12 ต.ค. 2563 | 11:45 น.
ความสำเร็จจากรายการเรียลิตีร้องเพลงอย่าง AF (ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย) ทำให้ชื่อของนักร้องหน้าใหม่อย่าง อ๊อฟ-ปองศักดิ์ รัตนพงษ์ กลายเป็นที่รู้จักในวงการดนตรีไทย ก่อนที่ต่อมาเพลงจากอัลบั้มแรกในชีวิตของเขาอย่าง ‘จากคนรักเก่า’ จะเป็นความสำเร็จที่การันตีให้ อ๊อฟ-ปองศักดิ์ ก้าวขึ้นมาอยู่ในอุตสาหกรรมเพลงไทยได้อย่างเต็มตัว อ๊อฟ เป็นเจ้าของบทเพลงเศร้าสุดฮิตมากมาย เช่น ‘อย่าใกล้กันเลย’, ‘ของที่เธอไม่รัก’, ‘แทงข้างหลัง...ทะลุถึงหัวใจ’ และ ‘เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย’ เสียงร้องที่ถ่ายทอดความเศร้าผ่านบทเพลงได้เป็นอย่างดี รวมกับการเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ที่แฝงไปด้วยลีลาจัดจ้านบนเวที ทำให้ปัจจุบัน อ๊อฟ-ปองศักดิ์ เป็นที่ยอมรับในฐานะนักร้องคุณภาพ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาก็ต้องผ่านความล้มเหลวมาแล้วมากมาย แถมเมื่อจะมีคอนเสิร์ตเดี่ยว ‘Magic Night Concert คืนมหัศจรรย์วันของอ๊อฟ ปองศักดิ์’ กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีอันต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 The People มีโอกาสคุยกับ อ๊อฟ-ปองศักดิ์ ในหลากหลายประเด็นของชีวิต ทั้งเรื่องราวในวัยเด็ก การเปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ มุมมองความรักที่เปลี่ยนไป และเรื่องความสูญเสียที่เขาต้องก้าวข้ามไปให้ได้ The People: กว่าจะมาเป็น อ๊อฟ-ปองศักดิ์? ปองศักดิ์: อ๊อฟโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างอบอุ่น มีพี่น้อง 4 คน คือพี่สาว 2 คนแล้วก็พี่ชาย อ๊อฟเป็นคนสุดท้อง เราโตมาด้วยความสนิทสนมกันมาก ๆ เพราะคุณแม่กับป๊าจะสอนให้เรารักกัน ดูแลกัน ช่วยเหลือกัน เราอยู่ในครอบครัวฐานะปานกลาง ไม่ได้ลำบากมากแล้วก็ไม่ได้รวย ทำให้เราได้มีโอกาสสู้ชีวิต มีช่วงหนึ่งที่บ้านล้มละลายจากธุรกิจส่งออก ส่งไม้ออกนอกประเทศ มันก็พัง เราก็ผันตัวเองไปเป็นพ่อค้าแม่ค้า ที่บ้านมีรถกระบะ เอามาทำเป็นเหมือนชั้นวางขายพวกข้าวแกง เพื่อที่จะขนไปขายตามตลาดต่าง ๆ เรื่องนี้เลยทำให้เราเข้าใจชีวิตมาก เข้าใจว่าวัฏจักรของชีวิตรวยจนเป็นยังไง มีไม่มีเป็นยังไง ถ้าเกิดว่าอยากจะมีก็ต้องทำ ป๊ากับแม่จะสอนให้เราลำบาก ถ้าอยากได้ก็ต้องทำให้ได้เอง ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ The People: ชีวิตมาเจอกับการร้องเพลงได้อย่างไร ปองศักดิ์: บ้านอ๊อฟเป็นบ้านค่อนข้างบันเทิงนิดหนึ่ง คือป๊าชอบร้องเพลง แม่ก็ชอบร้องเพลง เลยทำให้เราซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาอยู่บ้านก็จะได้ยินป๊าและแม่ร้องเพลง แล้วทุกวันอาทิตย์จะเป็นวันรวมญาติ รวมพี่รวมน้อง แล้วก็ร้องเพลงสนุกสนานเฮฮากัน เลยทำให้เราค่อนข้างเป็นบ้านที่เอนเตอร์เทน ทำให้เรารักไปโดยปริยาย พอร้องเพลงมาสักพักก็รู้สึกว่าตัวเองชอบมาก เริ่มรู้สึกว่าตัวเองชอบจากการที่เราฟังเพลงและไปประกวดร้องเพลง อ๊อฟประกวดร้องเพลงมาเยอะมาก หลายรายการ ต้องบอกก่อนว่าเราเกิดที่กรุงเทพฯ แต่คุณแม่เป็นคนเชียงใหม่ เราก็เลยไปโตที่เชียงใหม่ แล้วก็กลับมาเรียนกรุงเทพฯ ชีวิตจะไป ๆ มา ๆ เกี่ยวข้องกับเชียงใหม่ ซึ่งต้องบอกเลยว่าเชียงใหม่เป็นเมืองผลิตนักร้องเก่ง ๆ นักดนตรีเจ๋ง ๆ เลยทำให้เราได้ซึมซับ แล้วก็ประกวดร้องเพลงตามเวทีต่าง ๆ เวทีเล็กเวทีใหญ่ เวทีในกรุงเทพฯ รายการต่าง ๆ อ๊อฟไปมาหมด เพราะตอนเด็ก ๆ มีความฝันอยากเป็นนักร้อง แต่มันเป็นไปได้ยากสำหรับเด็กบ้านนอก เราเลยต้องเก็บความฝันนั้นเอาไว้ แต่ว่าไม่ใช่เก็บไว้เฉย ๆ ก็พยายามไขว่คว้ามัน ไปประกวดร้องเพลงต่าง ๆ จริง ๆ แล้ว เวทีประกวดทุกเวทีสำคัญหมด แต่เวทีที่เปลี่ยนชีวิตอ๊อฟก็คือบ้าน AF (ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย) เป็นรายการประกวดร้องเพลงที่ทำให้คนทั่วประเทศได้เห็นถึงตัวตนของคนที่มาประกวดด้วย การเข้ามาอยู่ในบ้าน AF เราได้พัฒนาตัวเอง เพราะว่าคนได้เห็นเราร้องเพลง ได้เห็นศักยภาพเรา แล้วก็ได้เห็นตัวตนของเราตลอด 24 ชั่วโมง คนเขาก็เลยจะรักและผูกพันกับตัวผู้เข้าประกวด อ๊อฟก็เลยโชคดีตรงที่ทั้งผลงานเพลงแล้วก็ตัวตนของเราไปเข้าถึงใจคน The People: ตอนนั้นวางตัวอย่างไร เพราะทุกคนสามารถเห็นเรา 24 ชั่วโมง ปองศักดิ์: วิธีคิดแรกของอ๊อฟเลยคือเป็นตัวเองให้มากที่สุด เพราะต่อให้เราพยายามเป็นคนอื่น ปิดกั้นความเป็นตัวเองไว้ สุดท้ายแล้วตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีทางที่เราจะไม่เผลอเป็นตัวเองหรอก เลยคิดว่าเป็นตัวเองไปเลยให้เต็มที่ แล้วก็สนุกกับมัน คนจะรักก็คือรักในแบบที่เราเป็น ส่วนคนจะไม่ชอบ คนจะแอนตี้ความเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ LGBTQ+ อะไรของเรา อ๊อฟก็ต้องปล่อยให้เขาไม่ชอบเราไป เพราะว่าเราคงฝืนตัวเองไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งคืออ๊อฟไม่ได้มองแค่ตอนที่อยู่บ้าน อ๊อฟมองว่าออกมาแล้ว คือไม่ได้คิดหรอกนะว่าตัวเองจะมาเป็นนักร้อง แต่ว่าออกมาแล้ว คนก็ต้องเห็นเรา ถ้าเกิดเราออกมาใช้ชีวิตปกติ แล้วเราฝืนตัวเองตอนอยู่ในบ้าน มันจะ contrast กับสิ่งที่คนเขารู้สึก The People: การตัดสินใจเป็นตัวเองในวันนั้นยิ่งทำให้ประตูโอกาสเปิดกว้างมากขึ้น? ปองศักดิ์: ใช่ครับ คือพอคนชอบในความเป็นเรา ช่วงแรกเป็นธรรมดานะที่ออกมาแล้วเราจะรู้สึกว่า เฮ้ย! เราไม่รู้ว่าคนข้างนอกจะคิดกับเรายังไง เพราะว่าขนาดบ้านอ๊อฟยังไม่ได้ติด UBC ยังไม่ได้ติด True Visions ก็จะมีอีกหลาย ๆ คนที่บ้านก็ไม่ได้รู้จักเรา อาจจะมีบางส่วนบางกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ที่เขาไม่ได้ดูบ้าน AF เขาอาจไม่รู้จักเรา ช่วงแรก ๆ ที่อ๊อฟออกมาก็ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน เพราะพอมีโอกาสเซ็นสัญญากับแกรมมี่ ความเป็นอ๊อฟในบ้าน AF ต้องถูกเปลี่ยนนิดหนึ่งเพื่อปรับให้ดีขึ้น แล้วก็มีภาพที่ดู...เป็นกลางมากที่สุด คือเขาไม่อยากให้เราไปสุดทางอย่างที่เคยเป็นในบ้าน และค่ายก็ไม่อยากให้เราไม่เป็นตัวเองด้วย ช่วงนั้นอ๊อฟต้องจูนหาตัวเองเยอะมากเหมือนกันว่าจะเป็นในทิศทางไหน The People: เคยคิดไหมว่าตัวเองจะได้เป็นนักร้องและมีอัลบั้มของตัวเอง ปองศักดิ์: ตอนนั้นไม่ได้คิดเลย อ๊อฟคิดว่ามันเป็นเหมือนโชคสองชั้นสำหรับเรา โชคแรกคืออ๊อฟได้รางวัล ตอนแรกเลยจริง ๆ คือไปประกวดบ้าน AF เพราะว่าอยากได้รางวัล อยากได้บ้าน อยากได้รถ อยากได้เงิน เราไม่ได้คิดว่าเราจะได้มีโอกาสเป็นนักร้องอยู่แล้วไง แต่ว่าพอเราได้ปุ๊บ นอกจากรางวัล สิ่งที่เราได้กลับมาคือได้เป็นนักร้องจริง ๆ ได้มีอัลบั้ม ที่สำคัญคือได้อยู่ภายใต้ค่ายเพลงอย่างแกรมมี่ ยิ่งเป็นเรื่องราวที่เราคาดไม่ถึงเลย The People: หลังปล่อยซิงเกิลแรกออกมา ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะขนาดไหน ปองศักดิ์: โห เปลี่ยนไปเยอะมาก เพราะเพลงแรกที่ปล่อยออกมา ‘จากคนรักเก่า’ มันทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่มคนที่ดู UBC ไม่ใช่กลุ่มคนที่เป็นแฟนคลับ พอปล่อยเพลงปุ๊บ ตอนนั้นมีโปรเจกต์ V Friends ปล่อยพร้อมกัน 5 อัลบั้ม แล้วเพลงเราดันเป็นเพลงที่โดดเด่น เข้าถึงคนฟังในวงกว้าง เลยทำให้เราได้รับคำชมว่าเป็นนักร้องอาชีพจริง ๆ ชีวิตเปลี่ยน เพราะว่าคนดูเริ่มเห็นเราในวงกว้าง คนดูเริ่มให้ความสนใจ แล้วช่วงนั้นก็อย่างที่อ๊อฟบอก อ๊อฟก็แอบเป๋เหมือนกันว่าเราจะเป็นตัวเองเหมือนตอนที่อยู่ในบ้าน AF หรือว่าจะเป็นแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เราเป็น The People: ‘จากคนรักเก่า’ ยังไม่ใช่เพลงจากตัวตนของเราจริง ๆ? ปองศักดิ์: คือเจอตัวเองในแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เราเป็น เพราะว่าด้วยแนวเพลง มันเป็นแนวที่เราอยากร้องอยู่แล้ว แต่ว่ามันจะ contrast กับความเป็นเราในด้าน performance The People: ทุกวันนี้อ๊อฟมีความสุขกับการได้เป็นตัวเองมากขึ้น? ปองศักดิ์: ถ้าเกิดว่าวัดตัวเองจากตอนนี้กับอดีต อ๊อฟว่าตอนนี้อ๊อฟมีความสุขกับการที่เราได้ไปไหนโดยไม่ต้องกังวลว่าคนจะโอเคกับสิ่งที่เราเป็นหรือเปล่า คนจะโอเคกับโชว์ของเราหรือเปล่า คนจะโอเคกับวิธีการพูดคุย แซวกับคนดูหรือเปล่า แต่ด้วยการที่คนดูเขาก็เปลี่ยนวิธีการเสพของเขาด้วย เลยทำให้เรายิ่งสบายใจมากขึ้นด้วย แล้วการที่เราได้เป็นตัวเองจริง ๆ ณ ขณะที่เราโชว์บนเวที ยิ่งทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นไปอีก The People: ทำไมเพลงของอ๊อฟ-ปองศักดิ์ ส่วนใหญ่ถึงเป็นเพลงเศร้า ปองศักดิ์: จุดเริ่มต้นของการร้องเพลงเศร้า เกิดจากอ๊อฟรู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเป็นคนมีเนื้อเสียงเหมือนคนร้องไห้ เวลาร้องแล้วเหมือนมีความเป็นลม ๆ แหบ ๆ แล้วก็สะอื้น ๆ นิดหนึ่ง บวกกับการที่เรา... เอาง่าย ๆ คนที่มีเพศอย่างนี้ เป็นเพศอย่างเรา จะมีอารมณ์ดรามาสูงกว่าเพศอื่น ๆ เลยทำให้เวลาเราร้องเพลงช้าหรือร้องเพลงที่เศร้าเสียใจ เราจะบวกอารมณ์ตัวเองเข้าไปด้วย ทำให้เวลาเราถ่ายทอดเพลงช้าออกมา คนจะพูดถึงมากกว่าเพลงเร็วในอัลบั้มเรา The People: เสน่ห์ของความเศร้าในมุมมองของอ๊อฟเป็นอย่างไร ปองศักดิ์: ความที่อ๊อฟอยู่ในวงการเพลงมา 15 ปีแล้ว แล้วเพลงส่วนใหญ่ในแต่ละอัลบั้มที่คนได้ฟังก็จะเป็นเพลงช้า อ๊อฟว่าเสน่ห์ของการร้องเพลงช้า หรือว่าเสน่ห์ของการฟังเพลงช้า เพลงเศร้า คือการที่เราได้ดื่มด่ำกับอารมณ์ที่เราได้ปลดปล่อยความเศร้าออกมา คนเราไม่ได้มีความสุขตลอดเวลาหรอก เรื่องบางเรื่องที่มันเศร้าในบางมุมที่เราไม่สามารถเปิดเผย หรือว่าปล่อยออกมาให้คนรอบข้างเห็น เวลาเราฟังเพลงเศร้า ๆ เราได้ปลดปล่อยออกมา เหมือนเป็นการได้ระบายอารมณ์ แล้วเวลาเราร้องเพลงเศร้า มันยิ่งสั่งอารมณ์ตัวเอง นักร้องเป็นอาชีพที่ต้องมอบความสุขให้กับคน เรามักจะต้องตัดเรื่องอารมณ์ส่วนตัวที่ตัวเองเจอ หรือเรื่องเศร้าต่าง ๆ ที่เรามีออกไป ณ ขณะที่โชว์ แต่ว่าเวลาเราร้องเพลงช้าปุ๊บ บนโชว์ของเรา เราสามารถเอาอารมณ์นั้นมาปลดปล่อยบนเวทีได้ แล้วก็กลายเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งที่คนดูจะได้รับอารมณ์ที่มันสื่อสารจริง ๆ กับเขา The People: เพลงเศร้าของอ๊อฟ บางครั้งก็เกือบทำให้คนฟังรู้สึกอินจนอยากตายจริง ๆ? ปองศักดิ์: อ๊อฟมองว่าเพลงเป็นตัวบ่งชี้อารมณ์ เป็นตัวชี้นำอารมณ์ก็ได้ แต่ว่า ณ ตอนนั้นคือเพลง ‘แทงข้างหลัง...ทะลุถึงหัวใจ’ สาเหตุที่มันมีคำว่าอยากตาย เพราะว่าเพลงทั้งหมด เนื้อหาทั้งหมด และอารมณ์ของเพลงโดยรวม มันสามารถนำพาให้มีคำนั้นได้ เลยทำให้เราเขียนเพลงแบบนี้ออกมา มันเป็นทั้งความดีใจและหดหู่เหมือนกัน ที่คนที่ฟังเพลงของเรา ‘แทงข้างหลัง...ทะลุถึงหัวใจ’ บอกกันว่าฟังแล้วหดหู่จังเลย อยากจะฆ่าตัวตาย อย่างที่บอกแหละครับว่าก็ดีใจ ตรงที่เราสามารถสื่อสารไปให้คนรู้สึกได้ขนาดนั้น แต่ว่าก็รู้สึกหดหู่ เสียใจเหมือนกัน ตรงที่เพลงของเราสามารถทำให้คนรู้สึกอย่างนั้นได้เหมือนกัน มันทั้งดีใจและเสียใจในเวลาเดียวกัน The People: หลายคนมักจะมองว่าความเศร้าเป็นความรู้สึกในแง่ลบเสมอ ส่วนตัวอ๊อฟเรียนรู้อะไรจากความเศร้าที่เจ็บปวด ปองศักดิ์: บางทีการที่เรานั่งทบทวนเรื่องเศร้า ๆ ที่ผ่านมาในชีวิต มันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นนะ อ๊อฟไม่รู้ว่าแต่ละคนมีวิธีการหาทางออก หรือว่ามีวิธีการแก้ปัญหาของตัวเองยังไงบ้าง แต่สำหรับอ๊อฟชอบจมอยู่กับมัน ชอบคิดชอบย้ำ ชอบวนอยู่ในลูปความเศร้า วนให้พอ แล้วพอถึงจุดหนึ่งที่เศร้าแบบอิ่มแล้ว มันจะพลิกได้เอง จะคิดได้เอง อย่างคุณแม่อ๊อฟเสีย มันเป็นเรื่องที่หนักสุดในชีวิตอ๊อฟเลย แม่เป็นทุกอย่างในชีวิต แล้วเราก็ต้องใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เพราะว่ายังไงก็หนีความจริงไม่พ้น ช่วงแรกเราอาจหลอกตัวเองได้ว่า เฮ้ย! เขาแค่ไปเที่ยว เขาแค่ไม่อยู่ นู่นนี่นั่น เออ...ไม่เป็นไรหรอก แต่สุดท้ายเราก็หนีความจริงไม่พ้นอยู่ดี อ๊อฟเลยคิดได้ว่าแล้วทำไมเราถึงไม่ยอมรับมัน ในเมื่อนี่คือความจริงที่เกิดขึ้น คิด ๆ ยอมรับว่านี่เป็นเรื่องจริง สุดท้ายแล้วก็จะผ่านมันไปได้ ทำให้เราเจอคำตอบที่ว่า แม้ร่างกายไม่อยู่ แต่หัวใจยังวนเวียนอยู่กับเรา แม่แค่เปลี่ยนที่อยู่ เขาไม่ได้อยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ข้าง ๆ เรา เราอาจไม่เห็นเขา แต่เรารู้สึกถึงเขาตลอดเวลา เพราะว่าเราคือเลือดเนื้อของเขา คือเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด The People: วันนี้ถือเป็นฟ้าหลังฝนแล้ว? ปองศักดิ์: ก็ยังเป็นฟ้าที่มีฝนอยู่ปรอย ๆ แต่ว่าเป็นการอยู่ด้วยความเข้าใจ คือถ้าในพาร์ทการทำงาน อ๊อฟผ่านมาทุกรูปแบบ ทั้งตอนที่เราอยู่ในกระแสมาก ๆ ดังมาก ๆ ออกมาแล้วคนให้การตอบรับ แฟนคลับไปทุกที่ แบบเราไปเดินสยามไม่ได้ ช่วงแรก ๆ ที่ออกมา จนมาถึงช่วงที่ไม่มีใครสนใจ ปล่อยเพลงเท่าไรออกมาก็ไม่ดัง แล้วรวมถึงการกลับมาอีกครั้งที่เรามีงานโชว์ปีหนึ่ง 300 กว่างาน แล้วเราก็ผ่านมาทุกยุค ตั้งแต่ยุคเทป ซีดี ดาวน์โหลด ผ่านมาหมดแล้ว อ๊อฟเลยรู้สึกว่าเราเข้าใจว่าวัฏจักรวงการบันเทิงเป็นยังไง ส่วนเรื่องความรู้สึก การใช้ชีวิตของตัวเอง อ๊อฟโชคดีตรงที่เราได้สัมผัสกับทุกความรู้สึกแล้ว ดีใจสุด ๆ เสียใจที่สุด การได้รับ การสูญเสีย เลยทำให้ทุกวันนี้ของอ๊อฟโคตรมีสติ แล้วเราก็จะมีความสุขกับชีวิตที่เหลืออยู่ เพราะว่ารู้อยู่แล้ว ด้วยความที่เราเป็นแบบนี้ เราจะไปสร้างครอบครัวก็ไม่ได้ จะมีลูกที่เป็นเชื้อสายของเรา เราก็ไม่เอา เพราะรู้สึกว่าเราจะไปทำลายอนาคตเขาหรือเปล่า ถ้าเรา adopt เขามา หรือแม้แต่เราไปทำอะไรเพื่อให้ได้เขามา อ๊อฟรู้สึกว่าวงจรชีวิตของอ๊อฟคงจบอยู่แค่อ๊อฟคนเดียว คงไม่ได้มีเชื้อสายมาสืบทอด คิดว่าชีวิตที่เหลือคงจะมีความสุข แล้วก็ใช้ชีวิต ทำชีวิตให้สนุกที่สุด อยากทำอะไรก็ทำ อยากไปไหนก็ไป เพราะว่าจริง ๆ แล้วอ๊อฟมีห่วงอย่างเดียวคือห่วงแม่ แต่ว่าตอนนี้แม่หมดห่วงเราแล้ว เขาไปในที่ที่สุขสบายแล้ว เราก็คิดว่าชีวิตที่เหลืออยู่ก็น่าจะเป็นชีวิตที่เรามีความสุขมากที่สุดกับตัวเอง The People: ตัวเราในวันนี้เข้าใจความสุขในชีวิตมากขึ้นกว่าวันวาน? ปองศักดิ์: จริง ๆ แล้วอ๊อฟคิดนะ คิดมาตลอดเลยว่าเราจะมีความสุขได้ยังไง เคยคิดมาตลอด ตั้งคำถามว่าเราจะอยู่ยังไงวะ ถ้าเกิดว่าแบบ… คือแม่ป่วยเป็นมะเร็งมา 10 ปีแล้ว เราจะอยู่ยังไงถ้าแม่ไม่อยู่ แม่ไปจากเรา เราอยู่ไม่ได้แน่ ๆ เลย แต่สุดท้ายเมื่อเราค้นพบคำตอบว่าเขาแค่เปลี่ยนที่อยู่ เราก็จะอยู่ได้เอง The People: ครอบครัวเข้าใจตัวตนของเราตั้งแต่แรกเลยไหม ปองศักดิ์: จริง ๆ แล้วที่บ้านอ๊อฟเข้าใจ ทุกคน พี่น้อง แม่ เข้าใจอ๊อฟหมดเลย แต่ว่าป๊าคือด้วยความเป็นคนจีน เขาก็อยากได้ลูกชายที่เป็นลูกชาย แต่ว่าเราเป็นให้เขาไม่ได้ พอผ่านไปสักพักหนึ่งเขาถึงเข้าใจว่า โอเค ในเมื่อเป็นไม่ได้ก็ขอให้เป็นในสิ่งนั้นให้ดีที่สุด แล้วอ๊อฟเองก็โชคดีตรงที่แม่เป็นเหมือนเพื่อน เหมือนพี่ เหมือนครู เป็นทุกอย่างให้เราหมดเลย แล้วเขาเข้าใจเรามาก ๆ เลยทำให้เรากล้าพูดทุกอย่าง กล้าที่จะเป็นตัวเอง กล้าที่จะทำในสิ่งที่เราเป็นต่อหน้าเขา เพราะว่าเขาทำให้เรารู้สึกสบายใจว่าลูกจะเป็นอะไร แม่ก็โอเคหมดแหละ ขอแค่ว่าอยู่ในลู่ทาง อยู่ในกรอบ อยู่ในสิ่งที่สะกดด้วยคำว่าพอดี The People: ย้อนกลับไปตอนนั้น สังคมอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่อง LGBTQ+ มากเท่าปัจจุบัน ช่วงแรกอ๊อฟวางตัวอย่างไร ปองศักดิ์: ตอนอ๊อฟเด็ก ๆ ก็ไม่ได้หลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะถ้าเราหลบ ๆ ซ่อน ๆ คงไม่ได้ถูกล้อว่าอีตุ๊ด อีกะเทย อะไรอย่างนี้หรอก ตอนเด็ก ๆ ก็โดนแหละ สมัยที่เราเรียน แต่อย่างที่อ๊อฟบอกว่าอ๊อฟมีวิธีการคิด มีวิธีการหาทางออกของตัวเอง แบบ...โอเค มึงล้อกูไปเถอะ คอยดูนะชีวิตกูจะต้องเจริญกว่ามึงเยอะเลย อ๊อฟเปลี่ยนตรงนั้นมาเป็นแรงผลักดันให้เราทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อเป็นการแก้คำครหา มันหยุดไม่ได้หรอกครับ คนมันอยากจะล้อมันก็ล้อ มันห้ามไม่ได้ ปัจจุบันนี้ก็ห้ามไม่ได้อยู่ดี ตั้งแต่ตอนนู้น 10 กว่าปีแล้ว 20 ปีด้วยซ้ำ ก็ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้นอ๊อฟก็เลยจะบอกว่าเราต้องอยู่ด้วยความเข้าใจมากกว่า แต่ถ้าเกิดมันเลิกล้อได้ก็ดีนะ The People: ส่วนตัวมีมุมมองต่อการผลักดันกฎหมายสมรส LGBTQ+ อย่างไร ปองศักดิ์: อ๊อฟอาจจะเป็นคนเดียวมั้งที่รู้สึกว่ามีหรือไม่มีก็ไม่มีผลอะไร นอกจากเรื่องของการที่คุณเป็นแฟนกัน อยู่ด้วยกัน ซื้อบ้าน ทำนู่นทำนี่ด้วยกัน ใช้ชีวิตเป็นคู่รัก ครองคู่กันไปแบบผัวเมีย เหมือนชายหญิง นอกจากเรื่องเหล่านี้อ๊อฟก็ไม่ได้เห็นว่าชีวิตเราจะเปลี่ยนไปยังไง คือเราอยู่ในสังคมที่ปากบอกว่าเปิด แต่เมื่อไรที่กลุ่มคน LGBTQ+ ทำอะไรก็ตามที่เกินคำว่าพอดีสำหรับความรู้สึกของคนอื่น ๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเป็นผลลบ ซึ่งตัวอ๊อฟเองแค่ลำพังเราเปิดตัว เรามีแฟน เราใช้ชีวิตได้ปกติ อ๊อฟก็โอเค อ๊อฟพอใจแล้ว อ๊อฟก็มีความสุขมากพอแล้ว แต่ไม่ถึงขั้นที่ว่าเราต้องแต่งงานกัน จดทะเบียนกัน คือความรู้สึกเหล่านั้นควรจะเป็นความรู้สึกที่ทุกคนยินดีกับเรา The People: ไทยยังไม่เปิดกว้างพอสำหรับ LGBTQ+? ปองศักดิ์: ยังไม่ได้เปิดขนาดนั้นหรอก อย่างที่อ๊อฟบอก แค่เขาโอเคกับสิ่งที่เราเป็น แค่เขาโอเคกับความรัก แค่เขาโอเคว่าเรายังเป็นหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกที่สามารถอยู่ร่วมกับเขาได้ แค่นั้นก็พอแล้ว คือไม่จำเป็นต้องมายินดีกับทุกอย่างของเรา The People: เพลงไหนของคุณที่ขมที่สุดและหวานที่สุดในชีวิต ปองศักดิ์: คงเป็น ‘เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย’ เพราะเพลงนี้ถ้าเราฟังในความรู้สึกที่อยู่ในอารมณ์ของแฮปปี้ มันก็แฮปปี้ มันทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น แต่ถ้าเราอยู่ในอารมณ์ของความรู้สึกเศร้าหรือเสียใจ ก็ยิ่งทำให้อารมณ์นั้นดิ่งลงไปอีก ก็เปรียบเสมือนชีวิตจริง ๆ นั่นแหละ ในชีวิตจริงเราไม่ได้มีความรู้สึกเดียว เพราะฉะนั้นเวลาอ๊อฟฟังเพลง เพลงไหนที่เป็นเพลงแฮปปี้ อ๊อฟจะรู้สึกว่าอันนี้ปลอมจังเลย เพราะว่าชีวิตจริงคือคุณไม่ได้มีความสุขอยู่ตลอดเวลาหรอก ในขณะที่คุณมีความสุข มันมักจะมีเรื่องทุกข์มาแทรกอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นมันเป็นแค่ตัวหลอกอารมณ์เรา The People: ความรักที่ดีในมุมมองของอ๊อฟ? ปองศักดิ์: สำหรับอ๊อฟ ความรักที่ดีคือทุกคนต้องมีเต็มร้อย ไม่ใช่ว่าเธอคือครึ่งหนึ่งของฉัน ฉันคือครึ่งหนึ่งของเธอ เพราะว่าเรามาจากคนละที่ ถ้าเรามีอยู่แค่นี้ เราไม่รู้ว่าครึ่งที่เขามาเติมให้เรา มันใช่ครึ่งที่พอดีสำหรับเราหรือเปล่า เพราะฉะนั้นอ๊อฟมองว่าเราต้องมีสำหรับเรา 100 เขาต้องมีของเขา 100 แล้วต่างคนต่างมา เป็นเหมือน 2 วงกลมที่มาขนานกันน่าจะดีกว่า ไม่ใช่ว่าแต่ละคนเติมคนละครึ่ง บางทีครึ่งของเขาที่เติมให้เรา มันก็มากเกินจนเบียดครึ่งที่เรามีอยู่หายไป สุดท้ายก็จะไม่เจอความพอดี สู้เรามีของเรามา 100 เขามีของเขามา 100 แล้วมาบรรจบกัน อ๊อฟว่าน่าจะทำให้ความรักมันโอเค ไม่ต้องมาเติมเต็มให้กันหรอก คือแค่…เพิ่มสีสันใหม่ ๆ ให้กับชีวิตเราดีกว่า The People: สิ่งที่อยากฝากถึงการ come out ของ LGBTQ+ ปองศักดิ์: อ๊อฟจะบอกว่ามันยากมากเลยนะ ถ้าจะให้อ๊อฟบอกว่า เฮ้ย! คุณเดินไปบอกแม่เถอะ คุณเดินไปบอกพ่อเถอะว่าคุณมีความรักแบบนี้ แล้วเป็นความรักที่ เฮ้ย! เราก็รู้สึกว่ามันสวยงามแล้วก็ไม่ได้ทำร้ายใคร เพราะว่ามันยากไงครับ เพราะว่าทุกครอบครัวถูกเลี้ยงมาไม่เหมือนกัน แล้วอีกอย่างหนึ่งคือแม้แต่ตัวเอง ถ้าเกิดเราเองยังไม่เคารพ หรือว่ายังไม่ได้รักในการที่เราเป็นขนาดนี้ จนกล้าเปิดเผยกับคนอื่น หรือกล้าที่ไปบอกคนอื่น มันก็ยากตรงที่จะให้เขาเข้าใจ คือถ้าเมื่อไหร่ที่ respect ตัวเองก่อน มันจะโอเคไง หรือบางคนถูกเลี้ยงดูมาด้วยวิธีการแบบคุณต้องเป็นอย่างนี้นะ อยู่ในกรอบตลอด มันก็ยากตรงที่เขาจะไม่กล้าคิด ไม่กล้าเป็นตัวเอง เพียงแค่จะบอกว่าถ้าเมื่อไรที่คุณรู้สึกอยากมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น คุณยอมรับมัน แล้วก็ตัดสินใจ แล้วก็ปรึกษา ใช้คำว่าปรึกษาดีกว่า อย่าเข้าไปบอกโต้ง ๆ เลย ค่อย ๆ ปรึกษาแล้วก็หาวิธี อย่างของอ๊อฟก็ใช้วิธีการเข้าไปนวดแม่ตั้งแต่เด็ก ๆ เข้าไปคุยกับเขา ค่อย ๆ คุยให้เขาซึมซับ แต่เอาจริง ๆ นะ คนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคนย่อมรู้อยู่แล้วว่าลูกมีความชอบยังไง The People: ช่วงเวลาที่รู้สึกว่ามี impact ต่อตัวเองที่สุดคือตอนไหน ปองศักดิ์: คือโมเมนต์ที่เราตัดสินใจว่าเราจะเป็นตัวเองสุด ๆ เลย เรื่องของการโชว์ คือตอนแรกงานอ๊อฟก็มีอยู่เรื่อย ๆ แต่คนมักจะจำเราแต่ภาพเพลงช้า แล้วงานที่เป็นงานเอนเตอร์เทนลูกค้าภายใน หรืองานเอนเตอร์เทนที่เป็นคอนเสิร์ต พวกเทศกาลดนตรี เขาก็ไม่ค่อยจ้างเรา เพราะว่าเราเป็นเพลงช้าอย่างเดียว อ๊อฟเลยตัดสินใจว่า เนี่ย...พลิกชีวิตตัวเองโดยการโชว์ในแบบที่เราอยากโชว์ แล้วผลลัพธ์จะเป็นยังไงก็เรื่องของมัน คือคุณอยากจะออกสาว อยากจะม้วนหน้าเล่นตลก กรี๊ดกร๊าดบนเวที คุณทำเลย แล้วอ๊อฟก็ตัดสินใจทำโดยไม่ได้หวังว่าผลจะเป็นอย่างทุกวันนี้ด้วยซ้ำ มันเป็นช่วงเวลาที่อ๊อฟพลิกตัวเองมาก แล้วหลังจากนั้นคือ โอ้โฮ!…งานเข้ามาถล่มทลายสุด ๆ ภาพความเป็นนักร้องของเราก็ยังอยู่ แต่ว่าภาพที่ได้เพิ่มมาคือภาพการเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ที่คนดูยอมรับ นั่นแหละเป็น big moment สำหรับอ๊อฟ The People: ‘โอกาส’ ในวงการเพลงสำคัญมากไหม ปองศักดิ์: อ๊อฟจะบอกว่าทุกวงการมันมีหมดเลยนะ มีเรื่องการเป็นลูกรักลูกชัง ชอบคนนั้นไม่ชอบคนนี้ ภายใน ใต้โต๊ะ มีหมดเลยทุกอย่าง แล้วเราก็อยู่ในจุดที่ผ่านทุกอย่างมาหมดแล้ว เลยทำให้เข้าใจว่าถ้าจะทำให้คนรักเรา เราต้องสร้างมันด้วยตัวเอง เพราะถ้าเกิดไปคาดหวังว่าให้ค่ายหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งมาดูแลเรา ปั้นเราจริง ๆ มันยากในยุคนี้นะครับยากมาก แล้วอย่างที่อ๊อฟบอกว่าผ่านมาทุกยุคแล้ว ยุคแฟนคลับ ยุคแฟนเพลง ยุคที่ไม่มีแฟนเพลง เราผ่านมาหมดแล้ว เลยทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น แล้วเราก็รักตัวเองมากขึ้นด้วย The People: มองก้าวต่อไปในวงการเพลงอย่างไรบ้าง ปองศักดิ์: คงจะทำงานร้องเพลงต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทำไม่ได้แล้ว หรือว่าจนกว่าคนไม่อยากฟังเพลงเราแล้ว สุดท้ายก็คงไปทำเบื้องหลัง คืออ๊อฟมองว่าเราเข้ามาได้ด้วยโอกาส แล้วเราได้รับโอกาสดี ๆ เยอะแยะมากมาย อ๊อฟก็อยากจะเป็นหนึ่งคนที่ส่งมอบโอกาสดี ๆ ให้คนที่มีความสามารถ เลยทำโปรเจกต์ชื่อว่า ‘Hidden Singer’ เป็นนักร้องผู้หญิง เป็นน้องผู้หญิงที่อ๊อฟรู้สึกว่าร้องเพลงดี ร้องเพลงเพราะ แต่ขาดโอกาส ก็จะทำโดยที่ไม่ได้อยู่กับค่ายไหน คือทำเอง เป็นโปรเจกต์ที่ตัวเองออกเงินเองทำให้เขา The People: วงการเพลงให้อะไรกับชีวิต ปองศักดิ์: วงการเพลงให้ความสุข สำหรับอ๊อฟนะ ไม่ได้ตอบแบบนางงาม ไม่ได้ตอบแบบสวยงามนะ อ๊อฟเริ่มต้นมาจากเพราะคำว่าอ๊อฟรักในการร้องเพลง แล้วแม่จะสอนเสมอว่าทุกวันนี้จะขึ้น จะลง จะดับ จะมีงาน ไม่มีงาน เราเข้ามาในวงการ เราไม่มีอะไรมาเลย สิ่งที่มีติดตัวมาคือการร้องเพลง นอกนั้นที่ได้มาคือกำไรชีวิต อย่าไปคิดเยอะ อย่าไปวิตกจริตกับมัน อย่าไปตื่นตระหนกกับมัน อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่มีงานเยอะ ๆ คนที่มีเงินเยอะ ๆ เพราะว่าสิ่งที่เราได้มันเกินกว่าจุดที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเลยทำให้อ๊อฟมีความสุข แล้วอ๊อฟก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินด้วย คือเรื่องเงินจะมากจะน้อย ถ้าเรามีความสุขที่เราอยาก