‘อาการเด็กดี’ (Good Child Syndrome) คนใจบางรับคำวิจารณ์ไม่ได้ ภายนอกต้องดูสุภาพใจดีเสมอ

‘อาการเด็กดี’ (Good Child Syndrome) คนใจบางรับคำวิจารณ์ไม่ได้ ภายนอกต้องดูสุภาพใจดีเสมอ

รู้จัก ‘อาการเด็กดี’ (Good Child Syndrome) ที่ดูผิวเผินเหมือนจะไม่มีพิษมีภัย แต่สามารถ ‘ดูดพลัง’ จากเพื่อนร่วมงานได้

KEY

POINTS

  • อาการเด็กดี ส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากพ่อแม่ที่เข้าใจผิดว่า การที่ลูกจะเติบโตเป็นคนดีได้นั้น ต้อง ‘ห้าม’ ไม่ให้มีความรู้สึกนึกคิดและการกระทำที่ ‘ไม่ดี’ อย่างเด็ดขาด 
  • จริง ๆ ครอบครัวทั่วไปก็ทำแบบนี้แหละ แต่พ่อแม่ที่บ่มเพาะลูกให้มีอาการเด็กดี ยกระดับการ ‘ห้าม’ เกินกว่านั้น ด้วยการเข้ารหัสลูก ๆ ด้วยประโยคทำนองว่า “คนอื่นจะคิดยังไง” ซึ่งส่งผลให้เด็กที่ถูกกรอกหูด้วยถ้อยคำเช่นนี้ กลายเป็นคนที่เอาแต่แคร์สายตาคนอื่น จนอ่อนแอไปตลอดชีวิต 
  • หลายครั้งหลายคราวที่เราจะเห็นว่าเด็กดีอาจเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนร่วมงาน แต่พวกเขากลับเป็นคนที่ดูธรรมดามากในสาขาอาชีพ ที่เลวร้ายสุดคืออาจทำให้คนอื่นหมดพลังงานไปโดยใช่เหตุ 

ถ้าคุณเจอใครบางคนที่ดูสุภาพ ใจดี พยายามทำให้คนโน้นคนนี้พอใจไปเสียทุกอย่าง แต่บางครั้งก็ทำให้คุณรู้สึกอึดอัด หรือตะขิดตะขวงใจกับปัญหาที่ไม่ถูกแก้อย่างตรงจุด

บางทีคนคนนั้นอาจมีอาการที่เรียกว่า ‘อาการเด็กดี’ (Good Child Syndrome) ก็เป็นได้นะ

ในหนังสือ ‘ความรู้สึกของเราสำคัญที่สุด’ ให้คำจำกัดความ ‘อาการเด็กดี’ ไว้ว่า คนที่อ่อนแอต่อการปฏิเสธและคำวิจารณ์ทางลบจากผู้อื่น ต้องการให้ภาพลักษณ์ของตนดูสุภาพใจดีเสมอ พร้อมทั้งคาดหวังคำชมกับการยอมรับจากคนอื่น จึงมุ่งมั่นไม่ทำให้พ่อแม่หรือคนอื่นขุ่นใจ ทั้งยังอยากได้ฟีดแบ็กเชิงบวกเท่านั้น ซ้ำร้ายยังรู้สึกผิดหรือวิตกกังวลหากต้องปฏิเสธคำขอร้องหรือการขอความช่วยเหลือของผู้อื่น 

มาถึงตรงนี้ หากยังไม่เห็นภาพของคนที่มีอาการเด็กดี ให้ลองสังเกตจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
 

  • พยายามเก็บซ่อนด้านไม่ดีของตัวเอง ไม่แสดงอารมณ์ เช่น ยิ้มได้ทั้งที่อารมณ์เสีย, ไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองกำลังโกรธ
  • ไม่กล้าพูดถึงสิ่งที่อยากพูด เอาแต่คอยสังเกตสายตาคนอื่น กลัวที่จะถูกมองว่าตัวเองเป็นอันตราย ก้าวร้าว เห็นแก่ตัว ไร้ความรู้สึก หรือไม่ใส่ใจ
  • ‘เด็กดี’ จะไม่วิจารณ์ใครโดยตรง สังเกตได้ในที่ประชุม พวกเขาจะยิ้มและเห็นด้วยกับผู้จัดการเสมอ เวลาใครขอให้แสดงความเห็นที่ขัดแย้งก็ทำไม่ได้ แต่พอประชุมจบ เด็กดีบางคนอาจแปลงร่างเป็นนักวิจารณ์ที่คัดค้านไปเสียทุกเรื่องก็ได้ 
  • ปฏิเสธคำขอร้องของคนอื่นไม่ค่อยได้ ถึงจะทำใจปฏิเสธได้ ก็จะมานั่งรู้สึกผิดในภายหลัง
  • รับมือสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ค่อยได้ จึงพยายามหาทางเลี่ยงอยู่เสมอ
  • เสียใจง่าย หายช้า
  • ไม่สามารถรับคำชมหรือยอมรับว่าตัวเองเก่ง
  • เมื่อเกิดผลลัพธ์ที่เลวร้ายจากสิ่งที่ตัวเองพูดหรือทำ พวกเขาจะพยายามเน้นย้ำว่า “แต่ฉัน/ผม ตั้งใจดีนะ” 

โดยสรุปคือ ผู้มีอาการเด็กดีมักจะอ่อนไหวต่อความต้องการหรือความคาดหวังของคนอื่น และใช้ชีวิตไปโดยไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของตนเอง เอาแต่ยืนยันคุณค่าการมีชีวิตอยู่ของตนผ่านคำชมกับการยอมรับของผู้อื่น 

ฟังดูแล้วเป็นชีวิตที่น่าสงสาร ยิ่งถ้าคุณได้รู้ว่าวัยเด็กของพวกเขาต้องเจออะไรบ้าง จะยิ่งสงสารเข้าไปอีก

ปัญหาอาการเด็กดี ส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากพ่อแม่ที่เข้าใจผิดว่า การที่ลูกจะเติบโตเป็นคนดีได้นั้น ต้อง ‘ห้าม’ ไม่ให้มีความรู้สึกนึกคิดและการกระทำที่ ‘ไม่ดี’ อย่างเด็ดขาด เช่น ดื้อ สกปรก โกหก โดดเรียน เสียงดังน่ารำคาญ หยาบคาย ฯลฯ 

จริง ๆ ครอบครัวทั่วไปก็ทำแบบนี้แหละ แต่พ่อแม่ที่บ่มเพาะลูกให้มีอาการเด็กดี ยกระดับการ ‘ห้าม’ เกินกว่านั้น ด้วยการเข้ารหัสลูก ๆ ด้วยประโยคทำนองว่า “คนอื่นจะคิดยังไง” ซึ่งส่งผลให้เด็กที่ถูกกรอกหูด้วยถ้อยคำเช่นนี้ กลายเป็นคนที่เอาแต่แคร์สายตาคนอื่น จนอ่อนแอไปตลอดชีวิต 

เด็ก ๆ ที่ตกอยู่ในภาวะนี้อาจดูเหมือนมีความสุขในช่วงแรก เพราะพวกเขาจะเก็บความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงเอาไว้ แล้วทุ่มไปกับการพยายามทำตามความหวังของพ่อแม่ พยายามทำตัวเป็นเด็กดีเพื่อแลกกับความรักจากพ่อแม่ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตวัยเด็ก หรือวัยรุ่น ของตัวเอง 

อันตรายของคนที่มีอาการเด็กดีหรือที่บางคนเรียกว่า ‘อาการเด็กสมบูรณ์แบบ’ (Perfect Child Syndrome) ก็คือ เด็กเหล่านี้จะปกปิดตัวตนที่แท้จริง ระงับอารมณ์ และเก็บงำความลับไม่ให้พ่อแม่รู้ พวกเขามักจะถูกข่มเหงมากกว่าเด็กส่วนใหญ่ และไม่สามารถยืนหยัดเพื่อตัวเอง ทำได้เพียงเก็บกักความโกรธมหาศาลไว้กับตัวเอง 

ที่น่าเศร้าคือนิสัยชอบทำตามความคาดหวังของคนอื่นสามารถติดตัวมาจนถึงวัยผู้ใหญ่ จนทำให้พวกเขากลายเป็น ‘ผู้ใหญ่ดี’ (Good Adult) ไปตลอดชีวิต 

ในสังคมการทำงาน การเป็นเด็กดีหรือผู้ใหญ่ดีก็มีปัญหาเช่นกัน แม้ว่าในวัยเด็ก พวกเขาจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ไม่เคยสร้างปัญหาและไม่รบกวนใคร แต่การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ไปเสียทุกเรื่องจะไม่ทำให้พวกเขาก้าวไปได้ไกลในหน้าที่การงาน หลายครั้งหลายคราวที่เราจะเห็นว่าเด็กดีอาจเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนร่วมงาน แต่พวกเขากลับเป็นคนที่ดูธรรมดามากในสาขาอาชีพ ไม่อาจคาดหวังความสร้างสรรค์ได้จากคนเหล่านี้ 

ที่เลวร้ายสุดคืออาจทำให้คนอื่นหมดพลังงานไปโดยใช่เหตุ ด้วยพฤติกรรมดังต่อไปนี้ 

  • เด็กดีไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมงานหรือองค์กร และแม้ว่าคุณจะขอให้พวกเขาแสดงความรู้สึกกับคุณโดยตรงแทนที่จะพูดลับหลัง พวกเขาก็จะไม่ทำเช่นนั้น 
  • พวกเขาหลอกตัวเอง โดยเชื่อว่าการพยายามช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องที่ดีงาม ทั้งที่บางครั้งการกระทำของพวกเขาอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เข้าทำนองว่า ‘มีเพื่อนแบบนี้ ไม่ต้องมีศัตรูก็ได้’
  • หากคุณตอบโต้พวกเขา คุณอาจถูกตัดสินว่าเป็น ‘คนไม่ดี’ และอาจทำให้คุณเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้านินทา
  • พวกเขามีความเปราะบางทางอารมณ์สูง แม้จะระมัดระวังมากแค่ไหนก็ตาม คุณก็อาจตกเป็นผู้ต้องหาที่ทำให้พวกเขาเสียใจ และหากคุณรู้ไม่เท่าทัน คุณก็อาจจะมานั่งรู้สึกผิดที่ทำให้พวกเขาเสียใจ 
  • ในการทำงาน การประเมินผลการปฏิบัติงานของเด็กดีเป็นอะไรที่ทำได้ยาก หากผู้บังคับบัญชาขอให้เหล่าเด็กดีทำอะไรที่เกินกำลังพวกเขา หรือขอให้พวกเขาปรับปรุงตัว อาจถูกโต้กลับด้วยประโยคที่ลงท้ายว่า “... แต่ฉันไม่ใช่คนไม่ดี” ซึ่งอาจทำให้ผู้บังคับบัญชารู้สึกผิดแทน

แล้วถ้าในชีวิตเราต้องเจอกับคนที่มีอาการเด็กดี เราจะรับมือกับพวกเขาอย่างไร? 

หากเป็นเด็ก ผู้ปกครองอาจต้องสื่อสารกับเด็กด้วยวิธีที่นุ่มนวล ไม่เสียงดัง ไม่ดุ ไม่ตะคอก เพื่อให้เด็กสงบ และพยายามทำให้เด็กเข้าใจว่าการทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ แต่หากผู้ปกครองยังคงเล่นใหญ่เกินเบอร์ ผลที่ตามมาอาจสร้างบาดแผลทางจิตใจที่ยากเกินเยียวยาให้กับเด็ก

แต่หากเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการเด็กดี คนทั่วไปอาจต้องระมัดระวังเรื่องการ ‘ล้ำเส้น’ กับคนเหล่านี้ 

ข้อสำคัญคือไม่ต้องพยายามบอกว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ไม่ต้องพยายามหาวิธีเพื่อให้พวกเขาเข้าใจตัวเอง เพียงแต่สื่อสารความรู้สึกนึกคิดกันในแต่ละสถานการณ์เท่านั้น และพยายามไม่ให้พวกเขาลอยตัวจากความผิดหรือความรับผิดชอบจากคำพูดและการกระทำ

แต่หากพวกเขามีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ให้รีบชมเชยอย่างจริงใจ 

สุดท้ายคงต้องใช้ความ ‘เข้าใจ’ เป็นอย่างยิ่งว่า คนที่ถูกเลี้ยงมาให้เป็น ‘เด็กดี’ ไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ แต่เรียนรู้ที่จะทำตามความคาดหวังของคนอื่น แม้ลึก ๆ แล้วพวกเขาจะเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’

แต่คนแบบนี้ไม่ใช่คนที่คุณสามารถวางใจมอบหมายให้ดูแลเรื่องสำคัญได้ 

 

เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : Pexel

อ้างอิง :
อีดงกวี, อีซองจิก และอันฮายัน, ความรู้สึกของเราสำคัญที่สุด, แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ springbooks, 2566), หน้า 137-138

What you need to know about 'Good Child Syndrome'

Overcoming The “Good Child” Syndrome

THE DANGERS OF THE GOOD CHILD