See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ : มองคำพูดที่ไม่เคยเห็นและแผลใจที่ไม่เคยเลือน

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ : มองคำพูดที่ไม่เคยเห็นและแผลใจที่ไม่เคยเลือน

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ นิทรรศการศิลปะแบบ Experiential Design ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของการถูกตีตราทางสุขภาพจิต ผ่านภาพ เสียง และเรื่องราวของผู้คนกว่า 60 ชีวิต สัมผัส เข้าใจ และร่วมลดอคติในสังคม 8-23 ก.พ. 2025 ที่ MMAD, มันมัน ศรีนครินทร์

KEY

POINTS

  • คำพูดธรรมดา ๆ อาจเป็นการตีตราคนอื่นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
  • บางครั้งเราเองก็สามารถเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำได้ เป็นวงจรไม่จบสิ้น
  • เพียงแค่เราหัดเข้าใจคนอื่น คิดให้ดีก่อนพูด ก็สามารถช่วยลดการตีตราได้

บางครั้งคำพูดธรรมดา ๆ ไม่กี่คำ อาจกลายเป็นตราประทับที่หลอกหลอนใครบางคนไปชั่วชีวิต

“อ้วน” “บ้า” “ตุ๊ด”

คำพูดเหล่านี้เราอาจเคยได้ยิน หรือหลุดออกจากปากตัวเองด้วยความคึกคะนอง แน่นอนว่าเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เคยใช้คำพูดนี้มาใช้เป็นคำล้อเล่นในชีวิตประจำวัน รวมถึงถูกตำหนิด้วยคำเหล่านี้เช่นกัน

มันไม่ใช่แค่คำต่อว่า หรือคำตัดสิน แต่มันคือ ‘การตีตรา’ และสิ่งเหล่านี้สะท้อนอยู่ในนิทรรศการ ‘See the Unseen: เห็นกาย สัมผัสใจ’ จัดโดย สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับ Mutual, Eyedropper Fill, MasterPeace และ Studio Persona 

การตีตรา หรือ Stigma อาจดูเป็นคำที่ห่างเหิน และไกลตัว แต่แท้จริงแล้วมันแฝงตัวแนบเนียนไปกับทุกบทสนทนาที่เราพูด เรานำคำนั้นไปกำหนดชีวิตและคุณค่าของคนอื่น รวมถึงมาประทับตราตัวเอง เพียงเพราะเรากับเขา ‘ต่าง’ จากความคาดหวังและบรรทัดฐานของสังคม

การตีตราไม่ใช่แค่การเหมารวม (Stereotype) ที่อาจมีข้อดีในบางบริบท แต่เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของใครบางคนโดยไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรม ซึ่งไม่มีข้อดีเลยสักข้อ

“การตีตราเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นเพราะมันแนบเนียนมาก ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในสังคมเยอะ งานนี้จึงต้องการทำให้คนได้เห็นในสิ่งที่มองไม่เห็น เพื่อให้รู้ว่าการกระทำของเราส่งผลต่อใครบ้าง รวมถึงตัวเราเอง เพราะแม้เราจะไม่เคยถูกคนอื่นตีตรา แต่จากค่านิยมของสังคมที่เราเก็บสิ่งเหล่านั้นมากดทับตัวเอง เลยทำให้เราข้ามผ่านมันไปไม่ได้” 'เบสท์’ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Eyedropper Fill และผู้ออกแบบนิทรรศการบอกกับเรา

การตีตรา ทำร้ายคนได้มากกว่าที่คิด และที่เจ็บที่สุดคือเมื่อเรานำคำเหล่านั้นมาตีตราตัวเอง

The People ขอพาคุณไปชมนิทรรศการ  ‘See the Unseen: เห็นกาย สัมผัสใจ’  ที่จะทำให้คุณ ‘เห็น’ ในสิ่งที่มองไม่เห็นผ่าน 3 ห้อง 3 เรื่องราว

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ : มองคำพูดที่ไม่เคยเห็นและแผลใจที่ไม่เคยเลือน

ห้องที่ 1 ‘คำฝังใจ’

“คำไหนที่เราเคยได้รับจากคนอื่น แต่เรากลับนำมาตัดสินตัวเอง?”

คำถามที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอแท็บเล็ตที่อยู่ตรงหน้าเป็นคำถามง่าย ๆ ตอบไม่ยาก เพราะสมองเราจดจำคำเหล่านั้นมาตลอด และบางคนก็อาจโดนคนอื่นพูดคำนี้มาทั้งชีวิต 

คำถามต่อมา “คำไหนที่เราเผลอใช้ต่อว่า หรือนำมาตัดสินคนอื่น?”

ความคิดเริ่มทำงานอย่างหนัก เราเริ่มทบทวนกับตัวเอง มีคำไหนบ้างที่เราใช้มันทำลายคนอื่น แล้วคำพูดนั้นถือเป็นการตีตราหรือเปล่า? 

เมื่อเราพิมพ์คำตอบลงบนหน้าจอ หันหลัง แล้วเดินตรงไป เราเห็นคำพูดเหล่านั้นปรากฎขึ้นบนกำแพง และติดตัวเราในทุกย่างก้าว ไม่ว่าจะเดิน นั่ง หรือยืน เหมือนกับคำที่ฝังอยู่ในใจของใครบางคนตลอดเวลา

ห้องนี้ทำให้เราได้สำรวจตัวเอง และคนแปลกหน้าที่ยืนอยู่ข้าง ๆ แม้จะเป็นเพียงคำพูดธรรมดา ๆ ที่เราพูดไปโดยไม่คิดอะไร แต่กลับกลายเป็นดาบทิ่มแทงใครบางคน

มองผิวเผินการตีตราดูเป็นสิ่งเลวร้าย เพราะมันสร้างบาดแผลไว้ในใจคนอื่น แต่เราอาจลืมไปว่า คำพูดบางคำจากตัวเราเองก็เคยเป็นคนฝากรอยแผลเหล่านั้นให้ใครบางคนเช่นกัน

สิ่งที่เราได้เห็น สิ่งที่เราเคยเจอ สิ่งที่เราเคยถูกตัดสิน กลายเป็นคำพูดที่เรานำไปใช้ตัดสินคนอื่น เป็นวงจรที่ดำเนินไปโดยไม่มีสิ้นสุด

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ : มองคำพูดที่ไม่เคยเห็นและแผลใจที่ไม่เคยเลือน

ห้องที่ 2  ‘60 ประสบการณ์ฝังจำ’

ในโลกที่วุ่นวาย เราอาจไม่ได้มีเวลาคุยกับตัวเองเท่าไหร่ บางครั้งเราก็ถูกตัดสินจากคำพูดคนอื่น แต่ในนิทรรศการห้องที่ 2 ทำให้เห็นว่า เราไม่ได้เผชิญกับการตีตราเพียงลำพัง

ภายในห้องมีผืนผ้าใบขนาดเท่าคน ถูกวาดด้วยปากกาหลากหลายสี ผ่านกระบวนการศิลปะบำบัด (Body Tracing) เป็นรูปร่างมนุษย์ที่กำลังวิ่ง ปีนป่าย หรือนั่งกอดเข่า ท่าทางที่บอกว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับคำตัดสินของคนอื่น พร้อมมีคำอธิบายคำพูดที่พวกเขาถูกตีตรา 

ถึงเจ้าของผลงานจะเป็นคนหลายเพศ หลายวัย แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือโดนตีตราจากคำพูดที่แปะป้ายทั้งจากคนรอบข้าง เพื่อน หรือแม้กระทั่งครอบครัวของตัวเอง

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ : มองคำพูดที่ไม่เคยเห็นและแผลใจที่ไม่เคยเลือน

พอละสายตาจากผืนผ้าใบ กวาดตามองบนผนังห้องเต็มไปด้วยลายมือของเหล่าคนแปลกหน้า เราก็สะดุดตากับประโยคหนึ่งที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจได้ทันตา

“เติบโต เบ่งบาน โรยรา เราทุกคนล้วนมีดอกไม้ในหัวใจ อย่าโรยราเพราะใคร แต่จงเติบโตอย่างงดงามด้วยตัวเอง” 

ประโยคที่ทำให้รู้สึกว่าคำพูดคนอื่นไม่สำคัญเท่าความคิดและความต้องการของเรา มัน เหมือนมีใครมากระซิบปลอบข้างหูว่า “ไม่ต้องเปรียบเทียบตัวเองกับใคร แค่เติบโตในแบบของตัวเองก็พอ”

แม้การเขียนและระบายความรู้สึกลงบนกำแพงจะไม่ได้ช่วยลบคำพูดที่หยั่งรากลึกออกไปได้ แต่ก็ทำให้เราปล่อยวางความคิดและความขมุกขมัวในใจได้ขึ้นมานิดหน่อย

“เราก็ไม่ได้แปลกประหลาดอยู่คนเดียวนี่นา” 

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ : มองคำพูดที่ไม่เคยเห็นและแผลใจที่ไม่เคยเลือน

ห้องที่ 3 ‘ภาพฉายชีวิต ค้นหาตัวเอง’

ส่วนนิทรรศการห้องสุดท้าย ไม่มีคำพูดให้เราพิมพ์ ไม่มีผนังให้เราเขียน มีเพียงวิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว และเสียงของผู้คนที่เคยถูกตีตรา เสียงที่ถูกกลืนหายไปในสังคมที่ไม่เคยรับฟัง และอาจทำให้บางคนเลือกเดินในเส้นทางที่ผิดพลาด

เราเดินเข้าห้องมานั่งลงบนเบาะที่ออกแบบให้เป็นรูปร่างของชิ้นส่วนมนุษย์ เพื่อสัมผัสความเจ็บปวดของ ‘ร่างกาย’ ที่ขาดวิ่น และลงไปนั่งอยู่ในใจที่เคยแตกสลายของคนที่ถูกตัดสินจากคำพูดของคนอื่น

จริง ๆ แล้ว ห้องนี้เป็นห้องฉายสารคดีจากคน 3 คน ที่กำลังเผชิญปัญหาทางใจ ผ่านการเล่าเรื่องของเงาเจ้าของเรื่องที่กำลังละเลงสีลงบนผ้าใบเพื่อสร้างงานศิลปะผ่านความรู้สึก

เรื่องที่เราชอบมากที่สุด คือ เจ้าของเรื่องที่วาดรูปฝน ดอกไม้ และสายรุ้ง 

เจ้าของเรื่องบอกว่า เม็ดฝนอาจเป็นตัวแทนของความเศร้า แต่เม็ดฝนทำให้เราเติบโตและรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวยังไง หลังฝนตกมีสายรุ้งเกิดขึ้น และทำให้ดอกไม้งอกงาม เป็นรางวัลว่าเราเก่งมากที่ผ่านฤดูฝนมาได้

“ในวันที่ใคร ๆ ไม่ยอมรับ แต่ขอให้เรายอมรับตัวเอง เสียงที่อยู่ในหัว ไม่ใช่เสียงที่คนอื่นว่าเรา แต่เป็นเสียงที่เราต่อว่าตัวเอง” ข้อคิดจากเจ้าของเรื่องที่ทำให้เราอยากกลับมาดูแลใจตัวเอง และคิดให้หนักขึ้นก่อนจะตัดสินคนอื่น

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ : มองคำพูดที่ไม่เคยเห็นและแผลใจที่ไม่เคยเลือน

เสียงสะท้อนของคำพูดดังกว่าที่คิด

เรามักคิดว่า "พูดแค่นี้เอง ทำไมต้องคิดมาก" หรือ "แค่ล้อเล่น ทำไมต้องซีเรียส" แต่สำหรับบางคน คำพูดเหล่านั้นอาจกลายเป็นเสียงสะท้อนที่ดังก้องอยู่ในใจไปตลอดชีวิต 

หลังจากเดินนิทรรศการก็ทำให้เราได้มาตกผลึกความคิดกับตัวเอง ได้สัมผัส ได้รู้สึกเชื่อมโยง ทำให้เรา ‘เข้าใจ’ เพื่อนมนุษย์

เข้าใจในความแตกต่าง เข้าใจอย่างรอบด้าน ทั้งตัวเราที่ถูกตัดสิน และคนอื่นที่ตัดสินเรา 

เพราะไม่ว่าอย่างไร ตัวเราเก่งและสำคัญที่สุด 

การนำความคิดและคำพูดของคนอื่นมาฝังไว้ลึกสุดใจ การยอมรับและเก็บสิ่งเหล่านั้นมาไว้กับตัวเอง คือ การทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ : มองคำพูดที่ไม่เคยเห็นและแผลใจที่ไม่เคยเลือน

น้ำหยดลงหินทุกวัน หินยังกร่อน นับประสาอะไรกับใจของคนเรา…  

เพียงเพราะใครบางคนไม่เป็นไปตามบรรทัดฐาน ไม่ได้หมายความว่าเขาผิด

เพียงเพราะเราเคยได้ยินคำพูดหนึ่งซ้ำ ๆ ไม่ได้หมายความว่ามันคือความจริง

เมื่อเดินออกจากนิทรรศการนี้ คุณอาจจะไม่ต้องเป็นคนที่ดีขึ้น แต่แค่เข้าใจคนคนหนึ่ง คำพูดที่มนุษย์ใช้ทำร้ายกันในทุก ๆ วัน คงจะดีถ้าเราไตร่ตรองสักนิดก่อนที่จะพูดอะไรออกไป

See the Unseen, เห็นกาย สัมผัสใจ เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 8-23 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา :11.00 - 19.00 น. ที่ชั้น 3 ห้อง HOP และ ห้อง Whoop ,  แมด, มันมัน ศรีนครินทร์ (MMAD at MunMun Srinakarin)