ดูผลทดลอง AI เขียนสูตรอาหารแนะนำมนุษย์ สูตรนี้ทำได้จริงหรือไม่? รสชาติถูกปากไหม?

ดูผลทดลอง AI เขียนสูตรอาหารแนะนำมนุษย์ สูตรนี้ทำได้จริงหรือไม่? รสชาติถูกปากไหม?

ทีมงานสื่อดังลองให้ AI เขียนสูตรอาหาร โดยป้อนโจทย์เบื้องต้นให้ เพื่อทดลองดูประสิทธิภาพของ AI ในแง่การใช้งานที่ต้องตอบสนองระบบประสาทสัมผัสของมนุษย์ สูตรอาหารโดย AI ใช้ได้จริงไหม? รสชาติเป็นอย่างไร?

  • New York Times ทดลองให้ AI แนะนำสูตรอาหารตามโจทย์ที่ป้อนให้ ทดสอบประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ว่าสามารถตอบสนองการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสของมนุษย์ได้มากน้อยแค่ไหน
  • ดูเหมือนว่า สูตรอาหารของ AI ทำให้คอลัมนิสต์อาหารจากสื่อดังคลายใจลงได้ว่า จะยังมีงานทำต่อไปอีกระยะ

เทคโนโลยีในช่วงนี้เป็นห้วงเวลาของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) อย่างแท้จริง ทั่วโลกกำลังจับตาว่า AI ที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างโลกในอนาคตจะเข้ามาช่วยให้มนุษย์ทำงานน้อยลง และอาจทำให้ชิ้นงานที่ออกมาถูกต้องแม่นยำเพิ่มมากขึ้นจะส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร และที่สำคัญคือเมื่อใด

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในยุคนี้เดินทางมาถึงจุดที่ใช้ช่วยตอบคำถาม ให้ข้อมูลช่วยเหลือมนุษย์ และถึงขั้นช่วยสร้างชิ้นงานทางศิลปะได้ แน่นอนว่า การทำงานบางอย่างโดย AI สามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้แล้ว แต่บางอย่างก็ยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่า AI จะทำงานได้ดีถึงขั้นไหน

นั่นจึงนำมาสู่การทดลองให้ AI ‘เขียนแนะนำสูตรอาหาร’

การทำอาหารรวมไปถึงการคิดค้นสูตรอาหารมักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากผู้คนที่ได้ลองหาประสบการณ์ ลองผิดลองถูก ค้นหารสชาติและผสมผสานวัตถุดิบแปลกใหม่ สำหรับมนุษย์แล้ว ‘การกิน’ ไม่ใช่เพียงแค่การประทังชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสอดแทรกวัฒนธรรม วิถีชีวิต เรื่องราว และยังสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์

มนุษย์ยังต้องการเวลาและการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วนเพื่อให้ได้มาซึ่งสูตรอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มนุษย์ยังไม่สามารถที่จะค้นหาและลองทุกเทคนิคที่มีในอินเทอร์เน็ตแล้วนำมาปรับเป็นสูตรของตัวเองได้ การทำเช่นนั้นย่อมใช้เวลายาวนานเกินไป

มีข้อสงสัยว่า หากเป็นงานที่ต้องรับมือกับข้อมูลปริมาณมหาศาลเช่นตัวอย่างข้างต้น การทำเช่นนี้ดูจะเหมาะกับบทบาทของ AI มากกว่าหรือไม่ แถมผลงานที่ผ่านมาอย่างการสร้างงานศิลปะ สร้างงานเขียน เขียนบล็อกเล่าเรื่อง หรือแม้แต่การเขียนโค้ดโปรแกรม AI ก็สามารถทำออกมาได้น่าพอใจในระดับหนึ่ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำ AI มาลองเขียนสูตรอาหารถือเป็นไอเดียที่น่าสนใจไม่น้อย

ด้วยความสงสัยเหล่านี้ นำมาสู่การทดลองโดย New York Times สื่อเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกจากสหรัฐฯ ที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า GPT-3 มาเขียนสูตรอาหาร แล้วให้เหล่าคอลัมนิสต์หมวดอาหารของ New York Times สี่คนตัดสินรสชาติ

GPT-3 ถูกสร้างโดย ‘OpenAI’ หนึ่งในห้องปฏิบัติการที่มุ่งมั่นพัฒนา AI มากที่สุดแห่งหนึ่ง รูปแบบการทำงานของเทคโนโลยีดังกล่าวทำงานเป็นโครงข่ายประสาทเทียม (neural network) ซึ่งเป็นระบบเชิงคณิตศาสตร์ที่สามารถเรียนรู้ทักษะโดยการวิเคราะห์ข้อมูลในปริมาณมหาศาลได้

ปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงที่ผ่านมาจะเป็น AI ที่บางระบบเรียนรู้และประมวลผลจากภาพ แต่ GPT-3 เป็นระบบที่เรียนรู้จากข้อความที่มาในรูปแบบดิจิทัล รวมไปถึงรูปแบบหนังสือ เนื้อหาใน Wikipedia ข้อความในทวิตเตอร์ บันทึกการสนทนา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จนมาถึงสูตรอาหาร

ที่จริงแล้ว เมื่อปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยทัศนศาสตร์ ‘จาเนล เชน’ (Janelle Shane) เคยเริ่มใช้ระบบที่คล้ายกับ GPT-3 ในการสร้างสูตรอาหารมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เทคโนโลยีเดียวกันในเวอร์ชั่นเมื่อตอนนั้น ยังเขียนสูตรด้วยคำแปลก ๆ อยู่ เช่น “ข้าวที่ปลอกเปลือกแล้ว” (Peeled Rice) หรือ “แป้งสับละเอียด” (Chopped Flour) 

แต่จะให้เขียนเมนูอะไรดี?

หากมองถึงเมนูที่มีความเรียบง่าย แต่ท้าทาย แถมยังมาพร้อมกับความคาดหวังในรสชาติจากผู้คนส่วนใหญ่ คงจะหนีไม่พ้น เมนูในวันของคุณพระเจ้า ถึงแม้คนไทยจะไม่คุ้ยเคยกับเมนูในเทศกาลดังกล่าวมากนักก็ตามที แต่สำหรับชาวตะวันตกแล้ว ทางทีมงาน New York Times ลงความเห็นว่ามันเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาเป็นโจทย์

แต่จาเนล บอกว่า ทุกวันนี้ AI สามารถเขียนสูตรอาหารที่ใช้คำได้คล้ายกับมนุษย์เป็นผู้เขียนได้แล้ว เธอยังบอกอีกว่า ถ้ามีใครสักคนอ่านสูตรอาหารเหล่านั้นให้เราฟัง เราอาจคิดว่ามันคือสูตรอาหารธรรมดาทั่วไปได้เลย

ก่อนเริ่มการทดลอง มาร์ก เชน (Mark Chen) นักวิทยาศาสตร์ของ OpenAI แนะนำทีมงานของ New York Times ได้แก่คุณ Cade Metz และ Priya Krishma ว่า พวกเขาควรเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง เช่น เรื่องครอบครัว ของที่ชอบ หรือวัตถุดิบอะไรก็ตามที่พวกเขามักจะใช้ประกอบอาหาร เพื่อให้ AI ทำงานได้ดีขึ้น

หลังจากที่ทางทีมงานล็อกอิน GPT-3 แล้ว Cade ป้อนข้อมูลไปว่า “ฉันมาจากเท็กซัส โตมาในครอบครัวเชื้อสายอินเดียน-อเมริกัน ฉันชอบอาหารที่มีรสเผ็ด เช่น อาหารอิตาเลียน และอาหารไทย แล้วก็ของหวานที่ไม่หวานจนเกินไป วัตถุดิบที่ฉันมักจะใช้ทำอาหาร มี จาฏ มาซาลา (chaat Masala) มิโซะ ซอสถั่วเหลือง สมุนไพร และซอสมะเขือเทศชนิดเข้มข้น” 

ตามด้วยคำสั่ง “เสนอเมนูในวันขอบคุณพระเจ้าสำหรับฉันที”

เมนูแรกที่ได้ผลออกมาคือเมนู ‘Pumpkin Spice Chaat’ (จาฏฟักทองพร้อมเครื่องเทศ) แม้ทีมงานของ New York Times จะสับสนกับผลลัพธ์นิดหน่อย แต่ก็ประทับใจกับความคิดสร้างสรรค์ที่ออกมา

เธอยังป้อนอีกสองสามคำสั่งตามไปด้วย เช่น “แนะนำเมนูของหวานที่เหมาะกับฉันที” กับ “แนะนำเมนูที่ไม่ใช่เมนูตามธรรมเนียมของวันขอบคุณพระเจ้าให้ฉันที” และ “แนะนำเมนูที่ใช้ซอสแครนเบอรร์รี่ที่ไม่หวานเกินไปแล้วมีรสเผ็ดนิดหน่อยให้ฉันที”

ไม่กี่นาทีต่อมา ชื่อเมนูก็ปรากฏ ทั้งหมดในนั้นดูน่ากินและดูจะตรงกับเงื่อนไขทั้งหมดที่เธอป้อนเข้าไป ถึงแม้จะมีบางเมนูที่แสดงชื่อเมนูออกมาเป็นคำสั่งที่เธอป้อนเข้าไปตรง ๆ เลยก็ตาม อย่างเช่น “เมนูแครนเบอร์รี่ซอสที่ไม่หวานเกินไป และมีรสเผ็ดนิดหน่อย”

รายการส่วนผสมบางอย่างดูจะแปลกไปสักหน่อย วัตถุดิบในบางองค์ประกอบมีมากถึง 32 อย่าง แถมยังมีใช้ปริมาณเกลือและไขมันในอัตราส่วนที่เธอไม่คุ้นชินอีกด้วย แต่เธอยังอยากจะลองทำตามดู

รายงานของ New York Times ระบุว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ค่อยน่าพอใจเอาเสียเลย ทั้งรสชาติและเนื้อสัมผัส ดูจะผิดไปหมดสำหรับความคิดเห็นของทีมงาน New York Times

และสำหรับทีมงานคอลลัมนิสต์ด้านอาหารทั้ง 4 คนที่ได้ชิม ผลออกมาดูจะไปในทิศทางตรงกันข้ามกับคำว่า ‘ชอบ’ อย่างสิ้นเชิง

หลังจากที่ได้ชิม ทีมงานบางคนถึงกับบอกว่า “พวกเรายังไม่ถึงคราวตกงานแน่ ๆ” และ “มันไม่มีจิตวิญญาณอยู่เลย”

ถึงผลลัพธ์จะน่าผิดหวังไม่น้อย แต่มาร์ก นักวิทยาศาสตร์จากทาง OpenAI บอกว่ามันสามารถมอบแรงบันดาลใจให้คนที่สนใจทำอาหารกินเองที่บ้านได้อยู่   

“คุณมีเมนูที่อยากทำอยู่ในหัว แต่ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่าจะทำออกมาอย่างไรดี หรือคุณมีวัตถุดิบอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะเอามารวมกันอย่างไรดี นี่อาจจะเป็นทางที่เร็วที่สุดที่จะเสนอไอเดียในหลากหลายแบบให้ก็ได้” มาร์ก บอก

การใช้เทคโนโลยีในแง่นี้อาจยังไม่ก้าวหน้ามากพอที่จะมาแทนที่มนุษย์ได้ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น อาหารเป็นมากกว่าปัจจัยในการดำรงชีพ แต่ยังเป็นศิลปะอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราว วัฒนธรรม และมอบประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ลิ้มลองอยู่เสมอ 

ท้ายที่สุดแล้ว ปัญญาประดิษฐ์คงยังไม่สามารถที่จะประมวลผลสิ่งเหล่านั้นเพื่อใส่ลงไปในจานอาหารได้(ในเร็ว ๆ นี้) แต่ไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้ พัฒนาการของระบบอาจเซอร์ไพรส์มนุษย์อีกก็เป็นได้

 

เรื่อง: ปิยวรรณ พลพุทธ (The People Junior)

อ้างอิง:

New York Times