Post on 14/06/2022
เพราะไม่เชื่อ ‘อาหารเหลือ’ ไร้ค่า จุดเริ่มต้น Yindii แอปฯ เปลี่ยน Food Waste ให้มีคุณค่า เพื่อโลกที่ยั่งยืน

กว่า 30% ของอาหารที่โลกผลิตได้ต่อปี ลงเอยกลายเป็นขยะอาหารเหลือทิ้ง โดยในแต่ละปีมีอาหารเหลือทิ้งทั่วโลกกว่า 1,300 ล้านตัน ขณะที่โลกมีผู้คนที่ยังหิวโหยอดอยากอยู่กว่า 690 ล้านคน ซึ่ง UN เผยว่า ถ้าเรานำอาหารเหลือทิ้งไปให้ผู้คนหิวโหยได้ โลกเราจะหมดปัญหานี้โดยทันที
หลุยส์ อัลบาน บาทาด ดูเปร (Louis-Alban Batard-Dupre) คือชายที่เห็นข้อเท็จจริงนี้แล้วฉุกคิดว่า มันต้องเป็นแบบนี้เสมอไปหรือ? มันต้องเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน? ดูยังไงนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เมคเซนส์เลย
ด้วยจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ เขาจึงเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงด้วยพลังเล็ก ๆ ของตัวเอง แต่เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่สู่โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลลัพธ์คือแอปฯ ‘Yindii’
ชาวฝรั่งเศสโดยสายเลือด
หลุยส์เกิดและเติบโตที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรม ‘อาหารการกิน’ อันสูงส่งที่น้อยคนจะกล้าปฏิเสธ ซึ่งหลายคนพูดได้เต็มปากว่า วัฒนธรรมอาหารการกินของชาวฝรั่งเศสมีความ ‘ศิวิไลซ์’ แต่เบื้องหลังความศิวิไลซ์นั้น มาพร้อม ‘ขยะอาหารเหลือ’ (food waste) ควบคู่กันไปอย่างเลี่ยงไม่ได้จากการผลิตที่เกินพอดี
แต่ใครจะไปรู้ว่า ในอนาคตตัวเขาเองที่จะเป็นผู้ริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ปราศจากขยะอาหารเหลือ โดยแรงบันดาลใจเริ่มมาจากการที่หลุยส์เดินทางมาเมืองไทย และเป็นอาสาสมัครให้กับ SOS Thailand มูลนิธิที่บริหารจัดการขยะอาหารเหลือทิ้งเพื่อมอบให้แก่ผู้ยากไร้ (รวมถึงนำไปทำเป็นปุ๋ย) โดยส่งมอบอาหารกว่า 2.5 ล้านมื้อต่อปีเลยทีเดียว
จากการคลุกคลีทำงานเขาพบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตขยะอาหารเหลือทิ้งปริมาณมาก แต่การกำจัดอาหารมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน จึงนำไปบริจาคมอบให้กับมูลนิธิด้านอาหารต่าง ๆ เช่น SOS บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหาร แถมได้ภาพลักษณ์องค์กรที่ดีกลับมา
แต่ก็ไม่ใช่ขยะอาหารเหลือทั้งหมด 100% ที่จะถูกนำไปให้มูลนิธิหรือใช้ประโยชน์ต่อหรือได้ทันเวลา จำนวนไม่น้อยลงเอยกลายเป็นขยะอาหารเหลือทิ้งจริง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์
หลุยส์ตั้งใจเปลี่ยนชุดความคิดเดิม ๆ ของผู้คน และทำให้พวกเขาตระหนักว่า ถ้าเรามีกลไกที่ดีพอ คำว่า ‘ขยะอาหารเหลือทิ้ง’ ที่ฟังดูไร้ค่าสูญเปล่านั้น…ไม่มีอยู่จริง เขาจึงสร้างแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘Yindii’ (ยินดี) ขึ้นมาในปี 2020 และเริ่มต้นที่แรกในกรุงเทพมหานคร สถานที่ที่เขาย้ายถิ่นฐานมาอยู่เมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ หลุยส์พบว่าขยะอาหารเหลือทิ้งในเขตเมืองกรุงเทพมหานคร มีอัตราการรีไซเคิลนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ได้เพียงแค่ 2% เท่านั้น แถมยังไม่มีองค์กรไหนมาสนใจเปลี่ยนแปลงนักในเชิงธุรกิจ การเริ่มต้นทดลองตลาดแรกในกรุงเทพฯ จึงมีคู่แข่งน้อย และมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก
อิทธิพลจากการนั่งสมาธิ
ก่อนมาเยือนเมืองไทย เขากำลังเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก และมีโอกาสได้ฝึกการนั่งสมาธิอย่างจริงจังระหว่างเยือนพม่า…บางทีนี่อาจเป็นเคล็ดลับไปสู่คำตอบก็ได้
การนั่งสมาธิทำให้จิตเราอยู่กับปัจจุบัน สมองไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หลงระเริงในทางโลก และได้หวนกลับสู่ธรรมชาติในตัวมันเอง เช่น เรากินอาหารเหลือเราก็โยนทิ้งลงถังขยะ บริษัทผลิตอาหารเหลือก็นำไปกำจัด…โดยผู้คนไม่เคยสงสัยหรือตั้งคำถามเลย
เหนือสิ่งอื่นใด เกิดความขัดแย้งขึ้นในใจเขาให้รู้สึกว่า ไม่อยากกลับไปเดินในเส้นทางองค์กรธุรกิจใหญ่เหมือนเดิม (หลุยส์มีพรสวรรค์ในการทำงาน ก่อนหน้านี้เขาทำงานในองค์กรใหญ่ มีโอกาสเดินทางไปเจรจาธุรกิจตามเมืองใหญ่ทั่วโลก และคลุกคลีกับวงการสตาร์ทอัพมาไม่น้อย) ที่ต้องหมกมุ่นอยู่กับการเพิ่มยอดขาย สร้างผลิตภัณฑ์ที่คนไม่ได้ต้องการจริง ๆ (แต่ซื้อเพราะเวทมนตร์การตลาด) ขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น หรือสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองไม่สิ้นสุด
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากสร้างสิ่งที่เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เคารพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ยกระดับคุณภาพชีวิตคนได้จริง ๆ
ทำไมเราต้องซีเรียสกับขยะอาหารเหลือทิ้ง
หลุยส์บอกว่ามี 3 ข้อที่กระทบโดยตรง เพราะ 1. มนุษย์ – โลกของเรามีผู้คนหิวโหยอดอยากขาดโภชนาการที่ดีอยู่อีกหลายร้อยล้านคน โดย UN เผยว่า ถ้าเราสามารถโยกย้ายกระจายอาหารเหลือเหล่านี้ (ที่ยังบริโภคได้อยู่) ไปให้แก่คนเหล่านี้ได้ โลกของเราจะหมดปัญหาคนอดอยากทันที
2.ธุรกิจ – อาหารเหลือทิ้งหมายถึงโอกาสการขายที่หายไปของธุรกิจ ยิ่งมีอาหารเหลือทิ้งมาก ธุรกิจยิ่งขาดโอกาสสร้างรายได้จากอาหารนั้น ๆ เช่น ถ้าคุณมีเค้ก 100 ชิ้นต่อวันที่เหลือทิ้ง แต่ละชิ้นราคา 150 บาท นั่นหมายถึงโอกาสสร้างรายได้ 15,000 บาทต่อวันที่หายไป
3.สิ่งแวดล้อม – อาหารทุกชนิดล้วนมาจากแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติทางใดทางหนึ่งของโลกเรา การเกิดอาหารเหลือทิ้ง นั่นหมายถึง เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลงมือปลูกมันเพื่อนำไปทิ้ง
ยินดีต้อนรับอาหารเหลือทิ้ง
โมเดลธุรกิจของแอปฯ Yindii คือการไปเป็นพันธมิตรกับร้านค้าปลีกต่าง ๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต / ร้านเบเกอรี่ / ห้องอาหารโรงแรม / จนไปถึงร้านค้าทั่วไป โดยนำอาหารเหลือที่ใกล้จะหมดอายุในแต่ละวัน มาเสนอขายลดราคาให้กับผู้บริโภค โดยเฉลี่ยราคาจะถูกกว่าปกติ 50 – 70% เลยทีเดียว (ใช่, เราสามารถเอนจอยกับอาหารหรูพรีเมียมจากโรงแรม 5 ดาวในราคาถูกพิเศษ)
ที่น่าสนใจคือ แอปฯ มอบประสบการณ์ที่แตกต่าง เพราะมีกิมมิค ‘Yindii Box’ หรือกล่องสุ่มดวงที่ภายในจะมีอาหารที่คุณไม่รู้มาก่อน เป็นการใช้กลยุทธ์ ‘Surprise Marketing’ การตลาดที่สร้างความเซอร์ไพรส์ ลุ้นระทึก ตื่นเต้น เล่นกับความไม่รู้ของลูกค้า (และเป็นปัจจัยชั้นดีของการบอกต่อปากต่อปาก)
ฟีดแบคเสียงจากผู้บริโภคบางคนถึงกับพูดติดตลกว่า หลังจากมีประสบการณ์เคยสั่งซื้ออาหารจาก Yindii มาได้สักพัก เดี๋ยวนี้เวลาจะยกมือถือกดสั่งอาหาร เขากดเข้าแอปฯ Yindii ‘ก่อน’ เข้าแอปฯ เดลิเวอรี่ใหญ่ ๆ อย่าง foodpanda / Grab / LINEMAN ซะอีก
ศักยภาพที่ไปต่อได้อีกไกล
จากอานิสงส์ของโควิด-19 ที่คนอยู่บ้านมากขึ้นมีพฤติกรรมเกิดใหม่อย่างการสั่งเดลิเวอรี่จนเคยชิน รวมถึงนิสัยที่ประหยัดอดออมมากขึ้น ทำให้ Yindii เติบโตอย่างรวดเร็ว ในปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานกว่า 7,000 ราย มีแบรนด์ค้าปลีกชั้นนำหน้าใหม่ ๆ มาเข้าร่วมกว่า 3 – 4 แบรนด์ต่อสัปดาห์
อนาคต…หวังเติบโตขยายธุรกิจไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่บริษัทร้านค้ารายย่อยที่เราพบได้ในแอปฯ Yindii แต่รวมถึงบริษัทชั้นนำระดับประเทศด้วย อาทิ โรงแรม เช่น The Mandarin Oriental Shop • Dusit Gourmet• Erawan Bakery • BBCO – JW Marriott, ซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น Central Food Hall • Gourmet Market • Sunshine Market • Happy Grocers, ร้านอาหาร คาเฟ่ และอื่น ๆ Le Macaron • Texas Chicken • MX Cakes & Bakery • Folies • Take a Bowl
หลุยส์มองว่ามัน วิน-วิน กันทุกฝ่าย บริษัทสร้างยอดขายได้เพิ่มเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้บริโภคได้ของคุณภาพดีที่ถูกลง แพลตฟอร์มอย่าง Yindii ก็ได้ค่าคอมมิชชั่น ไม่เกิดความสูญเปล่าขึ้นในระบบนิเวศ
ที่สำคัญ มันทำให้ผู้คน ‘ตระหนัก’ ถึงผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม หลุยส์กล่าวว่า เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างการรับรู้เรื่องนี้ให้แก่สาธารณชนเท่านั้น เส้นทางยังอีกยาวไกลสู่การบรรลุไลฟ์สไตล์ที่ยั่งยืนแก่โลกและมนุษย์เรา
.
ภาพ: – bk.asia-city, yindii
.
อ้างอิง:
– https://bk.asia-city.com/city-living/news/meet-entrepreneur-tackling-
food-waste-head
– https://socialinnovationpodcast.com/2021/03/06/social-innovation-
podcast-episode-30-louis-alban-batard-dupre-food-waste-fighter-at-
yindii-it-was-the-tip-of-the-iceberg-when-it-comes-to-food-waste/
– https://www.yindii.co
– https://www.thaipbsworld.com/zero-to-food-hero-yindii-creating-
change-from-the-bottom-up/
– https://en.reset.org/global-food-waste-and-its-environmental-impact-
09122018/