒนธรรมร่วมกับจีน เหตุใดจึงไม่หมางใจกัน

สมฤทธิ์กล่าวว่า ไทยไม่หมางใจกรณีมีวัฒนธรรมร่วมกับจีน เพราะจีนใหญ่กว่าเรา พอมีวัฒนธรรมเหมือนกัน เราก็ดีใจ ในอดีตกาลนานมาในแง่อาณาจักรจีนใหญ่กว่าไทย และในปัจจุบันคนจีนก็คุมอำนาจเศรษฐกิจในประเทศไทย ถึงแม้จะเป็นคนไทยแล้วก็ตาม ความเป็นจีนไม่ได้เป็นสิ่งถูกประเมินว่าน่ารังเกียจ 

แต่ความเป็นพม่า ความเป็นเขมร ความเป็นลาว ความเป็นแขก ความเป็นมลายู ความเป็นมุสลิม จะถูกมองเป็นศัตรู มองเขาไม่ทัดเทียมกับเราและต่ำกว่าเรา มิหนำซ้ำก็กดทับว่าเป็นคนไม่ดี เป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ ไม่ซื่อสัตย์ แต่เราลืมส่องกระจกมองตัวเราเองว่าเราทำอย่างที่เราไปด่าเขาไหม เราก็ทำในประวัติศาสตร์

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์ชาตินิยม และเป็นชาตินิยมแบบตื้น ๆ มากคือด้านเดียว คือเห็นแต่ความผิดของคนอื่น เพราะฉะนั้น ประเทศไหนก็ตามที่ใช้วิธีถ่ายทอดประวัติศาสตร์แบบนี้ ผมเชื่อว่า เขมรก็เป็น ไทยก็เป็น ซึ่งไม่เป็นผลดี

เขมรกลุ่มหนึ่งถูกปลุกให้เกลียดไทย แล้วไทยกลุ่มหนึ่งก็ถูกปลุกให้เกลียดเขมร แล้วประชาคมอาเซียน ASEAN Community จะเกิดขึ้นได้อย่างไร แค่ 2 ประเทศนี้เรายังไม่ถูกกันเลย เรื่องผียังมาทะเลาะกันเลย ข้ามไม่พ้น เพราะเหตุสำคัญเกิดจากประวัติศาสตร์ชาตินิยม เรื่องนี้ อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ พูดเสมอว่า เรากับกัมพูชามีประวัติศาสตร์บาดแผลด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

ประวัติศาสตร์ชาตินิยมของทั้ง 2 ฝ่าย จึงทำให้เรามองอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่มิตร มองเป็นคนอื่น มองเป็นศัตรูด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการที่ศัตรูเอาของเราไป จึงเกิดความไม่พอใจ แต่ถ้าความสัมพันธ์ดีกันอยู่แล้วจะเกิดปัญหานี้ไหม สมมติอเมริกาเอาแม่นากไปสร้างอีกเวอร์ชัน เราอาจจะดีใจหรือเปล่า หรืออังกฤษ หรือจีนแผ่นดินใหญ่ เอาไปสร้างหนัง เราจะรู้สึกแบบไหน

ประเด็นก็คือ เป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา เป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เป็นตัวอย่างหนึ่งของความขัดแย้ง และจะมีความขัดแย้งอีกเยอะ ที่ผ่านมาก็มีเยอะ เพราะฉะนั้นจะมีปัญหาแบบนี้ไปอีกเรื่อย ๆ เรื่องของภาพยนตร์จึงเป็นแค่สะเก็ดที่โดนน้ำราดเข้าไปก็แสบ ก็ปะทุขึ้นมาเป็นความเจ็บปวด ก็คือความขัดแย้งนั่นเอง

“เรามีประวัติศาสตร์บาดแผลต่อกันจึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งความขัดแย้งนี้ เราน่าจะหาทางออก อย่างที่บอกว่า ของเขาก็มี ของเราก็มี ต่างฝ่ายต่างมีร่วมกันเป็นเรื่องปกติ” สมฤทธิ์กล่าว