27 มิ.ย. 2567 | 17:00 น.
“แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์
และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์”
เมื่อเวลา 10.45 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมือง ทฤษฎีการเมือง ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กลับคืนสู่อ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้าอย่างสงบ
ข้อเขียนนี้อยากเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่าน ทั้งที่เป็นลูกศิษย์และไม่ใช่ลูกศิษย์ ร่วมรำลึกถึงเส้นทางชีวิตระหว่างปริศนาและศรัทธาของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้บุกเบิกองค์ความรู้ด้านความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมืองคนสำคัญของไทย
‘ชัยวัฒน์ สถาอานันท์’ เกิดและเติบโตในครอบครัวมุสลิม ที่ย่านบางรัก หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เขาได้มุ่งหน้าเข้าศึกษาต่อที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความมุ่งหวังอยากจะเป็นนักการทูต แต่แล้วเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 ก็ได้สร้างปริศนาใหญ่ให้กับชัยวัฒน์ ว่าเหตุใดคนไทยถึงได้เข่นฆ่ากันเองได้
ความสงสัยต่อปริศนาดังกล่าวประกอบกับความหลงใหลในวิชาปรัชญาการเมืองที่ได้ร่ำเรียนจาก ‘ศ. ดร.สมบัติ จันทรวงศ์’ ผู้บุกเบิกการสอนปรัชญาการเมืองคนสำคัญของไทย ก็ได้ทำให้ชัยวัฒน์ตัดสินใจรับทุนการศึกษาจาก East-West Center ศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์
เพื่อไขปริศนาดังกล่าวที่ University of Hawaii ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นั่น เขาได้พบกับศาสตราจารย์ ‘เกล็น ดี.เพจ’ (Glenn D. Paige) นักรัฐศาสตร์ผู้เขียนงานเรื่อง ‘รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า’ (Nonkilling Global Political Sciences) ครูคนสำคัญที่เสริมสร้าง ‘ศรัทธา’ ให้กับชัยวัฒน์ว่าโลกของการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นไปได้
ปี 2525 หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ชัยวัฒน์กลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหลากหลายวิชาที่แปลกใหม่และทวนกระแส อาทิ วิชานวนิยายกับการเมือง, วิชาผู้นำทางการเมือง, ฯลฯ
แต่คุณูปการที่สำคัญยิ่งต่อวงการรัฐศาสตร์ไทยของชัยวัฒน์คือการบุกเบิกการสอนวิชาความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง (Politics and Nonviolent Action/Nonviolent Politics) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเปรียบเสมือนการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อ ‘ท้าทายทางเลือก’ ให้สังคมไทยได้ฉุกคิดถึงคนทางอื่นในการรับมือกับความขัดแย้งโดยไม่จำเป็นต้องจบลงที่ความรุนแรงเสมอไป
หน้าปกหนังสือ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. “ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ของเรา. 2557.
แม้จะบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงจนถึงระดับปริญญาเอก แต่ดูเหมือนว่า ‘ศรัทธา’ ต่อการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมืองของชัยวัฒน์ จะถูกท้าทายจากสังคมไทยอยู่เสมอ แต่ไม่มีครั้งใดที่ชัยวัฒน์จะละทิ้งแนวทางการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงเลยแม้แต่ครั้งเดียว
แม้ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองแตกขั้วแยกข้างอย่างแหลมคมและรุนแรงในสังคมไทย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ก็ยังคงทำหน้าที่คอยเตือนสติสังคมไทยอย่างเต็มความสามารถ ไม่ให้ไถลไปสู่หนทางความรุนแรงที่ไม่มีทางหวนกลับ ทั้งในรูปแบบของงานศึกษาวิชาการ / การบรรยายสาธารณะ / บทความหนังสือพิมพ์ / ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางความฉงนงงงวยของผู้ที่ไม่เข้าใจในวิธีแห่งศรัทธาดังกล่าว ซึ่งย่อมมีอยู่บ้างเป็นเรื่องธรรมดาของโลก
‘เกษียร เตชะพีระ’ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ของชัยวัฒน์ เคยกล่าวถึงแง่มุมดังกล่าวของชัยวัฒน์ ดังนี้
“ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นคนที่เกิดมาทวนกระแสโลกโดยที่โลกไม่รู้ตัว
ความคาดฝันของเขาคือชักชวนด้วยบทสนทนาและการตั้งคำถามอันแปลกพิศวงให้โลกทวนกระแสตนเองด้วยความกระตือรือร้น โดยที่กว่าโลกจะรู้ตัว
ว่ากำลังทำเช่นนั้นอยู่ก็สายเสียแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายและก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ที่ชัยวัฒน์ดื้อทำก็เพราะความเชื่อที่เหลือเชื่อของเขา 3 ประการ กล่าวคือ
1) โดยพื้นฐานแล้ว ธรรมชาติของคนเรานั้นดี
2) แต่ที่คนเราทำไม่ดี ก็เพราะไม่รู้
3) ฉะนั้นปัญหาจริยธรรมพูดให้ถึงที่สุดจึงเป็นปัญหาญาณวิทยา
นี่เป็นความเชื่อที่เชื่อได้ยากมาก แต่ถ้าเป็นความเชื่อที่ง่าย คนอย่างชัยวัฒน์คงไม่เชื่อ และโลกของเราก็คงไม่เป็นเช่นนี้”
การต่อสู้เพื่อศรัทธาในการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมืองของชัยวัฒน์ เป็นไปในหลากหลายรูปแบบวิธีการ แต่วิธีการที่ถูกจดจำได้เป็นอย่างดีในหมู่คนที่เคยสัมผัสกับชัยวัฒน์อยู่บ้าง ชัยวัฒน์มักจะชี้ชวนให้นักศึกษาของเขาตั้งคำถามที่แหวกของกรอบคิดความเป็นไปได้แบบเดิมอยู่เสมอ ด้วยพื้นฐานของความรักต่อวิชาปรัชญาการเมืองของชัยวัฒน์ ทำให้เขาเชื่อว่าบทสนทนาคือสะพานไปสู่ความรู้ จึงทำให้ผู้ที่ได้สนทนากับชัยวัฒน์ มักจะกลับไปด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจและความเจริญงอกงามทางสติปัญญาอยู่เสมอ
งานวิชาการ/งานวิจัย/โครงการวิจัย หลายชิ้นของเขาเกิดขึ้นเพราะเขาต้องการ ‘สนทนา’ กับปัญหาบางเรื่องที่เขาอยากจะทำความเข้าใจ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่อง ความรุนแรงกับการจัดการ ‘ความจริง’: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ (งานวิจัยดีเด่นประจำปี 2549) ที่ชัยวัฒน์ต้องการทำความเข้าใจว่า ‘ความรุนแรง’ ทำอะไรกับ ‘ความจริง’ และสังคมไทยมีวิธีการบอกเล่าความจริงอย่างไร หรือ โครงการวิจัยเรื่อง ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย ชัยวัฒน์และนักวิจัยคนอื่น ๆ ร่วมกันตั้งคำถามสำคัญว่าบางครั้งความรุนแรงในสังคมไทย อาจไม่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างล่อนจ้อนอยู่ตรงหน้า แต่กลับไป ‘ซ่อน’ อยู่ในหลายพื้นที่ซึ่งเราอาจนึกไม่ถึง บ่อยครั้งซ่อนอยู่ในรูปแบบของ ‘ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง’ และบ่อยครั้งกว่าที่ซ่อนอยู่ในรูปแบบของ ‘ความรุนแรงทางวัฒนธรรม’
วิธีการมองโลก/มองปัญหา ในลักษณะเช่นนี้ของชัยวัฒน์ ถูกเรียกว่า ‘วิธีวิทยาแบบดวงตาค้างคาว’ ด้วยเหตุที่ว่าค้างคาวนั้นไม่อาจมองเห็นอย่างเด่นชัดในเวลากลางคืน จึงจำเป็นต้องใช้เซนส์ทุกอย่างเพื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยตระหนักว่าสิ่งที่ได้มานั้นไม่แน่ว่าจะใช่หรือถูกต้อง 100% หรือพูดอีกแบบคือเป็นวิธีการเข้าหา ‘ความจริง’ ด้วยการประมาณตน
“ทำอย่างไรถึงจะเดินไปในโลกแล้วเห็นถึงความอัศจรรย์ ซึ่งแวดล้อมเราอยู่ ถ้าจะมีความปรารถนาลึก ๆ ก็คือ อย่าให้ความรู้สึกนี้อย่าได้สูญเสียไปจากตัวผมเลย เพราะว่ามันทำให้ผมยังรู้สึกว่าโลกนี้มันน่าสนใจ”
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คนจำนวนมากอาจจะคุ้นเคยและเข้าใจว่าชัยวัฒน์คือนักสันติวิธี และคาดหวังให้ชัยวัฒน์เป็นผู้รับรอง/ไม่รับรองความชอบธรรมของการต่อสู้เคลื่อนไหวด้วย ‘สันติวิธี’ ของฝ่ายตน/ฝ่ายตรงข้าม แต่อันที่จริงชัยวัฒน์ไม่เคยนิยามเรียกตัวเองว่า ‘นักสันติวิธี’ เลยแม้แต่ครั้งเดียว
“สันติวิธี คือ วิธีการต่อสู้กับอำนาจ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ไม่ใช้ความรุนแรง...ผมไม่เคยเรียกตัวผมว่าเป็นนักสันติวิธีนะ ผมเป็นนักสังคมศาสตร์ ผมสนใจปรัชญาการเมือง ผมเป็นนักวิจัยสันติภาพ แต่ผมไม่ใช่ ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักสันติวิธี’ คนอื่นเรียกทั้งนั้น”
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จะนิยามตนเองว่าอย่างไร
คุณูปการสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งชัยวัฒน์ได้มอบให้กับสังคมไทยคือ
การทำให้ ‘สันติวิธี’ กลายเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำ ต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด
แม้เป้าหมายของชัยวัฒน์ที่ฝันถึงโลกการเมืองที่ไม่รุนแรงจะยังไม่บรรลุผลในยุคสมัยนี้ แต่ทางเลือกของการเมืองแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง ก็ได้หยั่งรากลงอย่างแน่นหนา เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้สังคมไทยในวิกฤตความขัดแย้งยืดเยื้อ
ผู้เขียนขอปิดท้ายการรำลึกถึง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ด้วยข้อเขียนที่บรรยายลักษณะของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดย สุวรรณา สถาอานันท์ ภรรยา/ผู้หญิง ที่อยู่เคียงข้างตลอดเส้นทางระหว่างปริศนาและศรัทธาในชีวิตของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ดังนี้…
เธอเป็นคนอัตลักษณ์หลากหลาย รุ่มรวยจินตนาการ
เห็นความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ต้องเอาชนะ
เธอเป็นคนอบอุ่น รักเพื่อน ลูกศิษย์ ญาติพี่น้อง
แต่ใจจดจ่อกับซูเปอร์ฮีโร่ แวมไพร์ แดรกคูลา
เธอเป็นคนซับซ้อน พูดจาสำเนียงชาวเอเธนส์
แต่ลึก ๆ มีหัวใจเป็นชาวสปาร์ตานักสันติวิธี
เธอเป็นคนมีวาจาเป็นอาวุธ ชอบโยนวาทะประหลาดขึ้นบนฟ้า
ผู้คนต่างหยิบฉวยมาใช้ กว่าจะรู้ตัว ก็ได้กลายเป็น
ผู้ร่วมทางตามหาขุมทรัพย์ที่ปลายฝันไปเสียแล้ว
อ้างอิง
Satha-Anand, Chaiwat, Violence as Anti-Politics: A Political Philosophy Perspective (April 7, 2014). International Political Science Association, 21st World Congress of Political Science, Santiago, Chile, July 12-16, 2009, Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=2421166 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.2421166
หนังสือ พิศ(ษ)ผู้หญิงในชีวิตของ ‘สันติวิธี’ ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 14
งานปาฐกถาพิเศษ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ครั้งที่ 14 แนะนำประวัติปาฐก ศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. https://www.youtube.com/watch?v=6uHAZv6iQYU&ab_channel=EconTUOfficial
จันจิรา สมบัติพูนศิริ, และ ก้องกีรติ ประจักษ์ (บรรณาธิการ). ระหว่างปริศนาและศรัทธา: ชัยวัฒน์ สถาอานันท์กับการเมืองมนุษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2562.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง: กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ของเรา. 2557.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์.(บรรณาธิการ) “ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย”. กรุงเทพฯ: มติชน. 2553