19 ก.พ. 2567 | 16:48 น.
- ‘อดัม แกรนต์’ เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรชื่อดังจากคณะบริหารธุรกิจ ของ Wharton School of the University of Pennsylvania
- เขาเป็นนักเขียนเจ้าของผลงาน Best seller ระดับโลกหลายเล่ม อาทิ Give & Take, Originals และ Think Again ฯลฯ ซึ่งเน้นให้คิดใหม่และแตกต่าง เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ
“การเปลี่ยนความคิดคน ไม่ใช่การไปโจมตีมุมมองอีกฝ่าย แต่เริ่มจากรับฟังและทำความเข้าใจ”, “การประเมินศักยภาพของคนเรา ไม่ได้วัดจากจุดสูงสุดที่เขาทำได้ แต่เป็นระยะทางที่เขาปีนขึ้นมาได้จากจุดเริ่มต้นต่างหาก”, “มือสมัครเล่นโหยหาการสรรเสริญ ผู้คร่ำหวอดมองหาคำวิจารณ์”เหล่านี้คือประโยคโดนใจ และอาจเป็น ‘วลีเปลี่ยนชีวิต’ ของใครหลายคนจากชายคนหนึ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คน ‘อดัม แกรนต์’ (Adam Grant) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรชื่อดัง และนักเขียนเจ้าของผลงาน Best seller ระดับโลกหลายเล่ม
อดัม แกรนต์ เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรอยู่ที่คณะบริหารธุรกิจ ของ Wharton School of the University of Pennsylvania และเป็นศาสตราจารย์ดีเด่นติดต่อถึง 7 ปีซ้อน ซึ่งนักศึกษาต่างแย่งกันลงเรียนกับเขา
ความที่สอนด้านจิตวิทยาองค์กรแถมโด่งดัง อดัมจึงมีอิทธิพลทางความคิดทั้งกับผู้บริหาร, ผู้นำองค์กร และคนทำงานทั่วโลก เพราะเขาเปิดมุมมองด้วยพลังของการตั้งคำถาม จัดระเบียบความคิดอย่างเป็นระบบที่เข้าใจง่าย รวมถึงมีเฟรมเวิร์คการคิดที่นำไปปรับใช้ได้จริง
และเสมือนเป็นที่ ‘ฮีลใจ’ เป็นที่พักพิงทางความคิดเมื่อใดก็ตามที่ใครสักคนในมุมหนึ่งของโลกต้องการ
เราสามารถแกะแนวคิดดี ๆ จากอดัม แกรนต์ได้อย่างลึกซึ้งผ่านงานเขียนหนังสือของเขาไปทีละเล่มได้โดยตรง
Give & Take พลังแห่งการให้และการรับ
หนังสือเล่มแรกที่เปลี่ยนชีวิตของเขาและความคิดของใครหลายคนในโลก Give & Take แนวคิดนี้แตกต่างจากโลกการแข่งขันสุดโหดและความคิดกระแสหลักของเหล่าผู้บริหารองค์กรชั้นนำระดับโลกในยุคสมัยนั้น
แกรนต์กล่าวว่า “ยิ่งคุณให้ คุณยิ่งได้รับ” และต้องเป็นการให้ที่บริสุทธิ์ใจ ที่อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้เติบโต และจะดีมาก ๆ ถ้าเป็นการให้ที่ถูกคน-ถูกจังหวะ กล่าวคือ คน ๆ นั้นมีบุคลิกนิสัยที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้มองว่าการได้รับของตัวเองเป็นของฟรีของตายตัว แต่ล้วนเป็นต้นทุนของผู้อื่น เป็นความเมตตาช่วยเหลือของผู้อื่น ถ้าวันหนึ่งตัวเองมีกำลังความสามารถมากพอ ก็ควรตอบแทนคืนในอนาคต!
โดยเขาแบ่งคนออกมาเป็น 3 ประเภท
ทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าจากการศึกษาวิจัยของเขาพบว่า กลุ่มคนที่เข้าข่ายเป็น ‘ผู้ให้’ มีจำนวนและโอกาสประสบความสำเร็จสูงสุด ซึ่งหลายครั้งที่สถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจหรือความบาดหมางไม่ลงรอยกัน ไม่ไว้วางใจกันของแต่ละฝ่าย สามารถบรรเทาลงได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งเสนอตัวเป็น ‘ผู้ให้’ (Giver) ก่อน
การให้ในที่นี้ไม่ใช่การยอมศิโรราบหรือยอมให้อีกฝ่ายเอาเปรียบ แต่เป็นการเสียสละเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ ‘ไปต่อ’ เป็นคนที่คิดถึงส่วนรวมก่อนส่วนตัว ให้เครดิตอีกฝ่าย รับผิดรับชอบ ใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกอีกฝ่าย มีความเมตตาบางอย่างที่อยู่เหนือตรรกะเหตุผล ให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น มีระดับความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) สูง
Originals
เล่มนี้แกรนต์เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกคำว่า การทำลายเชิงสร้างสรรค์ (Creative destruction) ให้เป็นที่ยอมรับในกระแสหลัก เป็นการล้มเลิกสิ่งเก่าเดิม ๆ ที่ไม่เวิร์กอีกต่อไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้สิ่งใหม่ได้โบยบิน
“นักคิดที่สร้างไอเดียต้นฉบับตั้งข้อสงสัยกับค่าเริ่มต้นเสมอ”
แกรนต์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า คนมีเหตุผลที่ปฏิบัติตามคนส่วนมาก (Conformist) จะพยายามปรับตัวเข้าหาโลก แต่คนไร้เหตุผล ชอบทำอะไรแตกต่าง (Non-conformist) จะปรับโลกเข้าหาตัวเอง…ความเจริญพัฒนาการทั้งหลายที่เราสัมผัสจึงมาจากคนกลุ่มหลัง
เมื่อเราสำรวจคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมากมายระดับ ‘ปฏิวัติวงการ’ ล้วนเป็นบุคคลกลุ่มหลังแทบทั้งสิ้น คนกลุ่มนี้พยายามสร้าง ‘มาตรฐานใหม่’ ขึ้นมาเอง ไม่ทำตามเลียนแบบผู้อื่น (หรือทำแค่ช่วงแรกสั้น ๆ เพื่อวางรากฐาน) แต่ทำตัวเองให้เป็น 'ต้นแบบ' ให้คนอื่นเดินตาม!
“การเป็นคนต้นฉบับออริจินัล ไม่ได้ต้องเป็นคนแรกเสมอไป แต่คุณต้องแตกต่างและทำให้ดีกว่าเดิม”
กลุ่มคนนี้มักมีจริตชอบปฏิเสธสิ่งเดิม ๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรืออะไรที่เป็นค่าเริ่มต้นอัตโนมัติ (Default) ของเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และมีความกบฏในตัว ไม่เอนเอียงเชื่อใครง่าย ๆ ชอบตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว
ผลงานหนังสือ Originals ของแกรนต์ได้มาจุดประกายไฟ แรงบันดาลใจ และความหวังให้คนทำงานหลากหลายวงการทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนหลังที่กำลังอยู่ในเส้นทางลับ ๆ ของการสร้างสิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ (แต่ผลลัพธ์ยังไม่ออกดอกออกผล)
Think Again
นี่คือหนังสือที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ แนะนำ!
หนังสือ Think Again มาได้ถูกจังหวะ เพราะเปิดตัวในช่วงที่โลกเกิดวิกฤตโควิด-19 ขั้นรุนแรง และชวนให้ผู้นำโลกและคนทั่วไปชวนตั้งคำถามกับตัวเองให้ ‘คิดใหม่อีกรอบ’ ทั้งนี้เพราะอยู่ในบทบาทที่ขับเคลื่อนสังคม จึงต้องการการคิดใหม่ เปิดสมองและใจรับฟังผู้อื่น ละทิ้งสิ่งเดิมที่ไม่เวิร์ก โอบกอดการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เวิร์กกว่า ระวังภัยความไม่รู้ พร้อมกับถ่อมตนในสิ่งที่รู้อยู่แล้ว
และเล่มนี้เป็นเล่มที่ชัชชาติเขียนคำนิยมและแนะนำจนขายดีในบ้านเราเป็นปรากฏการณ์
แกรนต์เผยถึง ‘3 หัวใจของการคิดใหม่’ เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน คำถามเปลี่ยน คำตอบก็เปลี่ยนตาม เมื่อนั้น ชีวิตก็เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม 3 หัวใจของการคิดใหม่นี้ได้เปลี่ยนชีวิตผู้คนและสังคมมานักต่อนักแล้ว
1. สงสัยในสิ่งที่รู้ อย่ายึดติดกับความรู้เดิมที่มี เพราะมันล้าสมัยได้ ตกยุคได้ หมดอายุได้ สิ่งที่หลายคนพลาดคือ การไปยึดติดที่ตัวบุคคล (Identity) บอกคนที่เราชื่นชอบทำผิด เราจึงไม่กล้าวิจารณ์ได้เต็มปาก เกิดความลำเอียง วิธีแก้คือ ให้โฟกัสที่คุณค่า (Value) จะยั่งยืนกว่า อย่ายึดติดที่ตัวบุคคลอีกต่อไป
นอกจากนี้ ต้องประเมินพลังแห่งการตั้งคำถามถึงสิ่งที่คุณคิดว่าถูกต้องเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้หัดรู้จัก ‘เอ๊ะ’ บ่อย ๆ ไว้ก่อน หมั่นกลับมาตรวจสอบชุดความคิดเดิม ๆ ที่อาจไม่เวิร์กหรือไม่เข้ากับโลกยุคใหม่อีกต่อไป
และเปลี่ยนทัศนคติ ต่อการคิดผิดว่าอย่ากลัว แต่ให้ ‘ดีใจที่คิดผิด’ เพราะเมื่อยอมรับว่าผิดแล้ว เราถึงจะคิดถูกได้หลังจากนั้น
อย่ารู้สึกอายที่จะคิดผิด…ใครบ้างล่ะไม่เคยคิดผิดเลย?
หรือแม้แต่โซเชียลมีเดียที่ระบบอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มได้แต่ป้อนคอนเทนต์ที่เราสนใจคล้าย ๆ กัน ในมุมมองของผู้ใช้งานแบบเราอาจพลอยคิดไปได้ว่า ‘ใคร ๆ ก็คิดเหมือนเรา’ แต่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่ เราอาจติดกับดักอยู่ในวงโคจรของคนที่คิดเหมือนกันก็เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ การอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) ในความรู้ ในสิ่งที่เรารู้แล้ว และอย่าผยองว่าเรายิ่งใหญ่หรือสลักสำคัญจนทุกคนต้องยินยอม
2. อยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่ไม่รู้ เพราะโลกหมุนเร็วเปลี่ยนไปทุกวัน มีอะไรใหม่ ๆ ตลอด จึงควรกระหายเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ การหาข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ ควรเป็นมาตรฐานปกติที่ไม่ได้รู้สึกพิเศษแต่อย่างใด
ทั้งนี้เราต้องระวัง ประเมินดูสถานการณ์ให้ดี ไม่อยู่เฉย ๆ จน ‘ถูกบังคับให้เปลี่ยน’ ถูกบังคับให้ต้องคิดใหม่ แต่เราลุยหาความรู้ค้นคว้าระหว่างไปก่อนเลย และเริ่มคิดใหม่ปรับเปลี่ยนไประหว่างเส้นทาง
เติมความรู้ใหม่ ๆ เพื่อดันเพดานให้สูงขึ้น พัฒนาศักยภาพขีดความสามารถของเราให้มากขึ้นไปอีก อย่ามองเป็นปลายทางสุดท้าย เพราะอาจไม่มีจุดสิ้นสุด แต่ให้มองเป็นเส้นทางผจญภัยการเดินทางที่เราสนุกเอนจอยไปกับมันจะดีกว่า
3. ปรับความคิดให้ทันสมัยตามข้อมูลใหม่ที่ได้ เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจ ‘เท’ สิ่งที่เราเคยเชื่อสนิทใจ ให้เราคิดใหม่ทำใหม่ปรับตัวก้าวทันโลก เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ ‘ใจ’ ของคนเราด้วย ในการยอมรับ ก้าวข้าม และโอบกอดสิ่งใหม่ ๆ
เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะไม่มีคำว่า ‘แก่เกินไป’ แก่แล้ว สายเกินไป ไม่่ว่าคุณอายุเท่าไร ก็สามารถปรับตัวและ ‘ลองคิดใหม่’ อีกสักครั้งกับทุกเรื่องได้เสมอ
นอกจาก 3 หัวใจคิดใหม่แล้ว อดัมได้แบ่งเลเยอร์ของการคิดใหม่ออกเป็น ‘3 ระดับ’ หลัก ๆ ด้วยกัน
อันดับแรก แน่นอนว่าต้องเริ่มที่ ‘ตัวเราเอง’ ที่ต้องคิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงข้างนอกเกิดจากข้างในเสมอ เราต้องคิดใหม่ เปลี่ยนตัวเองใหม่ก่อนไปเปลี่ยนคนอื่นข้างนอก
ต่อมาคือ การเปิดใจ มอบโอกาส ‘ให้คนอื่นคิดใหม่’ ซึ่งนั่นหมายถึงการเปิดใจยอมรับการคิดใหม่ของคนอื่นที่อาจไม่เห็นด้วยกับเรา หรือแนวคิดมีตรรกะที่เพียบพร้อมรอบด้านกว่าเราจนทำให้ตัวเราเองต้องย้อนกลับมาข้อ 1 คิดใหม่จากตัวเราเอง!
สุดท้ายคือภาพใหญ่ ‘สังคมคิดใหม่’ สังคมร่วมกันคิดใหม่ก้าวไปด้วยกัน ถ้าล้มเหลวก็ต้องรับผิดร่วมกัน แต่ถ้าสำเร็จ ก็ต้องรับชอบเอนจอยความหอมหวานไปด้วยกัน สังคมที่มีพัฒนาการก้าวไปข้างหน้าได้ เจริญเติบโตก้าวกระโดดได้ คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องคิดใหม่และขับเคลื่อนไปด้วยกัน
การคิดใหม่เริ่มจากตัวเรา ก่อนแบ่งปันสู่คนรอบข้างใกล้ตัว ก่อนแผ่ขยายไปทั่วทั้งสังคม จะเห็นว่าทั้ง 3 ระดับนี้ ปรับใช้กับองค์กรและประเทศชาติได้เลยทีเดียว
นอกจากหนังสือทั้ง 3 เล่มแล้ว Hidden Potential ก็เป็นผลงานเขียนอีกเล่มของแกรนต์ที่เปิดตัวปลายปี 2023 ซึ่งมาพร้อมวิทยาศาสตร์ในการปลดล็อกศักยภาพของคนเรา ทักษะด้านคาแรกเตอร์ การพัฒนาตัวเองแบบเชิงรุก ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ทักษะการชนะใจคน และพื้นฐานการมีวินัย
หนังสือเล่มนี้อดัมเผยถึงการทำในสิ่งที่ไม่ค่อยสบายตัว - สบายใจ (Discomfort) แต่พัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ลงมือทำไปก่อนเลยโดยที่ยังไม่มีความรู้รอบด้านหรือมีทรัพยากรที่เพียบพร้อม โฟกัสเนื้อแท้สิ่งที่สำคัญที่สุดจริง ๆ ส่วนเรื่องยิบย่อยที่ไม่ใช่แก่นสารไปสู่เป้าหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บครบทุกรายละเอียด
เขามองเห็นศักยภาพการเติบโตเป็นดั่งการผจญภัย ‘ระหว่างทาง’ ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง และคนเราทุกคนล้วนมีเส้นทางการผจญภัยที่ต่างกันในแบบตัวเอง ดังวลีเด็ดล่าสุดของเขาที่เปลี่ยนความคิดคนมานับไม่ถ้วน “การประเมินศักยภาพของคนเรา ไม่ได้วัดจากจุดสูงสุดที่เขาทำได้ แต่เป็นระยะทางที่เขาปีนขึ้นมาได้จากจุดเริ่มต้นต่างหาก”
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือแนวคิดที่อดัม แกรนต์ พยายามถ่ายทอดให้กับผู้คน ทั้งคนระดับนวัตกรเปลี่ยนโลก ผู้บริหารระดับสูง นักคิด นักสร้างสรรค์ จนไปถึงคนธรรมดาทั่วไปที่อยากเปลี่ยนชีวิตสู่ความก้าวหน้า
.
ภาพ : Getty Images, Adam Grant.net
อ้างอิง
.
หนังสือ Give and Take พลังแห่งการให้และรับ โดย Adam Grant
หนังสือ Originals เพราะความเหมือน ไม่เคยเปลี่ยนโลก โดย Adam Grant
หนังสือ Think Again คิดแล้ว, คิดอีก โดย Adam Grant