สู้ต่อไป ทะเคะชิ! ทะเคะชิคือใคร? ทำไมต้องเป็นทะเคะชิ? เรื่องราวของ Kamen Rider คนแรก

สู้ต่อไป ทะเคะชิ! ทะเคะชิคือใคร? ทำไมต้องเป็นทะเคะชิ? เรื่องราวของ Kamen Rider คนแรก

“สู้ต่อไป ทะเคะชิ!” ประโยคที่ติดปากวัยรุ่นกันมารุ่นต่อรุ่น แล้ว ทะเคะชิ คือใคร? ทำไมต้องเป็นทะเคะชิ?

“สู้ต่อไป ทะเคะชิ” มีใครเคยได้ยินประโยคนี้กันบ้างหรือไม่? ในที่นี้จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ฮงโง ทะเคะชิ (本郷猛)” แห่ง Kamen Rider (仮面ライダー) ภาคแรกสุดนั่นเอง ถ้าใครทันได้ดูตอนออกอากาศเรียลไทม์ทางช่อง 7 ขาวดำ (ปัจจุบันคือ ททบ. 5) ในปี พ. ศ. 2514 แสดงว่าน่าจะไม่ใช่วัยรุ่นแล้วสินะ ฮี่ ๆ ๆ แต่เดิมสมัยก่อน ญี่ปุ่นยังไม่มีภาพยนตร์แนว Kamen Rider แบบนี้ แต่เป็นช่วงที่ตลาดหนังฮีโร่ญี่ปุ่นกำลังเริ่มเติบโต มีการ์ตูนอย่างเรื่อง “หน้ากากเสือ” โด่งดังอยู่แล้วก่อนหน้านั้น ทำให้ทีมงานวิเคราะห์กันว่าถ้าจะทำอะไรแหวกแนวตลาดในตอนนั้น ควรทำอะไรที่เป็นแนว “ฮีโร่ใส่หน้ากาก” น่าจะดี และผู้เขียนการ์ตูนต้นฉบับ Kamen Rider คือ อิชิโนะโมะริ โชทะโร่ ลูกศิษย์เอกของ เทะสึกะ โอะซะมุ ก็ได้รับมอบหมายให้คิดพล็อตเรื่อง จึงมีแนวคิดประยุกต์การ์ตูนที่อิชิโนะโมะริเคยเขียนเรื่อง Skullman เข้ามาประกอบการดีไซน์ และพอดีในช่วงเวลาใกล้กันนั้นเอง ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ อย่างการเกิดโรคอิไตอิไตของพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากภาวะแคดเมียมสะสมในกระดูกจนกระดูกผุไปทั่วร่าง เป็นต้น จึงได้ไอเดียว่าฮีโร่คนใหม่จะต้องมีนัยแฝงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ด้วย เมื่อเอาเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มองว่าน่าจะเวิร์ค มารวมกัน อิชิโนะโมะริจึงได้ร่างการ์ตูนที่เป็นต้นแบบคือ Kamen Rider เป็นเวอร์ชั่นการ์ตูน ซึ่งใช้เป็นไอเดียหลักในการสร้างภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงด้วย พล็อตในการ์ตูนและในภาพยนตร์จะคล้ายกันแต่จะต่างกันไปในรายละเอียด แต่เราจะเน้นพูดถึงเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ซึ่งออกอากาศในญี่ปุ่นใน ค. ศ. 1971 (ตรงกับ พ. ศ. 2514 คือไทยเอามาออกอากาศในปีเดียวกับญี่ปุ่นเลย ห่างกันแค่ไม่กี่เดือน) ในไทยมักเรียก Kamen Rider ยุคแรก ๆ ด้วย “มด” ว่าเป็นไอ้มดแดง ไอ้มดดำ ไอ้มดเอ็กซ์ ฯลฯ แต่จริง ๆ แล้ว Kamen Rider ภาคแรกสุดนั้นเป็น ตั๊กแตน (Grasshopper) เนื่องจากตั๊กแตนมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางสิ่งแวดล้อมสำหรับภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่น และพระเอกต้องใช้ “พลังลม” ในการแปลงร่าง ซึ่งแสดงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยพลังงานสะอาดเช่นกัน ส่วนพวกเหล่าร้ายที่ชื่อองค์การช็อคเกอร์ (ショッカー) จึงเป็นพวกที่ใช้ธรรมชาติในทางหายนะ อย่างการจับมนุษย์และสัตว์มาทดลอง หรือจับมนุษย์มาเปลี่ยนเป็นมนุษย์ดัดแปลงนั่นเอง ฮงโง ทะเคะชิ เป็นนักศึกษาหนุ่มอัจฉริยะที่ไอคิวสูงถึง 600 และมีร่างกายแข็งแรงมากระดับนักกีฬา มีอาชีพเสริมเป็นนักแข่งมอเตอร์ไซค์ (Rider) ถูกองค์การช็อคเกอร์จับไปผ่าตัดจนกลายเป็นมนุษย์ดัดแปลง (改造人間) แต่ก่อนที่จะถูกล้างสมองให้กลายเป็นสาวกของช็อคเกอร์ ก็มี ดร. มิโดะริกะวะ ที่ถูกช็อคเกอร์จับมาใช้งาน เข้าช่วยเหลือทะเคะชิออกมาได้ โดย ดร. มิโดะริกะวะถูกฆ่าใน EP. 1 นั่นเอง ส่วนทะเคะชิซึ่งกลายร่างเป็นอมนุษย์ไปแล้วจึงตัดสินใจจะต่อสู้กับเหล่าร้ายให้ถึงที่สุด และต้องปกป้อง มิโดะริกะวะ รุริโกะ (緑川ルリ子) ลูกสาวคนสวย ของ ดร. มิโดะริกะวะไปพร้อม ๆ กัน (สวยมาก ๆ ตามรสนิยมของยุคนั้นเลยล่ะ) การแปลงร่างของทะเคะชินั้น ต้นฉบับจริง ๆ คือจะต้องขับมอเตอร์ไซค์ที่จูนให้วิ่งเร็วมากถึง 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้ลมพัดแรง ๆ ผ่านเข็มขัดไรเดอร์ที่มีหัวเข็มขัดเป็นกังหันลมให้หมุน เพื่อชาร์จพลังงานลมเข้าไปในกล้ามเนื้อจำลองของทะเคะชิ จึงจะแปลงร่างเป็น Kamen Rider ได้ (Kamen Rider = แปลตรงตัวคือ นักบิดมอเตอร์ไซค์ผู้สวมหน้ากาก) สำหรับสังคมที่ให้ความสำคัญกับการมีกลุ่มให้ตัวเองได้เข้าสังกัดแบบญี่ปุ่นนั้น ทะเคะชิจึงอ้างว้างมาก เพราะตัวเองกลายเป็นอมนุษย์ไปเรียบร้อยแล้ว แม้จะมีตัวละครอีกหลายคนที่เป็นมิตรสหาย แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจความอ้างว้างที่ “แปลกแยก” ไปจากคนอื่นนี้ ทุกครั้งที่ต่อสู้เสร็จ เวลาจบตอน ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะมีคำพูดเปลี่ยนไปทุกครั้งตามรายละเอียดของแต่ละตอน แต่ก็จะจบด้วยการให้กำลังใจว่า “อย่าท้อนะทะเคะชิ” หรือ “สู้ต่อไปนะทะเคะชิ” ในภาษาไทยจึงกลายเป็นคำฮิตของเกือบทุกตอนว่า “สู้ต่อไป ทะเคะชิ” และสืบต่อมาจนกระทั่งยุคที่ “สู้ต่อไป จีบัน” มาแรงแซงทางโค้ง คำว่า “สู้ต่อไป ทะเคะชิ” จึงจาง ๆ หายจากสังคมไทยไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ฟุจิโอะกะ ฮิโระชิ (藤岡弘) นักแสดงที่แสดงเป็นทะเคะชิ ประสบอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำ ทำให้ต้องหยุดแสดง ทีมผู้สร้างต้องแก้ปัญหาโดยการสร้างตัวละคร Kamen Rider หมายเลข 2 ขึ้นมาแทนคือ อิชิมนจิ ฮะยะโตะ (一文字隼人) ซึ่งรับช่วงเป็นไรเดอร์ต่อจากทะเคะชิ เนื่องจากผู้แสดงเป็นฮะยะโตะนั้นไม่มีใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ ทำให้ไม่สามารถแสดงฉากที่ขับมอเตอร์ไซค์เร็ว ๆ ให้ลมพัดเพื่อแปลงร่างได้ เพราะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีของเยาวชน ทีมผู้สร้างเลยต้องคิดวิธีแปลงร่างใหม่เป็นท่า HENSHIN แล้วกระโดดสูงทะยานไปในอากาศเพื่ออัดลมเข้าเข็มขัดแทน ท่า HENSHIN ก็เลยเป็นที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองทั้งในญี่ปุ่นและในไทย  หลังจากฮิโระชิหายดีแล้วกลับมาแสดงอีกครั้ง เลยต้องแปลงร่างด้วยท่า HENSHIN ไปด้วย ก็เลยกลายเป็นว่ามี Kamen Rider 2 คนที่โพสต์ท่า HENSHIN ไม่เหมือนกัน แล้วทะยานไปในอากาศเพื่อแปลงร่างแทน แม้ว่าทะเคะชิจะไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอีกแล้ว แต่คำว่า “สู้ต่อไป ทะเคะชิ” ก็กลายเป็นคำพูดติดปากของสังคมไทยไปเรียบร้อย น่าเสียดายที่ไม่มีคำว่า “สู้ต่อไป ฮะยะโตะ” บ้าง เพราะว่าความนิยมของ Kamen Rider หมายเลข 2 นั้น ยังไงก็สู้หมายเลข 1 ไม่ได้ และทำให้ฮิโระชิกลายเป็นนักแสดงค้างฟ้าของวงการบันเทิงญี่ปุ่นจนกระทั่งบัดนี้ และภาพยนตร์แนว Kamen Rider ก็ยังอยู่ยั้งยืนยงตราบจนปัจจุบันก็ยังมีภาคใหม่ ๆ ทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำกำไรมหาศาลให้ทีมผู้สร้าง และสร้างค่านิยมต่าง ๆ ให้สังคมญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 50 ปีแล้ว เวลาที่ท้อแท้ หรือหงุดหงิดใจ ลองทำท่า HENSHIN ในกระจกดู แล้วบอกตัวเองว่า “สู้ต่อไปนะ .....(ชื่อของทุกท่านเอง)” อาจจะฮึกเหิมมีกำลังใจขึ้นก็ได้