20 ก.พ. 2562 | 11:19 น.
พ้นจากความคึกคักย่านชิดลมเข้าไปในซอยสมคิดเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ก็จะพบอาณาจักร “ปาร์คนายเลิศ” ที่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความร่มรื่นจากต้นไม้นานาพันธุ์และความสงบที่ชวนให้ผ่อนคลาย ที่นี่มีจุดกำเนิดจาก พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) หรือ “นายเลิศ” ผู้ให้บริการรถประจำทางรายแรกของไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทั้งยังเป็นเจ้าของโรงแรมปาร์คนายเลิศ ส่งต่อกิจการครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น กระทั่งถึงทุกวันนี้ที่มี ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร เหลนของนายเลิศ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท สมบัติเลิศ จำกัด และเครือนายเลิศกรุ๊ป [caption id="attachment_3696" align="aligncenter" width="661"] พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ "นายเลิศ" (ภาพ: ปาร์คนายเลิศ)[/caption] ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเครือนายเลิศกรุ๊ปเกิดขึ้นปลายปี 2559 เมื่อครอบครัวของณพาภรณ์ตัดสินใจแบ่งขายที่ดินผืนงามราว 15 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ให้กับ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่มี “หมอเสริฐ” หรือ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ห้วงเวลานั้น หลายคนคิดว่าจะเป็นการปิดตำนานปาร์คนายเลิศ เหลือไว้เพียงชื่อให้เล่าขานแต่เพียงอย่างเดียวเสียแล้ว แต่แท้จริงนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นศักราชใหม่ของปาร์คนายเลิศที่ยังคงมีพื้นที่บริเวณนั้นอีกราว 20 ไร่ ทั้งยังเป็นโอกาสและความท้าทายครั้งใหญ่ของณพาภรณ์ในการสานต่อชื่อเสียงของ “นายเลิศ” ให้คงอยู่ ด้วยโปรเจกต์ต่าง ๆ ทั้งโรงแรม ที่พัก รวมทั้งธุรกิจ “บัตเลอร์” (butler) ที่เปิดอย่างจริงจังเป็นแห่งแรกในไทย และเห็นเป็นรูปเป็นร่างก่อนโปรเจกต์อื่น เพื่อตอบความต้องการของกลุ่มธุรกิจ luxury ในไทย ที่นับวันยิ่งขยายตัวมากขึ้น “ตอนนี้พื้นที่ที่เรามี เล็กก็เอามาดูว่าตรงไหนเหมาะกับอะไร อย่างบริเวณนี้ในอนาคตก็จะทำโรงแรมและที่พัก ส่วนตอนนี้ก็มี นายเลิศ บัตเลอร์ ที่เซ็นสัญญากับประเทศอังกฤษไปแล้ว” ณพาภรณ์บอกกับ The People ผู้บริหาร “รุ่น 4” ของปาร์คนายเลิศ ต้อนรับเราบนเรือนไม้สักทองหลังใหญ่ ที่ครั้งหนึ่งเป็นเรือนของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ บุตรีของนายเลิศ ห้องรับแขกบนเรือนประดับประดาด้วยภาพถ่ายของนายเลิศ ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ นานา ที่ล้วนแล้วแต่มีความผูกพันกับเจ้าของเรือน และยังสะท้อนถึงบางช่วงของประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ณพาภรณ์ตัดสินใจเปิดเรือนเป็นพิพิธภัณฑ์ของครอบครัว พร้อมเปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชม “เล็กตั้งใจที่จะทำตรงนี้ให้อยู่ไปได้อีกนาน ๆ แล้วก็อยากทำให้ชื่อเสียงของปาร์คนายเลิศกลับมาโด่งดังอย่างที่คุณทวดทำเอาไว้”
The People: เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิงบริหารมา 3 รุ่นแล้ว? ณพาภรณ์: จากนายเลิศแล้วปุ๊บ ไม่มีผู้ชายบริหารเลย จากนายเลิศก็เป็นคุณยาย (ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์) คุณป้า (พิไลพรรณ สมบัติศิริ) คุณแม่ (สัณหพิศ โพธิรัตนังกูร) แล้วก็มารุ่นเล็ก เล็กเชื่อว่าการมาอยู่ตรงนี้ไม่ได้เป็นเพราะความบังเอิญ เหมือนเบื้องบนกำหนดมาแล้วมั้งคะ (ยิ้ม) แต่ก่อนเล็กไม่ได้ทำงานจริงจังขนาดนี้ แต่อยู่ดี ๆ เหมือนมีอะไรคลิก แล้วมาใช้เวลาที่นี่แบบ 100% เล็กตั้งใจที่จะทำตรงนี้ให้อยู่ไปได้อีกนาน ๆ แล้วก็อยากทำให้ชื่อเสียงของปาร์คนายเลิศกลับมาโด่งดังอย่างที่คุณทวดทำเอาไว้ The People: อะไรคือสิ่งที่ทำให้ปาร์คนายเลิศคงอยู่มานานเป็นร้อยปี ณพาภรณ์: ปาร์คนายเลิศไม่ใช่อะไรที่อยู่ในสมัยไหน แต่คือทุกสมัย คือ timeless การที่เล็กทำงานตรงนี้ก็อยากให้ความหรูหรา การเป็น timeless ของปาร์คนายเลิศอยู่ต่อไปอีกหลาย ๆ ปี เราเอาความโบราณมาอยู่ในโลกปัจจุบันให้ได้ นี่คือการผสมผสานกันอย่างลงตัวเป็นความร่วมสมัย เล็กอยากให้ปาร์คนายเลิศอยู่คู่ประเทศไทย อยากให้ represent ความเป็นไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้ว่าเมืองไทยมีดีไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ เลย คุณทวดของเล็กเก่งมากตรงที่สร้างทุกอย่างมาด้วยมือตัวเอง ไม่ได้มีการศึกษาจากเมืองนอกเหมือนที่เราได้ไปเรียนกัน นายเลิศอ่านหนังสือและสร้างสิ่งที่เห็นว่าสมควรจะมี ก็สร้างบ้าน สร้างสวน ขึ้นมา อย่างบ้านหลังนี้คุณทวดสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เขาใช้ของดีมาตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราใช้ของดี ก็อยู่กับเราได้นานหลายปี
(ขวา) ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ทายาทผู้สืบทอดกิจการของนายเลิศ ทั้งยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหญิงคนแรกของไทย (ภาพ: ปาร์คนายเลิศ) The People: ดีเอ็นเอของที่นี่คืออะไร ณพาภรณ์: คือความเป็นครอบครัว มี human touch มีความเป็นมนุษย์ ใครก็สร้างบ้านสวยได้ ใคร ๆ ก็สร้างตึกสวย ๆ ได้ แต่ความแตกต่างของปาร์คนายเลิศกับแบรนด์อื่น สำหรับเล็กคิดว่าเรามีความเป็นครอบครัว และใส่ใจใน detail ต่าง ๆ อย่างที่บอกว่าใคร ๆ ก็สร้างบ้านสวย ๆ ได้ใช่มั้ย แต่ถ้าไม่อบอุ่น ไม่มีบริการที่ดีมารองรับ เล็กว่าบ้านนั้นก็ไม่สวย คุณยายเคยบอกเล็กว่าเราต้องดูแลพนักงาน เราอยู่กันเป็นครอบครัว ถ้าเขาแก่แล้วก็อย่าให้เขาเกษียณ คือเราไม่มีกฎเกษียณที่นี่ เราอยู่กันไปเรื่อย ๆ แต่ในการอยู่ไปเรื่อย ๆ ก็อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับตรงนี้ด้วย ตอนนี้พนักงานที่เก่าแก่ที่สุดอยู่กับเรามา 45 ปี ที่นี่คือที่ทำงานแรกของเขา และเขาก็บอกเล็กว่าจะเป็นที่สุดท้าย ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง เล็กถามเขาว่าทำไมไม่ไปทั้งที่มีหลายโรงแรมติดต่อมาจะให้เงินเดือนเพิ่ม เขาบอกว่าที่นี่คือบ้าน ให้โอกาสเขาในการทำงาน ส่งลูกเรียน และดูแลหลานได้ The People: หลักในการทำงานของคุณคืออะไร ณพาภรณ์: เล็กผูกพันกับคุณยายมาก หลังกลับจากอังกฤษก็มีโอกาสใช้เวลากับคุณยายค่อนข้างเยอะ มาโรงแรมทุกวันแต่ไม่ได้ทำงาน เพิ่งจะมาทำงานจริงจังเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วนี่เอง แต่ตอนนั้นคือมาทานข้าวกับคุณยาย ได้ซึมซับอะไรหลายอย่างที่คุณยายเล่าให้ฟัง คุณยายไม่เคยสอน แต่จะใช้วิธีเล่าว่าทำอย่างไร คิดอย่างไร สิ่งที่เล็กได้จากคุณยายคือเราควรจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน ไม่ควรหยุดอยู่กับที่ คุณยายบอกว่าเล็กมาทำที่ปาร์คนายเลิศ มันอาจเป็นวันที่ล้าน แต่อย่าอยู่กับความจำเจ อย่าให้สายตาเราชินกับสิ่งที่เห็นทุก ๆ วัน ทุกคนมีตา แต่ต้องมีแววด้วยถึงจะมีประโยชน์ ควรเห็นข้อบกพร่อง ควรเห็นว่าพัฒนาอะไรได้บ้าง ปรับปรุงดีไหม แล้วปรับปรุงอะไรบ้าง ควรจะมองทุกวันให้เป็นวันแรกที่เรามาทำงาน จะได้ fresh จะได้ความคิดใหม่ ๆ ผสมผสานกันให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น ปาร์คนายเลิศไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่คือชีวิตของเล็กจริง ๆ
The People: ถ้าเราควรเรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวัน มองว่าทุกวันนี้ปาร์คนายเลิศยังมีอะไรที่ต้องปรับไหม ณพาภรณ์: เป็น detail เล็ก ๆ มากกว่าที่ต้องปรับ อย่างตอนนี้เราเป็นสถานที่จัดงาน ก็ต้องคิดว่าลูกค้าต้องการอะไร ไม่ใช่ว่าเราต้องการอะไร เมืองไทยมีสถานที่มากมายที่จะจัดงานได้สวยๆ แต่ทำไมเขาเลือกที่นี่ เราต้องใส่ใจว่าเขาเลือกเราแล้ว ก็ต้องใส่ใจเขามากที่สุด สมมติมาจัดงานแต่งงาน เราค่อนข้าง customize ให้แต่ละคู่ บ่าวสาวต้องการอะไร ความชอบของเขาคืออะไร หรือบริษัทต่าง ๆ มาจัดงานที่นี่ เราก็ต้องดูว่าโลโก้เขาสีอะไร ควรใช้ดอกไม้แบบไหน พนักงานของเราควรใส่ยูนิฟอร์มสีอะไร เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่การปรับปรุง แต่เป็นการพัฒนามากกว่า เล็กพยายามใส่รายละเอียดให้ลูกค้าแต่ละคน ให้เขากลับมาใช้บริการกับเราอีก ตรงนี้เป็นสิ่งที่เล็กให้ความสำคัญมาก ไม่อยากให้ลูกค้ามาครั้งเดียวแล้วก็ไป สวัสดี จบ ที่นี่จำนวนลูกค้าที่กลับมาใหม่ค่อนข้างเยอะ ประมาณ 60% อย่างคนที่มาทานอาหารร้าน Lady L หรือ Ma Maison ไม่ใช่มาครั้งเดียว แต่มาเกือบทุกอาทิตย์ เขาจะแฮปปี้ว่ามาที่นี่แล้วเหมือนอยู่บ้าน บ้านของใครก็ไม่รู้ (หัวเราะ) คือเหมือนอยู่บ้านเพื่อน เราทำร้านอาหารก็จริง แต่เข้ามาแล้วไม่รู้สึกว่าเหมือนร้านอาหาร จะเหมือนอยู่ใน living room หรือ dining room มาแล้วก็ได้บรรยากาศดี ได้ชมสวน เดินเล่น มาใช้เวลาที่นี่ได้ทั้งวัน เล็กค่อนข้างให้ความสำคัญไปที่ detail ของแต่ละคนมากกว่าดูภาพรวม เพราะเล็กคิดว่าภาพรวมจะออกมาดีได้ detail ต้องแน่น The People: แสดงว่าเป็นคนที่ใส่ใจรายละเอียด? ณพาภรณ์: เล็กไม่ค่อยชอบอะไรที่ใหญ่ ๆ และหยาบ ๆ แต่ชอบอะไรที่มันนิ่ง ๆ แต่ว่ามีรายละเอียดในแต่ละก้าวมากกว่า แล้วยิ่งสิ่งที่ลูกค้าต้องจับ ต้องดม ต้องเห็น คือสัมผัสทั้ง 5 เป็นเรื่องสำคัญมาก เก้าอี้สวยมากแต่นั่งแล้วเป็นรอยที่ก้น หรือนั่งไม่สบาย หวายตำ ก็ไม่ใช่แล้ว เราต้องดู detail พวกนี้ให้ดี เก้าอี้สวยขนาดนั้นแต่ไม่มีคนนั่งเพราะนั่งไม่สบาย มันก็ฉาบฉวย ซึ่งเล็กไม่อยากทำอะไรที่ฉาบฉวย อยากทำให้อยู่ได้นาน ๆ เมนูอาหารเล็กก็เขียนเอง เมนูคือสิ่งแรกที่ลูกค้าเห็น เพราะฉะนั้นถ้าเขียนไม่สวย รูปไม่สวย ดูไม่น่าทาน เขาก็ไป เพราะอย่างที่บอกตอนนี้เมืองไทยมีสถานที่ให้เลือกเยอะแยะ ร้านก็สวยหมด เราจะเอาอะไรมาแข่งกับเขา เราไม่อยากแข่งกับคนอื่น แข่งกับตัวเองดีกว่า เลยเอาตัวเองเป็นที่วัดว่าเราทำดีหรือยัง วันนี้ทำอาหารอร่อยไหม พรุ่งนี้อาจไม่อร่อยก็ได้ เล็กต้อง QC ตลอดเวลา แล้วพนักงานก็จะบอกว่ากลับบ้านไปเถอะ เหนื่อยแล้ว (หัวเราะ) เล็กค่อนข้างไฮเปอร์ค่ะ ไม่ค่อยอยู่โต๊ะ เอกสารบนโต๊ะเพียบเลยนะ จนพนักงานบอกว่าเมื่อไหร่จะเซ็นเช็คเนี่ย (หัวเราะ) เล็กชอบเดินดูนู่นดูนี่ เดินตามพุ่มไม้ก็เดิน เดินในสวนจนคุณยายถามว่าใส่ส้นสูงมาเดินได้ยังไง เลยบอกว่าเล็กช่วยพรวนดินอยู่ (หัวเราะ) คือเป็นคนไม่ค่อยเครียด เห็นอะไรก็แก้ เห็นอะไรก็ทำ เล็กไม่ได้ยึดติดตำแหน่งว่าเราเป็นอะไร เพราะต้องการทำที่นี่ให้ดีที่สุด และอยากทำให้เป็นตัวอย่างเพื่อให้พนักงานเห็นว่าเราทำเอง เขาก็จะให้ใจเราเต็มที่ อะไรที่ไม่รู้ เช่นหญ้าที่ปลูก เล็กก็ไปเรียนกับคนสวนว่าถ้าแดดไม่ค่อยลงต้องใช้หญ้าพันธุ์ไหน แล้วตรงนั้นคือหญ้าอะไร ไม่ได้บอกว่าต้องรู้ทุกอย่าง แต่ควรรู้นิด ๆ หน่อย ๆ ของแต่ละอย่างไว้ แต่ก่อนเล็กยังเคยขัดส้วม เพราะถ้าเราขัดไม่เป็นหรือไม่รู้วิธี เราจะไปว่าอะไรพนักงานได้ว่าคุณขัดไม่สะอาด แล้วอยู่ดี ๆ ไปชี้ ๆ นิ้ว ไม่มีใครเขาทำหรอกค่ะ The People: ทุกอย่างฝึกจากโรงแรมของครอบครัวเลยไหม ณพาภรณ์: ตอนที่มีโรงแรม เล็กเข้าไปเทรนทุกแผนกเลย แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเพราะเป็นลูกเจ้าของ พนักงานไม่กล้าใช้ ไม่กล้าสอนอะไรทั้งสิ้น สุดท้ายก็เฮ้ย ไม่เวิร์กแล้ว ทำงานในโรงแรมตัวเองไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีใครใช้ คุณยายเลยส่งเล็กไปเทรนที่ Four Seasons ที่สิงคโปร์ เพราะคุณยายรู้จักกับเจ้าของที่นั่น บอกว่าเธอเอาหลานฉันไปเทรนหน่อย ขัดพื้น ขัดส้วม ทำทุกอย่างเลย ก็เรียนรู้จากที่นั่น
พรมดอกไม้ที่เป็นไฮไลท์งานดอกไม้ปาร์คนายเลิศเมื่อปี 2561 (ภาพ: ปาร์คนายเลิศ)
The People: ย้อนไปเรื่องการเป็นคนใส่ใจรายละเอียด หนึ่งในสิ่งที่สะท้อนออกมาในภาพใหญ่คืองานดอกไม้ที่จัดประจำทุกปี? ณพาภรณ์: จะว่าอย่างนั้นก็ได้ค่ะ คือจุดเริ่มต้นของงานดอกไม้ปาร์คนายเลิศเกิดขึ้นเมื่อ 33 ปีก่อน คุณยายไปอังกฤษแล้วเห็น Chelsea Flower Show ก็อยากให้มีงานอย่างนี้ในกรุงเทพฯ บ้าง เลยเชิญเพื่อน ๆ และคุณศักดิ์ชัย กาย มาจัดดอกไม้ที่โรงแรมฮิลตัน คือตอนนั้นเรายังเป็นฮิลตัน ตกแต่งดอกไม้บริเวณล็อบบีของโรงแรม แขกไปใครมาก็ชอบ เลยจัดมาเรื่อย ๆ ระยะเวลาในการจัดก็ราว ๆ 3-4 วัน เมื่อก่อนจัด 3 วันมีคนดู 3,000 คน แต่พอจัดในพื้นที่ปาร์คนายเลิศ 20 ไร่ ทั้งบนบ้านและในสวน ปรากฏว่ามีคนดู 10,000 กว่าคน ส่วนปีนี้จัดตั้งแต่ 21-24 กุมภาพันธ์ จำนวนคนดูก็น่าจะใกล้เคียงหรือมากกว่าปีที่แล้ว เล็กเต็มที่กับงานดอกไม้มาก ต่อให้เป็นจุดจัดดอกไม้จุดเล็ก ๆ ก็ต้องให้ความสำคัญ จบงานแต่ละครั้งก็จะเริ่มคิดแล้วว่าปีต่อไปจะจัดแบบไหน แข่งกับตัวเอง อยากให้ปีต่อ ๆ ไปดีขึ้น อย่างปีที่แล้วมีคนดูบอกว่าเวลาถ่ายรูปน่าจะมี prop ประกอบเพิ่มนะ เพราะถ่ายรูปออกมาแล้วภาพดูแบนมาก ปีนี้เราก็เอาตุ๊กตาตัวใหญ่มาตั้ง คือให้ดูมีมิติมากขึ้น บางคนมาดูแล้วเกิดแรงบันดาลใจเอาไปแต่งบ้านก็มี เล็กพยายามขยายกลุ่มลูกค้าไปเรื่อย ๆ อยากให้งานนี้เป็นงานของคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดได้มาดูดอกไม้กัน เมื่อก่อนจัดในตัวโรงแรมก็มีลิมิต คนอาจไม่กล้าเข้า คิดว่าต้องหรูหรือเปล่า ต้องแต่งตัวดีหรือเปล่า แต่จริง ๆ อยากให้ทุกคนได้มา จะใส่เสื้อยืดขาสั้นมาเดินเล่นก็ได้ อยากทำอะไรให้มันสบาย ๆ อยากให้มีความหรูหราแต่อยากให้จับต้องได้ด้วย เล็กไม่อยากให้คนคิดมาก ชีวิตนี้เหนื่อยพอแล้ว อย่าคิดเยอะ The People: ก้าวต่อไปของปาร์คนายเลิศคืออะไร ณพาภรณ์: จริง ๆ คุณทวดและคุณยายมีที่เยอะมาก แต่ก่อนตั้งแต่ตรงนี้จนถึงอโศกเป็นที่ของคุณทวดทั้งหมด แล้วแบ่งขาย แต่ยังมีที่เหลืออีก เล็กเลยขอให้คุณแม่ช่วยเอามากางดู อยากเอามาพัฒนาว่าที่ไหนอยากทำอะไร ก็ค่อย ๆ ทำ เราถูกปลูกฝังมาว่าถ้าไม่มีเงินก็ไม่ต้องทำ อย่าไปเป็นหนี้ใคร ถ้าเรายังไหว ยังมีพลัง และยังมีเงิน ก็โอเค คุณยายบอกว่าปาร์คนายเลิศไม่ได้เก่งที่สุด ไม่ได้ใหญ่ที่สุด ไม่ได้รวยที่สุด เราทำที่เรามี ที่เราพอ ที่เราแฮปปี้ และที่เราทำได้เอง เพราะฉะนั้นตอนนี้พื้นที่ที่เรามี เล็กก็เอามาดูว่าตรงไหนเหมาะกับอะไร อย่างบริเวณนี้ในอนาคตก็จะทำโรงแรมและที่พัก ส่วนตอนนี้ก็มี นายเลิศ บัตเลอร์ ที่เซ็นสัญญากับประเทศอังกฤษไปแล้ว ตอนนี้ธุรกิจ 5 ดาว ธุรกิจ luxury ต่างๆ ในเมืองไทยเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทุกคนสร้างอะไรได้สวยแล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือการให้บริการที่ดี ซึ่งก็คือคน เล็กบอกตลอดว่าไม่อยากแข่งกับใคร ดังนั้นเลยหาช่องว่างว่าเมืองไทยยังขาดอะไร ก็คือเรื่องนี้ที่เป็นหลักสูตรสอนคนให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น คนไทยน่ารัก ยิ้มเก่ง ทำน้ำหกใส่เขายังยิ้มเลย เล็กคิดว่าไม่ใช่แล้ว นี่ไม่ใช่บริการที่ดี เลยคิดว่าเรามาเรียนรู้กันดีกว่าว่าบริการที่ดีควรทำอย่างไร เป็นที่มาของธุรกิจบัตเลอร์แห่งแรกในไทย [caption id="attachment_3700" align="aligncenter" width="800"] บรรยากาศการเรียนหลักสูตรนายเลิศ บัตเลอร์ (ภาพ: ปาร์คนายเลิศ)[/caption] The People: ความยากง่ายในการทำ นายเลิศ บัตเลอร์? ณพาภรณ์: ก่อนไปเซ็นสัญญา เล็กไปเรียนมาก่อนแล้ว พอไปเรียนปุ๊บมันใช่เลย บัตเลอร์เป็นเหมือนเงาของเจ้านาย ต้องรู้ใจ ต้องเก็บความลับได้ รู้ว่าเจ้านายชอบทานอะไร แพ้อะไร ชอบพับเสื้อแบบไหน จับกลีบเสื้อผ้ายังไง ต้องเนี้ยบ ต้องเป๊ะ ต้อง attention to detail ซึ่งเรื่องเหล่านี้นำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจลักชัวรีได้หมด ตอนแรกกลัวว่าจะไม่มีใครมาเรียน กลัวคนอื่นคิดว่าเราเปิดเพื่อตัวเองหรือเปล่า โอเรียนเต็ลจะมาไหม ที่ไหนได้ เล็กกลัวไปเอง ทุกคนส่งคนมาเรียนกับเรา ทั้งจากโรงแรมต่าง ๆ ร้านอาหาร โรงหนัง ธนาคาร ธุรกิจ private jet เรือยอชต์ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับบริการระดับลักชัวรีเขาส่งมาหมด มหาเศรษฐีจากฟิลิปปินส์ก็ส่งบัตเลอร์มาเทรน ทีแรกเล็กเปิดเป็นหลักสูตรสั้น ๆ หลักสูตร 7 วัน รับ 30 คนต่อคลาส เพราะอยากให้เป็นการสอนแบบตัวต่อตัว พอเห็นว่าไปได้ดี เลยจะสร้างโรงเรียนขึ้นมา อีกสักปีหนึ่งน่าจะได้เห็นเป็นโรงเรียน ซึ่งในนั้นเล็กจะจำลองห้องที่มีเครื่องบิน มีรถ แบบที่ว่าเมื่อแขกมาแล้วต้องต้อนรับแบบไหน มีจำลองโรงหนังด้วย คือทำห้องจำลองแต่ละธุรกิจขึ้นมาเลย พอคนรู้ว่าเรามีธุรกิจตรงนี้ก็เริ่มให้หาบัตเลอร์ให้ ส่งไปเมืองนอก ส่งไปตามบ้าน คือนักเรียนที่มาเรียนกับนายเลิศ บัตเลอร์ เล็กจะเก็บข้อมูลไว้หมดว่าคนไหนผ่าน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ผ่านหมด เล็กเป็นคนตัดสินก่อนว่าผ่านหรือไม่ผ่าน (หัวเราะ) เล็กเข้าใจว่ามหาเศรษฐีทั้งหลายไม่มีเวลามาดู detail พวกนี้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่จะดูไปให้ คัดไปให้ จากนั้นก็มีหลายคนถามว่าส่งคนรับใช้ที่บ้านมาเทรนได้ไหม เล็กขอใช้คำนี้เลยก็แล้วกันเพราะมีคนถามมา ซึ่งต่อไปเราอาจเปิดคอร์สสั้น ๆ ก็ได้
The People: ความท้าทายในการสร้างธุรกิจให้เติบโตโดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวคืออะไร ณพาภรณ์: เล็กคิดว่าการทำธุรกิจครอบครัวให้สำเร็จเป็นเรื่องยาก ยากกว่าธุรกิจที่เป็น corporate เพราะธุรกิจครอบครัวมีอารมณ์เข้ามาเยอะ ทุกคนเป็นเจ้าของหมด ความต้องการของแม่ ของลูก ของพี่สาว ไม่เหมือนกัน ชอบดอกไม้ก็ชอบคนละสีแล้ว เพราะฉะนั้นเลยมานั่งคุยกันว่า โอเค เป็นธุรกิจครอบครัวก็จริง แต่ต้องให้อยู่ได้ยาวนาน ไม่ใช่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ เพราะไม่ดีต่อใครเลย รวมทั้งพนักงาน คิดสภาพสิว่าพนักงานจะฟังใคร ทุกคนเป็นเจ้าของหมด อยู่ดี ๆ เดินมาจะเอาสีเหลือง จะเอาสีแดง จะเอาสีม่วง ใครจะทำงานได้ พอเขาให้เล็กมาเป็นกรรมการผู้จัดการปุ๊บ เล็กเคลียร์กับทุกคนในครอบครัวเลยว่าทุกคนยังเป็นเจ้าของอยู่ แต่ถ้าต้องการอะไรมาบอกที่เล็ก ไม่ใช่บอกพนักงานโดยตรง เพราะมันจะเละ โชคดีที่ครอบครัวเล็กลงตัวกันมาก เราแบ่งหน้าที่กันไป คุณแม่ชอบสร้าง ส่วนเล็กชอบอยู่กับคน ชอบบริหาร ไม่ชอบอยู่กับอิฐกับปูน พอเขาสร้างเสร็จปุ๊บก็โยนมาให้เล็กบริหาร เลยค่อนข้างลงตัว The People: หลายครอบครัวบริหารจัดการธุรกิจด้วยการแปรเป็นบริษัทมหาชนและเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ไม่ใช่กับปาร์คนายเลิศ? ณพาภรณ์: การที่เราไม่ได้ดูเองจะหมดความเป็นเรา เราคือใคร เราคือครอบครัว คือดีเอ็นเอที่อยู่ในสายเลือด การให้คนอื่นมาทำก็ไม่เหมือนเราทำเอง แต่การลงมาทำเองต้องแยกให้ถูกว่าอะไรคือความชอบส่วนตัว และอะไรที่ดีต่อธุรกิจ เล็กมาทำตรงนี้ก็ต้องเคลียร์กับตัวเองว่าอย่าเอาความชอบของเราเป็นหลัก อะไรที่ดีกับปาร์คนายเลิศ อะไรที่ดีกับคนส่วนมาก เล็กจะโฟกัสที่ตรงนั้น ต้องลดอีโก้ลงให้เยอะ ๆ (หัวเราะ) พูดแฟร์ ๆ เลยว่าธุรกิจครอบครัวหลายที่ที่ไปไม่รอดเพราะอีโก้และอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ เราก็ต้องไม่เป็นแบบนั้น The People: รู้สึกกดดันหรือท้าทายตัวเองมากน้อยแค่ไหน ณพาภรณ์: ไม่รู้สึกกดดัน เพราะเล็กคิดว่าเราตั้งใจจริง ถ้าอะไรที่เกี่ยวกับปาร์คนายเลิศเล็กจะคิดเยอะ อย่างถ้าทำนายเลิศ บัตเลอร์ ขึ้นมาจะดีมั้ย เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ควรใช้เงินเป็นร้อยล้านสร้างโรงเรียนขึ้นมาตั้งแต่แรกเลยดีหรือเปล่า หรือจะยังไง ต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ เยอะ เล็กเคยทำร้านเสื้อผ้าที่แพลทินัมตรงประตูน้ำ เพราะคิดว่าเราใส่เสื้อผ้าสวย ๆ จากแบรนด์เมืองนอกมาแล้ว ก็อยากทำความสวยงามในราคาย่อมเยา ปรากฏว่าทำได้ปีเดียวเจ๊ง (หัวเราะ) แต่พ่อแม่เล็กน่ารัก ท่านให้อิสระในการคิด การเลือก การทำ อันไหนไม่สำเร็จไม่เคยตอกย้ำกัน ให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สุดท้ายใครชอบอะไรก็ทำตรงนั้นไป อย่างพี่น้องเล็กชอบอย่างอื่น ก็มีเล็กคนเดียวที่มาอยู่ตรงนี้ เล็กรู้จักตัวเองดีว่าชอบทำอะไร และโฟกัสไปที่จุดแข็งของตัวเอง แต่ต้องอย่าลืมจุดอ่อน จุดอ่อนเราคืออะไรก็ควรจะรู้ และพยายามอุดตรงนั้น บางทีเจอปัญหา แต่บอกตัวเองเสมอว่าอย่าเอาเวลาไปแก้ปัญหาอย่างเดียว ต้องมองในอนาคตว่าเราจะเดินไปตรงไหน อย่าลืม plan อย่าลืมทำ strategy อย่าลืมมี vision ที่เรากำหนดไว้ แล้วเดินไปตรงนั้นให้ได้
The People: มีช่วงเวลาเหนื่อย ท้อ บ้างไหม ณพาภรณ์: เหนื่อยก็หลับค่ะ (หัวเราะ) เล็กไม่ค่อยซีเรียสกับอะไรมาก หิวก็กิน เหนื่อยก็พัก ง่วงก็นอน แค่นี้แหละ ชีวิตของเล็กมีแค่นี้ แต่ต้องเล่นกีฬาทุกวัน หลังเลิกงานเล็กก็ไปเล่นโยคะเพราะเล็กมีศูนย์โยคะด้วย ชื่อ ครี โยคะ (Kri Yoga) เปิดมา 8 ปีแล้ว อย่างที่บอกว่าเล็กชอบทำอะไรที่ตัวเองสนุก ตอนนั้นไปเล่นแล้วพอหมดอายุสมาชิก เซลส์ก็ตรงเข้ามาเลยเพราะรู้ว่าปิดดีลนี้ได้แน่นอน เขาถามว่าจะต่ออายุสมาชิกมั้ย เล็กบอกว่าไม่เป็นไร ยังไม่ต่อ อาทิตย์ถัดไปเล็กทำ business plan ไปเสนอเจ้าของเลย บอกขอซื้อหุ้นครึ่งหนึ่งได้มั้ย คือชอบอะไรที่เป็น passion แล้วเอามาทำเป็นธุรกิจ จะได้เหมือนไม่ใช่งาน The People: โยคะและการบริหารธุรกิจเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ณพาภรณ์: ไม่เคยคิดเลย...แต่คงเหมือนเป็น routine ไปแล้วมั้งคะ บางทีเล็กไม่ตั้งใจมาทำงานที่นี่ แต่อยู่ดี ๆ ก็ขับรถเลี้ยวเข้ามาจอด เหมือนละเมอมายังไงไม่รู้ (ยิ้ม) คือต้องมีวินัย ไม่ว่าจะทำงานหรือเล่นกีฬา เราต้องทำให้เป็น routine แต่ในความ routine เราต้องเอาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตได้ด้วย
The People: มองว่าตัวเองเป็น perfectionist หรือเปล่า ณพาภรณ์: perfectionist มั้ย เล็กไม่รู้จักคำนี้ เล็กไม่ทราบว่า perfect คืออะไร perfect ของคนคนนี้ ก็ไม่ใช่ของคนคนนี้ เพราะฉะนั้นเล็กคิดว่าตัวเองค่อนข้างชัดว่าต้องการอะไรและอยากเห็นอะไร perfect หรือเปล่าเล็กไม่ทราบจริง ๆ คือถ้าเล็กบอกว่าเล็ก perfect แล้วคนอื่นบอกว่าไม่ใช่ล่ะ (หัวเราะ) คำว่า perfect ของเล็ก คือการทำให้ตรงนี้เป็นอะไรที่มีคุณค่าและยาวนาน timeless ไม่แข่งกับใคร เราอยู่ด้วยตัวของเราเอง และอะไรที่ดี มันอยู่ได้นานอยู่แล้วแหละเล็กว่า เล็กพยายามใช้อะไรที่มีคุณภาพ อาจจ่ายแพงครั้งแรกหน่อย แต่ไม่ต้องจ่ายถูก ๆ หลาย ๆ ครั้ง คือค่อนข้างจะ detail มากกว่ามั้งคะ เล็กคิดว่าชีวิตเล็กโอเคกับตรงนี้ มีความสุข แล้วการที่เรามีความสุข ก็สามารถทำอะไรออกมาได้ดีทั้งนั้น ขอแค่ตั้งใจทำและใส่ใจ แล้วสนุกกับมัน เล็กว่าเราก็ทำทุกอย่างได้ทั้งนั้น The People: เคยคิดไหมว่าถ้าไม่ใช่ปาร์คนายเลิศจะไปอยู่จุดไหน ณพาภรณ์: ไม่เคยคิดค่ะ เพราะเราเกิดมาตรงนี้แล้ว