02 เม.ย. 2568 | 18:06 น.
KEY
POINTS
หมายเหตุ: ฉากเปิดเรื่องในย่อหน้าแรกนี้ เป็นการเล่าแบบจินตนาการ มิได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด
ค่ำคืนหนึ่งในศตวรรษที่ 18 ห้องรับรองของพระราชวังแวร์ซายสว่างไสวด้วยแสงจากโคมระย้าที่ส่องผ่านผลึกแก้วเจียระไน ขุนนางฝรั่งเศสแต่งกายด้วยเสื้อคลุมผ้ากำมะหยี่สีเข้ม ปักดิ้นทองสลับลวดลายลูกไม้ มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองหลังพระราชพิธีที่จัตุรัสพระราชวัง กลิ่นไวน์แดงโชยแตะปลายจมูกก่อนจิบแรกจะสัมผัสริมฝีปากชายคนหนึ่ง เขาวางแก้วลงช้า ๆ หันไปกระซิบกับเพื่อนขุนนางข้างกายว่า
“ไวน์จากลา-ฟีต (Lafite) นี้…นุ่มนวลกว่าผ้าแพรแห่งราชสำนักจีนเสียอีก”
ไม่มีใครในห้องนั้นล่วงรู้ว่า น้ำสีแดงเข้มในแก้วใบนั้น กำลังจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของอภิสิทธิ์ ความมั่งคั่ง และอำนาจที่โลกจะจดจำไปอีกหลายศตวรรษ ในฐานะ 1 ใน ‘5 เสือแห่งบอร์กโดซ์’ (The First Growth) ที่นักสะสมทั่วโลกตามหาไม่ต่างจากเพชรน้ำงาม
ไวน์บอร์กโดซ์ (Bordeaux) เป็นชื่อที่นักดื่มทั่วโลกคุ้นเคย แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ชื่อเสียงอันยิ่งใหญ่ของไวน์ 5 ชาโตที่ได้รับการยกย่องสูงสุดในปี 1855 มีเบื้องหลังที่ลึกซึ้งซับซ้อนกว่าแค่ ‘รสชาติ’
การจัดอันดับไวน์ในปีนั้น มิได้เกิดขึ้นโดยนักชิมผู้มีผัสสะอันละเมียด หรือเป็นกรรมการลับผู้พิพากษาในห้องทดลอง แต่เกิดจาก คำสั่งของนโปเลียนที่ 3 ซึ่งต้องการจัดงาน ‘นิทรรศการโลก’ (Exposition Universelle de Paris) อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อแสดงศักยภาพของฝรั่งเศสในเวทีนานาชาติ เขาได้มอบหมายให้ Chamber of Commerce of Bordeaux จัดทำรายชื่อไวน์ที่ดีที่สุดจากแคว้นบอร์กโดซ์ โดยใช้เกณฑ์เพียงข้อเดียว นั่นคือ ‘ราคาซื้อขายในตลาด ณ ขณะนั้น’
ผลลัพธ์ก็คือ รายชื่อชาโตทั้งหมด 61 แห่ง ถูกแบ่งออกเป็น 5 ระดับ (crus) และมีเพียง 5 แห่ง เท่านั้นที่ได้รับตำแหน่งสูงสุด Premier Cru Classé หรือ First Growth
ชาโตเหล่านั้น ประกอบด้วย ชาโต ลาฟีต (Château Lafite ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Lafite Rothschild), ชาโต ลาทูร์ (Château Latour), ชาโต มาร์โกซ์ (Château Margaux), ชาโต โอ-บริยอง (Château Haut-Brion) และ ชาโต มูตอวง ร็อธสไชลด์ (Château Mouton Rothschild ซึ่งถูกเลื่อนชั้นจากชั้น 2 ขึ้นมาเป็นชั้น 1 ในปี 1973)
ชาโตทั้งห้านี้ เป็น เครื่องหมายแห่งเกียรติภูมิทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ของฝรั่งเศส และถูกกล่าวขวัญถึงอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้นมา ไม่เพียงแต่ในหมู่นักชิมไวน์ แต่รวมถึงนักประวัติศาสตร์ ศิลปิน เศรษฐี และชนชั้นนำทั่วโลก
เรื่องราวเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของไวน์ทั้ง 5 ขวดนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องขององุ่น ดิน หรือถังโอ๊กเท่านั้น หากแต่แทรกซึมไปด้วย การเมือง ศิลปะ การลงทุน และมรดกทางอำนาจ ที่เกาะเกี่ยวกันแน่นหนากว่าไวน์ใด ๆ บนโลกใบนี้
ในโลกของไวน์ มีคำหนึ่งที่มักปรากฏขึ้นมาเสมอ ๆ เมื่อพูดถึงคุณภาพของไวน์ฝรั่งเศส นั่นคือคำว่า terroir (แตร์ฮัวร์) ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ ‘ดิน’ แต่หมายรวมถึงสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ความชื้น ลม ฝน แสงแดด และแม้กระทั่งฝีมือของมนุษย์ในพื้นที่นั้น ๆ และหากมีสถานที่ใดที่แสดงพลังของ terroir ได้อย่างชัดเจนที่สุด สถานที่นั้นคือ แคว้นบอร์กโดซ์ (Bordeaux)
บอร์กโดซ์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เป็นภูมิภาคที่ถูกแบ่งออกเป็นสองฟากฝั่งตามแนวแม่น้ำใหญ่สองสาย Garonne (กาฮอน) และ Dordogne (ดอร์จดอน) ซึ่งมาบรรจบกันกลายเป็นปากน้ำ Gironde (จิฮอนด์) ที่ไหลลงมหาสมุทรแอตแลนติก
จากการแบ่งเขตนี้ บอร์กโดซ์ จึงถูกจำแนกตามธรรมชาติออกเป็นสองฟาก ได้แก่ Left Bank (ฝั่งซ้าย) ซึ่งรวมเขต Médoc (เมด็อก) และ Graves (กราฟส์) ที่เป็นบ้านของ 4 ใน 5 First Growth และ Right Bank (ฝั่งขวา) ที่มีชื่อเสียงจากไวน์ Merlot เช่น Pomerol (ปอมีฮอล) และ Saint-Émilion (แซงเตมิยง)
First Growth ทั้งหมดที่ได้รับการจัดอันดับในปี 1855 (ยกเว้น Haut-Brion) ตั้งอยู่ในเขต Médoc ซึ่งเป็นดินที่เต็มไปด้วยกรวด (gravel) ที่แม่น้ำทิ้งไว้ตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง
ดินใน Médoc ไม่ได้อุดมสมบูรณ์ตามนิยามของเกษตรกรทั่วไป ในทางกลับกัน มันค่อนข้าง ‘ขาดแคลน’ (poor soil) และมีความสามารถในการระบายน้ำสูง จึงทำให้เถาองุ่นต้องดิ้นรน หยั่งรากลึกเพื่อดูดซับแร่ธาตุจากดิน และผลผลิตที่ได้จะออกมาน้อย แต่มีความเข้มข้น
ความพิเศษของดินกรวดนี้ คือ อุ่นเร็ว เมื่อต้องแสงแดด ทำให้ช่วงออกผลขององุ่นสั้นลง, คายน้ำเร็ว ลดความเสี่ยงของโรคราน้ำค้าง เหมาะกับ Cabernet Sauvignon ซึ่งเป็นพันธุ์องุ่นหลักของ Left Bank
ตัวอย่างเช่น บริเวณ Pauillac (ปุยยัค) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Lafite, Latour และ Mouton อยู่บนเนินกรวดที่สูงที่สุดของ Médoc ทำให้ได้รับการยอมรับว่าเป็น terroir ที่ดีที่สุดในภูมิภาค
บอร์กโดซ์ มีภูมิอากาศแบบมหาสมุทร (maritime) ได้รับอิทธิพลจากมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้ฤดูร้อนอบอุ่นแต่ไม่ร้อนจัด และฤดูหนาวไม่หนาวเกินไป เป็นสภาพที่เหมาะสมสำหรับการปลูกไวน์ระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้ก็เปราะบางต่อพายุ น้ำท่วม และฝนตกหนักในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งทำให้ vintage variation หรือความต่างของคุณภาพไวน์ในแต่ละปีชัดเจนมาก โดยเฉพาะกับไวน์ระดับสูงอย่าง First Growth ที่ต้องการปีที่ ‘แม่นยำ’ เพื่อให้รสชาติถึงขีดสุด
แม้ระบบ Appellation d’Origine Contrôlée (AOC) ที่ใช้ควบคุมแหล่งผลิตไวน์ฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการจะยังไม่ถือกำเนิดในปี 1855 (ระบบ AOC เริ่มต้นจริงในปี 1935) แต่ในโลกของการค้าไวน์ยุคนั้น ชื่อสถานที่ ก็มีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว โดยพ่อค้าไวน์จากอังกฤษและเนเธอร์แลนด์รู้ดีว่า ไวน์จาก Pauillac, Margaux หรือ Graves มีคุณภาพสูงกว่า และชื่อไร่ (Château) ก็คือสัญญาแห่งคุณภาพในตัวมันเอง แม้ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ
การจัดอันดับปี 1855 จึงอิงกับชื่อของชาโตที่อยู่บน ‘พื้นที่เฉพาะ’ โดย Chateau ทั้งหลายไม่สามารถย้ายที่ดินไปปลูกที่อื่นได้ หากยังต้องการรักษาชื่อเสียงเดิม ตัวอย่าง เช่น Château Lafite Rothschild = Pauillac อยู่บนดินกรวดใกล้ปากน้ำ Gironde) ส่วน Château Margaux = Margaux อยู่บนหินกรวดและดินทรายที่ระบายน้ำดี หรือ Château Haut-Brion = Graves ซึ่งต่อมาได้รับสถานะ AOC Pessac-Léognan
terroir จึงไม่ใช่แค่ดิน หรือสภาพอากาศ แต่คือ จารีต ประวัติศาสตร์ และชื่อเสียงทางการค้า ที่รวมเป็นรากเหง้าของไวน์ First Growth
การจัดอันดับปี 1855 – เกมอำนาจที่ซ่อนในไวน์
ในศตวรรษที่ 19 โลกกำลังเคลื่อนไปสู่ยุคแห่งอุตสาหกรรม จักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้การนำของ นโปเลียนที่ 3 กำลังแสวงหาเวทีในการแสดงพลังทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมต่อชาวโลก เขาจึงจัดงาน Exposition Universelle de Paris ขึ้นในปี 1855 เพื่อแข่งขันกับมหกรรมระดับนานาชาติในอังกฤษเมื่อปี 1851
และสิ่งที่ฝรั่งเศสเลือกจะนำไปแสดง ไม่ใช่แค่เครื่องจักรหรือศิลปะ แต่รวมถึง ‘ไวน์’โดยเฉพาะไวน์จากแคว้นบอร์กโดซ์ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ โดย นโปเลียนที่ 3 มอบหมายให้ หอการค้าแห่งบอร์กโดซ์ (Chambre de Commerce de Bordeaux) จัดทำรายชื่อ ‘ไวน์ที่ดีที่สุด’ จากภูมิภาคนี้ เพื่อใช้ในการจัดแสดงอย่างเป็นทางการในนิทรรศการ
หอการค้า จึงประสานงานกับ Syndicat des Courtiers de Commerce หรือสมาคมของนายหน้าค้าไวน์มืออาชีพ (wine brokers) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินราคาและคุณภาพของไวน์ในตลาดอยู่แล้วเป็นประจำ
สิ่งที่น่าทึ่ง คือหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับนั้น ไม่มีการชิมไวน์แม้แต่หยดเดียว แต่ใช้หลักการเดียวคือ ราคาขายเฉลี่ยของไวน์แต่ละชาโตที่ออกขายในท้องตลาดช่วง 40 - 50 ปีก่อนหน้า
ชาโตใดที่มีราคาสูงสุดในตลาด (โดยเฉพาะในอังกฤษ) จะได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม ‘Premier Cru’ หรือ ‘First Growth’ และลดหลั่นกันลงมาเป็น Second, Third, Fourth และ Fifth Growth ตามลำดับ
เหตุผลที่เลือกใช้ราคา เพราะเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้จริงจากพ่อค้าคนกลาง และสะท้อนทั้งคุณภาพในสายตาตลาด และชื่อเสียงในระยะยาว นอกจากนี้ยังช่วยให้การจัดอันดับมีลักษณะ ‘วัตถุวิสัย’ (objective) ในสายตาของราชสำนัก
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายอาจตั้งคำถามได้ว่า ถึงจะเป็นราคาตลาด แต่นั่นก็ไม่ได้สะท้อน terroir หรือคุณภาพอย่างแท้จริงเสมอไป แต่อย่างน้อย ๆ ก็สะท้อนถึงการเชื่อมโยงทางการค้า, เครือข่าย, และภาพลักษณ์ของชาโตในสายตานักสะสมจากอังกฤษและเนเธอร์แลนด์
กรณีของ Château Haut-Brion ซึ่งอยู่ในเขต Graves และมีพื้นที่อยู่ห่างจาก Médoc พอสมควร ได้รับตำแหน่ง First Growth นั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะมีเพียงหนึ่งเดียวที่หลุดจากกลุ่ม Médoc
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า เป็นเพราะ Haut-Brion มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับตลาดอังกฤษมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 และเป็นชาโตเดียวที่ถูกพูดถึงในบันทึกของ Samuel Pepys นักเขียนชาวอังกฤษเมื่อปี 1663 (The Diary of Samuel Pepys บันทึกไว้เมื่อ 10 เมษายน 1663)
“...drank a sort of French wine called Ho-Bryan, that hath a good and most particular taste...”
“...ดื่มไวน์ฝรั่งเศสชนิดหนึ่งชื่อ โอ-ไบรอัน (Ho-Bryan) ซึ่งมีรสชาติดีและโดดเด่นเป็นพิเศษ...”
อีกด้านหนึ่ง การที่ Mouton Rothschild ไม่ได้ติดอันดับ First Growth ทั้งที่ตระกูล Rothschild มีอำนาจทางการเงินสูงในยุโรป ก็เป็นประเด็นที่นักประวัติศาสตร์บางคนตีความว่า อาจสะท้อนการเมืองเชิงสัญลักษณ์ในสมัยนั้น ซึ่งยังไม่เปิดรับครอบครัวธนาคารใหม่ ๆ อย่างเท่าเทียมในระดับสังคมวินเทจ
ทว่า ในอีกกว่าร้อยปีต่อมา ปี 1973 เกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่มีอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน เมื่อ Château Mouton Rothschild ได้รับการเลื่อนชั้นจาก Second Growth เป็น First Growth
นี่ไม่ใช่การจัดอันดับใหม่ แต่เป็นผลจากการล็อบบี้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องของ Baron Philippe de Rothschild ซึ่งใช้เวลาถึง 50 ปีเพื่อพิสูจน์ว่า Mouton สมควรยืนเคียงข้างอีก 4 ชาโต
ประโยคที่เขากล่าวไว้ หลังความสำเร็จในครั้งนั้น ได้กลายเป็นวาทกรรมอมตะในโลกของไวน์ไปแล้ว
“Premier je suis, Second je fus, Mouton ne change”
“ข้าคือที่หนึ่ง ข้าเคยเป็นที่สอง แต่ Mouton ไม่มีวันเปลี่ยน”
First Growths ไม่ได้มีแค่ความโดดเด่นในรสชาติ ทว่า ชาโตแต่ละแห่งคือบุคลิกเฉพาะที่มีชีวิต มีความทรงจำ และมี ‘เสียง’ ของตัวเอง เสมือนตัวละครในนวนิยาย ที่มีมิติทั้งภายนอกและภายใน บางแห่งสุขุม บางแห่งร้อนแรง บางแห่งคลาสสิก และบางแห่งท้าทาย
1. Château Lafite Rothschild - บารมีเงียบของจักรพรรดิ
ที่ตั้ง: Pauillac, Médoc, Left Bank พันธุ์องุ่นหลัก: Cabernet Sauvignon (~70%), Merlot (~25%), Petit Verdot บุคลิกไวน์: สง่างาม มีความละเอียดอ่อนสูง อายุยืนยาว กลิ่นซีดาร์ กุหลาบแห้ง ใบซิการ์
Château Lafite เป็นชื่อที่สะท้อนความสง่างามแบบ ‘จักรพรรดิ’ ไม่เพียงเพราะเป็นไวน์ที่ราชสำนักฝรั่งเศสและอังกฤษโปรดปรานในศตวรรษที่ 18 แต่เพราะมันเปรียบเสมือน ราชันผู้ไม่ส่งเสียงแห่งบอร์กโดซ์
ในปี 1868 ตระกูล Rothschild เข้าซื้อกิจการ ทำให้ Lafite กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งระดับโลก และเป็นหนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่คนจะพูดถึงเมื่อพูดถึง ‘ไวน์ที่แพงที่สุดในโลก’
ฮิวจ์ จอห์นสัน (Hugh Johnson) เคยเรียก Lafite ว่า
“The most aristocratic of all Bordeaux wines”
“ไวน์ที่สูงศักดิ์ที่สุดในหมู่ไวน์บอร์กโดซ์ทั้งมวล”
2. Château Latour – นักรบโบราณผู้ไร้รอยยิ้ม
ที่ตั้ง: Pauillac พันธุ์องุ่นหลัก: Cabernet Sauvignon (~75%), Merlot (~20%) บุคลิกไวน์: เข้มข้น ทรงพลัง มีโครงสร้างที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม อายุเก็บ 30 – 50 ปีขึ้นไป
Latour ตั้งอยู่ติดปากอ่าว Gironde และได้รับอิทธิพลจากสภาพภูมิอากาศที่ทำให้องุ่นสุกช้า ไวน์ที่ได้มีแทนนินเข้มและความแน่นในโครงสร้างที่เปรียบเสมือนนักรบเหล็กที่ไม่เคยล้ม
ที่มาของชื่อ ‘Latour’ มาจาก หอคอยป้องกันโบราณ ซึ่งยังปรากฏอยู่บนฉลากมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นไวน์ที่นักวิจารณ์มักเปรียบกับ ‘พลังดิบที่สงบอยู่ภายใน’
3. Château Margaux – กวีหญิงผู้ละเมียดละไม
ที่ตั้ง: Margaux, Médoc พันธุ์องุ่นหลัก: Cabernet Sauvignon (~75%), Merlot (~20%), Petit Verdot, Cabernet Franc บุคลิกไวน์: หอมดอกไม้ โครงสร้างสมดุล ละเอียดเหมือนผ้าชีฟองของไวน์ มีความเป็น ‘feminine elegance’
Château Margaux ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ราชินีแห่ง Médoc’ ด้วยความงามของไวน์ที่ให้กลิ่นดอกไวโอเลต พริกไทยขาว และผลไม้แดงที่คลี่คลายออกมาอย่างนุ่มนวล เปรียบได้กับบทกวีที่ค่อย ๆ เปิดเผย
โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) เคยเขียนชื่นชมไวน์ Margaux ว่าเป็นหนึ่งในไวน์ที่ดีที่สุดในฝรั่งเศส หลังจากได้ดื่มขณะดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐฯ ประจำฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 เช่นเดียวกันกับ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) เคยพูดถึง Margaux ในนวนิยาย The Sun Also Rises ว่า
“I drank a bottle of wine for company. It was a Château Margaux. It was pleasant to be drinking slowly and to be tasting the wine and to be drinking alone.”
“ผมดื่มไวน์หนึ่งขวดเป็นเพื่อน มันคือชาโต มาร์โกซ์ ดื่มช้า ๆ ละเมียดรสไวน์เพียงลำพัง...ก็รื่นรมย์ยิ่งนัก”
4. Château Haut-Brion - ขุนนางแห่งเมืองหลวง
ที่ตั้ง: Pessac-Léognan, Graves (ใกล้เมือง Bordeaux) พันธุ์องุ่นหลัก: Merlot (~50%), Cabernet Sauvignon (~40%), Cabernet Franc บุคลิกไวน์: กลิ่นดินเปียก ยางไม้ ซิการ์ แร่ธาตุ โทนอบอุ่นและมีมิติจาก Merlot มากกว่า First Growth อื่น
Haut-Brion คือ ชาโตแรก ที่ได้รับความนิยมในอังกฤษ และยังเป็น First Growth เพียงแห่งเดียว ที่ไม่ได้อยู่ใน Médoc แต่ตั้งอยู่ใน Graves ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นที่มีเกียรติ
ในแง่ของ ‘รสชาติ’ Haut-Brion มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างชัดเจน คือ โทนดิน รมควัน และกลิ่นคล้ายซิการ์แห้งที่พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มของไวน์
5. Château Mouton Rothschild – ผู้ไม่ยอมจำนน
ที่ตั้ง: Pauillac พันธุ์องุ่นหลัก: Cabernet Sauvignon (~80%), Merlot (~16%) บุคลิกไวน์: หอมหวาน สไปซี มีเสน่ห์เฉพาะตัว กลมกล่อมในวัยหนุ่มและเปี่ยมด้วยศักยภาพในการพัฒนา
Mouton Rothschild คือชาโตแห่งการ ‘ปฏิวัติ’ จากไวน์ที่ถูกมองว่า ‘แค่ที่สอง’ ในปี 1855 จนกลายเป็น ‘ที่หนึ่งอย่างภาคภูมิ’ ในปี 1973
เจ้าของตำนานคือ Baron Philippe de Rothschild ผู้ปฏิวัติการตลาดไวน์อย่างแท้จริง ไม่เพียงล็อบบี้ให้เลื่อนชั้นสำเร็จ แต่ยังเริ่ม ประเพณีออกแบบฉลากไวน์โดยศิลปินระดับโลก เช่น Picasso, Chagall, Warhol ฯลฯ
Mouton คือไวน์ที่ ‘พูด’ ได้ด้วยงานศิลปะ
บทส่งท้าย: When Wine Becomes Myth
เมื่อ โธมัส เจฟเฟอร์สัน เดินทางไปยังฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 เขาได้จดรายชื่อไวน์ที่ควรค่าแก่การส่งกลับบ้านเกิดไว้ 4 รายชื่อ—Lafite, Latour, Margaux และ Haut-Brion
กว่า 70 ปีต่อมา รายชื่อเดียวกันนั้นปรากฏขึ้นอีกครั้งบนบัญชีของการจัดอันดับปี 1855 และกว่า 100 ปีให้หลัง มันยังคงเป็น ‘รายชื่อทองคำ’ สำหรับนักสะสมไวน์ทั่วโลก
ในโลกที่รสนิยมผู้บริโภคเปลี่ยนทุก ๆ ปี และไวน์ใหม่ ๆ จาก Napa, Chile, Australia หรือ Tuscany ได้รับแต้มรีวิวระดับ 100 คะแนนจากนักวิจารณ์ชื่อดัง First Growth ทั้ง 5 ยังคงยืนหยัดทั้งในแง่ราคา ภาพลักษณ์ และความศรัทธา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ว่า First Growth ไม่ได้แค่ ‘ดี’ แต่ มันถูกบอกเล่า ถ่ายทอด และสืบทอด จนกลายเป็น ตำนานร่วมของมนุษยชาติกลุ่มหนึ่ง ในโลกที่ความเร็วกลืนกินทุกอย่าง First Growth ยังเป็นสิ่งที่ต้องรอคอย, สะสม, และ เคารพในกาลเวลา
ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีวิเคราะห์ไวน์ลึกได้ถึงระดับโมเลกุล คนรุ่นใหม่กำลังหันไปหาไวน์ธรรมชาติ (natural wine), biodynamic หรือ zero intervention ไวน์จาก First Growth ถูกตั้งคำถามใหม่อีกครั้งว่า ไวน์หรูหราเหล่านี้ ยังมีความจำเป็นอยู่ไหม หรือคือภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ? หรือคือหลักหมุดที่บอกเราว่า ‘ไวน์’ เป็นเรื่องของวัฒนธรรม?
นักวิจารณ์อย่าง แจนซิส โรบินสัน (Jancis Robinson) เคยกล่าวไว้ว่า
“Bordeaux is not just a wine region. It is a concept.”
แน่นอนว่าความนิยมของ First Growth อาจลดลงในบางกลุ่มผู้ดื่ม แต่สำหรับนักดื่มรุ่นใหม่ที่มองหาเรื่องราว เบื้องหลัง และคุณค่าที่มีรากลึก First Growth กลับน่าสนใจยิ่งขึ้น ในฐานะไวน์ราคาแพงหายาก ที่ “ถูกจัดอันดับโดยประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่คะแนน”
ไวน์จาก First Growth แต่ละขวดใช้เวลาอย่างน้อย 15 – 30 ปีในการเผยศักยภาพสูงสุด และใช้เวลากว่า 150 ปีในการกลายเป็น ‘ตำนาน’
ในขณะที่ไวน์บางขวดถูกดื่มแล้วความทรงจำมลายหายไป เรามั่นใจได้แน่นอนว่า First Growth ยังถูกจดจำไปอีกนานแสนนาน แม้เมื่อขวดของมันว่างเปล่า
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: Getty Images
ที่มา:
“Bordeaux Terroirs Overview.” Bordeaux Wine Council (CIVB), 2021, www.bordeaux.com.
Johnson, Hugh. The Story of Wine. Revised ed., Mitchell Beazley, 2013.
Johnson, Hugh, and Jancis Robinson. The World Atlas of Wine. 8th ed., Mitchell Beazley, 2019.
Markham Jr., Dewey. 1855: A History of the Bordeaux Classification. Wiedenfeld & Nicolson, 1997.
Pepys, Samuel. The Diary of Samuel Pepys. Edited by Robert Latham and William Matthews, University of California Press, 1970.
Robinson, Jancis, editor. The Oxford Companion to Wine. 5th ed., Oxford UP, 2023.
“Château Lafite Rothschild.” Domaines Barons de Rothschild (Lafite), www.lafite.com.
“Château Latour.” Château Latour, www.chateau-latour.com.
“Château Margaux.” Château Margaux, www.chateau-margaux.com.
“Château Haut-Brion.” Domaine Clarence Dillon, www.haut-brion.com.
“Château Mouton Rothschild.” Baron Philippe de Rothschild SA, www.chateau-mouton-rothschild.com.
Robinson, Jancis. “The Art of Mouton Labels.” FT Weekend, 12 Sept. 2015, www.ft.com.
“The Day Mouton Became First Growth.” Decanter Magazine, July 2013, www.decanter.com.
“The 1855 Bordeaux Classification: Then and Now.” Wine Spectator, 2021, www.winespectator.com.