Perfect Days : สุนทรียภาพของชีวิตในวันธรรมดาของชายขัดห้องน้ำ

Perfect Days : สุนทรียภาพของชีวิตในวันธรรมดาของชายขัดห้องน้ำ

‘Perfect Days’ (2023) ภาพยนตร์โดย ‘วิม เวนเดอร์ส’ (Wim Wenders) ที่ชวนเรามองสุนทรียภาพของชีวิตผ่านความเรียบง่ายและไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตชายขัดห้องน้ำ

KEY

POINTS

  • Perfect Days หนังที่  ‘วิม เวนเดอร์ส’ (Wim Wenders) ผู้กำกับชาวเยอรมันต้องการนำเสนอถึงจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่น
  • วันธรรมดาของ‘ฮิรายามะ’ รับบทโดย ‘โคจิ ยาคุโช’ (Kōji Yakusho) ทำให้เราเห็นว่าสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวก็สามารถสร้างความสุขได้
  • บางทีการเรียนรู้ที่จะปล่อยวางจากสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ปล่อยให้มันเป็นอดีต และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด อาจจะเป็นการลิ้มรสสุนทรียภาพของชีวิตที่เรียบง่ายที่สุด
     

จิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่น

 

คือสิ่งที่ ‘วิม เวนเดอร์ส’ (Wim Wenders) ผู้กำกับชาวเยอรมันบอกด้วยความเชื่อมั่นในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2023 ว่าคือสิ่งที่เขาค้นพบระหว่างการทำหนังเรื่อง ‘Perfect Days’ (2023) 

หนังเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครชายที่ชื่อ ‘ฮิรายามะ’ รับบทโดย ‘โคจิ ยาคุโช’ (Kōji Yakusho) ชายวัยกลางคนที่ประกอบอาชีพคนทำความสะอาดห้องน้ำตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงโตเกียว 

​​แม้เขาจะเป็นแค่เพียงคนขัดห้องน้ำ แต่หนังก็ทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจและความพิถีพิถันในทุกสิ่งที่เขาทำ เสมือนว่าแม้แต่งานที่ดูธรรมดาที่สุด ก็สามารถมีคุณค่าได้หากเรามองมันในมุมที่ต่างออกไป
หนังดำเนินไปอย่างเรียบง่าย เวลาสองชั่วโมงนี้เต็มไปด้วยความเงียบสงบ ประกอบไปด้วยบรรยากาศของเมืองโตเกียวที่ถูกนำเสนอผ่านภาพที่งดงาม ทั้งแสงแดดที่ลอดผ่านใบไม้ ถนนที่เต็มไปด้วยผู้คน และห้องน้ำสุดล้ำสมัย

ท่ามกลางความเจริญเหล่านั้น เวนเดอร์สกลับเลือกจะพาเราไปสัมผัส ‘จิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่น’ ที่ซ่อนอยู่ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของชีวิต

/ บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Perfect Days 2023 /

 

ชีวิตเรียบง่ายของฮิรายามะ

ฮิรายามะอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในห้องเช่าเล็กๆ ไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่หวือหวาหรือตื่นเต้น 

ทุกวัน เขาตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ รดน้ำต้นไม้ในกระถางเล็ก ๆ ดื่มน้ำจากตู้กด แล้วขับรถไปทำงาน โดยมีเพลงจากเทปคาสเซ็ตต์คลอดังเป็นเพื่อน จากนั้นเขาก็ลงมือทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะตามสถานที่ต่างๆ อย่างขันแข็ง หลังจากทำความสะอาดห้องน้ำเสร็จ ก็ปั่นจักรยานไปอาบน้ำที่เซนโต (โรงอาบน้ำสาธารณะ) ทานข้าวที่ร้านอาหารเล็ก ๆ ก่อนจบวันด้วยการอ่านหนังสือก่อนนอน

หนังไม่ได้พาเราไปเห็นแค่วันเดียวของเขา จึงทำให้ได้เห็นวงจรชีวิตที่ดำเนินซ้ำ ๆ เป็นกิจวัตรเดิมที่อาจดูธรรมดาแต่กลับไม่ได้ทำให้รู้สึกเบื่อแต่อย่างใด หนำซ้ำยังชวนให้มองหารายละเอียดเล็ก ๆ ว่าในแต่ละวันเขาจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง 
สิ่งที่ทำให้วันของเขาแตกต่างออกไปก็คงจะเป็นผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขาชั่วขณะ ไม่ว่าจะเป็นคนปริศนาที่เล่นเอ็กซ์-โอกับเขาผ่านกระดาษโน้ตในห้องน้ำ เพื่อนร่วมงานที่พูดมากเกินไป หรือหลานสาวที่มาขอความช่วยเหลือเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ

แม้แต่การเฝ้าดูใบไม้ไหวเอนตามสายลม การได้ฟังเพลงที่ชอบ สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ที่หลายคนมองข้าม ก็สามารถทำให้ใบหน้าของฮิรายามะแต้มไปด้วยรอยยิ้มได้อย่างง่ายดาย สะท้อนให้เห็นว่าเขามีความสุขจากสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ 

ชวนให้นึกถึงแนวคิด ‘อิคิไก’ (Ikigai) ปรัชญาเซนที่สอนให้เราค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ ผ่านการตระหนักถึงคุณค่าในทุกๆ สิ่งที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่เขาตั้งใจทำเสมอ การถ่ายภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ หรือเพียงแค่การใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน 

อดีตของฮิรายามะ

แม้ในหนังจะไม่มีการบรรยายถึงอดีตของฮิรายามะโดยตรง แต่จากรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเนื้อเรื่องทำให้เราพอจะคาดเดาได้ว่าชีวิตในอดีตของเขาอาจไม่ได้เรียบง่ายเช่นตอนนี้

ของสะสมของฮิรายามะ ได้แก่ เทปคาสเซ็ตต์ กล้องฟิล์ม และหนังสือ ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงรสนิยมและความหลงใหลในงานอดิเรก ส่วนในแง่ของราคานั้น เทปคาสเซ็ตต์หลายม้วนถือว่าแพงในยุคสมัยที่เฟื่องฟู ขณะที่กล้องฟิล์มและค่าล้างรูปก็ใช่ว่าจะถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงค่าครองชีพในญี่ปุ่น การประกอบอาชีพขัดห้องน้ำอาจไม่เพียงพอที่จะจ่ายทั้งค่าเช่าห้อง และของสะสมราคาแพงได้

แล้วชายคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะมีฐานะเพียงพอ ทำไมถึงเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายและปลีกวิเวกแบบนี้?  

หนังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน แต่มีเบาะแสบางอย่าง เช่น ฉากที่น้องสาวของฮิรายามะมาหาในรถคันหรูพร้อมคนขับรถ และถามพร้อมด้วยสีหน้าที่ดูเหมือนจะสงสารว่า “พี่ทำงานล้างห้องน้ำจริงหรอคะ?” เป็นไปได้ว่าครอบครัวของเขามีฐานะดี และตัวเขาเองก็อาจเคยมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างจากตอนนี้

ในบางคืน เราเห็นเขาฝันถึงภาพเหนือจริงคล้ายศิลปะนามธรรม (Abstract Art) เดิมซ้ำ ๆ ซึ่งอาจสะท้อนถึงอดีตหรือความทรงจำที่ยังหลงเหลือ ในมุมมองนักจิตวิทยาอย่าง ‘ซิกมุนด์ ฟรอยด์’ (Sigmund Freud) กล่าวว่าการฝันถึงบางสิ่งบ่อยๆ อาจสะท้อนถึงจิตใต้สำนึก หรือปมในอดีตที่ยังค้างคา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้เขาจะฝันถึงมัน แต่ก็ไม่เคยพูดถึงฝันร้ายนี้เลย 
เช่นเดียวกับการที่เขาฉีกรูปถ่ายที่ไม่สวยทิ้งอย่างไม่ลังเล แม้ค่าล้างฟิล์มจะแพงแสนแพง เป็นไปได้ว่าฮิรายามะเป็นคนที่เลือกจะก้าวต่อไป โดยไม่ให้อดีตมาฉุดรั้ง เช่นเดียวกับที่เขาตัดขาดจากครอบครัวโดยไม่คิดจะติดต่อกลับไป
แม้ภาพของชายวัยกลางคนที่ใช้ชีวิตเงียบเหงาเพียงลำพัง อาจดูเศร้าในสายตาใครต่อใคร แต่นี่อาจเป็นความสุขในแบบของเขา

หนังไม่ได้บอกเราตรงๆ ว่าเขาเลือกใช้ชีวิตแบบนี้เพราะอะไร แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้คือ ‘เขาไม่ยึดติดกับอดีตอีกต่อไป’ 

บางทีเขาอาจยึดถือแนวคิด ‘โมโน โนะ อะวาเระ’ (Mono no Aware) ซึ่งเป็นปรัชญาญี่ปุ่นที่สอนให้เข้าใจและซาบซึ้งกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่จีรังของชีวิต อาจเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของฮิรายามะ เขาไม่ได้มองอดีตด้วยความโหยหา แต่เรียนรู้ที่จะปล่อยมันไป ทำให้คิดได้ว่าอดีตไม่ได้มีไว้ให้เรายึดติด แต่มีไว้ให้เรียนรู้ และปล่อยมันไป


ในวันที่ไม่เป็นดั่งใจ

จริงๆ แล้วชีวิตของคุณลุงไม่ได้ ‘สมบูรณ์แบบ’ ตามชื่อหนังเลยแม้แต่น้อย 

ทั้งเพื่อนร่วมงานยืมเงินแล้วไม่คืน ที่ทำงานหาคนมาแทนไม่ทัน คนรอบข้างล้มป่วยด้วยโรคร้าย และไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวมานาน หากมองจากภายนอก ชีวิตของเขาดูเหมือนเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวและปัญหาที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามา 

แต่สิ่งที่ทำให้ฮิรายามะเป็นตัวละครที่ ‘มีชีวิต’ จริงๆ คือ เขาไม่ได้ปล่อยวางทุกอย่างได้
เขายังแสดงอารมณ์หงุดหงิดเมื่อเจอเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจ นี่แหละที่ทำให้เขาดูเป็น ‘มนุษย์’ จริงๆ และทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับเขา
ชวนให้นึกถึงแนวคิด ‘วะบิ-ซะบิ’ (Wabi-Sabi) ที่สอนให้เรายอมรับสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ว่าสวยงามหรืออัปลักษณ์ แทนที่จะพยายามควบคุมทุกอย่าง เราเพียงแค่เปิดใจรับและปล่อยให้มันเป็นไป ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เห็นคุณค่าในปัจจุบัน และไม่ยึดติดกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

เหมือนที่ฮิรายามะพูดกับหลานสาวว่า

 

วันหลังก็คือวันหลัง วันนี้ก็คือวันนี้

 

ฟังดูเหมือนเป็นคำพูดธรรมดา หรืออาจฟังดูน้ำเน่าสำหรับใครบางคน แต่แท้จริงแล้วมันสะท้อนถึงความเข้าใจชีวิต ฮิรายามะไม่ได้ยึดติดกับอดีต หรือกังวลถึงอนาคต เขาเลือกที่จะใส่ใจและมีความสุขกับปัจจุบัน และบางทีสิ่งนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเขาสงบสุขกว่าหลาย ๆ คน

สิ่งที่เวนเดอร์สถ่ายทอดเรื่องราวของฮิรายามะใน Perfect Days ออกมาอย่างเรียบง่าย แม้แทบจะไม่มีบทพูดของตัวละคร ไม่มีจุดพลิกผันรุนแรง แต่มันกลับทำให้เรา ‘รู้สึก’ 

รู้สึกถึงความงดงามของชีวิตที่ซ้ำซาก

รู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ

และเข้าใจว่าการอยู่กับปัจจุบันคือสิ่งสำคัญที่สุด

บางทีสิ่งที่เราต้องการ อาจไม่ใช่ความตื่นเต้นหรือความสำเร็จยิ่งใหญ่ แต่เป็น ‘ความธรรมดา’ และ ‘ความพอดี’ ในชีวิต 

 

อ้างอิง
hrnote. HREXasia. ปรัชญาการทำงานของคนญี่ปุ่นอิคิไก Ikigai 生き甲斐. สืบค้นเมื่อวันที่ 31, 2568. 
Brandthink. Brandthink. ‘โมโน โนะ อาวาเระ’ แนวคิดที่สอนให้เราเข้าใจ ว่าการสิ้นสุดหรือการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต. สืบค้นเมื่อวันที่ 31, 2568.
Environman. Natticha Intanan. วะบิ ซะบิ ปรัชญาที่โอบรับความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ. สืบค้นเมื่อวันที่ 31, 2568.