'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

ที่เกาะ ‘ปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่นี่ไม่มีน้ำจืด มีประชากรไม่ถึงพันคน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนเกาะ และนับถือศาสนาอิสลาม วิธีปลดหนี้สินและเพิ่มรายได้ชุมชน คือ การแปรรูปอาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นปลากุเลาและปลากระบอกแดดเดียว รวมถึงหมึกแห้ง กุ้งแห้ง

KEY

POINTS

  • เกาะปูลาโต๊ะบีซูอยู่ในอำเภอตากใบ มีประชากร 800 คน ที่นี่ไม่มีน้ำจืด ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตบนเกาะ
  • ความหมายของชื่อเกาะ แปลว่า คนใบ้ (ตามภาษาท้องถิ่น) ที่เข้ามาอยู่เกาะนี้เป็นคนแรก
  • รายได้หลักของเกาะมาจากการออกประมงและรวมตัวกันทำปลากระบอก ปลากุเลาแดดเดียว

ที่ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีเกาะแห่งหนึ่งตั้งอยู่ นั่นคือ ‘เกาะปูลาโต๊ะบีซู’

สอบถามจาก สุกรี มะดากะกุล ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น และบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอยี่งอ อธิบายคำว่า ‘ปูลาโต๊ะบีซู’ แยกออกมาเป็น 3 คำ คือ

‘ปูลา’ หมายถึง เกาะ

‘โต๊ะ’ หมายถึง คนเฒ่าคนแก่

และ ‘บีซู’ หมายถึง เป็นใบ้

ดังนั้นคำว่า ‘ปูลาโต๊ะบีซู’ จึงหมายถึง เกาะคนใบ้  

นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า เนื่องจากคนแรกที่มาอยู่บนเกาะนี้คือคนใบ้ (ขออภัยที่ต้องใช้คำว่า คนใบ้ แทนคำว่า ผู้บกพร่องทางการได้ยิน เนื่องจากเป็นคำแปลจากคำท้องถิ่น)

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

ด้านหนึ่งของ ‘เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ อีกด้านเป็นทะเลอ่าวไทย

เกาะแห่งนี้ไม่มีแหล่งน้ำจืด ส่วนไฟฟ้าเพิ่งเข้ามาเมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ระยะห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ขนส่งข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคโดยทางเรือ

และหากต้องการใช้สะพานเดินข้ามเกาะ สะพานแห่งเดียวที่มีอยู่คือ สะพานของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนราธิวาส

ปัจจุบันมีจำนวนประชากรบนเกาะทั้งสิ้น 800 คน (130 ครอบครัว) ชาวบ้านบนเกาะทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

ออกหาปลาในช่วงไม่มีมรสุม 6 เดือนต่อปี

ทีมงาน The People  ได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านบนเกาะแห่งนี้ 

ปาริดะห์ มามะ อายุ 43 ปี เล่าว่า เธออาศัยอยู่กับสามีวัย 48 ปี มีลูก 5 คน หลาน 1 คน มีอาชีพเป็นชาวประมง ช่วยกันหาปลาทั้งสามีและภรรยา

ช่วงเวลาที่หาปลาได้ คือช่วงที่ไม่มีมรสุม ประมาณเดือนมีนาคม ไปจนถึงราวเดือนสิงหาคมของทุกปี

ทุกเช้าที่ออกเรือหาปลา เธอจะนำข้าวสารออกไปด้วย หุงข้าวปิ้งปลากันกลางทะเล โดยเธอบอกว่าได้กินข้าวร้อน ๆ จะอร่อยกว่า และจะออกทะเลเกือบทุกวัน ยกเว้นวันศุกร์ที่จะหยุดออกเรือ แต่จะไปเข้าร่วมพิธีละหมาด

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

ส่วนช่วงมรสุมหาปลาไม่ได้ เธอก็ไม่ได้ทำอะไร อยู่ว่าง ๆ แต่ก็มีกระชังปลากะพงที่เลี้ยงไว้ ถ้าไม่มีเงิน ก็ไปจับปลากะพงขาย

ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่บนเกาะแห่งนี้ น้อยครั้งที่จะเข้าไปที่ตัวอำเภอตากใบ และน้อยครั้งมาก ๆ ที่จะเดินทางเข้าไปในจังหวัดนราธิวาส

ลูกสาวของ ปาริดะห์ ที่เรียนอยู่ชั้นปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เล่าว่าเธอเพิ่งจะรู้จักร้านสะดวกซื้อ 7-11 ตอนที่ไปมหาวิทยาลัยครั้งแรก เพราะตั้งแต่เกิดจนอายุ 15 - 16 ปี ก็อยู่แต่บนเกาะแห่งนี้ และดูเหมือนว่า ดัชนีชี้วัดความเจริญอย่างหนึ่งก็คือ 7-11

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

ชาวบ้านอีกหลายคนก็มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างไปจากปาริดะห์ บางคนมีรายได้ที่เป็นตัวเงิน เพียงเงินจากสวัสดิการของรัฐรายเดือน

มีข้อมูลบางชุดระบุว่า ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มักจะไปกู้มาเพื่อนำมาประกอบอาชีพ และเมื่อจับสัตว์ทะเลได้ ก็นำไปขายให้เจ้าหนี้ที่เป็นนายทุน หักกลบกันแล้วแทบจะไม่เหลือเป็นตัวเงินกลับมา

หลายคนต้องออกไปรับจ้างทั่วไปที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า แค่เพียงข้ามฝั่งไปไม่ไกล  บางคนก็ออกเรือไปหาปลาในเขตมาเลเซียด้วย แต่ด้วยความที่เป็นเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก จึงไม่ค่อยเกิดปัญหาระหว่างกัน

ความพยายามเพื่อให้หลุดพ้นจากหนี้สิน และเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน นั่นคือการรวมตัวกันของชาวบ้าน เพื่อแปรรูปอาหารทะเล อันได้แก่ ปลากระบอกแดดเดียว ปลากุเลาแดดเดียว หมึกแห้ง กุ้งแห้ง เป็นต้น

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

รูฮานี ยูโซะ ประธานกลุ่มแปรรูปเกาะหัวใจเกื้อกูล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการรวมกลุ่มของสมาชิก 17 คน แต่ติดปัญหาเรื่องการขาย จึงทำให้กลุ่มต้องหยุดไป

แต่ปัจจุบันก็มารวมตัวกันใหม่ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล ดำเนินการมาได้ 8 เดือน มีสมาชิก 30 คน โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ข้อมูลวางระบบการผลิต การขาย และการตลาดให้ นั่นคือ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

การดำเนินงานของกลุ่มแปรรูป ส่วนใหญ่คือ ปลากระบอกแดดเดียว โดยทางกลุ่มจะรับซื้อจากชาวบ้านในกิโลกรัมละ 60 บาท นำปลามาขอดเกล็ด ผ่าท้อง ล้างน้ำให้สะอาด ก่อนนำไปแช่น้ำทะเลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะไปแช่ในน้ำเกลือ

ทั้งสองกรรมวิธีนี้จะทำให้ได้รสชาติของปลากระบอกแดดเดียวที่ต่างกัน ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า การแช่น้ำทะเลเป็นวิธีการดั้งเดิม และมีรสชาติอร่อยกว่า

เมื่อแช่แล้วนำไปตากในโรงเรือน เป็นเวลา 2 - 3 ชั่วโมง ก่อนจะบรรจุนำไปจำหน่ายด้วยการใส่ถุงรีดอากาศออกให้เป็นถุงสุญญากาศ จะทำให้เก็บรักษาได้นานกว่า

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

มหาวิทยาลัยให้องค์ความรู้ และ บพท. ให้ทุนดำเนินงาน

โครงการหนึ่งที่กำลังลงไปทำงานในพื้นที่แห่งนี้ นั่นคือ โครงการวิจัย ‘การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนประมงพื้นบ้านเกาะปูลาโต๊ะบีซู นราธิวาส เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศรษฐกิจฐานรากสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์’ ภายใต้กรอบการวิจัย ‘การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่’

ผศ.สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยถึงมูลเหตุจูงใจให้ดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว โดยการรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นเพราะค้นพบว่า ชาวบ้าน 130 ครัวเรือนจำนวนประมาณ 800 คนที่อาศัยบนเกาะปูลาโต๊ะบีซูแห่งนี้ ประกอบอาชีพประมง ควบคู่กับการขายแรงงาน มีลักษณะความเป็นอยู่เป็นชุมชนปิด ขาดการติดต่อเชื่อมโยงกับโลกภายนอก โดยปราศจากน้ำจืด และต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ยืม ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกเรือไปทำการประมง ก็ยิ่งขัดสนขาดแคลน

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว 'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว ผศ. ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า คณะวิจัยได้ลงสำรวจเก็บข้อมูลบนเกาะอย่างละเอียด และออกแบบกระบวนการแก้ไขความยากจนและปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ด้วยการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการสินค้าประมงแก่ชาวเกาะ เพื่อช่วยแก้ไขความยากจน ปลดเปลื้องปัญหาหนี้สิน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่

“สูตรจัดการการเงินแก้หนี้แก้จนอย่างยั่งยืน ที่ทีมวิจัยร่วมคิดกับชาวบ้านคือการจัดสรรรายได้ 50% สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 30% สำหรับใช้ประกอบอาชีพ 10% สำหรับใช้หนี้ และ 10% สำหรับเก็บออม”

'เกาะปูลาโต๊ะบีซู’ กลางแม่น้ำตากใบ ไม่มีแหล่งน้ำจืด และอยู่ได้ด้วยปลากุเลาแดดเดียว

นางซูไบด๊ะ บือราเฮง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปูลาโต๊ะบีซู กล่าวว่า ชุดความรู้และกระบวนการจัดการ ตลอดจนการส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล ที่คณะวิจัยถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านบนเกาะช่วยให้ชาวบ้านบนเกาะมีหนี้สินลดลง และชาวบ้านบางครัวเรือนสามารถปลดหนี้ได้ อีกทั้งยังดึงดูดให้ชาวบ้านที่อพยพไปขายแรงงานที่ประเทศมาเลเซียกลับคืนสู่ภูมิลำเนา

และนี่คือเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ห่างไกลจากส่วนกลางจนแทบจะสุดขอบแผนที่ประเทศ และความช่วยเหลือของสถาบันวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่หยิบยกนำศักยภาพที่มีอยู่แล้ว ชูให้เด่นขึ้น ซึ่งจุดหมายปลายทางสุดท้ายคือการที่ชุมชนมองเห็นสิ่งที่มีอยู่รอบตัว พัฒนา ต่อยอด และสามารถอยู่ต่อไปได้ด้วยตัวเอง

เรื่อง : เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน
ภาพ : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)