ทำงานวันหยุด เลิกได้ต้องเลิก เพราะการรีชาร์จพลังสำคัญต่องานในระยะยาว

ทำงานวันหยุด เลิกได้ต้องเลิก เพราะการรีชาร์จพลังสำคัญต่องานในระยะยาว

‘ทำงานวันหยุด’ บ่อนทำลายแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน เลิกได้ต้องเลิก เพราะการให้เวลาสมองได้พักผ่อน ช่วยให้การทำงานดีขึ้นได้ในระยะยาว

  • เรามักจะจัดประเภทเวลาของตนว่า ตอนไหนคือเวลาทำงาน ตอนไหนคือเวลาพักผ่อน ดังนั้น เมื่อเราต้องทำงานในช่วงเวลาที่เราจัดประเภทไว้ว่าเป็นเวลาพักผ่อน เช่น วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ในหัวเราจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่าง ‘ความคาดหวัง’ กับ ‘ความเป็นจริง’ 
  • ไม่กี่ปีมานี้บริษัทวิเคราะห์ด้านทรัพยากรบุคคลชั้นนำได้รวบรวมข้อมูลจากพนักงานทั่วโลก ที่ชี้ให้เห็นว่า คนที่ทำงานในช่วงวันหยุดพักร้อน (แม้จะสมัครใจก็ตาม) มีแนวโน้มที่จะคิดลาออกจากงาน และลาออกจริง ๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานวันหยุดเลย 

วันหยุดที่ไม่ได้หยุด วันหยุดแบบเก็ตสึโนวา ใครกำลังประสบปัญหานี้ ในขณะที่เพื่อนคนอื่น ๆ พากันไปเริงร่าตามป่าตามเขา ไม่ก็นั่งให้ลมปะทะหน้าอยู่ที่ทะเล ยกมือขึ้น!

แม้วัยรุ่นคอ บ่า ไหล่ อย่างพวกเราจะมีวันหยุดอย่างเป็นทางการ ทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันลาพักร้อน แต่สำหรับบางงานมันก็ไม่สามารถหยุดได้เหมือนคนอื่น ๆ ยิ่งเมื่อมาเจอกระแส work from home ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็ทำงานได้แล้ว จึงทำให้สถานการณ์การทำงานวันหยุดยิ่งเลวร้ายขึ้น คนจำนวนไม่น้อยแทบจะแยกไม่ออกแล้วว่า ตอนไหนคือเวลางาน ตอนไหนคือเวลาส่วนตัว 

หลายคนยังชอบให้ตัวเองมี ‘ความยืนหยุ่น’ (flexibility) ในการจัดตารางเวลางานด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น นั่นจึงทำให้พวกเขามี ‘แรงจูงใจ’ (motivation) ให้การแหกขี้ตาลุกขึ้นมาทำงานในวันหยุด นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่า การทำให้ตัวเองยุ่งเข้าไว้ (แทนที่จะไม่ทำอะไรเลย) จะทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้การทำงานในวันหยุดของพวกเขานั้น ‘มีความหมาย’ มากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยได้ค้นพบข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับการทำงานในวันหยุดว่า อาจเป็นตัว ‘บ่อนทำลาย’ แรงจูงใจได้เช่นเดียวกัน เพราะโดยทั่วไปแล้วคนจะมีแรงจูงใจจากภายในในขณะที่ได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ สนุกสนาน และมีความหมาย ทว่าการทำงานวันหยุดได้ก่อให้เกิด ‘ความขัดแย้ง’ ระหว่างการบรรลุเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายด้านอาชีพ ส่งผลให้ผู้คนสนุกกับงานน้อยลง 

การทำงานวันหยุดส่งผลต่อแรงจูงใจภายในอย่างไร 

เพื่อตอบคำถามนี้ ‘ลอร่า เอ็ม. เจิร์จ’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่ ‘วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ ลอนดอน’ (London School of Economics) นำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานในสหรัฐฯ จำนวน 1,298 คน ที่มีทั้งพวกที่ทำงานวันหยุดบ้าง และพวกที่ทำงานเฉพาะวันจันทร์ถึงวันศุกร์ พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนที่ทำงานในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีแรงจูงใจในการทำงานน้อยลง และเมื่อลองทดสอบกับนักเรียนที่เรียนในช่วงปิดเทอม ผลก็ออกมาไม่ต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง ได้มีการสัมภาษณ์นักเรียนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในช่วงวันหยุด เมื่อผู้วิจัยได้เตือนนักเรียนว่าพวกเขากำลังเรียนในช่วงที่คนอื่นได้หยุดอยู่นะ ปรากฏว่าความกระตือรือร้นและความสนุกสนานในการเรียนของพวกเขาลดน้อยลงทันที เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีแรงจูงใจในการเรียนน้อยลง 

ทำไมการทำงานในช่วงวันหยุดจึงบ่อนทำลายแรงจูงใจภายใน?

เหมือนกับที่หลายคนชอบบ่นว่า ‘เกลียดวันจันทร์’ นั่นแหละ เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่เรามักจะจัดประเภทเวลาของตนว่า ตอนไหนคือเวลาทำงาน ตอนไหนคือเวลาพักผ่อน ดังนั้น เมื่อเราต้องทำงานในช่วงเวลาที่เราจัดประเภทไว้ว่าเป็นเวลาพักผ่อน เช่น วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ในหัวเราจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่าง ‘ความคาดหวัง’ กับ ‘ความเป็นจริง’ และตรงนี้นี่เองที่ทำให้คนที่เอางานมาทำในวันหยุด เริ่มรู้สึกไม่ดีกับงานที่ทำอยู่

แล้วถ้าต้องทำงานวันหยุด เราควรทำอย่างไร?

น่าเห็นใจสำหรับหลายอาชีพ ที่การทำงานวันหยุดเป็นเรื่องที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้ตัวเองมี ‘กำลังใจ’ อยู่เสมอเมื่อต้องลุกขึ้นมาเปิดคอมพ์ฯทำงาน? จากการวิจัยได้ค้นพบกลยุทธ์ที่ช่วยให้นักเรียนที่เรียนหนังสือในช่วงปิดเทอม และพนักงานที่ทำงานในวันเสาร์ ยังคงมีแรงจูงใจในการเรียนหรือทำงาน นั่นคือการกำหนด ‘คำนิยาม’ ช่วงเวลาใหม่

ตัวอย่างเช่น ในการศึกษาชิ้นหนึ่ง ผู้วิจัยได้บอกกับพนักงานกลุ่มที่ทำงานวันเสาร์กลุ่มแรกว่า “ผู้คนมักจะทำงานใช้วันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อทำงานกันทั้งนั้นแหละ” และบอกอีกกลุ่มว่า “ผู้คนมักจะใช้วันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อพักผ่อนและเว้นจากการทำงาน” 

แม้ทั้งสองกลุ่มจะทำงานนอกเวลาเหมือนกัน แต่สรุปว่ากลุ่มแรกมีความสนใจและพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการทำงานมากขึ้น เพราะพวกเขาคิดว่านี่เป็นเวลาของการทำงาน 

การทำงานวันหยุดจะบ่อนทำลายแรงจูงใจในการทำงานทั้งหมดหรือไม่?

อย่างหนึ่งที่เราควรทราบคือ ‘แรงจูงใจภายใน’ ไม่ใช่แรงจูงใจเพียงอย่างเดียวที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากทำงาน เพราะคนเรายังมี ‘แรงจูงใจภายนอก’ ช่วยกระตุ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน การรับผิดชอบต่อครอบครัว ฯลฯ และถึงแม้การทำงานช่วงวันหยุดจะมีผลเสียต่อแรงจูงใจภายใน แต่จากการศึกษาก็ไม่ได้พบหลักฐานที่ชี้ว่า การทำงานวันหยุดส่งผลต่อแรงจูงใจภายนอกแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม การวิจัยของ ‘เคทลิน วูลลีย์’ และ ‘ไอเยเลต ฟิชบาช’ ชี้ว่า หากไร้ซึ่งแรงจูงใจจากภายใน แรงจูงใจจากภายนอกมักจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้คนพึงพอใจและทำงานได้ดีที่สุด 

คนทำงานวันหยุดกับแนวโน้มการลาออก

ไม่กี่ปีมานี้บริษัทวิเคราะห์ด้านทรัพยากรบุคคลชั้นนำได้รวบรวมข้อมูลจากพนักงานทั่วโลก ที่ชี้ให้เห็นว่า คนที่ทำงานในช่วงวันหยุดพักร้อน (แม้จะสมัครใจก็ตาม) มีแนวโน้มที่จะคิดลาออกจากงาน และลาออกจริง ๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้ทำงานวันหยุดเลย 

ส่วนพนักงานที่ก้มหน้าก้มตาทำงานวันหยุดที่แม้จะไม่คิดลาออก พวกเขาก็ต้องเผชิญกับภาวะเหนื่อยหน่าย (burnout) ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายทั้งในทางกายภาพ อารมณ์ และการเงิน อีกทั้งยังมีการประมาณการว่าความเหนื่อยหน่ายของพนักงานส่งผลให้ผู้ประกอบการเสียหายอีกด้วย 

ทำไมเราจึงต้องให้จิตใจได้หยุดพัก

มนุษย์จำเป็นต้องหยุดทำงานเพื่อลดความกดดันเคร่งเครียด ขยายมุมมอง ที่จะช่วยในแง่ความคิดสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานนั่นเอง เพราะสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้มานั่งทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อถึงจุดหนึ่งร่างกายจะบอกเราเองว่า เราต้องหยุดพักจากการใช้ร่างกายและสมองได้แล้ว และสั่งให้เราเข้านอนเพื่อขจัดสารพิษ เก็บความทรงจำ ควบคุมอารมณ์ ฯลฯ

เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่วันหยุดหรือวันพักร้อนมีความสำคัญมาก ไม่สำคัญว่าเราจะต้องทำอะไร แต่สำคัญที่เราต้องตัดขาดจากงานเพื่อให้ร่างกายและสมองมีจังหวะลดสารเคมีทางระบบประสาทซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย และได้เจียดเวลาไปปรับปรุงความสัมพันธ์ส่วนตัวโดยใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงบ้าง 

ปัญหาการทำงานวันหยุดแทบจะหมดไป หากหัวหน้างานและองค์กรเข้าใจและให้ความสำคัญทั้งกับการทำงานหนัก ควบคู่กับการให้พนักงานได้มีเวลาว่าง และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากหัวหน้างานเองก็ทำเป็นตัวอย่างด้วย ขณะที่คนทำงานเองก็ต้องกำหนดขอบเขตชัดเจนว่าจะไม่ทำงานในวันหยุด เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเผลอไปเช็คอีเมลหรือตอบแชทที่ทำงาน 

อย่างไรก็ตาม การที่พนักงานอย่างเราจะกำหนดขอบเขตวันหยุดให้ชัดเจน ‘เทรซีย์ บราวเวอร์’ นักสังคมวิทยาและผู้เขียนหนังสือ The Secrets to Happiness at Work exploring happiness กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นจากการทำตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือในหมู่เพื่อนร่วมงานก่อนว่า ในเวลางานนั้นเราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มไปด้วยความรับผิดชอบเพียงใด เพื่อที่ในวันหยุดหรือวันพักร้อน พวกเขาจะไม่ตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการหยุดพักของเรา 

ขอให้วันหยุดวันนี้ เป็นวันหยุดที่ดีต่อใจของทุกคนนะคะ

 

เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : ชนิกา แซ่จาง 
อ้างอิง :

forbes

hbr

fastcompany