03 พ.ค. 2566 | 15:11 น.
เราเจอ ‘เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา’ ท่ามกลางผู้คนที่เดินสวนกันไปมา ภายในงานนิทรรศการ 'บทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห' ซึ่งเป็นงานจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาจากศิลปินนานาชาติระดับโลก 21 คนจาก 11 ประเทศ
แค่คอนเซ็ปต์งานก็ทำเอาใจเราสั่นระรัว เพราะผลงานปั้นระดับโลกถูกนำมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ สถานที่เล็ก ๆ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า แต่กลับอัดแน่นไปด้วยผู้คนที่พร้อมดื่มด่ำและเปิดรับบทสนทนาจากหม้อ-ไห ที่ศิลปินต่างทุ่มพลังปลุกปั้นกันมานานนับปี
เราเคยได้ยินว่าเครื่องปั้นดินเผามีความโรแมนติกซ่อนอยู่ในนั้น ครั้งแรกที่ได้ยินทำเอาเราสงสัยไม่น้อย แต่พอฟังคำบอกเล่าจาก 'พิม สุทธิคำ' อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานนิทรรศการแห่งนี้) ข้อสงสัยทั้งหมดก็คลายลงอย่างง่ายดาย
“ทางนี้ค่ะ” เราส่งเสียงทักทายศิลปินตรงหน้า เขากล่าวทักทายตอบ
เราทั้งคู่จะเดินผ่านงานปั้นนับสิบชิ้น ก่อนจะมาขลุกตัวหามุมคุยเงียบ ๆ ภายในห้องหับแห่งหนึ่งของสถานที่จัดงาน และบทสนทนาระหว่างคน หม้อ ไห โดยมี ‘เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา’ เป็นผู้ถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของผืนดินก็เริ่มเปิดฉากขึ้น
ลูกชายคนกลางกับการหวนคืนสู่บ้านเกิด
เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา เป็นลูกชายคนกลางจากพี่น้องสามคน ความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับโรงเรียนของเขาเลือนรางลงเต็มที อาจเป็นเพราะเขาเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง มักเป็นคนที่เรียนได้คะแนนต่ำกว่าเพื่อนร่วมห้องอยู่เสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยชุบชูใจเด็กชายคนนี้ให้มีชีวิตชีวาอยู่เสมอคือสถานที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’
“พ่อกับแม่เราไม่เคยเคี่ยวเข็ญเราเลย แค่บอกให้เราขยันเรียน พอเราเป็นเด็กที่เรียนได้เกรดต่ำมาก แค่ 1 กว่า ๆ กลายเป็นว่าเราไม่ค่อยรู้สึกผูกพันกับโรงเรียนเท่าไหร่ อยากจะกลับบ้านตลอดเวลา เรารู้สึกว่าบ้านเป็นสถานที่ที่อบอุ่นมากเลย พ่อแม่ให้กำลังใจตลอด ใจเราก็เลยอยากกลับบ้านตลอดเวลา”
ความอบอุ่นที่เอ็มโซเฟียนได้รับจากครอบครัว ทำให้เขามองสังคมชุมชน และคนรอบกายเปลี่ยนไป เขาเห็นความดีงามของผู้คนในพื้นที่บ้านเกิดอัดแน่นอยู่เต็มไปหมด
เขาชอบธรรมชาติ ไม่ใช่แค่ชอบแต่รักมันเข้าอย่างจัง รักจนไม่อยากทิ้งบ้านเกิดไปไกล แต่โชคชะตาก็ผลักให้เขาเดินทางทำตามความฝัน หลังจากเรียนจบวิทยาลัยเทคนิคยะลา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ เขาก็เดินไปไกลกว่าบ้านเกิดมากขึ้นทุกที ๆ
ก่อนจะบินลัดฟ้าไปไกลถึงฝรั่งเศส เพื่อเรียนต่อด้านศิลปะภาพพิมพ์และการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากสถาบันศิลปะที่แวร์ซายส์และปารีส
ภาษาใหม่ ชีวิตใหม่ ผู้คนหน้าใหม่ แต่ส่วนลึกในใจของเขากลับร่ำร้องถึงบ้านที่ปัตตานีอยู่เสมอ เขาไม่เคยลืมบ้านเกิดเลยแม้แต่วินาทีเดียว
หลังจากกอบโกยความรู้และเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์จนแน่นขนัด เขาโบกมือลาฝรั่งเศสกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองหลวงของประเทศไทยแค่ระยะเวลาสองปีสั้น ๆ เพราะตลอดสองปีเขาต้องทนฟังเสียงที่ดังอยู่ในใจที่มีแต่จะดังขึ้นทุกวัน จนเขาไม่อาจต้านทานสัญชาตญาณที่ซ่อนอยู่ได้อีกต่อไป ‘ต้องกลับบ้าน’ คือคำที่วนเวียนในหัวเขาไม่หยุด
“มันต้องกลับมา...”
เอ็มโซเฟียนกลับบ้านมาสร้างโรงงานเซรามิกเบญจเมธา หวังจะเปลี่ยนดินปัตตานีให้กลายเป็นสิ่งเลอค่า เพราะตั้งแต่เด็กเขามักเห็นก้อนดินที่ถูกขึ้นรูปจากความยากลำบากของพ่อ เพื่อเปลี่ยนมาเป็นอิฐมอญ แต่กลับขายได้แค่ก้อนละ 90 สตางค์ เขาไม่เคยเข้าใจว่าเพราะอะไรหยาดเหงื่อของคนที่เขารักจึงมีราคาน้อยนิดถึงเพียงนี้
“เรารู้สึกว่าเสียดายทรัพยากร อิฐมอญมันใช้ดินเยอะ ก้อนนึงน้ำหนักแค่ 1 กิโลกว่า ใช้เวลาเผาเป็นสัปดาห์ก็ได้อิฐเพียง 1 ก้อน แต่มูลค่าของมันก็มีเหลือแค่บาทกว่า เรารู้สึกเสียดายที่จะต้องขุดดินไปมหาศาล เพื่อจะมาเป็นแค่อิฐมอญ 1 ก้อน แต่ถ้าสู้เราทำให้มันเกิดมีมูลค่าด้วยงานเซรามิกจะดีกว่า ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการกลับบ้าน แล้วก็สร้างเซรามิกที่มีเอกลักษณ์ของเราเอง
“พอกลับมาทบทวนตัวเองก็พบว่ามันถึงจุดที่หนึ่ง คือเราต้องกลับบ้าน สองจะไปทำอะไรที่บ้าน เราก็ต้องเอาองค์ความรู้ทั้งหมดไปพัฒนาบ้านตัวเอง ชุมชนตัวเอง โฟกัสเรื่องครอบครัวก่อน แม้กระทั่งเปิดเป็นเบญจเมธาเซรามิก เราก็ใช้ชื่อของนามสกุลของชุมชนของบ้านของครอบครัวเราเอง ของพ่อแม่สนับสนุนมาตลอด แล้วก็ทำอะไรก็ได้ที่มันยั่งยืนให้ได้ เพื่อค้นหาสัจธรรมตัวเอง ชีวิตตัวเอง มันถึงเวลาแล้วอายุมันแก่แล้วแหละ ต้องกลับไปวางไข่ ต้องกลับไปแต่งงาน ต้องกลับไปมีลูก
“เพราะเราอยากรีบเอาองค์ความรู้ทั้งหมดถ่ายทอดส่งต่อให้ลูกให้ได้เร็วที่สุด ก็เลยวางแผนแบบนี้เลย วางแผนเรื่องของแม่ของลูก เราก็ต้องอยู่กับเพื่อนที่ดี หากลุ่มเพื่อนดีก่อน เพราะกลุ่มเพื่อนดีเดี๋ยวเพื่อนกลุ่มเพื่อนดีมันจะแนะนำคนดี เราจะมีความคิดอย่างนี้ เราจะมีวิธีการคิดแบบนี้ในการวางแผน แล้วมันก็จริง มันก็ตอบ 1-2-3 มันเป็นขั้น ถึงบางคนจะบอกว่า เฮ้ย! เอ็มซีเรียสไปหรือเปล่า แต่ว่ามันคือผลลัพธ์ทุกวันนี้ มันคือการออกแบบ เราออกแบบไว้แล้วว่าเราออกแบบที่จะต้องไปเจอภรรยาที่ดี เราก็ต้องมีสังคมเพื่อนที่ดีก่อน”
การวางแผนชีวิตอย่างพิถีพิถัน ทำให้เจอกับแอนนา ภรรยาและแม่ที่ดีของลูกชายทั้ง 3 คน และลูกสาวคนสุดท้องอีก 1 คน ครอบครัวของเขาสมบูรณ์พร้อมเต็มไปด้วยมวลความสุขที่อัดแน่นอยู่ทั่วบ้านหลังเล็ก ลูกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่อาจแยกของจากกัน หากสังเกตชื่อของลูกทั้ง 4 คนของเขาก็จะเห็นได้ว่า เอ็มโซเฟียนพิถีพิถันในการวางทางเดินชีวิตให้กับลูกมากเพียงใด
เอ็มอิคลาส – ความจริงใจ, เอ็มอิฮซาน – ความดีงาม, เอ็มอิตกอน - ความพิถีพิถัน และอิลฮาน - ความโปรดปรานและของขวัญสำคัญจากพระเจ้า
ทั้งหมดนี้คือส่วนยึดโยงระหว่างโลกของเขาและศิลปะขยับเข้าใกล้กันมากขึ้น เพราศิลปะคือศาสตร์ที่ช่วยจรรโลงในสัญชาตญาณมนุษย์ทุกคน
“ศิลปะคือความดีงาม ความสัตย์จริง ความจริงใจ ความพิถีพิถัน ปราณีต ความโปรดปรานที่ทุกคนได้รับจากมัน แล้วมันคือของขวัญ ชื่อลูกของเราทั้ง 4 คน ก็มาจากศิลปะ”
ตั้งแต่คุณกลับบ้าน มีสิ่งไหนเปลี่ยนไปบ้างไหม – เราถาม “ก็เหมือนเดิมนะ ทุกคนยังกล่าวสลาม ยังกล่าว อัสซะลามุอะลัยกุม ขอความสุขประสบแก่ท่าน ยังต้อนรับแขก ยังพึ่งพาอาศัยกัน ยังอ่อนน้อมถ่อมตน ยังยิ้มกัน ยังให้อาหารกัน ยังละหมาดร่วมกัน ถือศีลอดร่วมกัน ทำความดีร่วมกัน เหมือนทุกอย่าง เหมือนเดิมทุกอย่าง
น้ำเสียงของเขาราบเรียบเมื่อเอ่ยถึงบ้านในความทรงจำ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นกระด้างขึ้นเล็กน้อยเมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ทำให้สังคมที่เขาอยู่เปลี่ยนไปจนสังเกตได้ “เพิ่มเติมก็คือความเท็จเข้ามา เพิ่มเติมคือความผลประโยชน์เข้ามา เพิ่มเติมก็คือความใส่ร้ายป้ายสีอคติหลาย ๆ อย่าง ผมว่าที่มันต่างคือแค่นี้แหละ จากแต่ก่อนคือทุกอย่างมันก็ยังเป็นอย่างนี้ คนปัตตานีเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพียงแค่ว่าเขาบอกว่าเราอยู่ในพื้นที่รุนแรง
ความรุนแรงอาจเป็นคำที่น่ากลัวสำหรับคนภายนอก ซึ่งในมุมมองของคนที่อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ตั้งแต่เกิด การถูกตีตราจากภายนอกจึงทำให้เขาขุ่นมัวไม่น้อย แต่เพราะมีศิลปะและยึดมั่นปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า รอยประทับที่ถูกฝังลึกในพื้นที่ก็กลายเป็นพลัง ผลักให้เขาพร้อมจะเปิดทางให้คนภายนอกเห็นถึงความรุ่มรวยของวัฒนธรรมพื้นถิ่น
“ความรุนแรงเหรอ เราว่าหลายคนไม่เข้าใจชีวิตวิถีของคนที่นู่นเลย แล้วตัดสินว่าพื้นที่ของเราเป็นพื้นที่ที่รุนแรง ผมก็เลยตั้งใจที่อยากจะสร้างผลงาน สื่อสะท้อนให้เห็นว่าเราทำงานศิลปะที่มันมีความปราณีต ความอ่อนโยน ความสวยงามมันจะมาจากวิถีตามธรรมชาติของเรา”
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงพยายามเปลี่ยนภาพจำจากความรุนแรงผ่านงานศิลปะ พยายามใส่ความทรงจำขมวดมัดรวมให้แน่น ส่งต่อไปถึงมือของคนที่มองเห็นคุณค่าของศิลปะจากแดนไกล ที่ถูกภาพของความรุนแรงบิดเบือนมานานนับสิบปี
“ศิลปะมันคืออีกระดับหนึ่ง ทุกวันนี้คนยังทำมาหากิน เอาเวลาไหนแบ่งแยกดินแดน ไม่มีเวลาคิดหรอก เขาทำมาหากิน เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเขาไม่มีศิลปะ ไม่ใช่หรอก เขากำลังทำมาหากินอยู่ แล้วเขาก็มีศิลปะพอที่จะรู้ว่าอันไหนผิด อันไหนไม่ดี ศิลปะในใจเขา เขาประกอบคุณงามความดี เขาละหมาด เขาก็มีศิลปะในใจ
“เพราะเขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำ เขาปราณีตขนาดไหน เขาทำความดี แล้วเขาทำความดีปราณีตขนาดไหน อยากจะมองศิลปะแบบไหน แต่คนทั่วไปบอกว่าสิ่งที่เราทำเนี่ยอย่างน้อยเราทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถสู้กับสื่อที่พยายามประโคมให้มันดูภาพลักษณ์เรารุนแรงมาก เราทำไม่ได้
“ทุกวันนี้เราบอกว่าเราเลี้ยงคุณภาพชีวิตของครอบครัวของเราให้ดี ศิลปะก็บ่มเพาะอยู่กับลูกหลานของเรา แล้วลูกหลานของเราก็ปิดช่องไม่ให้เขารับรู้อะไรที่มันไม่ดี เขาก็อยู่ใน way ที่รู้เลยว่าทำงานศิลปะ ลูกผมก็จับงานคราฟท์ หัตถกรรมตั้งแต่เด็ก ๆ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไก่ ไก่นี่พอให้อาหารไปปั๊บมันก็มากิน พอกินเสร็จมันก็ส่ายตูดเชิดเรา
“เราก็สอนลูกเห็นไหมเราให้โดยที่ไม่หวังความตอบแทนจากคน พอออกไปอยู่ในสังคม สังคมมันเป็นอย่างนั้น พอเราทำความดีปั๊บเขาไม่เห็นค่าของเรา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องปลูกฝัง สร้างเมล็ดพันธุ์ให้กับลูก ๆ เรา ให้แบบมีภูมิคุ้มกัน ทำความดีก็คือไม่ต้องสนใจ ทำความดีให้พระเจ้า คุณก็เลิกสนใจว่าใครจะตอบแทนคุณไม่ตอบแทนคุณ นี่ก็เป็นอีกอันนึงที่พยายามเอาเรื่องของศิลปะมาหล่อหลอมกับครอบครัว เริ่มจาก Inside out ออกไป
ตลอดการพูดคุยกับเอ็มโซเฟียน เรายอมรับเลยว่าทุกการกระทำเขาล้วนปฏิบัติด้วยความสัตย์จริง ไม่มีบิดพลิ้ว เหมือนดั่งคำพูดของเขาที่ตรงไปตรงมาเสียจนทำให้เรารู้สึกชื่นชมชายคนนี้อยู่ตลอดเวลา
ก่อนที่เขาจะอธิบายต่อว่าตลอดช่วงชีวิต การดำรงตนอยู่ในหลักคำสอนศาสนาอิสลาม หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนอ่อนน้อม รู้จักปล่อยวาง และไม่พยายามอยากได้อยากมีในสิ่งที่ไกลเกินฝัน แต่ใช่ว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านจะทำให้เขาสุขใจตลอดเวลา บางครั้งก็มีเรื่องรำคาญใจคอยเข้ามายุ่มย่ามอยู่ไม่ห่าง อย่างการถูกเพ่งเล็งจากทางการเพราะหน้าตาที่ตรงกับลักษณะของผู้ก่อความไม่สงบ
“หน้าตาผมอยู่ในแคตตาล็อกทางหลวงเลย ถูกจับทุกอย่าง แต่เคราเป็นสัญลักษณ์แห่งความการเชื่อฟังพระเจ้า มันเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิมผู้อ่อนน้อมถ่อมตน คุณต้องหาชุดความคิดนี้ใหม่ว่าเครามันคือความเคร่งครัดในเรื่องของการเชื่อฟังพระเจ้า เขาต้องทำให้พระเจ้าพึงพอใจ เขาก็ต้องทำให้คนชอบคนแบบได้ประโยชน์จากความเป็นมุสลิมของคุณ มีความสุขจากการเป็นมุสลิมของคุณ
“แต่ผมไม่อยากตอบโต้อะไรทั้งนั้น แต่ผมจะตอบโต้ด้วยการเลี้ยงลูกที่ดี การทำงานศิลปะที่ดี แล้วใครจะคิดยังไงก็ช่างเขาปะไร เราทำดีเท่านี้ก็พอ”
ความศรัทธา ความมุ่งมั่น และโลกของศิลปะ เราไม่แปลกใจเลยว่าเมื่อสามสิ่งนี้มาบรรจบกัน จะกลายเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ เพราะทุกอย่างล้วนมาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน
ทุกองค์ประกอบในชีวิตของเอ็มโซเฟียน ล้วนเกี่ยวข้องกับดินทั้งสิ้น เขารักและศรัทธาในผืนดินที่เขาเหยียบย่ำ และความศรัทธาเหล่านั้นไม่เคยจางหาย มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน
นอกจากงานเครื่องปั้นดินเผาจากโรงงานเซรามิกเบญจเมธา เขายังมีสำนักยิงธนู ไปจนถึงฟาร์มแพะ กำปงปาลัส แพะพื้นเมืองที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที ซึ่งเขาก็ได้พยายามเพาะพันธุ์ขึ้นมา เพื่อส่งต่อเรื่องราวแห่งความอ่อนน้อมให้เข้าไปกลางใจชาวปัตตานี
ปัจจุบันเขากำลังทดลองนำครามที่เป็นของที่อยู่ในปัตตานีมานานกว่า 300 ปีให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
เราแอบสังเกตเห็นว่านิ้วมือทั้งสองข้างของเขามีคราบครามแห้ง ๆ เกาะอยู่ตามซอกเล็บอยู่เต็มไปหมด เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าชายคนนี้ กำลังกรุยทางให้ครามปัตตานีกลับมาเป็นที่รู้จักในเร็ววัน
“ทั้งหมดที่ทำมา ตั้งแต่เซรามิกก็ดี ครามที่ผมเพิ่งเจอว่าคราม ปัตตานีเคยส่งออกครามเมื่อ 300 ปีที่แล้ว เราส่งออกด้วย แล้วฮอลันดาเข้ามาบอกครามปัตตานีเป็นครามที่ดีที่สุด เอาไปปลูกต่อที่อินโดนีเซีย ผมชอบครามมาตั้งนานแล้ว แต่ผมไม่คิดอยากจะทำพัฒนาคราม เพราะว่ามันไม่มีครามในพื้นที่
“หลักฐานครามอยู่บนนิ้วผมทั้งหมด มันทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นมาก เราเคยอยากทำคราม แต่มันไม่มี ผมจะไม่ทำถ้ามันไม่ใช่ของในชุมชน ผมจะต้องจริงใจ ที่ผมเคยบอกว่าผมจะต้องทำในสิ่งที่ชุมชนมี ปรากฏว่ามันมีครามอยู่ในพื้นที่ เป็นครามพื้นเมือง ทุกวันนี้ผมปลูกแล้วครึ่งไร่
“มันคือจิตสำนึกที่เราต้องพัฒนาตั้งแต่ตัวแพะพื้นเมืองที่กำลังจะสูญพันธุ์ ไม่มีใครสนใจ ทั้งหมดที่ผมทำมันมาจากสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัด สิ่งที่ชุมชนจะต้องได้ประโยชน์ มันก็เลยเป็นจุดที่ตอกย้ำว่าเราทำในสิ่งที่เราชอบจริง ๆ และมันไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราต้องหยุดมัน เพราะมันคุ้มค่ามากที่จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคนี้
ส่วนเป้าหมายที่สำคัญที่สุดใสชีวิตของเอ็มโซเฟียนคือ ความสำเร็จทางจิตใจ ความต้องการสั้น ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าทุกสิ่งที่เขาทำไม่ได้มีความโลภใดเข้ามาครอบงำ มีเพียงแค่ความศรัทธาคอยนำทาง
“เป้าหมายของเราคือการสำเร็จทางจิตใจ และต้องเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโญชน์มากที่สุด...
“พระเจ้าบอกว่าคนที่ประเสริฐที่สุดคือคนที่ทำประโยชน์กับชุมชนกับสังคม ดังนั้นสิ่งที่เราทำทั้งหมด เพื่อให้พระเจ้าพอพระทัยแค่นั้นเลย ผมไม่สนใจหรอกว่าจะเป็นรายได้ดี ร่ำรวย ผมไม่สนใจ สิ่งที่เราทำเนี่ยมันไม่ได้วัดตรงที่คุณค่าในทางวัตถุ
“มันก็เลยตอบเป้าหมาย แล้ว 3 อย่างที่ผมวาง ที่ผมต้องทำโดยที่นะบีมุฮัมหมัด ศาสนทูตที่สอนเรามาว่ามนุษย์คนหนึ่งเมื่อเขาตายไป ผลกรรมของเขา เขาจะไม่สามารถทำความดีได้อีกแล้ว เว้น 3 อย่างด้วยกัน ซึ่ง 3 อย่างที่ว่า คือ 1 องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ทั้งหมดที่ผมทำต้องเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ ที่สามารถส่งต่อ ๆ เนื่องได้ 2 ทานบริจาคต่อเนื่องสามารถเป็นถนนหนทาง โรงพยาบาล ศูนย์เรียนรู้ ขณะเราตายไปแล้วนะพวกนี้ก็ยังบริการคนอยู่
“3 คือกัลยาณบุตรที่ดี การมีบุตรที่ดีแล้วก็ส่งต่อ แล้วเขาก็ภาวนาให้กับลูกพ่อแม่เขาที่จากไปแล้ว คือความฉลาดที่เราต้องทำก่อนที่เราจะตายบนหน้าแผ่นดิน ก่อนกลับสู่ดินเนี่ย คุณทำ 3 อย่างนี้ไว้นะ คุ้มแล้ว”
เวลาล่วงเลยจนตะวันตกดิน เราเกรงใจเกินกว่าจะรั้งชายตรงหน้าไว้
แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราสุขใจไม่น้อย ‘เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา’ สอนอะไรเราหลายอย่างในช่วงเวลาสั้น ๆ เขามอบทั้งความหวัง และความเชื่อให้กับเรา ทำให้เราเชื่อว่าพื้นที่ที่ถูกตีตราว่าเต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความขัดแย้ง แท้จริงแล้วกลับเป็นพื้นที่ที่สงบไม่ต่างจากที่อื่น