มุน แจอิน: นักศึกษาในขบวนประท้วงเผด็จการสู่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

มุน แจอิน: นักศึกษาในขบวนประท้วงเผด็จการสู่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
เวลานี้คล้ายว่าว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นตัวทดสอบการทำงานของผู้นำประเทศทั่วโลก หากผู้นำสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีก็เตรียมรับคำชมล้นหลามเหมือนอย่างนิวซีแลนด์ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น หรือ กรณีการพิพาทระหว่างองค์การอนามัยโลกกับประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน รวมถึงการปูพรมเน้นใช้นโยบายเชิงรุกของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจอิน (Moon Jaein) ที่ส่งให้เขาชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายท่ามกลางการระบาดของไวรัส ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาโดนประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารงานด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่สามารถกู้สถานการณ์ได้เพราะควบคุมการระบาดของไวรัสได้ทันท่วงที ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจอิน เป็นที่รู้จักในแวดวงทนายความ นักสิทธิมนุษยชน และคนรุ่นใหม่พอสมควร บิดาของเขาเป็นผู้ลี้ภัยจากเมืองฮัมฮึงของเกาหลีเหนือ ทำงานเป็นแรงงานเก็บเงินไปตั้งรกรากอยู่ที่ปูซาน จนกระทั่งปี 1972 มุน แจอิน สามารถสอบผ่านเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคยองฮี หลังเรียนกฎหมายได้ไม่นานเขาโดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัยและถูกจับจำคุกหลายเดือน เนื่องจากเป็นแกนนำนักศึกษาประท้วงไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่ออำนาจของรัฐบาลประธานาธิบดีพัค จองฮี (Park Chunghee) ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำนานถึง 18 ปี เขาเป็นเด็กหนุ่มที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ สนใจการเมืองการปกครอง ชื่นชอบแนวคิดเสรีนิยม และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เขาไม่เข็ดแม้เคยโดนจับเข้าคุก เข้าร่วมการประท้วงบ่อยครั้งรวมถึงร่วมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ชอน ดูฮวาน (Chun Doohwan) เหมือนกับชาวเมืองกวางจูเมื่อปี 1979 แล้วค่อยกลับไปศึกษาต่อจนได้เนติบัณฑิต เป็นสมาชิกของกลุ่มทนายความเพื่อสังคมประชาธิปไตยและประธานกลุ่มสิทธิมนุษยชนเนติบัณฑิตปูซาน มุน แจอิน มีความสามารถโดดเด่นแต่ไม่สามารถเป็นผู้พิพากษาได้ เนื่องจากคดีที่ติดตัวเรื่องการประท้วงรัฐบาล เลยเลือกเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและก้าวเข้าสู่โลกการเมือง ในปี 2012 มุน แจอิน สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้แข่งกับ พัค กึนเฮ (Park Geunhye) บุตรสาวของพัค จองฮี ที่นายแจอินเคยประท้วงขับไล่เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา และเขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น อย่างไรก็ตามปี 2016 ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากรวมตัวชุมนุมใหญ่ต่อต้านประธานาธิบดีพัค ด้วยแรงกดดันจากสังคมทำให้รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอน พัค กึนเฮ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยข้อหาคอร์รัปชัน และให้ ฮวัง กโยอัน (Hwang Gyo-an) รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งปีถัดไป ส่วน มุน แจอิน ขอท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งเกาหลีใต้ 2017 ผู้ลงสมัครมุน แจอิน ประกาศนโยบายถูกใจคนรุ่นใหม่ ชูเรื่องการสร้างงานเพิ่มปีละ 5 แสนอัตรา ปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ ลดบทบาทอำนาจของกลุ่มเครือข่ายธุรกิจหรือแชโบล ยืนยันจะใช้นโยบายตะวันทอแสง (Sunshine Policies) ของอดีตประธานาธิบดีคิม แดจุง (Kim Daejung) ที่เคยใช้สานสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือช่วงปี 1998-2008 ส่งให้หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยพากันออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงกว่าปี 2012 ราว 19% การเลือกตั้งปี 2017 มีผู้ออกมาใช้สิทธิกว่า 80% ประชาชนส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงให้กับมุน แจอิน ผู้สมัครวัย 64 ปี จากพรรคประชาธิปไตยเกาหลีใต้มากถึง 41.8% นับเป็นคะแนนกว่า 13.4 ล้านเสียง ชนะคู่แข่งแบบทิ้งห่าง โดยประธานาธิบดีคนใหม่กล่าวปราศรัยหลังชัยชนะว่าเขาจะเป็นผู้นำที่ทำเพื่อประชาชน มุน แจอิน: นักศึกษาในขบวนประท้วงเผด็จการสู่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีมุน แจอิน ปฏิเสธหนักแน่นที่จะใช้นโยบายแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ พยายามฟื้นความสัมพันธ์ด้วยการย้อนกลับไปดูโครงการเก่า ๆ ที่เคยวางแผนจะทำร่วมกับเกาหลีเหนือ ทั้งเขตอุตสาหกรรมร่วมแกซองที่ถูกปิดไปและเรื่องรถไฟระหว่างพรมแดน เรียกร้องให้ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ คิม จองอึน กับ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ร่วมกันเจรจาเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ แถมยังสร้างเสียงฮือฮาให้กับโลกด้วยการเจรจากับผู้นำคิม ณ เส้นแบ่งเขตทางทหารในปี 2018 จนได้ภาพผู้นำเกาหลีทั้งสองจับมือกันเดินไปยังฝั่งเกาหลีเหนือ ทุกอย่างดูเหมือนดำเนินไปด้วยดี เกาหลีใต้ได้ผู้นำที่ชูประเด็นสันติภาพ ทว่าปี 2019 มีคำร้องออนไลน์ไม่ระบุตัวตนยื่นเรื่องต่อรัฐบาล เรียกร้องให้ประธานาธิบดีมุนลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกับรวบรวมรายชื่อชาวเกาหลีใต้สองแสนคน สาเหตุจากความไม่พอใจการทำงานของประธานาธิบดี มองว่าเขาละเลยเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ สั่งลดกำลังทหารเขตชายแดนทั้งที่เกาหลีเหนือยังคงทดสอบอาวุธอยู่ตลอด และไม่ใส่ใจเศรษฐกิจของประเทศเท่าที่ควร เกาหลีใต้ช่วงปี 2019 มีสภาพเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก ยืนยันจากคำพูดของประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อเดือนตุลาคมที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ร้ายแรง สำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) รายงานว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นผลจากความตึงเครียดทางการค้าของสหรัฐอเมริกากับจีน มูลค่าการส่งออกน้อยลงเนื่องจากภาวะการค้าโลกอันซบเซา ส่งให้อัตราการว่างงานสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อต่ำ ซ้ำร้ายยังเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการค้ากับประเทศญี่ปุ่น แถมการเจรจากับคิม จองอึน ยังไม่คืบหน้าตามที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก ทั้งหมดส่งผลต่อร้ายคะแนนเสียงของประธานาธิบดีกับพรรคประชาธิปไตยเกาหลีใต้ [caption id="attachment_23560" align="aligncenter" width="1200"] มุน แจอิน: นักศึกษาในขบวนประท้วงเผด็จการสู่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ชาวเกาหลีใต้ชูป้าย "โน อาเบะ"[/caption] แม้รัฐบาลของประธานาธิบดีมุนอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจดังประชาชนคาดหวัง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสามารถช่วยให้เขารอดพ้นจากการแพ้เลือกตั้งอย่างน่าประทับใจ เขาจัดการกับปัญหาไวรัสได้รวดเร็ว มีมาตราการคล้ายกับไต้หวันที่เรียนรู้จากการระบาดของโรคซาร์สปี 2003 ส่วนเกาหลีใต้ศึกษาบทเรียนครั้งสำคัญจากการระบาดของไวรัสเมอร์ส (MERS) เมื่อปี 2015 เกาหลีใต้มองข้อผิดพลาดจากความล้มเหลวครั้งก่อนมาปรับใช้รับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งจุดตรวจไวรัสทั่วประเทศ เน้นนโยบายเชิงรุก ทำให้เพียง 6 สัปดาห์ สามารถตรวจหาเชื้อในชาวเกาหลีใต้มากกว่า 3 แสนคน ด้วยระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ทุกคนสามารถเดินไปตรวจว่าตัวเองติดไวรัสหรือไม่โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โชว์ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage-UHC) ที่มีเสถียรภาพให้โลกได้เห็น ความสำเร็จเรื่องการแก้ปัญหาไวรัสของเกาหลีใต้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย แม้จะเจออุปสรรคใหญ่อย่างกรณีคุณป้าจากลัทธิชอนจีที่หอบไวรัสเดินทางไปหลายเมืองก็สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็ว เมื่อหน้ากากอนามัยขาดตลาด ประธานาธิบดีกล่าวขอโทษประชาชนว่า “ผมเสียใจที่เราไม่สามารถจัดหาหน้ากากอนามัยได้เพียงพอต่อความต้องการจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่สะดวก” พร้อมเร่งตรวจสอบระดับความต้องการหน้ากากอนามัยในตลาด ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยและวัตถุดิบผลิตหน้ากากทุกประเภท เร่งผลิตให้ทันตามความต้องการให้มากเท่าที่จะทำได้ และย้ำกับผู้ผลิตว่าอย่าเพิ่งกังวลเรื่องหน้ากากจะกลายเป็นสินค้าส่วนเกินหากสถานการณ์ไวรัสเริ่มดีขึ้น เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลจะเป็นผู้ซื้อสินค้าส่วนเกินไว้เอง การทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ช่วงเกิดโควิด-19 กับมุมมองหนักแน่นเกี่ยวกับสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ย้ำเตือนให้ประชาชนทราบว่าเขายังคงมุ่งมั่นนำสันติภาพมาสู่ประเทศก็สามารถสร้างความประทับใจให้ชาวเกาหลีใต้ไม่น้อย ผู้นำคิมแห่งเกาหลีเหนือตอกย้ำยืนยันคำพูดของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ด้วยการส่งจดหมายส่วนตัวถึงประธานาธิบดีมุน เพื่อให้กำลังใจชนชาวเกาหลีใต้ที่ต้องต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 และกล่าวว่าการเข้มงวดเรื่องการปิดพรมแดนไม่ใช่เพราะความขัดแย้งแต่ทำเพื่อป้องกันไวรัสเท่านั้น ขัดแย้งกับสุนทรพจน์วันที่ 3 มีนาคม 2020 ของ คิม โยจอง (Kim Yo-jong) ที่ปรึกษาและน้องสาวผู้ใกล้ชิดกับคิม จองอึน ที่ต่อว่าเกาหลีใต้อย่างรุนแรงว่าเป็นพวกสุนัขที่ส่งเสียงเห่าเพราะความหวาดกลัว เหตุผลหลายประการส่งให้คะแนนเสียงของเขาตีตื้นกลับขึ้นมาถึง 57% โดยก่อนหน้านี้มีความนิยมอยู่ที่ 42% เนื่องจากคำวิจารณ์เรื่องปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ทว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องโรคติดต่อร้ายแรงและภาพลักษณ์ผู้นำที่ชูเสรีภาพตั้งแต่สมัยเป็นทนายความ เดินหน้าสานสัมพันธ์เกาหลีเหนืออย่างไม่ย่อท้อ ทำคนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ยอมให้โอกาสกับประธานาธิบดีคนนี้อีกครั้ง มุน แจอิน: นักศึกษาในขบวนประท้วงเผด็จการสู่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผลการเลือกตั้งปี 2020 เป็นไปดังคาด พรรคประชาธิปไตยเกาหลีใต้นำโดยประธานาธิบดี มุน แจอิน และพรรคร่วมรัฐบาลกวาดคะแนนเพื่อที่นั่งในสภาไป 180 ที่นั่ง จากทั้งหมด 300 ที่นั่ง ส่วนพรรคเสรีนิยมเกาหลีใต้ของ ฮวาง คโยอัน ได้เก้าอี้เพียง 103 ที่นั่งเท่านั้น โดยจำนวนประชาชนเกาหลีใต้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งราว 66% สูงที่สุดในรอบ 28 ปี แม้ไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาด ก็ไม่สามารถลดความอยากไปใช้สิทธิใช้เสียงของคนส่วนใหญ่ได้ หลังจากประธานาธิบดีมุน แจอิน ชนะการเลือกตั้งอีกสมัย เขาเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังเชิงรุกแบบเดียวกับช่วงสงคราม สถานการณ์โลกตอนนี้แทบไม่ต่างอะไรกับช่วงสงคราม สถานศึกษา ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิงจำนวนมากต้องปิดชั่วคราวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือระดมสมองหารือจัดสรรงบประมาณพิเศษ ดึงศักยภาพการคลังออกมาให้ได้มากที่สุด พยายามไม่ทำให้สัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่หนี้ของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 41 ต่อจีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เวลานี้เกาหลีใต้ยังต้องเดินหน้าต่อไปเหมือนกับทุกพื้นที่บนโลก รัฐบาลของดินแดนที่ถูกเรียกว่าเมืองแห่งเคป็อปต้องต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจ จัดการกับไวรัส พยายามสานสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือไปพร้อมกัน และประธานาธิบดี มุน แจอิน ถือเป็นตัวอย่างของการยึดมั่นในอุดมการณ์ ใช้ความรู้ที่มีสร้างโอกาสยิ่งใหญ่ให้กับตัวเอง ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่กดขี่แม้ในเวลานั้นเขายังเป็นเพียงนักศึกษาธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ต้องการประชาธิปไตยเท่านั้น   ที่มา   https://www.theguardian.com/world/2018/sep/18/kim-jong-un-greets-moon-jae-in-as-inter-korean-summit-starts https://www.bbc.com/news/world-asia-45544474 https://www.bbc.com/news/world-asia-52304781 https://edition.cnn.com/2017/09/28/asia/moon-talk-asia/index.html   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์