‘อัลเฟรด แอดเลอร์’ เจ้าของหลักจิตวิทยาในหนังสือ ‘กล้าที่จะถูกเกลียด’

‘อัลเฟรด แอดเลอร์’ เจ้าของหลักจิตวิทยาในหนังสือ ‘กล้าที่จะถูกเกลียด’

รู้จัก ‘อัลเฟรด แอดเลอร์’ นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย เจ้าของทฤษฎี ‘Individual Psychology’ ซึ่งเป็นหลักจิตวิทยาในหนังสือ ‘กล้าที่จะถูกเกลียด’

KEY

POINTS

  • อัลเฟรด แอดเลอร์’ นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย เจ้าของทฤษฎี ‘Individual Psychology’ ที่มองว่าตัวตนและแรงจูงใจของคนเราไม่ได้มาจากปัจจัยภายในเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากความสัมพันธ์กับผู้คน ประสบการณ์ที่พบเจอและสังคมรอบข้าง 
  • อย่างไรก็ตาม แอดเลอร์ไม่ได้มองว่ามนุษย์ ‘ถูกควบคุม’ โดยสังคมหรือสถานการณ์ที่เจอมา เพียงแต่เป็น ‘ปัจจัยหนึ่ง’ ที่มีอิทธิพลต่อตัวตนของเราเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว เรามี ‘อิสระ’ ที่จะคิดและเลือกได้ว่าจะมองสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยมุมไหน และเหตุการณ์เหล่านั้นมีความหมายต่อเราอย่างไร 

“หากอยากกำจัดความทุกข์ใจให้หมดไป ต้องอยู่คนเดียวในจักรวาลเท่านั้น”

นี่คือประโยคจากหนังสือ ‘กล้าที่จะถูกเกลียด’ หนังสือที่ว่าด้วยหลักคิดให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเป็นอิสระ จากปลายปากกาของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ‘คิชิมิ อิชิโร’ และ ‘โคะกะ ฟุมิทะเกะ’

เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ถูกหยิบยกมาจากแนวคิดของ ‘อัลเฟรด แอดเลอร์’ (Alfred Adler) นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย เจ้าของทฤษฎี ‘Individual Psychology’ ที่มองว่าตัวตนและแรงจูงใจของคนเราไม่ได้มาจากปัจจัยภายในเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากความสัมพันธ์กับผู้คน ประสบการณ์ที่พบเจอและสังคมรอบข้าง 

แนวคิดนี้ถูกนำมาปรับใช้ทั้งในแง่มุมของการใช้ชีวิต การเยียวยาจิตใจ ไปจนถึงการถ่ายทอดผ่านหนังสือขายดีเล่มนี้ และนี่คือเรื่องราวของนักจิตวิทยาที่ทำให้เรา ‘กล้าที่จะถูกเกลียด’

อดีตเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของฟรอยด์

ย้อนไปในวัยเด็ก แอดเลอร์เกิดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ด้วยความที่เขาเป็นเด็กที่ไม่แข็งแรง มีปัญหาสุขภาพค่อนข้างบ่อย เมื่อเติบโตขึ้นแอดเลอร์ตัดสินใจเลือกเรียนสายการแพทย์ ก่อนจะหันความสนใจมาทางด้านจิตเวช โดยในช่วงชีวิตการทำงาน เขาได้เข้าร่วมวงสนทนาด้านจิตวิเคราะห์กับ ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์’ และเคยมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนจะแยกตัวออกมาในปี 1911 

แม้ฟรอยด์จะมองเขาเป็นลูกศิษย์กลุ่มแรก ๆ แต่แอดเลอร์ไม่เคยมองตัวเองแบบนั้น ทั้งยังมีแนวคิดต่างไปจากทฤษฎีของฟรอยด์ เพราะฟรอยด์มองว่าแรงขับของมนุษย์มักมาจากสัญชาตญาณ โดยเฉพาะแรงกระตุ้นทางเพศและความก้าวร้าว ขณะที่แอดเลอร์มองว่า

การจะเข้าใจคนคนหนึ่งได้อย่างถ่องแท้ เราควรมองให้รอบด้านทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เพราะประสบการณ์วัยเด็ก การเลี้ยงดู สังคมรอบข้าง แม้กระทั่งลำดับการเกิดอย่างการเป็นลูกคนเล็กหรือลูกคนโต ก็มีผลต่อการทำความเข้าใจมนุษย์คนหนึ่งด้วยเช่นกัน

สิ่งที่จุดประกายแนวคิดนี้ให้กับแอดเลอร์ เกิดขึ้นในวันที่เหล่าศิลปินและนักกายกรรมมาเปิดการแสดงที่สวนสาธารณะใกล้ ๆ คลินิก เขาจึงมีโอกาสได้พบปะและรักษาคนไข้ในกลุ่มนี้ แอดเลอร์พบว่าคนไข้แต่ละคนต่างประสบความสำเร็จ มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงมากกว่าคนทั่วไป ทว่าเมื่อสืบประวัติย้อนไปในวัยเด็ก พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเคยเป็นเด็กที่อ่อนแอและเจ็บป่วยบ่อย ๆ นั่นทำให้แอดเลอร์เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า

บางครั้งมนุษย์จะมีแรงขับให้ทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อ ‘ชดเชย’ สิ่งที่คนคนนั้นมองว่าเป็น ‘จุดอ่อน’ ของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ชดเชยนั้นอาจเป็นไปได้ทั้งในแง่บวก อย่างการพัฒนาตัวเองจนประสบความสำเร็จ และในแง่ลบ อย่างพฤติกรรมใช้อำนาจเหนือคนอื่น ๆ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หากมีอิสระต่อกัน

แนวคิดดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากมุมมองที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย มนุษย์เราจึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและมีคุณค่าในสังคม ซึ่งความรู้สึกด้อยกว่า (inferiority) หรือ เหนือกว่า (superiority) นั้น มาจากการที่เราเชื่อมโยงตัวเองกับสังคมรอบข้างเช่นกัน 

เมื่อสังคมนั้น ๆ ทำให้เรามองตัวเองว่ามีความ ‘ด้อยกว่า’ สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกไม่มั่นคงทางใจ กลัวไม่ได้รับการยอมรับในสังคม เช่น บ้านที่เลี้ยงลูกด้วยความลำเอียง ให้ความรักความสนใจไม่เท่ากัน ก็มีแนวโน้มว่าเด็กที่รู้สึกด้อยกว่า จะมีพฤติกรรมบางอย่างเพื่อกลบหรือชดเชยความรู้สึกนี้ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งทางบวก เช่น ความทะเยอทะยานเพื่อประสบความสำเร็จ มีความเป็นผู้นำสูง และทางลบ เช่น การทำตัวโอ้อวดเหนือคนอื่น การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม แอดเลอร์ไม่ได้มองว่ามนุษย์ ‘ถูกควบคุม’ โดยสังคมหรือสถานการณ์ที่เจอมา เพียงแต่เป็น ‘ปัจจัยหนึ่ง’ ที่มีอิทธิพลต่อตัวตนของเราเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว เรามี ‘อิสระ’ ที่จะคิดและเลือกได้ว่าจะมองสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยมุมไหน และเหตุการณ์เหล่านั้นมีความหมายต่อเราอย่างไร เช่น เด็กที่ถูกปลูกฝังมาว่าต้องเก่งเลขเท่านั้นถึงจะได้รับความรักและการยอมรับ แต่เมื่อเป็นคนไม่ถนัดเลข เด็กคนนั้นเลยต้องพยายามเก่งวิชาอื่น ๆ หรือทำสิ่งอื่นเพื่อชดเชยความรู้สึกด้อยกว่า และผูกคุณค่าของตัวเองไว้กับการเรียนเลขให้เก่ง ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถยอมรับและให้คุณค่ากับตัวเองในแบบที่เป็นได้โดยไม่ต้องผูกติดกับคะแนนสูง ๆ เท่านั้น  

แม้แนวคิดของแอดเลอร์จะยังมีช่องว่างบางอย่างเพราะไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุนอย่างชัดเจน แต่ก็นับว่าเป็นแนวคิดที่เราเอาไปปรับใช้ได้หลายแง่มุม โดยเฉพาะการตระหนักและเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ว่า เราเป็นสัตว์สังคมและต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ขณะเดียวกัน เราต่างมีอิสระที่จะเลือกมุมมอง เส้นทางชีวิตและตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งตามความคาดหวังของคนอื่นหรือสังคมตลอดเวลา 

เพราะหัวใจสำคัญของแนวคิดนี้ คือมนุษย์เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินไปในทิศทางเดียวกันเท่านั้น เพียงแต่ ‘เคารพ’ ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคม โดยทั้งหมดนี้ต่างเริ่มจากการยอมรับ เห็นคุณค่า และรู้จักโอบกอดตัวเราเอง

 

เรื่อง : ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง :

Alfred Adler Biography His Career, Life, and Theory of Personality

Alfred Adler’s Theory Of Individual Psychology And Personality

Accepting the Individual: How Adlerian Theory Is Used in Therapy

Alfred Adler (1870‒1937): Individual Psychology