GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

GINGER FARM kitchen ร้านที่เริ่มต้นจากความสุขที่บ้าน ป้อนความสุขผ่านอาหารจานอร่อย และแบ่งปันชีวิตออร์แกนิก เสิร์ฟตรงถึงลูกค้า

KEY

POINTS

  • GINGER FARM kitchen ร้านอาหารเหนือฟิวชั่นจากเชียงใหม่ ที่ป้อนความสุขผ่านเมนูบนจานลูกค้า
  • จุดเริ่มต้นจากความสุขเล็ก ๆ ที่บ้าน แบ่งปันชีวิตสงบ ความเรียบง่าย ทั้งเกษตรกร จนถึงลูกค้า
  • มุมมองเจ้าของร้าน จากสาวออฟฟิศ ถึงเจ้าของธุรกิจ และชีวิตที่เรียบง่าย

บางทีปรัชญาในการทำร้านอาหาร อาจมีจุดเริ่มต้นที่มากกว่าความอร่อยก็ได้ เหมือนร้านหนึ่งที่เรารู้จัก พวกเขาเริ่มต้นจากผืนแผ่นดินที่เกิดจากความรัก เกิดจากความสุขของคนในครอบครัว และความรู้สึกที่อยากแบ่งปันสู่ผู้อื่น

การกินอาหารพื้นบ้านที่อร่อย ๆ ในพื้นที่ที่เหมือนบ้าน อบอวลไปด้วยความสุข ความสบายใจ ก็เป็นวิธีการฮีลใจตัวเองจากโลกที่วุ่นวายในแต่ละวันได้เหมือนกัน ก้าวแรกที่ผู้เขียนเดินเข้าร้าน GINGER FARM kitchen เพื่อพูดคุยเรื่องราวกับ ‘ปุ้ย-ศิริลักษณ์ ปริเตนัง’ เจ้าของร้านแห่งนี้ แว่บแรกที่รู้สึกมันคือการได้กลับบ้านและความสงบเรียบง่าย

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

เสียงหัวเราะบนโต๊ะอาหาร จานแต่ละจานที่จัดกึ่งทางการเรียบร้อย และรสชาติอาหารที่ให้อารมณ์เหมือนเลิกเรียนแล้วกลับบ้านไปกินฝีมือแม่ ชวนให้อมยิ้มตั้งแต่ที่ยังไม่ได้เริ่มชิมคำแรก และ ปุ้ย – ศิริลักษณ์ ที่เดินตรงมาทางเราด้วยหน้าตายิ้มแย้มสดใส ชวนสงสัยว่าในวันแรก ๆ ที่เริ่มต้นธุรกิจนี้กับ ‘ธงชัย ปริเตนัง’ คู่ชีวิตที่ร่วมแรงร่วมใจก่อร่างสร้างธุรกิจมาด้วยกัน พวกเขาผ่านอะไรกันมาบ้างนะในวันนั้น

และนี่คือเรื่องราวที่แสนอบอุ่นละมุนหัวใจ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เขียนฟังไปยิ้มไป เพราะมวลความสุขจาก ปุ้ย – ศิริลักษณ์ ส่งตรงมาถึงเราอย่างตรงไปตรงมา ตลอดการพูดคุยกว่า 1 ชั่วโมง

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

บ้านและสวนเล็ก ๆ ของพวกเรา

ต้องเล่าจุดเริ่มต้นแรกจริง ๆ ของร้าน GINGER FARM kitchen ว่าไม่ได้เกิดเป็นร้านอาหารในตอนแรก แต่เป็น ‘ฟาร์ม’ แห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ที่อยู่นอกตัวเมือง พื้นดินของครอบครัวถูกแปลงโฉมให้เป็น ‘สวนเล็ก ๆ หลังบ้าน’ ความสุขนั้นเกิดขึ้นเพราะ ธงชัย เป็นคนที่ชอบปลูกต้นไม้ มีความสุขกับการเห็นต้นไม้ที่ปลูกเติบโต ออกผล อย่างแตงโม ฟักทอง ผักต่าง ๆ ก็ตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นเติบใหญ่ขึ้น

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

ปุ้ย – ศิริลักษณ์ บอกว่า “ทุกวันนี้บ้านหลังเล็ก ๆ ที่บ้านก็จะมีสวนเล็ก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ที่เขาจะปลูกทานเอง ครอบครัวชอบทำอาหารทานเอง ถ้าเหลือตอนนี้ก็เอามาส่งที่ร้าน เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้รู้สึกว่าเราน่าจะทำแบบนี้เพื่อคนอื่นบ้าง”

ครั้งแรกที่มีความคิดจะทำฟาร์ม สองสามีภรรยาคู่นี้ได้แต่คิดว่า ที่ดินแปลงเขียวนี้ ถ้าเราให้คนอื่นดูบ้าง เหทือนกับที่เราให้ลูกให้หลานก็คงดี คงมีอีกหลายคนที่ไม่รู้จัก

“มันไม่ใช่แค่เด็กอย่างเดียวค่ะ พี่มองความเป็นครอบครัว บางคนที่อยู่กรุงเทพเข้าไปเขาก็ไม่รู้จักต้นลำไย หรือคนฮ่องกงที่มาฟาร์มของเราก็ไม่รู้จักต้นมะละกอ ฟาร์มเราจะมีความหลากหลายมากอยู่ในนั้น และทุกคนก็จะสัมผัสถึงกลิ่นอายของธรรมชาติด้วยกัน”

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

ถ้าถามว่า การปลูกต้นไม้เอง ทานผักจากสวนตัวเอง จนมาเป็นฟาร์ม แล้วก็ร้านอาหาร ความเป็นออร์แกนิกทั้งหมดที่เป็นรากเหง้าของทุกอย่างเชื่อมโยงกันอย่างเนียนเรียบได้อย่างไร ‘ปุ้ย – ศิริลักษณ์’ อธิบายว่า ปกติครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวสายออร์แกนิกอยู่แล้ว คือ ทำอาหารก็ไม่ใส่ผงชูรส ทานผักที่ปลูกเองตามสวนหลังบ้าน และธงชัย ก็เป็นลูกชาวนา ปลูกเองทานเองมาตลอด

“ต่อให้เดินทางไปทำธุรกิจ หรือไปไหนก็ตาม กลับมาก็จะมาทานข้าวกันที่บ้าน มันเป็นเวลาของครอบครัวอย่างนี้ค่ะ เป็นเวลาที่จะได้คุยกันแลกเปลี่ยนกัน แค่คิดว่าในเมื่อเราคุ้นเคยกับภาพแบบนั้น อาหารแบบนี้ บรรยากาศประมาณนี้ โฮมมี่ ๆ ก็เลยลองทำร้านดูสักครั้ง ปรากฎว่า สาขาแรกที่เปิดแถวนิมมาน (เชียงใหม่) ผลตอบรับดีเกินคาด”

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

แต่ GINGER FARM kitchen ยังไม่ใช่ร้านแรกที่เขาทั้งสองคนทำ โมเดลที่เป็นร้านอาหารจริง ๆ ชื่อว่า The House ร้านอาหารเล็ก ๆ แนวตะวันตกแบบ casual fine dining

ซึ่งทำควบคู่ไปกับธุรกิจส่งออกของที่บ้าน แล้วก็มีช้อปเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า Ginger Shop ซึ่งชื่อ Ginger ส่วนหนึ่งก็ต่อยอดมาจากร้านที่เคยเปิด และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ปุ้ย – ศิริลักษณ์ ต้องการใส่ความเป็นเอเชียเข้าไปในชื่อร้าน เหมือนคำว่า Rice หรือ Lemongrass เลยกลายมาเป็นคำว่า ‘Ginger’

“ถ้าให้แยกดีเทลลึก ๆ ของชื่อนี้ก็คือ Ginger แน่นอนทุกคนจะรู้ทันทีว่าคือเอเชีย, 2 คือ Ginger มีความเผ็ดร้อนซึ่งเป็นสไตล์ของเราตั้งแต่ที่ทำธุรกิจส่งออก และ Ginger ยังมีความหมายว่า infinity ในทางสายมูเตลูด้วย”

 

ออร์แกนิกไม่แพงถ้ารู้วิธี

มีสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยมาตลอดคือ จริงแล้วออร์แกนิกแพงหรือไม่? ผู้เขียนไม่รอช้าที่จะถาม ปุ้ย – ศิริลักษณ์ไปตรง ๆ ว่า ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อะไรก็ตามที่ทานได้และเป็นออร์แกนิกจริง ๆ แล้วแพงหรือไม่ในความคิดของเธอ ในฐานะที่ทำร้านอาหารด้านนี้โดยเฉพาะ

และไอเดียการปลูกแบบออร์แกนิก ก็เป็นความคิดของ ธงชัย มาตั้งแต่ต้น ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า ปีแรก ๆ ที่ปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีแล้วไปเสนอให้กับโรงสี โรงสีให้ราคาต่ำมาก ๆ ธงชัย จึงนำกลับบ้านทั้งหมดแล้วลองสีข้าวเองด้วยเครื่องสีเล็ก ๆ ที่มี ก็ได้ข้างกล้องออกมา

นับแต่นั้นมาเลยรู้เลยว่า ข้าวแพ็คหนึ่งที่เป็นออร์แกนิก ที่สีข้าวเองกับมือนั้น ไม่ได้แพงอย่างที่คิด จุดนี้เองเลยทำให้ธงชัยคิดว่าอยากจะลองเปลี่ยนความคิดเกษตรกรคนอื่นดู เพราะได้ราคาดีกว่าถ้ารู้วิธี

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

“โชคดีตรงที่ว่า ทีมที่เราร่วมทำกันตั้งแต่เริ่มต้น มีกลุ่มเกษตรกรของเชียงใหม่ด้วย ที่พยายามทำให้การปลูกข้าว ปลูกผักต่าง ๆ เป็นออร์แกนิก ซึ่งตอนนั้นเราก็เริ่มมาคิดว่าจะรับซื้อนะคะผลผลิตเองด้วยนะคะ”

“ตอนนั้นคำว่า ออร์แกนิกยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ความคิดของคนครั้งแรกก็จะบอกว่า ราคาสูง แต่จริง ๆ แล้วราคามันเท่ากัน แต่เราต้องรับซื้อตรงจากเกษตรกร เราเองก็มีของตลอด เกษตรกรก็มีรายได้ที่มั่นคงด้วย”

ในด้าน ยอด - บารมี นวนพรัตน์สกุล พาร์ทเนอร์ธุรกิจที่เข้ามาช่วยดูแลด้านมาร์เก็ตติ้งให้กับร้าน ได้บอกกับเราว่า “จริง ๆ แล้วผมเข้ามาช่วยพี่ปุ้ยทำตรงนี้ เพราะว่าเห็นว่าตัวแบรนด์นี้มีความน่าสนใจ แล้วก็มีจุดมุ่งหมายที่สามารถทำให้คนได้รับคุณภาพอาหารที่ดี รสชาติที่อร่อย แล้วก็ได้อะไรที่มันแตกต่างไปจากแบรนด์อื่นที่เราเคยเห็นในตลาด ก็เลยมองว่าจุดแข็งตรงนี้ มันเป็นสิ่งที่เราอยากจะเข้ามาช่วยทำให้มันเติมเต็มมากยิ่งขึ้น”

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

ทั้งนี้ ยอด - บารมี ยังขยายความถึงความเป็นออร์แกนิก และความเชื่อเรื่องราคาแพงว่า
“ปัญหาของออร์แกนิกเมื่อก่อนคือ ตลาดมันไม่มี เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็จะมองว่าของมันแพง พอตลาดไม่มีเกษตรกรก็จะไม่ปลูก ส่วนเคมีนั้นเข้าถึงง่ายกว่าราคาถูก เกษตรกรก็เลือกของง่ายและราคาถูก และส่วนตัวเคยมีประสบการณ์ในเรื่องของการอยู่ในสายการเกษตรมาก่อน เราพบว่าเกษตรกรปัญหาก็คือ ไม่มีเครือข่าย ไม่มีคนมาเชื่อมจุดต่าง ๆ มาช่วยกันทำ แต่พอมีตลาดปุ๊บ เราก็มองว่าแบรนด์ GINGER FARM kitchen น่าจะเป็นแบรนด์หนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่ทำในเรื่องของออร์แกนิกในกรุงเทพ เราเลยสนใจครับ”

 

ความสุขเริ่มจากบ้านสู่จานอาหาร

มาถึงยุคของร้าน GINGER FARM kitchen ที่ปัจจุบันมีอยู่ 8 สาขา รวมทั้งที่เชียงใหม่และพัทยา อาหารเหนือฟิวชั่นที่ได้ มิชลิน 5 ปีซ้อน (รับรางวัลบิบ กูร์มองด์) ซึ่งสูตรอาหารต่าง ๆ ในร้านจะเป็นเมนูจานโปรดที่ครอบครัวทานกันบ่อย ๆ มีความเป็นล้านนา เป็นพื้นบ้าน ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นอาหารที่ทำทานที่บ้าน

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

“ด้วยความที่เรามีพาร์ทเนอร์ที่เป็นต่างชาติด้วย ก็จะเอาความเป็น western มาทวิตส์หน่อย เช่นเมนู สปาเก็ตตี้ปูอ่องที่เป็นแบบเด็กทานได้, ตำมั่วจิงเจอร์ ที่เหมือนเราทานส้มตำทั่วไป หรือพิซซ่าทุกทีเราจะเจอหน้าฮาวายเอี้ยนที่มีสับปะรด มีเบคอน มีกุ้ง เราก็เอาจิงเจอร์มาใส่ได้ เดี๋ยวนี้อาหารมันไม่มีชนชาติ มันไม่มีขอบเขต”

“ขอให้คนทานมีความสุข เพราะคนที่คิดค้นเมนูเหล่านี้เขาก็มีความสุขเช่นกัน”

ปุ้ย – ศิริลักษณ์ พูดถึงการรักษาตำนาน 5 ปีของมิชลินด้วยว่า เธอถือคติเรื่อง ‘วันแรก’ คือ วันแรก ๆ ที่ลูกค้าเคยทานที่ร้านเป็นแบบไหน ปัจจุบันก็ต้องแบบนั้น ทั้งวัตถุดิบ, รสชาติ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ

เธอค่อนข้างให้ความสำคัญกับคำว่า ออร์แกนิก ว่ามันจะต้องออร์แกนิดจริงและราคาเข้าถึงง่าย ไม่ได้แพงแบบความเชื่อเดิม ๆ ซึ่งเมนูร้าน GINGER FARM kitchen พยายามทำให้ทุกอย่างเป็นออร์แกนิกจริง ๆ และใช้พืชผักท้องถิ่นของจังหวัดที่เรามีสาขา

เช่น พัทยา ที่ใช้สวนป้าแป้นเป็นสวนออร์แกนิกทั้งหมด หรือ อย่างในกรุงเทพที่เธอใช้ผักจากสวนรับแขกในย่านสุขุมวิท 62 ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้ว่า ใจกลางกรุงเทพจะมีสวนออร์แกนิกแบบนั้นอยู่ด้วย

หรือ อย่างหมู เธอก็จะใช้หมูปล่อยจากสามพราน นครปฐม ซึ่งมี certificated การันตีว่าการเลี้ยงหมูแบบปล่อยทำให้หมูมีความสุขแฮปปี้

“ตลอด 25 ปีของการทำธุรกิจที่ผ่านมา เรามองว่าที่เหลือมันคือกำไรชีวิตของเราทั้งนั้นแล้วนะคะ เพราะความสุขมันเริ่มจากที่บ้าน เริ่มจากจุดเล็ก ๆ เริ่มจากครอบครัว การทำงานของเราก็เป้นการทำแบบมีความสุขไม่ได้คิดว่ามันคืองาน เรามีเป้าหมายว่า อยากให้ลูกค้ามีความสุขในการที่มากินที่ร้านก่อน เราพร้อมฟังจากเขา พร้อมปรับปรุง พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ”

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

 

อนาคตกับฟาร์มฮีลใจ สถานที่พักใจ

นอกจาก 8 สาขาของร้าน GINGER FARM kitchen ปัจจุบันมีแบรนด์ The House, The Hungry Duck, The Farmer and The Fisherman และล่าสุดก็คือ ‘ขันโตกบาร์’ ที่ตลาดจริงใจ มาร์เก็ต ในเชียงใหม่

ปุ้ย – ศิริลักษณ์ ยังมีพันธะที่อยากจะไปให้ถึงในอนาคตก็คือ ฟาร์มที่เป็น wellness เป็นทั้งที่พักและฟาร์มเรียนรู้ และเหตุผลสุดโรแมนติกที่เธอบอกกับเรา คือ

“ที่ดินผืนนั้นมันเริ่มมาจากความรักของเราในครอบครัว ณ วันแรก เราอยากจะสร้างบ้านไว้เพื่อเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของเรา และตอนนี้ก็คิดว่ามันก็จะเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของเรา แล้วก็เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของคนอื่นด้วยเหมือนกัน ที่มาเอ็นจอย มาเก็บผัก มาใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ เหมือนเป็นที่พักใจ เป็นสถานที่ฮีลใจ มาดีท็อกร่างกายให้ได้พัก ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ค่ะ”

“วันที่เราเหนื่อย ๆ แค่กลับมาบ้าน มานั่งคุยกันที่บ้าน ก็ฮีลใจเราแล้ว พี่เป็นคนใช้ชีวิตง่าย ๆ ค่ะ อยู่กับความง่ายของชีวิต กินก็ง่าย ๆ กินได้หมด ทำให้ชีวิตมันง่าย แล้วมันจะเป็นความสุข พี่มองตั้งแต่จุดเล็ก ๆ แค่นี้ก็สุขแล้ว”

GINGER FARM kitchen : ร้านที่เริ่มจากความสุขที่ ‘บ้าน’ สู่จานออร์แกนิกเสิร์ฟลูกค้า

บทสนทนาในวันนั้น นอกจากความสุขเรียบง่ายที่เราได้มุมมองนี้จาก ปุ้ย – ศิริลักษณ์ เรายังเรียนรู้ในมุมการทำธุรกิจจากเธอด้วย เชื่อว่าธุรกิจส่งออกที่เคยทำอยู่ก่อนแล้วคงไม่ง่าย พอมาเป็นอุตสาหกรรมร้านอาหารก็คงเป็นอีกศาสตร์ที่ไม่ง่ายเช่นกัน เราจึงถามเธอว่า ในฐานะที่เธอเคยเป็นพนักงานออฟฟิศ ก่อนออกมาทำธุรกิจส่วนตัว เรื่องธุรกิจสำหรับเธอยากหรือง่ายอย่างไร

“ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเราเลยค่ะ การเริ่มต้นทำธุรกิจครั้งแรก ๆ มันไม่มีว่ายากหรือง่าย มันมีแค่ทำแล้วก็เรียนรู้ไปกับมัน ในทุกวันจะมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่แล้ว วันนี้แก้เรื่องนี้ วันพรุ่งนี้มันจะมีเรื่องใหม่ให้ต้องแก้ แค่อย่าเอาตัวเข้าไปอยู่ในปัญหานั้น อย่าอยู่กับการล้มนานเกินไป มันจะทำให้เราลุกขึ้นไม่ทัน ที่สำคัญต้องดูตัวเองด้วย ดูว่าเราถนัดแบบไหน”

เธอยังบอกด้วยว่า บางทีการทำธุรกิจก็ต้องฟังเสียงหัวใจตัวเองด้วย ถ้าใจบอกว่าใช่ ก็นั่นแหละ passion ของเรา