28 ก.ค. 2566 | 18:06 น.
- คำแนะนำ “เลือกงานที่คุณรัก แล้วคุณจะไม่ต้องทำงานเลยสักวันในชีวิต” อาร์เธอร์ บรูคส์ มองถึงขั้นว่า เป็นคำแนะนำที่อาจทำลายชีวิตได้เลย
- นักวิจัยเรียกวิธีคิดเกี่ยวกับการเลือกทำงานที่เรารักว่า ‘Passion Paradigm’ ซึ่งจากการศึกษาหลายชิ้นพบว่ามันได้แพร่กระจายไปตามสังคมสมัยใหม่ต่าง ๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s แล้ว
- ‘เดเร็ก ทอมป์สัน’ นักเขียนของ The Atlantic ยืนยันว่า Passion Paradigm ได้จุดชนวนให้เกิดลัทธิใหม่คือ ‘ลัทธิกรรมกรนิยม’ (workism) ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความเหนื่อยหน่าย (burnout) และภาวะซึมเศร้า (depression) ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่ผู้มีรายได้สูง
“Find a job you love and you’ll never have to work a day in your life.” แปลเป็นไทยได้ว่า “เลือกงานที่คุณรัก แล้วคุณจะไม่ต้องทำงานเลยสักวันในชีวิต”
นี่เป็นประโยคเท่ ๆ ที่เด็กจบใหม่ หรือแม้แต่คนวัยทำงานเคยได้ยิน และบางคนถึงกับยึดเอาประโยคนี้มาเป็น ‘เหตุผล’ ในการตัดสินใจเลือกงาน
แต่รู้หรือไม่ว่า คำแนะนำที่ดูหล่อนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องคิดให้เยอะ ก่อนจะแนะนำเด็กจบใหม่ หรือกับใครก็ตาม
Find a job you love.
‘อาร์เธอร์ บรูคส์’ อาจารย์ผู้สอนด้านความสุขให้นักศึกษาในโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) และนักเขียนที่ออกหนังสือมาแล้ว 12 เล่ม รวมถึงเขียนคอลัมน์ที่ชื่อว่า ‘How to Build a Life’ ให้กับนิตยสาร ‘The Atlantic’ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัย The Catholic University of America เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2023
เขาเตือนเด็กจบใหม่เรื่องคำแนะนำ 2 ข้อ ที่ฟังดูเหมือนจะเป็นคำแนะนำธรรมดา ๆ แต่อันที่จริงแล้ว ‘ห่วยแตก’ มาก ได้แก่ 1) เลือกงานที่คุณรัก แล้วคุณจะไม่ต้องทำงานเลยสักวันในชีวิต และ 2) ไปกอบกู้โลกกันเถอะ
สำหรับคำแนะนำ “เลือกงานที่คุณรัก แล้วคุณจะไม่ต้องทำงานเลยสักวันในชีวิต” บรูคส์มองถึงขั้นว่า เป็นคำแนะนำที่อาจทำลายชีวิตได้เลย นั่นเพราะการ ‘คาดหวัง’ ว่างานจะต้องมอบความสุขให้เราตลอดเวลา อาจทำให้เรารู้สึกไม่ดีหรือเกลียดทุกงานที่พอทำไปแล้วเรารู้สึกว่ามันยากและไม่สนุกเอาเสียเลย ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกการทำงาน
ส่วนอีกคำแนะนำที่ปลุกเร้าให้ทุกคนแปลงร่างเป็น ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ เพื่อออกไป ‘กอบกู้โลก’ บรูคส์มองว่ามันช่างแสนจะ ‘กดดัน’ และชวนให้เราตั้งคำถามกลับว่า ทำไมเราถึงคาดหวังให้งานประจำของเราต้องไปแก้ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นบนโลก?
ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ บรูคส์เพียงแนะนำให้บัณฑิตจบใหม่ ‘พึงพอใจ’ ในงานที่ทำก็พอ ซึ่งความพึงพอใจนั้นอาจเกิดขึ้นจากการได้สร้างสิ่งที่ ‘มีค่า’ ต่อชีวิตเราเองและชีวิตผู้อื่น หรือการได้ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยงานที่แสนธรรมดาของเรา ไม่ว่างานของเรานั้นจะเป็นอะไรก็ตาม
Passion Paradigm
นักวิจัยเรียกวิธีคิดเกี่ยวกับการเลือกทำงานที่เรารักว่า ‘Passion Paradigm’ ซึ่งจากการศึกษาหลายชิ้นพบว่ามันได้แพร่กระจายไปตามสังคมสมัยใหม่ต่าง ๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1960s แล้ว
เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ซึ่งทำให้คนมองบทบาทของงานแตกต่างไปจากเดิม
เทรนด์นี้ริเริ่มโดย ‘อับราฮัม มาสโลว์’ นักจิตวิทยามนุษยนิยม ผู้คิดค้น ‘ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ’ (hierarchy of needs) โดยในหนังสือของมาสโลว์ที่ชื่อว่า ‘Eupsychian Management’ เขาให้เหตุผลว่า “งานควรถูกยกให้เป็นแหล่งบ่มเพาะการเติบโตของแต่ละบุคคล และการตระหนักรู้ในตัวเอง”
มาสโลว์ยังจินตนาการไปไกลถึงโลกที่มนุษย์งานแต่ละคนสามารถตักตวงความพึงพอใจจากชีวิตการทำงานจนล้นปรี่ และยกย่องให้งานของพวกเขานั้นเป็นดั่งกิจกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ใครก็มิอาจก้าวล่วงได้
แต่ Passion Paradigm ได้รับความนิยมในช่วงที่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อำนาจของสหภาพต่าง ๆ ลดลง จึงทำให้คนออกมาถล่มแนวคิดนี้จนยับ
นักสังคมวิทยาอย่าง ‘ลินด์ซีย์ เดอ พัลมา’ เชื่อว่า Passion Paradigm เป็นตัวกระตุ้นให้พนักงานพยายามสร้างความโรแมนติก (romanticize) ให้กับงานของตน และทำให้พวกเขามองไม่เห็นว่า อำนาจในการกำหนดลักษณะชีวิตการทำงานของพวกเขานั้นเกิดขึ้นโดยไม่เป็นธรรม
ในหนังสือ ‘Work Won’t Love You Back’ นักข่าวที่ชื่อว่า ‘ซาร่าห์ จาฟเฟ่’ แย้งว่า “การรักงานที่คุณทำเป็นความคิดที่อันตราย เพราะมันเป็นวิธีการคิดเชิงผลประโยชน์ส่วนตัว”
ด้าน ‘เดเร็ก ทอมป์สัน’ นักเขียนของ The Atlantic ยืนยันว่า Passion Paradigm ได้จุดชนวนให้เกิดลัทธิใหม่คือ ‘ลัทธิกรรมกรนิยม’ (workism) ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความเหนื่อยหน่าย (burnout) และภาวะซึมเศร้า (depression) ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่ผู้มีรายได้สูง
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้กังวลว่า Passion Paradigm จะทำให้คนทำงาน ก้มหน้าก้มตายอมรับสภาพการทำงานที่เป็นอันตราย และการปฏิบัติที่เลวทรามจากนายจ้าง ทั้งที่พวกเขาไม่ควรต้องอดทนขนาดนั้น เพื่อแลกกับการทำงานในฝันหรืองานที่ตัวเองรัก
Passion Paradigm ยังทำให้คนทำงานยกให้งานเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกในชีวิต จนทำให้สูญเสียมิติอื่น ๆ ในชีวิตไป เช่น ครอบครัว เพื่อน และงานอดิเรก อีกทั้งการให้ค่ากับงานมากเกินไป ยังอาจทำให้ผู้คนมองว่า คนที่ทำงานไม่ได้เป็นคนเกียจคร้าน โง่เขลา หรือไม่สมควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว
แต่ถึงแม้จะเห็นกับดักชัดขนาดนี้ Passion Paradigm ก็สามารถให้ผลตรงข้ามเช่นกัน และอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของสิ่งที่เรียกว่า ‘การลาออกครั้งใหญ่’ (Great Resignation)
The Great Resignation
ในเดือนสิงหาคม 2021 ชาวอเมริกัน 4.3 ล้านคน แห่ลาออกจากงาน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคลื่นการลาออกนี้ได้ถาโถมเข้าสู่อังกฤษเช่นกัน
ที่แคนาดา ยังไม่ชัดเจนว่าการลาออกครั้งใหญ่เกิดขึ้นรุนแรงเท่า 2 ประเทศแรกหรือไม่ แต่การศึกษาบางชิ้นชี้ว่า ชาวแคนาดากำลังพิจารณาที่จะลาออกหรือเปลี่ยนงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
ความจริงแล้วมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการลาออกครั้งใหญ่ ได้แก่ ‘เงินอุดหนุนค่าจ้าง’ ซึ่งทำให้คนทำงานมีอิสระมากขึ้นในการเลือกประเภทงานที่พวกเขาต้องการจะทำ รวมถึง ‘ความเครียด’ ที่เพิ่มขึ้น จากการทำงานในช่วงที่มีโรคระบาด ตลอดจนการต้องการอยู่บ้านกับลูก ๆ และการหันไปทำงานผ่านออนไลน์
ส่วนอีกเหตุผลคือ คนทำงานหันไปทำงานที่ตัวเองรักมากขึ้น
นั่นเป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะทำให้กิจวัตรประจำวันของผู้คนหยุดชะงัก มันยังได้ปลุกความปรารถนาที่ถูกเก็บกดมานาน จนทำให้ผู้คนพากันเปลี่ยนไปทำงานที่ตัวเองชอบจริง ๆ (อารมณ์ประมาณว่าไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ชาตินี้ขอทำงานที่รักสักครั้งในชีวิตแล้วกัน)
Passion ไม่พอ ต้องมี ‘เสรีภาพทางเศรษฐกิจ’ ด้วย
แน่นอนว่าปรากฏการณ์การลาออกจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง
ตั้งแต่ทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองน้อยลงเรื่อย ๆ หมายความว่า ถึง Passion Paradigm จะเบ่งบานมากขึ้น แต่ก็เบ่งบานท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในเงื้อมมือของนายจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้าง
แต่หลังจากเกิดโรคระบาด รูปการณ์ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป เพราะเมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน นายจ้างจึงถูกต้อนเข้ามุม จนต้องมีการปรับเรื่องค่าจ้าง ความยืดหยุ่น อิสระ และการจัดการตารางเวลา เนื่องจากการบริหารจัดการแบบเดิมจะไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป
ประเด็นสำคัญคือ Passion Paradigm สามารถกระตุ้นให้คนอยากทำงานที่ดีขึ้น และมีความหมายมากขึ้น แต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมันมาพร้อมกับ ‘โครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม’ (social safety net) ที่แข็งแกร่ง (พูดง่าย ๆ คือ ถ้าอยากจะออกไปทำงานที่คุณรัก คุณต้องไม่มีปัญหาด้านการเงินนะ)
เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้คุณมีงานอยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่ามันเป็นงานที่สร้างความพึงพอใจให้ชีวิตหรือไม่? ลองถามตัวเองดูว่า ก่อนจะออกไปไล่ล่าหางานที่คุณรัก คุณมี ‘เสรีภาพทางเศรษฐกิจ’ (economic freedom) มากพอหรือยัง?
อ้างอิง :