อยากได้บ้าน ‘มินิมอล’ แต่บ้านดันรกเป็น ‘มินิมาร์ท’ เพราะ ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’

อยากได้บ้าน ‘มินิมอล’ แต่บ้านดันรกเป็น ‘มินิมาร์ท’ เพราะ ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’

‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’ (Hoarding Disorder) แตกต่างจาก ‘การสะสม’ ปกติ ยังไง? และเราจะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ยังไงบ้าง?

  • คนที่ป่วยเป็น ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’ หรือ ‘Hoarding Disorder’ เป็นคนที่ไม่สามารถ ‘ปล่อยวาง’ หรือ ‘ตัดใจ’ ทิ้งของที่ไม่จำเป็นได้ โดยมักอ้างว่า “จะทิ้งทำไม เดี๋ยวก็ต้องเอาออกมาใช้” แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หยิบสิ่งของดังกล่าวออกมาใช้สักที
  • ไม่ใช่แค่ ‘สิ่งของ’ เท่านั้น ที่คนป่วยชอบเก็บ บางครั้งพวกเขาก็ชอบเก็บ ‘สัตว์’ เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะแมว กระต่าย สุนัข และนก
  • คนที่ป่วยเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของนับเป็นผู้ที่ท้าทายต่อการรักษา เพราะโดยมากแล้วพวกเขามักไม่มองว่าตัวเองกำลังเป็น ‘ปัญหา’ หรือแทบไม่รู้ตัวเลยว่าพฤติกรรมที่เป็นอยู่ส่งผลยังไงกับชีวิตตัวเองและผู้อื่น

“อยากจัดบ้านสไตล์มินิมอล แต่ดันได้บ้านรกเป็นมินิมาร์ท” ใครประสบปัญหานี้อยู่ยกมือขึ้นค่ะ

การแต่งบ้านสไตล์มินิมอล (Minimal Style) เน้นความเรียบง่าย ใช้เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น ยังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในยุคนี้ เพราะคนรุ่นใหม่เชื่อว่า ยิ่งของในบ้านมีน้อยชิ้นเท่าไร ความเครียดก็จะน้อยลงเท่านั้น เพราะเราไม่ต้องเสียเวลาทำความสะอาดบ้านครั้งละนาน ๆ จะได้มีเวลาไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบหรือสบายใจมากขึ้น 

แต่วิถีมินิมอลก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือมีผู้ใหญ่ในบ้าน ที่ทำยังไง๊ยังไงก็ไม่ยอมทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็นสักที ภาพบ้านในฝันสไตล์มินิมอลจึงห่างไกลออกไปทุกที แต่ได้บ้านสไตล์มินิมาร์ทที่มีของแขวนระเกะระกะเต็มฝาบ้าน ชั้นวางของที่แม้แต่ฝุ่นยังไม่มีปัญญาหาที่เกาะเพราะมีของวางแน่นไปหมด มาแทน 

เรื่องน่าหนักใจนี้กลายเป็น ‘โอกาส’ สำหรับบริษัทจัดระเบียบบ้าน ที่ตอนนี้ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด เพื่อจัดการกับบ้านที่เต็มไปด้วยสิ่งของกองเป็นภูเขา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมีผู้ป่วย ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’ (Hoarding Disorder) อาศัยอยู่ในบ้าน 

แต่ก่อนที่จะคิดเองเออเองว่าพ่อแม่เราป่วยเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของแน่ ๆ บ้านเราถึงได้รกขนาดนี้ ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยโรคนี้กับ ‘นักสะสม’ ก่อน

ผู้ป่วย ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’ ต่างจาก นักสะสม’ ยังไง?

‘Health Direct’ หน่วยงานบริการข้อมูลและคำแนะนำด้านสุขภาพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย อธิบายอาการของคนที่ป่วยเป็น ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’ หรือ ‘Hoarding Disorder’ ว่า เป็นคนที่ไม่สามารถ ‘ปล่อยวาง’ หรือ ‘ตัดใจ’ ทิ้งของที่ไม่จำเป็นได้ ทั้งที่สิ่งของเหล่านั้นก็ไม่ได้มีราคาแพงมากมาย บางชิ้นก็ไม่มีราคาอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่ผู้ป่วยก็อยากจะเก็บของเหล่านี้เอาไว้ และจะเกิดอาการทุกข์อกทุกข์ใจหากจะต้องทิ้งสิ่งของ สุดท้ายก็ไม่ได้ทิ้งอะไรเลยจนมีของกองเป็นพะเนินเต็มบ้าน ไม่มีการแยกหมวดหมู่ จนบ้านแทบไม่มีที่ให้นั่ง เดิน นอน ฯลฯ กระทั่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและคนในครอบครัว แถมบางครั้งยังมีกลิ่นเหม็นรบกวนเพื่อนบ้านอีกต่างหาก

โดยเหตุผลที่ผู้ป่วยมักใช้จนติดปากก็คือ “จะทิ้งทำไม เดี๋ยวก็ต้องเอาออกมาใช้” แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หยิบสิ่งของดังกล่าวออกมาใช้สักที

แตกต่างกันพอสมควรกับคนที่ชอบ ‘สะสม’ เป็นงานอดิเรก หรือไม่ก็เก็บของบางอย่างเอาไว้ด้วยเหตุผลทางจิตใจ ตั้งแต่แสตมป์ ไปจนถึงฟันน้ำนมของลูก ๆ คนพวกนี้จะเก็บของที่สะสมเอาไว้เป็นที่เป็นทาง หรือเก็บในสถานที่เฉพาะ อาจจะเป็นมุมพิเศษ หรือจัดในตู้โชว์ ที่มองดูแล้วสบายตา และสะดวกต่อการเข้าไปชื่นชมสิ่งของเหล่านั้น 

คนที่เป็น ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’ ชอบเก็บอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยบางคนอาจไม่ได้ชอบเก็บของอะไรที่เฉพาะเจาะจง แต่ชอบเก็บของทั่วไปอย่าง เครื่องประดับ เครื่องครัว อะไหล่รถยนต์ บิลเก่า หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ และโบรชัวร์ ฯลฯ

สังเกตได้ว่าสิ่งของที่ผู้ป่วยชอบเก็บ มักเป็นของที่ไม่ค่อยมีราคา แถมบางครั้งก็อยู่ในสภาพที่ใช้งานไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ ยังชอบเก็บของที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่บางอย่างก็มีคุณค่าทางจิตใจ แต่บางอย่างก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ที่น่าตกใจคือไม่ใช่แค่ ‘สิ่งของ’ เท่านั้น ที่คนป่วยชอบเก็บ บางครั้งพวกเขาก็ชอบเก็บ ‘สัตว์’ เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะแมว กระต่าย สุนัข และนก เพราะเชื่อว่าตัวเองกำลังประคบประหงมดูแลสัตว์เหล่านี้อยู่ ทั้งที่ความจริงแล้วสัตว์อาจไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีนัก 

ใครบ้างที่มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ?

ข้อมูลจาก ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคนี้จะเริ่มมีอาการมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่อาการจะแสดงชัดเจนเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป เพราะในช่วงวัย 30 ปี ข้าวของเครื่องใช้จะเยอะขึ้น และเริ่มแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยไม่ยอมทิ้งอะไรเลย โดยจะเก็บเอาไว้จนรกบ้าน ตรงข้ามกับคนทั่วไปที่ส่วนใหญ่ในวัยนี้จะเริ่มแยกแยะของเพื่อทิ้งและเพื่อเก็บ 

ขณะที่ ‘Health Direct’ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับลักษณะบุคลิกภาพบางอย่าง เช่น คนที่รักความสมบูรณ์แบบ คนที่ไม่ถนัดเรื่องการตัดสินใจ และคนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง 

อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงมองไม่ออกว่า คนที่รักความสมบูรณ์แบบ หรือ perfectionist เกี่ยวกับโรคนี้ยังไง? คำตอบก็คือคนเหล่านี้มักกลัวว่าตัวเองจะทำผิดพลาด แล้วจะต้องเสียใจภายหลัง เลยเลือกเก็บของเอาไว้ก่อน เผื่อวันหลังต้องใช้ นั่นเอง และเมื่อเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคสมาธิสั้น หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ

อันตรายของ ‘โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ’

บางคนอาจมองว่าแค่ชอบเก็บไว้ในบ้าน ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรสักหน่อย คุณคิดผิดค่ะ! 

คุณต้องไม่ลืมว่าถ้าของรกเต็มบ้าน ผู้ป่วยจะไม่สามารถเดินไปมาในบ้านได้สะดวก จะทำความสะอาดบ้านก็ไม่ถนัด ร้ายสุดคืออาจไม่สามารถนอนบนเตียงตัวเองได้ เพราะมีแต่ของวางเต็มไปหมด หรือจะเข้าห้องน้ำก็ทำได้ไม่สะดวก จะซักผ้า-ล้างจาน นี่ยิ่งหนักเลย 

ไม่ใช่แค่ปัญหาคุณภาพชีวิตเท่านั้น แต่การเก็บของไว้จนล้นบ้านยังทำให้ผู้ป่วยหรือคนในบ้านเสี่ยงอันตรายด้วย เช่น อันตรายจากการสะดุดข้าวของล้ม อันตรายจากไฟไหม้ หรืออันตรายจากหนู แมลง แมงสาบ งู หรือสัตว์ที่เป็นอันตรายอื่น ๆ สุดท้ายคือการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เป็นผลจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

เราจะช่วยคนป่วยโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของได้ยังไง? 

คนที่ป่วยเป็นโรคชอบเก็บสะสมสิ่งของนับเป็นผู้ที่ท้าทายต่อการรักษา เพราะโดยมากแล้วพวกเขามักไม่มองว่าตัวเองกำลังเป็น ‘ปัญหา’ หรือแทบไม่รู้ตัวเลยว่าพฤติกรรมที่เป็นอยู่ส่งผลยังไงกับชีวิตตัวเองและผู้อื่น ดังนั้นการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ ‘เครียด’ และต้องใช้ ‘ความอดทน’ รวมถึง ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ อย่างมาก

‘Age UK Cambridgeshire and Peterborough’ องค์กรการกุศลอิสระในอังกฤษ ที่ทำงานในชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ เผยว่า การยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกเขาไม่คิดว่าตัวเองต้องการความช่วยเหลือ เบื้องต้น ผู้ที่ตั้งใจจะเข้าไปช่วยจะต้องเน้นย้ำถึงความกังวลด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา 

ที่สำคัญต้องรับรองกับพวกเขาว่า จะไม่มีใครเข้าไปในบ้านแล้วโยนทุกอย่างทิ้ง แต่กระบวนการจะเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูว่าจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง 

การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องดำเนินการภายใต้คำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งอาจใช้ ‘การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม’ (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยตัดใจทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็น โดยเริ่มจากการลำดับความสำคัญสิ่งของเพื่อแยกว่าอันไหนควรทิ้ง อันไหนควรเก็บ

ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนทั่วไป กะอีแค่แยกของที่ต้องทิ้ง กับของที่ต้องเก็บ แต่อย่าลืมว่าผู้ป่วยมีความคิดที่ไม่เหมือนคนทั่วไป การพยายายามทำความเข้าใจ ให้กำลังใจ และอธิบายด้วยเหตุผล จึงเป็นแนวทางที่ดีกว่าการเอาแต่บ่น ๆ โดยไม่สนใจความรู้สึกของผู้ป่วยเลย

บ้านมินิมอลคงจะไร้ความหมาย ถ้าเราเอาแต่กวาดของพ่อแม่ทิ้ง โดยไม่สนใจความรู้สึกของพวกท่าน 

 

ภาพ : Pexel

อ้างอิง:

healthdirect

ageuk

rama.mahidol