13 ก.พ. 2562 | 13:48 น.
อเล็กซ์ ซีเปียกิน นักทรัมเป็ตแจ๊สระดับโลกชาวรัสเซีย โด่งดังกับการร่วมเล่นกับนักดนตรีระดับตำนานอย่าง ไมเคิล เบ็คเกอร์ และ เดฟ ฮอลล์แลนด์ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1998 ซีเปียกินฝากผลงานสตูดิโออัลบั้มของตัวเองมากกว่าสิบเจ็ดชุด และยังได้มีส่วนร่วมกับอัลบั้ม Pathways ของเดฟ ฮอลล์แลนด์ ผลงานที่ได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงแกรมมี อวอร์ดส สาขาอัลบั้มรวมวงแจ๊สขนาดใหญ่เมื่อปี 2010 ซีเปียกิน ถือเป็นนักทรัมเป็ตที่มีสไตล์เฉพาะตัวทั้งด้านการเล่นและผลงานประพันธ์ อัลบั้มเด่นของเขาอย่าง Hindsight, Mirages, Steppin' Zone, Out of the Circle, Generations: Dedicated to Woody Shaw และ Destinations Unknown ถือเป็นผลงานที่รวมทั้งยอดฝีมือและเพลงที่ดีในเวลาเดียวกัน นอกจากงานหลักคือเป็นนักดนตรีแล้ว ซีเปียกิน ยังรับหน้าที่เป็นครูในแผนกดนตรีแจ๊สที่ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) อีกด้วย วันนี้เราได้มีโอกาสนั่งคุยกับชายคนนี้เกี่ยวกับวิธีคิดในการเล่นของเขา รวมถึงความเห็นที่เกี่ยวกับเด็กไทยในเรื่องของการศึกษาดนตรี The People : ทรัมเป็ต กับ อเล็กซ์ ซีเปียกิน พบกันได้อย่างไร อเล็กซ์ : ทุกอย่างเกิดขึ้นที่เมืองยาโรสลาวิลในรัสเซีย ตอนผมอายุสิบสอง ตอนนั้นผมได้พบกับครูคนหนึ่งเขาเป็นนักดนตรีคลาสสิกที่เก่งมาก และผมได้มีโอกาสลองเล่นทรัมเป็ตในช่วงหลังเลิกเรียน ผมรู้สึกเข้ากับมันได้ทันทีจากนั้นมันกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผม The People : ย้ายจากมอสโกมาที่นิวยอร์กได้อย่างไร อเล็กซ์ : ในช่วงที่ผมยังอยู่ที่รัสเซียและเล่นดนตรีคลาสสิก ผมเรียนที่วิทยาลัยดนตรีในมอสโก ซึ่งระหว่างนั้นเพลงแจ๊สหลายๆ เพลงก็ผ่านหูเข้ามาโดยเฉพาะผลงานของ ลี มอร์แกน อัลบั้ม Sidewinder (1964) ผมหลงรักมันเลยซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปตอนที่ผมยังเรียนอยู่ที่มอสโก แค่สามปีให้หลังจากนั้นต่อมาผมได้มีโอกาสไปแข่งโซโล่แจ๊สที่สหรัฐฯ (ได้ที่สี่) ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนเลยที่ทำให้ผมอยู่สหรัฐฯ ต่อไปเรื่อยๆ The People : คุณมีวิธีซึมซับผลงานดนตรีแจ๊สในแต่ละยุคอย่างไร อเล็กซ์ : กระบวนการเหล่านี้มันเริ่มมาจากความอยาก อยากที่จะฟัง อยากที่จะเล่นมากขึ้น ทุกอย่างเริ่มจากความอยากฟังเพลงแจ๊สของผม ครูตลอดกาลของผมคือการแกะเพลง ผลงานของ คลิฟฟอร์ด บราวน์, เฟรดดี้ ฮับบาร์ด เขาทั้งสองคือคนที่ผมนั่งแกะและวิเคราะห์วิธีคิดอย่างจริงจัง ส่วน ไมลส์ เดวิส ผมชอบนั่งฟังเขาและจินตนาการตามกับสิ่งที่เขาเล่น The People : ครูเบอร์หนึ่งของอเล็กซ์ ซีเปียกิน อเล็กซ์ : มีหายคนเลยทั้ง แรนดี้ เบเกอร์, คลิฟฟอร์ด บราวน์, เฟรดดี้ ฮับบาร์ด The People : แจ๊สเคยเป็นดนตรี mainstream ของโลก ซึ่งกลับกันกับทุกวันนี้ คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร อเล็กซ์ : ผมว่าวงการเพลงแจ๊สโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตัวของมันเองในหลายๆ ทาง แม้จะเป็นดนตรีชนิดหนึ่งแต่แจ๊สก็สะท้อนตัวเองผ่านมุมมองการเมือง สังคม ได้เสมอ แต่เหนือสิ่งอื่นใดแจ๊สก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนเดิมเสมอ นั่นก็คือการกลับไปหารากฐานของตัวเอง เวลาที่มีผลงานใหม่ๆ เกิดขึ้นเบื้องหลังของมันคือการมองย้อนไปข้างหลัง คือทุกศิลปินจะกลับไปฟังผลงานของไมลส์ เดวิส หรือ จอห์น โคลเทรน เสมอและมองหาสิ่งใหม่ในนั้น The People : ถ้าอย่างนั้นแรงบันดาลใจของคุณ คือการมองย้อนกลับไปยังผลงานที่คุณเติบโตมาใช่หรือไม่ อเล็กซ์ : แรงบันดาลใจของผมเริ่มต้นจากการเดินทาง ผมได้มีโอกาสเดินทางรอบโลกและร่วมเล่นกับคนมากหน้าหลายตาโดยเฉพาะเหล่าคนรุ่นใหม่มากฝีมือที่จะนำไอเดียใหม่ๆ มาให้ผมเสมอ แต่ไอเดียของผมมักจะเกิดจากการซ้อมด้วยเช่นกัน เวลาที่ผมอยู่กับทรัมเป็ตนานๆ มันมักจะมาพร้อมกับไอเดียอะไรสักอย่าง ซึ่งพอเราเอาสองสิ่งนี้มารวมกัน การเดินทางและการซ้อมมันคือเครื่องนำทางสำหรับผม The People : ประสบการณ์จากประเทศไทยในครั้งนี้ คุณจะนำกลับไปเขียนเพลงไหม อเล็กซ์ : แน่นอน คุณรู้ไหมนี่คือประเทศที่ผมฝันจะมาตลอดและตอนนี้ฝันของผมเป็นจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ผมได้แค่มาเฉียดๆ แถวนี้แต่นี่คือครั้งแรกที่ผมได้มาที่นี่ ก่อนหน้านี้ผมเคยได้ยินเรื่องราวของดนตรีแจ๊สในไทยผ่านดนตรีของกษัตริย์ของพวกคุณ ที่นี่เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมและในทุกๆ วันผมมักจะหาแรงบันดาลใจให้กับตัวเองเสมอ ซึ่งผมมั่นใจว่าพอกลับไปผมคงมีผลงานอัลบั้มใหม่แน่นอน The People : ในฐานะที่เป็นครูด้วยและได้มีโอกาสมาเปิดแคมป์สอนให้แก่เด็กไทย คุณคิดว่าความสามารถของเด็กไทยเป็นอย่างไรบ้าง อเล็กซ์ : น่าทึ่งและมีศักยภาพสูงมากๆ ผมประทับใจอย่างมากและที่ผมปลื้มมากๆ คือพวกเขาพยายามจะหาเสียงและความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอ เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสซ้อมกับนักเรียนทรัมเป็ตสิบคนฝีมือของพวกเขาเป็นเลิศมาก ซึ่งแบบนี้หาได้ยากในยุโรปหรือแม้กระทั่งในสหรัฐฯ เองด้วยซ้ำ ซึ่งผมเซอร์ไพรส์นะที่พวกเขาเก่งขนาดนี้ The People : แล้วคุณล่ะหา “เสียงของตัวเอง” เจอได้อย่างไร อเล็กซ์ : ผมไม่พยายามสร้างดนตรีของผมให้มันต่างกับคนอื่น เพราะทุกคนบนโลกนี้ทุกคนล้วนมีจินตนาการที่แตกต่างกันออกไป แต่ไอเดียแรกของเรื่องนี้คือการหาสิ่งที่ตัวเองชอบและเล่นมันออกมา และแน่นอนผมพยายาม The People : ซ้อม ซ้อม ซ้อม ! นี่คือเคล็ดลับของความสำเร็จสำหรับคุณหรือไม่ อเล็กซ์ : จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา มันขึ้นอยู่กับว่าเวลาคุณซ้อมเยอะๆ คุณซ้อมอะไรและคาดหวังจะได้รับอะไรกลับมา ผมเคยมีนักเรียนคนหนึ่งที่ชอบซ้อมเยอะมากๆ เขาซ้อมทั้งวันแต่ในความเป็นจริงความสามารถของเขาไม่พัฒนาขึ้นเลย เพราะเวลาที่คุณซ้อมคุณต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร ถ้าคุณซ้อมในรูปแบบที่ควรจะเป็นจริงๆ แค่หนึ่งชั่วโมงก็พอแล้ว The People : เพลงที่คุณปวดหัวกับมันมากที่สุดคือเพลงอะไร อเล็กซ์ : ไม่รู้คุณจะเชื่อไหม แต่เพลงที่ยากที่สุดนั้นคือเพลงที่ง่ายที่สุด ยกตัวอย่างเพลงบลูส์มันดูเหมือนง่ายนะใครๆ ก็คงเล่นได้ แต่การที่จะให้มันออกมาสมบูรณ์แบบมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การเล่นเพลงยากให้ออกมาฟังดูยากย่อมเป็นเรื่องง่ายกว่า การเล่นเพลงที่ง่ายแต่ให้ออกมาดูยาก The People : ผลงานที่ อเล็กซ์ ซีเปียกิน อยากจะแนะนำให้คนไทยได้ฟัง อเล็กซ์ : ที่ผมชอบมากๆ คือ Giant Steps (1960) ของจอห์น โทลเทรน, Still Life (Talking) ปี 1987 แพท เมธินี, Red Clay (1970) เฟรดดี้ ฮับบาร์ด, Native Dancer (1975) เวย์น ชอร์ตเตอร์, Kind Of Blue (1959) ไมล์ส เดวิส และอัลบั้ม Sidewinder (1964) ของลี มอร์แกน The People : โลกนี้อยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้รายได้เดียวของดนตรีในการเลี้ยงชีพคือการออกไปเล่น คุณมองเรื่องนี้อย่างไร อเล็กซ์ : นักดนตรีอย่างเราการเดินทางไปเล่นในที่ต่างๆ มันคือการทำเงินเพื่ออยู่รอด เราแทบคาดหวังกับยอดขายซีดีไม่ได้อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะนักดนตรีแจ๊สเราทำได้แค่นำซีดีไปขายตามงานต่างๆ ผมโชคดีหน่อยที่ได้มีโอกาสสอนที่ NYU (New York University) ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าคุณพอจะมีฝีมือและได้มีโอกาสอัดเพลงทำอัลบั้มเพื่อไปเล่นตามที่ต่างๆ ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันจะช่วยชีวิตคุณได้นะ The People : แจ๊สเริ่มต้นมาจากแผ่นเสียง ก่อนมันจะจางหายไปและกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของสะสมในปัจจุบัน คุณมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร อเล็กซ์ : ผมค่อยข้างจะผิดหวังกับรูปแบบการฟังของสมัยนี้ (สตรีมมิ่ง) ในฐานะคนที่ฟังไวนิลมาก่อน ตอนนี้เวลาผมนั่งฟังมัน ผมจะอุทานแบบว่า ‘ไม่นะ’ เพราะอะไรเพราะตอนนี้มันเหลือเพียงแค่เสียงให้เราสัมผัสได้ มันไม่มีสื่อที่ทำให้เราเห็นและจินตนาการตามไปด้วยได้ ทุกวันนี้เด็กนักเรียนของผมกลับไปฟังไวนิลมากขึ้นเพราะมันแตกต่างกับทุกสิ่ง เราได้เห็นกราฟฟิกหรืองานศิลปะที่เป็นธีมของผลงานและที่สำคัญเสียงของมันคือหนึ่งเดียวของโลกนี้ The People : โมเมนต์ประทับใจที่สุดบนถนนสายดนตรีเส้นนี้ อเล็กซ์ : คงเป็นเรื่องของการได้เดินทางรอบโลก ประสบการณ์เหนือสิ่งอื่นใดของผมคือตอนที่ได้เล่นให้กับยอดฝีมืออย่าง ไมเคิล เบเกอร์ กับ เดฟ ฮอลแลนด์ นั่นคือที่สุดของผม The People : ฝากอะไรถึงแฟนเพลงชาวไทย และเหล่านักศึกษาดนตรีแจ๊สที่ชื่นชอบคุณ อเล็กซ์ : สำหรับแฟนเพลงขอบคุณที่ติดตามกันมา ผมสัญญาว่าจะหาทางกลับมาที่นี่ให้ได้อีกครั้ง และสำหรับเหล่านักดนตรีทุกคนจงฝึกซ้อมเข้าไว้ ขอบคุณ ขอขอบคุณงาน TIJC สำหรับการอำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้