นักวิทย์ ‘สายมู’ แห่งโครงการอวกาศอินเดีย วิทยาศาสตร์อยู่ร่วมกับความเชื่อเหนือธรรมชาติ

นักวิทย์ ‘สายมู’ แห่งโครงการอวกาศอินเดีย วิทยาศาสตร์อยู่ร่วมกับความเชื่อเหนือธรรมชาติ

เมื่อความเชื่อเหนือธรรมชาติ อยู่ร่วมกับวิทยาศาสตร์ ในเรื่องราวของนักวิทย์ ‘สายมู’ แห่งโครงการอวกาศอินเดีย เบื้องหลังยานไร้มนุษย์ที่จอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ

  • เบื้องหลังความสำเร็จด้านอวกาศของอินเดีย มีทีมนักวิทยาศาสตร์มากฝีมือ พวกเขาผสมผสานการทำงานที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์ ร่วมกับความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ
  • ก่อนปล่อยจันทรายาน-3 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ราว 8 คน นำจันทรายาน-3 จำลองไปที่วัดติรุปติ เวนกตชลาปาตี
  • ขณะที่หัวเรือใหญ่ของ ISRO ไปสวดมนต์ที่วัดศรีเจนกลัมมะ วันเดียวกับที่นำยานจำลองไปที่วัด

หนึ่งสัปดาห์หลังจากประสบความสำเร็จนำยานไร้มนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้ อินเดียก็เดินหน้าโครงการอวกาศอันยิ่งใหญ่ ส่งยานอาทิตยา-แอล1 ไปสำรวจศูนย์กลางระบบสุริยจักรวาล

อาทิตยา-แอล 1 ถูกปล่อยก่อนเที่ยงวันเสาร์ 2 กันยายน 2023 เล็กน้อย การถ่ายทอดสดเผยให้เห็นผู้ชมจำนวนมากโห่ร้องยินดีท่ามกลางเสียงอึกทึกของการปล่อยจรวด

“ขอแสดงความยินดีกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของเรา เราจะพยายามด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปอย่างไม่ลดละเพื่อพัฒนาความเข้าใจจักรวาลให้ดียิ่งขึ้น” นายกรัฐมนตรีอินเดียโพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X อดีตทวิตเตอร์

ยานอาทิตยาจะใช้เวลา 4 เดือน เดินทางไกล 1.5 ล้านกิโลเมตร ไปสังเกตการณ์ชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ เพื่อให้ถึงจุดหมายที่เรียกว่า ‘จุดลากร็องฌ์ที่ 1’ หรือ ‘แอล1’

ชาติที่ 4 ลงจอดบนดวงจันทร์

เดือนก่อนอินเดียประกาศศักดาเป็นชาติที่ 4 ที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จตามรอยรัสเซีย สหรัฐ และจีน ด้วยงบประมาณไม่ถึง 75 ล้านดอลลาร์ ชาวอินเดียยินดีกันถ้วนหน้า แต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้มีมุมเล็ก ๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึง

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม หนึ่งวันก่อนปล่อยจันทรายาน-3 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ราว 8 คน นำจันทรายาน-3 จำลองไปที่วัดติรุปติ เวนกตชลาปาตี (Tirupati Venkatachalapathy Temple) ในเมืองติรุปติ รัฐอานธรประเทศ หนึ่งในนั้นคือเลขาธิการฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ ISRO

“นี่คือจันทรายาน-3 ทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ เราจะปล่อยยานพรุ่งนี้” นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งในทีมกล่าวกับผู้สื่อข่าว

ส่วนเอส โสมนาถ ประธาน ISRO ไปสวดมนต์ที่วัดศรีเจนกลัมมะ ในวันเดียวกัน 

“จันทรายาน-3 จะเริ่มต้นเดินทางพรุ่งนี้ เราหวังว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี และลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 23 ส.ค.” ประธาน ISRO กล่าวหลังสวดมนต์

ความเชื่อเหนือธรรมชาติ

การสวดมนต์ไหว้พระขอพรไม่ใช่ธรรมเนียมที่เพิ่งมี นักวิทยาศาสตร์ ISRO ทำมานานแล้ว หลายปีก่อน เจ้าหน้าที่เกษียณแล้วรายหนึ่งเคยเผยกับสื่อว่า ISRO อาจส่งจรวดและดาวเทียมไปยังดวงดาวหลายดวง แต่ได้รับการชี้นำจากเรื่องเหนือธรรมชาติและความเชื่อส่วนตัวด้วย เช่น การนับถอยหลังปล่อยจรวด ณ ฐานปล่อย ISRO จะไม่เริ่มต้นในเวลาของดาวราหู (Rahu Kaalam) ซึ่งกินเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งเนื่องจากเป็นฤกษ์ไม่ดีต่อการเริ่มต้นงานใหม่

“ในภารกิจระหว่างดวงดาว ไม่สามารถหาฤกษ์ตรงกับเวลาปล่อยจรวดได้ การปล่อยยิงต้องพิจารณาจากตำแหน่งดาวปลายทางในวันที่คาดว่ายานจะเข้าสู่วงโคจร ดังนั้น การนับถอยหลังต้องเริ่มต้นด้วยฤกษ์มงคล” เจ้าหน้าที่คนเดิมอธิบาย

ในอดีต ก่อนการปล่อยจรวดทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ ISRO จะสวดมนต์ที่วัดเทพ เวงเกเตศวร ในเมืองติรุมาลา รัฐอานธรประเทศ วางแบบจำลองจรวดไว้แทบเท้าเทพขอพระองค์อวยพรให้ประสบความสำเร็จ

หลายปีผ่านไป เจ้าหน้าที่เริ่มไปวัดอื่น ๆ ใกล้กับฐานยิงจรวดศรีหริโกฏะที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อขอพรให้ภารกิจสำเร็จ และก่อนที่จรวดจะเข้าสู่ระยะต่าง ๆ ต้องมีการทำพิธีบูชา

“นี่เป็นความเชื่อส่วนบุคคลล้วน ๆ ไม่มีใครอยากเสี่ยงกับพระเจ้าและยาพิษหรอก” อดีตผู้บังคับบัญชา ISRO เผย

 

เลข 13 อัปมงคล

นอกจากนี้ ยังมีกรณีนักวิทยาศาสตร์จรวดที่เกษียณแล้วรายหนึ่ง ตำแหน่งสูงถึงระดับผู้อำนวยการโครงการ เขาต้องสวมเสื้อใหม่ในวันปล่อยจรวด หรือแม้แต่การที่ ISRO เองไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมจรวดนำส่งดาวเทียม ‘พีเอสแอลวี-ซี13’ จึงไม่มีในระบบ หลังจากส่งจรวดพีเอสแอลวี-ซี12 ไปแล้ว

ISRO ใช้จรวดพีเอสแอลวี-ซี14 ทำหน้าที่นำดาวเทียมโอเชียนแซต-2 และดาวเทียมนาโนของยุโรป 6 ดวงขึ้นสู่วงโคจรโลก ข้ามตัวเลข 13 ไปเลย

เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงยืนยัน “ไม่มีการออกแบบจรวดหมายเลขดังกล่าว” แต่ก็ไม่ได้ให้ความเห็นว่า ISRO มองว่าเลข 13 เป็นตัวเลขอัปมงคลหรือไม่

ที่น่าสนใจคือ หลังจากภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอพอลโล-13 ล้มเหลว องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ไม่เคยใช้ตัวเลขนี้ไปตั้งชื่อภารกิจอีกเลย

อย่างไรก็ตาม ภารกิจดาวอังคารของอินเดียก็ฝ่าขนบด้วยการบินในวันอังคาร

จากปากคำเจ้าหน้าที่ ISRO อีกคนหนึ่ง ระบุว่า “นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ ISRO ที่ปล่อยจรวดวันอังคาร โดยทั่วไปวันอังคารถือว่าเป็นวันไม่ดี”

แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสอีกรายในภารกิจดาวอังคารเผยว่า สำหรับเขา วันอังคารเป็นวันดี เนื่องจากภารกิจสำเร็จ

จากความเห็นที่แตกต่างชี้ว่า นี่เป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคลอย่างแท้จริง

 

ชาวอินเดียทั่วโลกทำพิธีขอพร

ในเมื่อนักวิทยาศาสตร์ยังต้องขอกำลังใจจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มิพักพูดถึงประชาชนคนสามัญ ตอนที่ยานสำรวจของจันทรายาน-3 จะลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ กำหนดเวลาไว้ที่ 18.04 น. วันพุธที่ 23 สิงหาคม ประชาชนทุกความเชื่อตั้งแต่เมืองฤาษีเกศ ไปจนถึงสหรัฐฯ ขอพรกันตั้งแต่เช้า ขอให้อินเดียประสบความสำเร็จในหมุดหมายประวัติศาสตร์แห่งการสำรวจดวงจันทร์

ตัวอย่างเช่น ในรัฐมัธยประเทศ ประชาชนไปรวมตัวกันที่วัดศรีมหากเลศวร ในเมืองอุชเชน ประกอบพิธีพิเศษเรียกว่า ‘ภัสมาอารตี’ ขอให้จันทรายาน-3 ลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ที่เมืองฤาษีเกศมีการทำพิธี ‘คงคาอารตี’ ในสหรัฐฯ ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียทำพิธีบูชาไฟ ‘หวัณ’ และ ‘อภิเษกมฺ’

ส่วนที่อังกฤษ นักศึกษาและนักวิจัยชาวอินเดียในอักซ์บริดจ์ ลอนดอน จัดพิธีขอพรที่วัดอัตยา ศักติ มาตาจี ขอให้จันทรายาน-3 ลงจอดอย่างปลอดภัย

ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่า พลังศรัทธาเหล่านั้นส่งผลหรือไม่ แต่อินเดียก็ประสบความสำเร็จเป็นชาติแรกของโลกที่นำยานลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์ซึ่งเป็นพื้นที่อันท้าทายได้สำเร็จ แตกต่างจากความพยายามล่าสุดของรัสเซีย ที่ต้องการให้ยานลูนา-25 ไปจอดที่ขั้วใต้ได้ก่อนอินเดีย แต่กลับล้มเหลวกระแทกผิวดวงจันทร์ในวันที่ 20 สิงหาคม ก่อนเวลากำหนดลงจอด 12 ชั่วโมง

 

เรื่อง: กนกวรรณ เกิดผลานันท์

ภาพ: แฟ้มภาพ เอส โสมนาถ ประธาน ISRO ประกอบกับแฟ้มภาพทีมงาน ISRO ของอินเดีย จาก Getty Images

อ้างอิง:

Business-standard

India Today

Channel News Asia

Hindustan Times

Hindustan Times (2)