เจมส์ ซี. สก็อต : ผู้เปิดโปงการต่อต้านในชีวิตประจำวัน

เจมส์ ซี. สก็อต : ผู้เปิดโปงการต่อต้านในชีวิตประจำวัน

‘เจมส์ ซี. สก็อต’ (James C. Scott) นักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงระดับโลกผู้เปิดโปงการต่อต้านในชีวิตประจำวัน

KEY

POINTS

  • การต่อต้านในชีวิตประจำวันไม่จำเป็นต้องเป็นการปฏิวัติหรือการประท้วงขนาดใหญ่เสมอไป แต่มักแฝงอยู่ในการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานแบบเฉื่อยชา หรือการแสดงออกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็น ‘อาวุธของผู้อ่อนแอ’ (Weapon of the Week) ในการต่อสู้กับการกดขี่
  • การต่อต้านไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระทำ แต่รวมถึงวิธีการที่ผู้ถูกกดขี่พูดคุย แสดงออก และสร้างวัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งอาจแตกต่างจากสิ่งที่แสดงออกต่อหน้าผู้มีอำนาจ ซึ่ง Scott เรียกมันว่า ‘บทสนทนาลับ’ (Hidden Transcripts)
  • แนวคิดของสก็อตเห็นใจฝั่งคนธรรมดาทั่วไปที่อ่อนแอกว่าในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม โดยชี้ให้เห็นว่าแม้การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเขาในชีวิตประจำวัน อาจดูไม่สำคัญ แต่เมื่อรวมกันแล้วสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

เจมส์ ซี. สก็อต’ อาจไม่ใช่ชื่อที่คุณได้ยินบ่อยๆ หากคุณไม่ได้ทำงานอยู่ในแวดวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ แต่แนวคิดของเขามีผลต่อชีวิตของเรามากกว่าที่คิด บางครั้งที่คุณรู้สึกอึดอัดกับระบบ หรือค้นพบวิธีเล็กๆ น้อยๆ ในการต่อรอง / ต่อต้านขัดขืนกับอำนาจ บางทีคุณอาจกำลังเดินตามรอยความคิดของสก็อตอยู่โดยไม่รู้ตัว 

ตัวอย่างเช่น

  • คุณอาจเป็นพนักงานออฟฟิศที่แอบเล่นโซเชียลมีเดียระหว่างทำงาน เพื่อผลาญเวลาให้หมดไปในแต่ละวัน
  • คุณอาจเป็นแม่บ้านที่แกล้งทำความสะอาดช้าๆ เมื่อนายจ้างขอให้ทำงานเพิ่ม
  • คุณอาจเป็นคนขับวินมอเตอร์ไซค์ที่รวมตัวกันประท้วงแอพเรียกรถที่กดค่าแรง ด้วยการขอให้ผู้โดยสารเป็นฝ่ายกดยกเลิกการใช้บริการ เพื่อให้คุณรับค่าโดยสารแบบไม่หักค่าธรรมเนียม
  • ฯลฯ

 

ทั้งหมดนี้ สก็อตจะบอกว่าคุณกำลัง ‘ต่อต้าน’ อยู่ แม้จะเป็นการต่อต้านแบบเงียบๆ ก็ตาม

งานของสก็อตพูดถึงเรื่องการต่อต้านขัดขืนไว้อย่างไร? อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่บทความนี้

เจมส์ ซี. สก็อต’ (James C. Scott) (1936-2024) เป็นนักรัฐศาสตร์และนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยลเป็นเวลากว่า 50 ปี สก็อตเป็นที่รู้จักในฐานะนักคิดที่มีอิทธิพลในด้านการศึกษาการต่อต้านของชาวบ้านและวิถีชีวิตของคนชายขอบ งานของเขาได้ท้าทายมุมมองดั้งเดิมเกี่ยวกับอำนาจรัฐและการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับ "มุมมองจากเบื้องล่าง" หรือประสบการณ์ของคนธรรมดาสามัญ การศึกษาภาคสนามของเขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย พม่า และมาเลเซีย ได้นำไปสู่การเขียนหนังสือหลายเล่มที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคของเขา

ตลอดช่วงชีวิตการทำงานของ เจมส์ ซี. สก็อต เขาได้ทุ่มเทศึกษาและเปิดเผยวิธีการที่คนธรรมดาสามัญใช้ต่อต้านและต่อรองกับอำนาจในชีวิตประจำวัน เริ่มจากงานชิ้นแรกอย่าง ‘The Moral Economy of the Peasant’ (1976) ที่อธิบายว่าชาวนามีหลักการทางศีลธรรมในการดำรงชีวิตและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นงานที่สก็อตได้วางรากฐานแนวคิดเกี่ยวกับการต่อต้านจากเบื้องล่างเอาไว้

ต่อมาใน ‘Weapons of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance’ (1985) สก็อตได้ขยายแนวคิดนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าการต่อต้านไม่จำเป็นต้องเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่เสมอไป แต่มักซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น  ชาวนายากจนมักแอบเก็บเกี่ยวข้าวในที่ดินของเจ้าของที่ดินรวยในตอนกลางคืน เพื่อเอาไปเลี้ยงครอบครัวของตน, เมื่อต้องทำงานให้เจ้าของที่ดิน ชาวนามักจะทำงานอย่างเชื่องช้า ไม่กระตือรือร้น เพื่อประท้วงค่าแรงที่ต่ำ, ชาวนามักอ้างว่าป่วยหรือมีธุระสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์แรงงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน, ชาวนามักเล่าเรื่องตลกหรือนินทาเกี่ยวกับเจ้าของที่ดินและเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นวิธีในการระบายความไม่พอใจ, ชาวนาอาจต่อรองเรื่องปริมาณผลผลิตที่ต้องแบ่งให้เจ้าของที่ดิน โดยอ้างว่าผลผลิตไม่ดีหรือมีปัญหาอื่นๆ เขาเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘อาวุธของคนอ่อนแอ’ ที่ใช้ต่อสู้กับการกดขี่ เพราะเมื่อเผชิญกับการกดขี่ ผู้ที่ถูกกดขี่เองก็ไม่ได้ยอมจำนนเสมอไป แต่พวกเขามีวิธีต่อต้านแบบแอบแฝงที่ยากจะตรวจจับ หากยกตัวอย่างในชีวิตจริงของพวกเรา เช่น พนักงานออฟฟิศที่แกล้งทำงานช้าๆ เมื่อถูกสั่งให้ทำงานล่วงเวลาโดยไม่จ่ายค่าแรงเพิ่ม, การขโมยเล็กๆ น้อยๆ ของคนงาน, แม่บ้านที่แกล้งทำความเข้าใจคำสั่งของนายจ้างผิด เพื่อหลีกเลี่ยงงานที่ไม่อยากทำ เป็นต้น

จากนั้นสก็อตได้พัฒนาแนวคิดของเขาเกี่ยวกับการต่อต้านในชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในขณะที่ ‘Weapons of the Weak’ เน้นการกระทำที่เป็นรูปธรรม เช่น การทำงานแบบเฉื่อยชาหรือการขโมยเล็กๆ น้อยๆ ในงานเรื่อง ‘Domination and the Arts of Resistance: Hidden Transcripts’ (1990)" ขยายมุมมองไปสู่โลกของภาษาและการสื่อสาร สก็อตชี้ให้เห็นว่าการต่อต้านไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระทำ แต่รวมถึงวิธีการที่ผู้ถูกกดขี่พูดคุย แสดงออก และสร้างวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งสองงานนี้เสริมซึ่งกันและกัน โดยแสดงให้เห็นว่าการต่อต้านเป็นทั้งการกระทำและการสื่อสาร ซึ่งแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของชีวิตประจำวัน

สก็อตอธิบายว่าคนที่ถูกกดขี่มักมี ‘บทสนทนาลับ’ (Hidden Transcript) ที่แตกต่างจากสิ่งที่พูดต่อหน้าผู้มีอำนาจ ในขณะที่ ‘บทสนทนาเปิดเผย’ (Public Transcript) คือสิ่งที่คนพูดต่อหน้าผู้มีอำนาจ แต่ ‘บทสนทนาลับ’ คือสิ่งที่พูดลับหลัง แต่ในบางครั้ง บทสนทนาลับอาจปรากฏในที่สาธารณะผ่านการใช้สัญลักษณ์หรือการแสดงออกทางวัฒนธรรมตัวอย่าง เช่น การที่ทาสแสดงสีหน้าไม่พอใจหรือกลอกตาเมื่อนายทาสไม่เห็น เป็นวิธีการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเงียบๆ หรือการที่กลุ่มผู้ถูกกดขี่ใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มที่ผู้มีอำนาจไม่เข้าใจ เพื่อสื่อสารกันอย่างปลอดภัย หากยกตัวอย่างในชีวิตจริงของพวกเรา เช่น พนักงานที่ยิ้มและพยักหน้าเห็นด้วยกับนโยบายใหม่ของบริษัทต่อหน้าผู้จัดการ แต่บ่นและวิจารณ์นโยบายนั้นกับเพื่อนร่วมงานในห้องพัก, คนขับวินมอเตอร์ไซค์ที่ใช้สติกเกอร์หรือเสื้อยืดที่มีข้อความประชดประชันเกี่ยวกับแอพเรียกรถ

นอกจากนี้ Scott ยังมีงานเขียนชิ้นสำคัญด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น Seeing Like a State (1998) ที่วิพากษ์วิธีการที่รัฐพยายามจัดระเบียบและควบคุมประชาชน, The Art of Not Being Governed (2009) ที่นำเสนอมุมมองใหม่ว่าการเลือกอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านอำนาจรัฐ และงานชิ้นล่าสุด Against the Grain (2017) ที่ท้าทายความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของรัฐ

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของการทำงาน สก็อตได้เปิดเผยให้เห็นว่า การต่อต้านไม่จำเป็นต้องเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่หรือการประท้วงขนาดใหญ่เสมอไป แต่มันคือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันในชีวิตของคนธรรมดา ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ แนวคิดของสก็อตไม่เพียงแต่ช่วยให้เราเข้าใจกลไกของอำนาจและการต่อต้านได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการให้กำลังใจแก่คนตัวเล็กตัวน้อยทุกคน ให้ตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้ไร้พลังเสมอไป และการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเขา อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่าที่พวกเขาคิด

ครั้งต่อไปที่คุณรู้สึกอึดอัดกับระบบ ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน ในชุมชน หรือในสังคม ลองนึกถึงสก็อต และตระหนักว่าการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคุณ อาจเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านที่ยิ่งใหญ่กว่าที่คุณคิด

แม้ว่าสก็อตจะจากไปแล้ว แต่มรดกทางความคิดของเขายังคงอยู่ ท้าทายให้เรามองโลกในมุมที่ต่างออกไป เห็นคุณค่าของคนตัวเล็กตัวน้อย และเข้าใจกลไกของอำนาจที่ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจช่วยให้เราสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเข้าใจกันมากขึ้นในอนาคต

 

ภาพ : Department of Political Science, Yale University

อ้างอิง

Bernama. (2024). Anwar saddened over James C. Scott passing: New Straits Times. 

James Scott. (n.d.). 

Scott, J. C. (1976). The moral economy of the peasant: Rebellion and subsistence in Southeast Asia. Yale University Press.

Scott, J. C. (1985). Weapons of the weak: Everyday forms of peasant resistance. Yale University Press.

Scott, J. C. (1990). Domination and the arts of resistance: Hidden transcripts. Yale University Press.

Scott, J. C. (1998). Seeing like a state: How certain schemes to improve the human condition have failed. Yale University Press.

Scott, J. C. (2009). The art of not being governed: An anarchist history of upland Southeast Asia. Yale University Press.

Scott, J. C. (2017). Against the grain: A deep history of the earliest states. Yale University Press.