โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ : ผู้ปฏิวัติวงการไวน์ด้วยคะแนนร้อย

โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ : ผู้ปฏิวัติวงการไวน์ด้วยคะแนนร้อย

เรื่องราวของ ‘โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์’ (Robert Parker) ยอดนักชิมไวน์ในตำนาน ผู้คิดค้น ระบบการให้คะแนนไวน์ 100 คะแนน’ (100-Point Scale Wine Ratings) และเป็นผู้สร้างปรากฎการณ์ Parkerization

ในแวดวงไวน์ร่วมสมัย ไม่มีชื่อใดโดดเด่นและทรงอิทธิพลเท่ากับ ‘โรเบิร์ต แมคโดเวลล์ ปาร์คเกอร์ จูเนียร์’ (Robert McDowell Parker Jr., 1947-) หรือที่รู้จักในชื่อ ‘โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์’ นักวิจารณ์ไวน์ผู้กลายเป็นตำนาน แต่น้อยคนจะรู้ว่าเส้นทางสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญไวน์ระดับโลกของเขากลับเริ่มต้นอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยเหตุการณ์ที่แทบจะน่าอายในงานวันเกิดครบรอบ 18 ปีของแฟนสาว

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1960s ปาร์คเกอร์วัยหนุ่มได้สัมผัสกับไวน์เป็นครั้งแรกในงานวันเกิดของ ‘แพทริเซีย เอ็ทเซล’ แฟนสาวของเขา ด้วยการลองดื่ม André Cold Duck ไวน์ราคาถูกที่ผสมระหว่างไวน์แดงและไวน์สปาร์คกลิ้ง ผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ใช่ความประทับใจในรสชาติ แต่กลับเป็นอาการเมาจนเดินไม่ได้ 

ว่าที่พ่อตาต้องขับรถพาเขากลับบ้าน และในคืนนั้นเอง ปาร์คเกอร์ที่ยังมึนเมาพยายามจะเดินไปห้องน้ำ แต่กลับไปอาเจียนใส่ลิ้นชักเสื้อผ้าแทน ทำให้เสื้อผ้าสะอาดเปื้อนไปหมด และแม่ของเขาโกรธมาก 

แม้จะเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำ ที่กระทั่งเจ้าตัวก็ยังไม่อยากพูดถึง แต่นี่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำให้เขาหันมาสนใจโลกของไวน์

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 1967 เมื่อปาร์คเกอร์วัย 20 ปี ได้เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเยี่ยมแฟนสาวที่กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก การเดินทางครั้งนี้ได้เปิดโลกให้เขาได้สัมผัสกับไวน์คุณภาพระดับโลก โดยเฉพาะจากแคว้นบอร์กโดซ์และเบอร์กันดี ความซับซ้อนของรสชาติและความละเอียดอ่อนในการผลิตไวน์เหล่านี้ ทำให้เขาตระหนักว่า ไวน์ไม่ใช่เพียงเครื่องดื่ม แต่เป็นศิลปะและวัฒนธรรมที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

แม้ไม่ได้ผ่านการเรียนรู้จากสถาบันไวน์อย่างเป็นทางการ แต่ ปาร์คเกอร์ อุทิศตนให้กับการศึกษาเรื่องไวน์อย่างจริงจังและเป็นระบบ เขาเริ่มจากการอ่านหนังสือของนักเขียนชื่อดังอย่าง André Simon, Alexis Lichine และ Frank Schoonmaker อย่างละเอียด พร้อมกับตั้งกลุ่มชิมไวน์กับเพื่อนๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ แม้ว่าการชิมไวน์ในกลุ่มจะไม่มีการสอนอย่างเป็นทางการ แต่ปาร์คเกอร์ให้ความสำคัญและทุ่มเทกับการชิมและจดบันทึกอย่างจริงจัง

ปาร์คเกอร์ ยังฝึกฝนการแยกแยะกลิ่นและรสชาติของไวน์ด้วยตนเอง เขาให้ความสำคัญกับการฝึกการจดจำกลิ่นและรสชาติในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการเดินในถนนเมืองบัลติมอร์ เพื่อฝึกการแยกแยะกลิ่นในชีวิตประจำวัน เช่น กลิ่นยางมะตอยละลายหรือกลิ่นขยะ ซึ่งช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสในการชิมไวน์ของเขา

กล่าวกันว่า ปาร์คเกอร์ ชิมไวน์ในปริมาณมากและต่อเนื่อง โดยในช่วงหนึ่งเขาเคยชิมไวน์มากถึง 10,000 ขวดต่อปี การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องนี้ ทำให้เขาพัฒนาความเชี่ยวชาญในการแยกแยะคุณภาพของไวน์ และกลายเป็นนักวิจารณ์ไวน์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลก

ในปี 1978 ปาร์คเกอร์เริ่มต้นโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงวงการไวน์ตลอดกาล นั่นคือการก่อตั้ง ‘The Wine Advocate’ ด้วยเงินกู้ 2,000 เหรียญสหรัฐฯ จากแม่ของเขา หลังจากที่เพื่อนร่วมงานที่วางแผนจะทำด้วยกันต้องถอนตัวไป เนื่องจากข้อจำกัดจากที่ทำงาน เขาเริ่มต้นด้วยการส่งจดหมายข่าวฉบับแรกไปยังผู้อ่าน 6,500 ราย โดยได้รายชื่อจากร้านไวน์ท้องถิ่นและองค์กรไวน์อย่าง Les Amis du Vin 

แอดดี แบสซิน’ (Addy Bassin) เจ้าของร้าน MacArthur Liquors ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเปิดในปี 1958 และเป็นหนึ่งในร้านที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องไวน์ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญในช่วงแรกของการเผยแพร่จดหมายข่าวนี้

จุดแข็งของ Wine Advocate คือการนำเสนอเนื้อหาที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และเน้นที่ผู้บริโภค โดยรักษาความเป็นกลางด้วยการปฏิเสธการรับโฆษณาจากผู้ผลิตไวน์

นวัตกรรมสำคัญที่ทำให้ปาร์คเกอร์โดดเด่น คือการคิดค้น ‘ระบบการให้คะแนนไวน์ 100 คะแนน’ (100-Point Scale Wine Ratings) ซึ่งแบ่งระดับคุณภาพไวน์ดังนี้:

**96-100 คะแนน**: ไวน์ยอดเยี่ยม (Extraordinary wines)
**90-95 คะแนน**: ไวน์โดดเด่น (Outstanding wines)
**80-89 คะแนน**: ไวน์ดีมาก (Very good wines)
**70-79 คะแนน**: ไวน์เหนือค่าเฉลี่ย (Above average)
**60-69 คะแนน**: ไวน์ที่มีข้อบกพร่องบางอย่าง (Noticeable flaws)
**ต่ำกว่า 60 คะแนน**: ไวน์ที่ควรหลีกเลี่ยง (To be avoided)

ระบบนี้แตกต่างจากการวิจารณ์ไวน์แบบเดิม ที่มักใช้ดาวหรือหมวดหมู่คุณภาพแบบกว้าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและเข้าใจคุณภาพไวน์ได้ง่ายขึ้น

ปาร์คเกอร์ สร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากนักวิจารณ์ไวน์คนอื่น ๆ ด้วยการนำเสนอตัวเองในฐานะคนธรรมดาที่หลงใหลในไวน์และเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภค เขากล้าท้าทายความคิดดั้งเดิมของผู้เชี่ยวชาญรุ่นเก่า และมีความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เขาเปรียบเทียบตัวเองกับ ‘Lone Ranger’ ผู้ต่อสู้เพื่อความโปร่งใสในวงการไวน์ ภาพลักษณ์นี้ทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคที่ต้องการความจริงใจและความน่าเชื่อถือ

ทว่า การแสดงจุดยืนที่แน่วแน่นี้ ทำให้ปาร์คเกอร์มีความขัดแย้งกับผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์รุ่นเก่า โดยเฉพาะในยุโรป เช่น บอร์กโดซ์และเบอร์กันดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมการผลิตไวน์แบบดั้งเดิม ปาร์คเกอร์ มักวิจารณ์ไวน์ในสไตล์ตรงไปตรงมา ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดความไม่พอใจจากผู้ผลิตไวน์ในพื้นที่เหล่านี้ แต่เขาก็ไม่เคยเกรงกลัวและยังคงยืนยันในความคิดเห็นของตน สิ่งนี้ทำให้เขาเป็นที่ยกย่องจากผู้บริโภคในฐานะคนที่กล้าท้าทายระบบเก่าๆ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคเอง

อย่างไรก็ตาม การที่ปาร์คเกอร์ยึดมั่นในความถูกต้องของตนเอง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเช่นกัน นักวิจารณ์บางคนมองว่าเขามีความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปและไม่ยืดหยุ่น 

ตลอดเส้นทางการวิจารณ์ไวน์ ปาร์คเกอร์ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนไวน์จากภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะ ‘โรห์น วัลลีย์’ (Rhône Valley) ที่เขามองว่าถูกประเมินค่าต่ำเกินไป เขายกย่อง ‘กีกาล โก้ต โรตี’ (Guigal Côte Rôtie) จากเขตโรห์นเหนือเป็นพิเศษ เคยให้คะแนน 100 หลายครั้ง

ในส่วนของ บอร์กโดซ์ เขามีส่วนสำคัญในการสร้างชื่อเสียงให้แก่ Château Pétrus ปี 1982 โดยปาร์คเกอร์ให้คะแนนเต็ม 100 คะแนน กับไวน์ชั้นเลิศนี้ โดยบรรยายว่า “นี่เป็นไวน์ที่สมบูรณ์แบบและสมมาตรมากที่สุด" ที่เขาเคยได้ลิ้มลอง เช่นเดียวกับ Château Mouton Rothschild 1982 ได้รับคะแนน 100 เต็มเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ราคาของไวน์ขวดนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากทันทีที่ปาร์คเกอร์ประกาศคะแนนนี้

ส่วนในแคลิฟอร์เนีย Groth Vineyards Cabernet Reserve 1985 ได้รับเกียรติเป็นไวน์แคลิฟอร์เนียขวดแรกที่ได้รับ 100 คะแนนเต็มจากเขา ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ในวงการไวน์ทั่วโลก ส่วน Screaming Eagle 1997 ไวน์จาก Napa Valley ที่ได้รับคะแนน 100 เต็ม มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นไวน์ที่นักสะสมต้องการมากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของปาร์คเกอร์ก็มาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เขาถูกวิจารณ์ว่า มีรสนิยมที่จำกัด โดยชอบไวน์ที่มีความเข้มข้นสูง รสชาติผลไม้ชัดเจน และแอลกอฮอล์สูง จนเกิดปรากฏการณ์ ‘Parkerization’ ที่ทำให้ไวน์ทั่วโลกเริ่มมีสไตล์คล้ายกัน นอกจากนี้ คะแนนของเขายังมีอิทธิพลอย่างมากต่อราคาไวน์ จนบางครั้งผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อให้ถูกใจเขา แทนที่จะรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอิทธิพลต่อตลาด เพราะไวน์ที่ได้รับคะแนนสูงจากปาร์คเกอร์ มักทำให้ไวน์ตัวนั้นมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไวน์บางประเภทที่เคยมีราคา ‘เข้าถึงได้’ กลายเป็นสินค้าที่มีราคา ‘สูงเกินไป’ สำหรับผู้บริโภคทั่วไป 

ทั้งนี้ โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ตอบโต้ประเด็นเกี่ยวกับรสนิยมส่วนตัวและอิทธิพลต่อตลาดไวน์จากงานชิมไวน์ของเขาหลายครั้ง โดยเขาเน้นย้ำว่า ไม่มีรสนิยมส่วนตัวที่กำหนดรสนิยมไวน์ทั่วโลก และความชื่นชอบไวน์แบบเข้มข้น (Full-Bodied Wines) เป็นเพียงหนึ่งในหลายสไตล์ที่เขาชื่นชม เขากล่าวว่า เขา ‘หลงใหลไวน์หลากหลายสไตล์’ และยืนยันว่าคะแนนที่เขามอบให้เกิดจากการประเมินคุณภาพตามมาตรฐาน ไม่ใช่รสนิยมส่วนตัวเพียงอย่างเดียว 

ปาร์คเกอร์ ยังได้กล่าวถึงอิทธิพลของเขาต่อตลาดไวน์ว่า ไม่ใช่ความตั้งใจ ที่จะสร้างผลกระทบอย่างมากขนาดนั้น เขายืนยันว่าเขามีความซื่อสัตย์และพยายามทำหน้าที่นักวิจารณ์อย่างเป็นธรรม เขาชี้แจงว่า เขาไม่ได้สร้างระบบคะแนนเพื่อควบคุมตลาด แต่เพียงเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจและตัดสินใจได้ง่ายขึ้นจากมุมมองของคุณภาพของไวน์​

โรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ ก้าวขึ้นเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการไวน์จากการผสมผสานของความหลงใหล ความมุ่งมั่น ระบบการให้คะแนน บุคลิกภาพ สื่อมวลชน และจังหวะเวลาที่เหมาะสม เขาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการไวน์ระดับโลก และกลายเป็นเสียงที่ทรงพลังในตลาดไวน์ ความสำเร็จของเขามาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ลึกซึ้ง จากการเป็นผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมนี้

 

ภาพ : Getty Images

ที่มา:
- Mccoy, Elin. The Emperor of Wine: The Rise of Robert M. Parker, Jr. and The Reign of American Taste. Harper Collins. 2005.