‘Trauma Bonding’ ความสัมพันธ์แบบ “เจ็บแค่ไหนก็ยังรักอยู่”

‘Trauma Bonding’ ความสัมพันธ์แบบ “เจ็บแค่ไหนก็ยังรักอยู่”

รู้จัก ‘Trauma Bonding’ ความผูกพันทางจิตใจระหว่างคนสองคน ที่มีการล่วงละเมิดหรือความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทำยังไงก็ตัดใจไม่ได้

“เจ็บแค่ไหนก็ไม่อาจให้เธอรู้ เจ็บแค่ไหนก็ยังรักอยู่
ห้ามใจอย่างไรไม่รู้ ให้ฉันหยุดคิดเรื่องเธอซะที”

เนื้อเพลง ‘เจ็บแค่ไหนก็ยังรักอยู่’ ลอยเข้าหูทีไร มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่า คนเราจะทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วย ‘ความเจ็บปวด’ ไปทำไมกันนะ?

หากมองในมุมคนนอก การแนะนำคนใกล้ตัวที่กำลังทุกข์ทรมานจากความรักให้ “กลับมารักตัวเอง” ดูจะเป็นเรื่องง่าย (และสมเหตุสมผล) แต่สำหรับคนที่กำลังจมปลักกับความรักนั้น กลับ “ไม่ง่าย” เหมือนการเปิดประตูแล้วเดินออกมา เพราะนอกจากความกังวลที่ต้องกลับมาใช้ชีวิตคนเดียวลำพัง คนบางคนยังอาจรู้สึกผูกพันกับคู่รักจนไม่อาจตัดขาดจากกันได้ แม้ว่าอยู่ต่อไปตัวเองต้องเผชิญความเจ็บปวดแสนสาหัส ทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

ความรู้สึกที่เข้มข้นเบอร์นี้เรียกว่า ‘Trauma Bonding’ 

Trauma Bonding เป็นความผูกพันทางจิตใจระหว่างคนสองคน ที่ไม่ได้เกิดจากความรักลึกซึ้งหรือรักแน่นอก แต่มีการล่วงละเมิดหรือความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทว่าหลังการทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงจบลง ฝ่ายที่ทำร้ายจะแสดงความรักต่อฝ่ายที่ถูกทำร้าย เพื่อให้ฝ่ายที่ถูกทำร้ายรู้สึกว่าความสัมพันธ์นี้ปลอดภัยและสามารถพึ่งพิงได้ สถานการณ์ลักษณะนี้เกิดวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็น ‘วัฏจักร’ เล่นเอาคนรอบข้างของฝ่ายที่ถูกทำร้ายพากันงงเป็นไก่ตาแตกว่า “แล้วแกจะทนอยู่เพื่อ?”
 

สำหรับคนทั่วไป พวกเขามักจะรู้สึกผูกพันหรืออยากอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตามากกว่า แต่อย่าลืมว่า ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงหรือที่คนทั่วไปมองว่า toxic ก็มักจะเริ่มต้นจากความรักใคร่เมตตาทั้งนั้นแหละ แล้วหลังจากนั้นคนที่ทำตัว ‘คลั่งรัก’ ก็จะกลายร่างเป็นคน ๆ เดียวกับคนที่ทำให้เราแตกสลายแทบกระอักเลือดตาย ส่วนฝ่ายที่ถูกกระทำก็มักจะกอดเก็บแต่ความรู้สึกหอมหวานในช่วงแรก ๆ ของความสัมพันธ์ รวมถึงช่วงที่ได้รับการปลอบประโลมหลังถูกทำร้าย พร้อมกับกล่อมให้ตัวเองเชื่อว่า ไอ้ต้าวคนคลั่งรักคนดีคนเดิมจะกลับมาในสักวัน 

‘ไอวี ควอง’ นักบำบัดการแต่งงานและครอบครัวที่ได้รับใบอนุญาต อธิบายให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่า “Trauma Bonding เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่อำนาจของทั้งสองฝ่ายไม่สมดุลกัน และเกิดวัฏจักรของการ ‘ให้รางวัล’ และ ‘การลงโทษ’ โดยฝ่ายที่ทำร้ายจะมีอำนาจเหนือฝ่ายที่ถูกทำร้าย และฝ่ายที่ทำร้ายมักจะสลับไปมาระหว่างการทำร้ายกับปลอบโยนอีกฝ่าย”

นอกจากคู่รักแล้ว Trauma Bonding ยังสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่ทำร้ายพวกเขา, คนที่ถูกลักพาตัวกับผู้ที่ลักพาตัว และผู้นำกับสมาชิกในลัทธิ
 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การล่วงละเมิดหรือใช้ความรุนแรงไม่ได้ส่งผลให้เกิด Trauma Bonding กับทุกคู่เสมอไป หากใครรู้สึกไม่แน่ใจว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์นี้หรือไม่ อาจเช็กได้จากสัญญาณดังต่อไปนี้

  • คุณพยายามปกปิดหรือหาข้อแก้ตัวให้คนรักที่มีพฤติกรรมรุนแรงหรือทารุณกรรมกับคุณ
  • คุณโกหกเพื่อนหรือครอบครัวหลังจากถูกคนรักทารุณกรรม
  • คุณรู้สึกไม่สบายใจ แต่ก็ไม่สามารถออกจากสถานการณ์ความรุนแรงได้
  • คุณคิดว่าการที่ตัวเองถูกทำร้ายเป็นความผิดของคุณ
  • การใช้ความรุนแรงเกิดซ้ำเป็นวัฏจักร (กล่าวคือ คนรักของคุณพยายามทำอะไรเพื่อชดเชย หลังจากใช้ความรุนแรงกับคุณ) 
  • คนรักของคุณสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง 
  • คุณถูกคนรักควบคุม 
  • คนรักพยายามแยกคุณออกจากเพื่อนหรือครอบครัว ขณะที่ตัวเขาเองมีเพื่อนและครอบครัวอยู่เคียงข้าง 
  • ไม่ว่าจะถูกใช้ความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดมากแค่ไหนก็ตาม คุณยังคงไว้วางใจคนรักต่อไป

หลายคนอาจมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนเป็นเรื่องที่ไม่ควรเข้าไป ‘ก้าวก่าย’ แต่รู้หรือไม่ว่า ผลที่เลวร้ายสุดของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบ Trauma Bonding คือถึงขั้น ‘เสียชีวิต’ 

และหากโชคดีที่เหยื่อสามารถแยกตัวออกมาจากผู้กระทำผิดได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่เหยื่อจะกลายเป็นคนที่มีบาดแผลทางจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปจนถึง ‘ความนับถือตนเองต่ำ’ (Low self-esteem) โดยมีการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งระบุว่า ผลกระทบที่มีต่อความนับถือตนเองของเหยื่อจะยังคงดำเนินต่อไป แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 6 เดือนก็ตาม นอกจากนี้ ผลที่ตามมายังอาจรวมถึง ‘ภาวะซึมเศร้า’ และ ‘ความวิตกกังวล’ อีกด้วย 

“เหยื่ออาจเกิดความรู้สึกขัดแย้ง เช่น อับอาย รัก โทษตัวเอง หวาดกลัว โล่งใจ วิตกกังวล ซาบซึ้ง และกลัวผู้กระทำผิด พวกเขามักรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อความรู้สึกของคนที่ทำร้าย และอาจพยายามเอาใจหรือทำให้ผู้กระทำผิดพอใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะยิ่งทำให้การตัดความสัมพันธ์ทำได้ยากยิ่งขึ้น” ควอง กล่าว 

แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่มีหนทางหลีกหนีจากความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดนี้

ข้อแนะนำแรกสำหรับเหยื่อคือ คุณควร “อยู่กับปัจจุบัน” เพราะการคาดหวังว่าผู้กระทำผิดหรือคนรักที่ทำร้ายคุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือเอาแต่เฝ้าคิดถึงช่วงเวลาดี ๆ ในอดีต อาจทำให้คุณพบกับความเจ็บปวดและผิดหวังไม่มีที่สิ้นสุด คุณควรพยายามยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดในปัจจุบัน และผลกระทบที่ตามมา มากกว่า

นอกจากนี้ หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คุณควรมุ่งเน้นไปที่การเก็บ ‘หลักฐาน’ เพื่อขอความช่วยเหลือ มากกว่าไปโฟกัสที่ ‘คำสัญญา’ ที่ไม่มีวันเป็นจริงของพวกเขา

อีกข้อที่คุณควรทำคือ “ฝึกพูดเชิงบวกกับตัวเอง” เพราะการถูกทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงอาจลดความเคารพตนเองในตัวคุณ และทำให้คุณคิดว่าไม่สามารถอยู่ได้โดยขาดคนที่ทำร้ายคุณ หากไม่รู้จะเริ่มพูดแง่บวกกับตัวเองอย่างไร ลองเริ่มจากการหยุดพูดแง่ลบกับตัวเองก่อนก็ได้

สิ่งสำคัญคือการที่คุณต้อง “ฝึกดูแลตัวเอง” เพราะการดูแลตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย การปรับภาพลักษณ์ให้ดูแจ่มใส การเขียนไดอารี ทำงานอดิเรก การสวดมนต์ พูดคุยกับเพื่อนที่ไว้ใจได้ หรือการซื้ออะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นของขวัญให้ตัวเอง อาจช่วยบรรเทาความเครียด และลดความต้องการที่จะหันไปพึ่งคนรักที่ทำร้ายคุณได้ 

หากเป็นไปได้ คุณควรเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างความสัมพันธ์ที่ toxic กับความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพ และพยายามออกจากความสัมพันธ์ toxic ให้ได้ ก่อนจะวางแผนมีความสัมพันธ์ครั้งต่อไป 

ฃหรือที่สุดแล้ว การเติมตัวเองให้เต็มโดยไม่ต้องพึ่งพาความรักจากใคร ก็ดีกว่าพาตัวเองไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีแต่ความเจ็บปวดไม่มีที่สิ้นสุด 

 

เรื่อง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: Pexels

อ้างอิง:
How to Recognize and Break Traumatic Bonds
Understanding Trauma Bonding
Trauma bonding explained