‘เอ็ดวิน ฮับเบิล’ หนุ่มเนิร์ดผู้พิสูจน์ว่ามนุษย์เป็นแค่ธุลีกลางจักรวาล

‘เอ็ดวิน ฮับเบิล’ หนุ่มเนิร์ดผู้พิสูจน์ว่ามนุษย์เป็นแค่ธุลีกลางจักรวาล

‘เอ็ดวิน ฮับเบิล’ นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบว่า เอกภพประกอบด้วยกาแล็กซีหลายล้านล้านกาแล็กซี และเป็นผู้เรียกร้องให้มีการมอบรางวัลโนเบลแก่นักดาราศาสตร์

KEY

POINTS

  • ชีวิตหลากเส้นทางของเอ็ดวิน ฮับเบิล
  • การค้นพบครั้งสำคัญในปี 1924 และ 1929 ของเอ็ดวิน ฮับเบิล
  • การเดินหน้าเรียกร้องให้มีการมอบรางวัลโนเบลแก่นักดาราศาสตร์
  • กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และความก้าวหน้าทางอวกาศในยุคปัจจุบัน

30 ธันวาคม 2024 คือวันครบรอบ 100 ปีที่นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ‘เอ็ดวิน เพาเวลล์ ฮับเบิล’ (Edwin Powell Hubble) ประกาศการค้นพบระดับสั่นสะเทือนวงการเอกภพวิทยา (Cosmology)

เหตุการณ์นั้นเปรียบเสมือนวันที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งได้ตระหนักแน่ชัดว่า เผ่าพันธุ์ของตนมีขนาดเล็กจ้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับเอกภพอันไพศาล และ ‘บ้าน’ หรือ ‘กาแล็กซีทางช้างเผือก’ (The Milky Way) ของเรา ก็เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างหลังกะทัดรัดในมหานครนามว่า ‘จักรวาล’ (Universe) ซึ่งประกอบไปด้วยบ้านเล็กบ้านน้อยรวมทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านล้านหลัง

ความจริงดังกล่าวถูกค้นพบโดยชายวัย 35 ปี ผู้เป็นมาแล้วทั้งทนายความ ครูสอนภาษา ไปจนถึงโค้ชบาสเกตบอล ปฏิเสธเข้าทำงานในหอดูดาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อไปร่วมรบในสงครามโลก ก่อนจะกลับมาเปิดเผยความลับที่พลิกโฉมวงการดาราศาสตร์ภายในระยะเวลาแค่ 4 ปี

เนิร์ดอวกาศผู้ตีพิมพ์บทความดาราศาสตร์ตอนอายุ 12 ขวบ

เอ็ดวิน ฮับเบิล คือบุตรคนที่สามจากทั้งแปดคนของผู้จัดการบริษัทประกันภัยคนหนึ่งในรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา หลังลืมตาดูโลกในปี 1889 ครอบครัวของเขาก็ปลูกฝังความชอบด้านดาราศาสตร์เป็นงานอดิเรก ทว่ารู้ตัวอีกที ฮับเบิลในวัยไม่ถึงสิบขวบก็เอาจริงเอาจัง และอุทิศเวลายามดึกไปกับการส่องกล้องดูดาว สำรวจแสงสว่างบนท้องฟ้า ในยุคที่นักดาราศาสตร์ยังมีความเชื่อว่าผิด ๆ ว่า จักรวาลมีอาณาเขตเพียงสุดขอบกาแล็กซีทางช้างเผือก
 

เมื่ออายุได้ 12 ปี ครอบครัวฮับเบิลก็ย้ายมาอาศัยในรัฐอิลลินอยล์ ที่นั่น เนิร์ดอวกาศตัวน้อยได้เขียนจดหมายสนทนากับญาติผู้ใหญ่ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับดาราราศาสตร์ แต่ที่น่าประทับใจคือ จดหมายฉบับนั้นได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เรียกได้ว่าฮับเบิลฉายแววฉกาจในฐานะ ‘นักสื่อสาร’ ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้อันน่าทึ่งเกี่ยวกับดาราศาสตร์ให้ผู้คนรับรู้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น

อย่างไรก็ตาม ฮับเบิลก็ไม่ใช่เด็กเนิร์ดผู้ขลุกตัวอยู่แต่กับตำรับตำราอันเป็นภาพจำของอัจฉริยะพลิกโลก อันที่จริง เขาคือเด็กชายผู้มีหน้าตาหล่อเหลา รูปร่างสูงใหญ่ และเป็น ‘ตัวตึง’ ในฐานะนักกีฬามากความสามารถ หลงรักการเล่นบาสเกตบอล ฟุตบอล และต่อยมวย ทั้งยังเคยเป็นสุดยอดนักกรีฑากระโดดสูงประจำรัฐ

เส้นทางของฮับเบิลแลดูสมบูรณ์แบบ นอกจากจะเรียนดี กีฬาเก่ง ยังได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ตามที่ใฝ่ฝัน พออายุได้ 21 ปี ชีวิตของเขาในฐานะบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกลับต้องเผชิญกับการ ‘จำใจ’ ครั้งใหญ่ เมื่อพ่อผู้อยู่ในสภาพป่วยหนักใกล้สิ้นลมขอให้เขาเรียนต่อด้านกฎหมาย ฮับเบิลตกลงทำตาม เรียนกฎหมายควบคู่ไปกับวรรณกรรมและภาษาสเปน ก่อนจะจบมาเป็นทนายตามความต้องการของชายผู้ปฏิเสธความฝันของเขามาโดยตลอด

หลังผู้เป็นพ่อเสียชีวิต ฮับเบิลก็สมัครเป็นครูในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง รับหน้าที่สอนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภาษาสเปน ควบคู่ไปกับบทบาทโค้ชประจำทีมบาสเกตบอล ความฉกาจฉกรรจ์ของเขานำพาทีมให้ได้รับชัยชนะ แม้จะไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่ก็อยู่ในระดับน่าพอใจ เช่นเดียวกับการสอนของเขาที่มัดใจเด็กนักเรียน นำมาสู่คำชื่นชมบนหน้าหนังสือรุ่นว่าเป็น ‘ครูที่ยอดเยี่ยมและเป็นที่รักของเด็กทุกคน’
 

และแล้ว ชีวิตของเนิร์ดอวกาศก็กลับมาเข้าร่องเข้ารอยเดิม เมื่อเขาตัดสินใจลาออกในปีถัดมา ก่อนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สานต่อความฝันที่อยากเป็นนักดาราศาสตร์อีกครั้ง และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1914... เพียงสิบปีก่อนที่เอ็ดวิน ฮับเบิล จะประกาศการค้นพบพลิกวงการ

ขอตัวไปรบก่อน ค้นพบจักรวาลค่อยว่ากันทีหลัง

สามปีถัดมา ฮับเบิลซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างนักศึกษาปริญญาเอกกับดุษฎีบัณฑิตเต็มตัว ได้รับการทาบทามจาก ‘จอร์จ แอลเลอรี เฮล’ (George Ellery Hale) นักดาราศาสตร์หัวกะทิคนหนึ่งของวงการ ให้มาทำงานด้วยกันที่ ‘หอดูดาวเมาท์วิลสัน’ (Mount Wilson Observatory) ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในหอดูดาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในเวลานั้น ด้วยเป็นที่ตั้งของ ‘กล้องโทรทรรศน์ฮุกเกอร์’ (Hooker Telescope) กล้องโทรทรรศน์ซึ่งได้ชื่อว่ามีกระจกรับแสงที่ใหญ่และคมชัดที่สุดเท่าที่เคยมีมา

นั่นนับเป็นโอกาสหายากที่บรรดานักดาราศาสตร์จบใหม่คงไม่ยอมปล่อยหลุดมือไปง่าย ๆ ฮับเบิลเองก็คิดเช่นนั้นในทีแรก แต่การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสหรัฐอเมริกาในปี 1917 กลับทำให้จุดมุ่งหมายของเขาเปลี่ยนไป

ฮับเบิลต้องการรับใช้ชาติ นั่นเป็นที่มาของจดหมายถึงจอร์จ เฮล ในวันหนึ่ง ระบุว่าดุษฎีบัณฑิตไฟแรงที่เขาทาบทามมาทำงานด้วย ขออนุญาต ‘เลื่อน’ โอกาสครั้งสำคัญเพื่อเดินทางไปรบที่ฝรั่งเศส

เนิร์ดอวกาศผู้มีจุดมุ่งหมายในชีวิตหลากหลายและโลดโผนโจนทะยานรับใช้ชาติได้ราวสองปี หลังสงครามสิ้นสุด เขารีบกลับมาทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับนักดาราศาสตร์รุ่นพี่ ชายวัยสามสิบปรากฏตัวในชุดทหาร ก่อนสอดส่องสายตาผ่านเลนส์ขนาดยักษ์ของกล้องโทรทรรศน์ฮุกเกอร์ เรียกได้ว่าฮับเบิลกลับมาทำตามความฝันสูงสุดอย่างปัจจุบันทันด่วน สลัดคราบชายชาติทหารแล้วสวมบทเป็นนักดาราศาสตร์อัจฉริยะภายในเวลาอันรวดเร็ว

ขณะที่ฮับเบิลทำงานอยู่ที่หอดูดาวเมาท์วิลสัน ยืนมองท้องฟ้าเคียงข้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดมหึมา นั่นคือช่วงเวลาเดียวกับที่วงการดาราศาสตร์กำลังเกิดการถกเถียงครั้งสำคัญ ระหว่างแนวคิดว่า ทางช้างเผือกมีขนาดใหญ่กว่าที่คาดการณ์เอาไว้ กับแนวคิดที่ยังปราศจากหลักฐานอย่างการที่ทางช้างเผือกเป็นเพียงกาแล็กซีหนึ่งท่ามกลางกาแล็กซีมากมายนับไม่ถ้วน

และแล้ว ในปี 1923 ฮับเบิลก็ได้ค้นพบหลักฐานที่จะทำให้การโต้เถียงสิ้นสุดลง

ชายผู้ย้ำเตือนว่ามนุษยชาติมีขนาดเล็กจ้อยและถือกำเนิดขึ้นจากการระเบิด

สี่ปีหลังทำงานเป็นนักดาราศาสตร์เต็มตัว เฝ้าสังเกตกลุ่มแสงบนท้องฟ้ามานับครั้งไม่ถ้วน ฮับเบิลก็ได้ข้อสรุปว่า ‘เนบิวลา’ (Nebula) กลุ่มหนึ่งที่ปรากฏอยู่บนท้องฟ้า แท้จริงแล้วไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทางช้างเผือก หากแต่เป็นอีกกาแล็กซีซึ่งอยู่ใกล้กับทางช้างเผือกจนสามารถเรียกว่า ‘กาแล็กซีเพื่อนบ้าน’

ปลายปีถัดมา คำประกาศถึงการมีอยู่ของ ‘กาแล็กซีเอนโดรเมดา’ (Andromeda Galaxy) ทำให้มนุษยชาติตระหนักได้อย่างถ่องแท้ว่า ‘บ้าน’ ของเราช่างห่างไกลจากคำว่า ‘ศูนย์กลางจักรวาล’ เป็นได้เพียงธุลีเม็ดหนึ่งในเศษธุลีนับไม่ถ้วนซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วเอกภพ

ไม่เพียงเท่านั้น ในทศวรรษเดียวกัน ฮับเบิลก็ได้ใช้ ‘หลักการเลื่อนไปทางแดง’ (Redshift) พิสูจน์ว่ากาแล็กซีมากมาย ‘เคลื่อนห่าง’ จากโลกของเราไปเรื่อย ๆ บ่งชี้ว่าจักรวาลกำลังขยายตัว การค้นพบดังกล่าวช่วยพิสูจน์ความถูกต้องของ ‘ทฤษฎีบิกแบง’ (Big Bang Theory) ซึ่งกล่าวว่าทุกสรรพสิ่งในเอกภพถือกำเนิดจากการระเบิด (หรือการขยายตัว) ครั้งใหญ่เมื่อประมาณหนึ่งหมื่นสามพันล้านปีที่แล้ว

การค้นพบของฮับเบิลช่วยตอบคำถามให้สมมติฐานดั้งเดิม ก่อกำเนิดหลักการใหม่ และพิสูจน์ทฤษฎีซึ่งตกทอดมาจากนักดาราศาสตร์รุ่นพี่ หนึ่งในนั้นคือการพิสูจน์ว่า แนวคิด ‘จักรวาลสามารถเปลี่ยนแปลงขนาด’ ของ ‘อัลเบิร์ต ไอสไตน์’ (Albert Eistein) คือสิ่งที่ถูกต้องเป็นทุนเดิม ทั้งที่แม้แต่ไอสไตน์เองก็ยังเคลือบแคลงในแนวคิดดังกล่าว นั่นทำให้หลังได้รับรู้ทฤษฎีของฮับเบิล เจ้าตัวถึงขั้นเอ่ยปากว่า การเคลือบแคลงในครั้งนั้นของเขาถือเป็น “The Greatest Blunder” หรือความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต

จุดจบของเนิร์ดอวกาศ และจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักดาราศาสตร์ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ

รางวัลโนเบลคือรางวัลที่มอบแก่ปุถุชนเจ้าของแนวคิดอันเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติฉันท์ใด นักดาราศาสตร์ผู้ไขความลับของจักรวาล และตอบคำถามถึงรากเหง้าของมนุษยชาติ ก็คู่ควรกับรางวัลโนเบลฉันท์นั้น ทว่าเรื่องดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นกับฮับเบิล... ไม่เคยเกิดขึ้นกับนักดาราศาสตร์คนใดก็ตาม

เนื่องจากในเวลานั้น รางวัลอันทรงเกียรติยังปราศจากพื้นที่สำหรับนักดาราศาสตร์
หลังประกาศการค้นพบครั้งสำคัญในปี 1924 และ 1929 ฮับเบิลในฐานะผู้พลิกวงการเอกภพวิทยาก็ยังคงศึกษาคิดค้นทฤษฎีต่าง ๆ เรื่อยมา แม้จะปลีกตัวไปรับใช้ชาติช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะนักวิจัยขีปนาวุธ แต่การเบนเข็มด้านงานอาชีพก็เป็นสิ่งที่ชายผู้นี้คุ้นชิน และมั่นใจได้ว่า มันจะไม่กระทบกระทั่งกับความชื่นชอบดั้งเดิมซึ่งส่งเสียงเรียกร้องให้เขากลับไปคลุกคลีกับมันเสมอ

ในช่วงบั้นปลายชีวิต ฮับเบิลเรียกร้องให้รางวัลโนเบลขยายขอบเขตการมอบรางวัล โดยการเสนอให้นักดาราศาสตร์สามารถเข้ารับรางวัลในฐานะนักฟิสิกส์ เนื่องจากองค์ความรู้ด้านดังกล่าวก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการค้นพบทางฟิสิกส์เลยแม้แต่น้อย

ในที่สุด รางวัลโนเบลจึงมอบสิทธิ์รับรางวัลแก่นักดาราศาสตร์ในปี 1953 แต่นั่นคือไม่กี่เดือนหลังจากเอ็ดวิน ฮับเบิล เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ชีวิตของชายผู้ค้นพบความจริงของจักรวาลปิดฉากลงโดยที่เจ้าตัวไม่อาจรับรู้ด้วยซ้ำว่าความพยายามผลักดันของตนสัมฤทธิ์ผล

แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก เพราะตลอดอายุ 64 ปี ความยิ่งใหญ่ของเขากลายเป็นที่ประจักษ์ของผู้คนมากมาย และแม้ฮับเบิลจะเสียชีวิตไปแล้วหลายทศวรรษ แต่สิ่งอันเป็นตัวแทนของเขาก็ยังคงเดินหน้า เสาะแสวงหาความจริงในเอกภพเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน...

เมื่อ ‘ฮับเบิล’ ทะยานสู่ห้วงอวกาศ

24 เมษายน 1990 คือวันที่ยานขนส่งอวกาศดิสคัฟเวอรีทะยานผ่านชั้นบรรยากาศ และส่ง ‘กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล’ (Hubble Space Telescope) สู่ห้วงจักรวาล พร้อมสานต่อการค้นพบของฮับเบิลในฐานะกล้องโทรทรรศน์ที่รับสัญญาณภาพได้คมชัดที่สุด สามารถพานักดาราศาสตร์รุ่นใหม่ไปสำรวจวัตถุซึ่งอยู่ห่างจากโลกถึงหลักหมื่นล้านปีแสง

หนึ่งในภาพที่โด่งดังและสร้างแรงกระเพื่อมแก่ผู้สนใจอยากเป็นเนิร์ดอวกาศรุ่นต่อ ๆ มาที่สุด คงเป็นภาพ ‘เสาแห่งการก่อกำเนิด’ (Pillar of Creation) อันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เนบิวลานกอินทรีย์’ (Eagle Nebula) ซึ่งถูกบันทึกได้ในปี 1995 อวดรูปโฉมให้มนุษยชาติเห็นว่า สิ่งที่ฮับเบิลค้นพบ ณ หอดูดาวเมาท์วิลสันนั้นวิจิตรตระการ ยิ่งใหญ่ และตอกย้ำถึงความกระจ้อยร่อยของพวกเราเพียงใด

แม้ในปัจจุบัน กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) จะเข้ามารับช่วงต่อด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกลกว่าเก่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำหน้าที่ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมาของฮับเบิลได้สร้างคุณประโยชน์ต่อวงการดาราศาสตร์อย่างมหาศาล

แม้เอ็ดวิน ฮับเบิล จะไม่มีโอกาสมองเห็นสิ่งที่ตนค้นพบอย่างเต็มตาเฉกเช่นคนในยุคปัจจุบัน แต่ก็หวังว่าการได้ทำตามความฝันเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนคงพอเติมเต็มจิตใจของเนิร์ดอวกาศผู้ยิ่งใหญ่ได้บ้าง

และในวันที่การค้นพบของเขามีอายุครบ 100 ปี มันก็ได้พิสูจน์ว่าฮับเบิลไม่ต่างอะไรกับบิกแบง

เพราะการระเบิดความฝันของเขาเปรียบดังการสร้างนักดาราศาสตร์และเนิร์ดอวกาศรุ่นใหม่ ๆ ทั้งในยุคนี้ เรื่อยไปจนถึงอนาคตอันไกล เป็นจำนวนพอ ๆ กับดวงดาวเหลือคณานับที่สุกสว่างทั่วจักรวาลที่เขาค้นพบเลยด้วยซ้ำ 
 

เรื่อง: พงศภัค พวงจันทร์
ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

Biography, (2021), Edwin Hubble, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://www.biography.com/scientists/edwin-hubble
B. Myint, (2021), Edwin Hubble: 7 Facts About the Man Who Changed the Universe, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://www.biography.com/scientists/edwin-hubble-biography-facts
ESA/HUBBLE, (-), Edwin Powell Hubble - The man who discovered the cosmos , ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://esahubble.org/about/history/the_scientist_behind_the_name/
Nasa Science (gov.), (2013), Anniversary of Edwin Hubble’s Great Discovery, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://www.nasa.gov/image-article/anniversary-of-edwin-hubbles-great-discovery-2/
Nasa Science (gov.), (-), Edwin Hubble, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://science.nasa.gov/people/edwin-hubble/
Nasa Science (gov.), (-), Why have a telescope in space?, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://science.nasa.gov/mission/hubble/overview/why-have-a-telescope-in-space/
Robert Smith (Britannica), (2024), Edwin Hubble, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://www.britannica.com/biography/Edwin-Hubble
Royal Museum Greenwich, (-), What has the Hubble Space Telescope discovered?, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://www.rmg.co.uk/stories/topics/what-has-hubble-space-telescope-discovered
SoftSchools.com, (-), Edwin Hubble Timeline, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://softschools.com/timelines/edwin_hubble_timeline/212/
The Franklin Institute, (-), Case Files : Edwin Hubble, ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://fi.edu/en/news/case-files-edwin-hubble
เจฟฟรีย์ กรูเบ, (2024), ครบรอบ 100 ปี นักดาราศาสตร์ค้นพบกาแล็กซีอื่นนอกทางช้างเผือก, ค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2024 จาก https://www.bbc.com/thai/articles/c0lpr7p8j7ro
สสวท., (2020), กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope), ค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2024 จาก https://www.ipst.ac.th/knowledge/knowledge-calendar/5309/hubble-space-telescope.html